ควรจะอ่านพระคัมภีร์อย่างไร? และทำไมต้องเรียน?

ควรจะอ่านพระคัมภีร์อย่างไร?
และทำไมต้องเรียน?

         นักบุญยอห์นพูดถึงวัตถุประสงค์ของพระคัมภีร์ไว้ว่า “เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์” (ยน 20:31)

         หากที่ผ่านมาเราอ่านพระคัมภีร์แล้วยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่นักบุญยอห์นกล่าวไว้ นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่รู้จักวิธีอ่านหนังสือพระคัมภีร์ก็เป็นได้ !

         ปกติ วิธีอ่านหนังสือย่อมแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของหนังสือแต่ละชนิด ดังเช่น

• หนังสือที่เขียนเพื่อให้ข้อมูลหรือเพื่อการศึกษา เช่นสารานุกรม ตำราเรียน เราต้องอ่านช้าๆ ขีดเส้นใต้ ย่อ อ่านซ้ำ จนกว่าจะจดจำเนื้อหาได้

• หนังสือที่เขียนเพื่อความสนุกสนานหรือหย่อนใจ เช่นหนังสือการ์ตูน นวนิยาย  เราอาจอ่านผ่านไปได้เร็วๆ

• หนังสือภาคปฏิบัติ เช่น ตำราอาหาร เราต้องอ่านไปทำไป

         สำหรับหนังสือพระคัมภีร์ซึ่งเป็น “พระวาจาของพระเจ้า ที่ตรัสด้วยภาษามนุษย์เพื่อให้เราเชื่อและมีชีวิต”วิธีอ่านจึงต้องแตกต่างจากหนังสือตำราเรียนหรือตำรากับข้าวอย่างแน่นอน

         ในฐานะที่พระคัมภีร์เป็น “พระวาจาของพระเจ้า”แปลว่าพระเจ้ากำลังตรัสกับเรา และในเมื่อพระองค์กำลังตรัสกับเรา เราจึงต้อง...

          1.       เปิดใจต้อนรับพระวาจาทั้งครบ ไม่ใช่เลือกรับเฉพาะข้อความที่สอดคล้องกับชีวิตหรือความพึงพอใจของตน อีกทั้งต้องไม่ยึดติดกับอคติหรือทฤษฎีส่วนตัวแล้วหาพระวาจามาสนับสนุนความคิดของตน

          2.       รับฟังให้ได้อรรถรสและเข้าให้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของพระวาจาที่พระเจ้ากำลังตรัสกับเราแต่เนื่องจากพระองค์ตรัสกับเราด้วยภาษามนุษย์หลายยุคหลายสมัยซึ่งมีวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม วิธีคิด วิธีสื่อสารแตกต่างจากสมัยของเรา เราจึงต้อง “ศึกษา” พระคัมภีร์อย่างน้อยให้รู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ รูปแบบการเขียน ฯลฯ เพื่อจะได้เข้าใจพระวาจาดีขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้น

          3.       ไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้าให้เข้าใจความคิดและความปรารถนาของพระองค์จน “เห็นจริงด้วยตนเอง” ว่าพระองค์ทรงสอน “อะไร” และ “ทำไม” ทั้งนี้โดยอาศัยพระหรรษทานและความช่วยเหลือของพระเจ้า หากปราศจากการไตร่ตรอง ความเชื่อของเราก็เป็นได้เพียงการรับคำยืนยันของผู้อื่น เป็นความเชื่อ “มือสอง”ซึ่งรังแต่จะทำให้ความทุ่มเทและการผูกพันตนเองกับสิ่งที่ตนเชื่อลดน้อยถอยลงจนน่าใจหาย

          4.       ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้รับจากการไตร่ตรองจนกระทั่งชีวิตของเราคือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าทุกขณะจิต

                   ยิ่งปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้ามากเท่าใด เรายิ่งเห็นจริง ยิ่งเชื่อ ยิ่งวางใจ ยิ่งรัก และยิ่งปรารถนาจะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์มากขึ้นเท่านั้น !           

          ที่สุด ไม่ว่าเราจะสอน จะอ่าน หรือจะศึกษาพระคัมภีร์ สิ่งที่ต้องระลึกอยู่เสมอคือเราไม่ได้กำลังสอนหรือศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลหรือของบุคคลสำคัญดังเช่นอับราฮัม โมเสส ดาวิด หรือคนชื่อเยซู ซึ่งจะต้องจดจำรายละเอียดในอดีตให้ได้มากที่สุด แต่เรากำลังสอนและศึกษา “ข่าวดี” ของพระเยซูเจ้าเพื่อจะได้รู้จักความคิดและจิตใจของพระองค์มากขึ้น รักพระองค์เพิ่มขึ้น และติดตามพระองค์ได้ใกล้ชิดขึ้น

          โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ “มีชีวิต” (ยน 20:31)

          “ชีวิต” ที่เหมือนพระเจ้าและเต็มเปี่ยมไปด้วย “พลัง”!