จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 6)

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 6)
PORTA FIDEI (The Door of Faith) to PORTA SANCTA (The Holy Door)

          ความเดิมตอนที่ 5 นำเสนอคริสตชนถูกเรียกให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ “ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” (1 เปโตร 1:16 ; เลวีนิติ11: 44) และคริสตชนจะดำเนินชีวิตอย่างไรถึงจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ โดยยกตัวอย่างคำสอนของพระเยซูเจ้าในพระวรสารนักบุญมัทธิวบทที่ 5 ข้อที่ 38-48 และบทจดหมายถึงชาวฮีบรูบทที่ 12 ข้อที่ 14-16

          ไม่เพียงแต่พระวรสารเท่านั้นที่แนะนำบรรดาคริสตชนควรดำเนินชีวิตอย่างไร ให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เอกสารของพระศาสนจักรเองได้เชิญชวนคริสตชนมาดำเนินชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • ธรรมนูญด้านพระธรรมกล่าวถึงพระศาสนจักร“ Lumen  Gentium ” ข้อ 40 ได้เขียนว่า

          “สัตบุรุษคริสตชนทุกๆคน, ไม่ว่าอยู่ในฐานะอันใด, หรืออยู่ในชั้นวรรณะใด, เขาทุกคนได้รับการเชื้อเชิญให้มาสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตคริสตชนและความครบครันด้านความรักเมตตาจิต. ความศักดิ์สิทธิ์อันนี้แม้สังคมฝ่ายโลกก็สนับสนุนเป็นทางให้เกิดมีทำนองครองชีพที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น. เพื่อบรรลุถึงความดีบริบูรณ์อันนี้ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงออกกำลังเรี่ยวแรงตามอัตราส่วนทานที่ท่านได้รับจากพระคริสตเจ้าเถิดเพื่อว่าเมื่อท่านได้สะกดรอยตามพระยุคลบาทแล้วท่านจะได้กลายเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านและเมื่อได้ปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระบิดาในทุกสิ่งทุกอย่างแล้วท่านจะได้พลีตนจนหมดสิ้นดวงใจเพื่อเป็นเกียรติมงคลแด่พระเป็นเจ้าและเป็นบริการแก่พี่น้องคนทั่วไป. เมื่อเป็นดังนี้ความศักดิ์สิทธิ์แห่งประชากรของพระเป็นเจ้าจะบรรลุผลสมบูรณ์ดุจดังประวัติการณ์ของพระศาสนจักรได้บันทึกผลให้เป็นประจักษ์ชัดแจ้งมาแล้วในประวัติของบรรดานักบุญ.”

          ในเอกสารพระศาสนจักรเสนอแนะว่าดำเนินชีวิตตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนให้เป็นภาพสะท้อนถึงพระเยซูคริสตเจ้า

  • ธรรมนูญด้านพระธรรมกล่าวถึงพระศาสนจักร“ Lumen  Gentium ”ข้อ 41 เรื่อง “ความศักดิ์สิทธิ์มีอันเดียวแต่การปฏิบัติความศักดิ์สิทธิ์มีหลายรูปแบบ”อธิบายต่อว่า

          “แม้คริสตชนจะมีหน้าที่การงานจะแตกต่างกันแต่ทุกๆคนก็ปลูกฝังเลี้ยงดูความศักดิ์สิทธิ์อันหนึ่งอันเดียวกัน. เขาทุกคนได้รับการกระตุ้นจากพระจิตของพระเป็นเจ้าทั้งพวกเขาก็นอบน้อมเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระบิดาในจิตใจตามความเป็นจริง, เขาสะกดรอยเดิมตามพระคริสตเจ้าผู้ยากจน, ผู้ถ่อมตนและผู้แบกกางเขนเพื่อให้ตัวเขาสมควรมีส่วนในพระเกียรติมงคลของพระองค์ท่าน. ใครได้รับพระคุณเฉพาะตัวและโภคทรัพย์เท่าไรเขาก็ต้องใช้พระคุณทั้งหมดนั้นเดินหน้าไปโดยไม่ชักช้าตามความเชื่ออันชุ่มชื่นมีชีวิตซึ่งกระตุ้นให้เกิดมีความหวังและผลิตผลงานโดยอาศัยความรัก”

  • สมณสาสน์ “สู่สหัสวรรษใหม่” (Novo MillennioIneunte) เขียนโดยนักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ถึงคริสตชนทุกคนข้อที่ 30-39โดยให้แนวปฏิบัติเพื่อคริสตชนจะได้ดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ดังนี้
    • คริสตชนต้องสำนึกถึงหน้าที่ของคริสตชนที่จะเติบโตในความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตประจำวันอาศัยการภาวนาที่ร้อนรน
    • คริสตชนเปิดใจต่อความรักของพระเจ้าและยังเปิดใจสู่ความรักของพี่น้องด้วย
    • การมีส่วนร่วมในการถวายมิสซาบูชาทุกวันอาทิตย์เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้ชีวิตคริสตชนเข้มแข็ง
    • บรรดาศาสนบริกรของพระศาสนจักรควรแนะนำศีลแห่งการคืนดีให้กับประชากรของพระเจ้าด้วยความมั่นใจและด้วยความพากเพียร
    • คริสตชนให้รับฟังพระวาจาของพระองค์ด้วยจิตใจใหม่การฟังพระวาจานำไปสู่การประกาศพระวาจานั้นผู้ที่มาสัมผัสกับพระคริสตเจ้าด้วยความจริงใจไม่สามารถเก็บพระองค์สำหรับตัวเองเขาต้องประกาศพระองค์… แต่จะต้องคำนึงถึงหนทางของบุคคลต่างๆและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

          การดำเนินชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชน พระเป็นเจ้าไม่ได้ปล่อยให้เขาต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง, ค้นหาวิธีการตามลำพัง แต่พระเยซูเจ้าได้ทรงส่งพระจิตเจ้าเข้ามาในตัวทุกคนเพื่อปลุกกระตุ้นภายในให้เขารักพระเป็นเจ้าด้วยสุดดวงใจ, สุดวิญญาณ, สุดความนึกคิดและสุดความสามารถของเขา (เทียบมก. 12,30) และให้เขารักกันและกันเหมือนพระคริสตเจ้าทรงรักพวกเขา (เทียบยน. 13,34; 15,12)

          ดังนั้น บรรดาผู้เจริญรอยตามพระบาทพระคริสตเจ้าพระเป็นเจ้าได้ทรงเรียกเขาไม่ใช่เพราะน้ำพักน้ำแรงอะไรของเขาแต่เป็นเพราะพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าและพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าเขาจึงได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมในองค์พระเยซูคริสตเจ้า1

 


ธรรมนูญด้านพระธรรมกล่าวถึงพระศาสนจักร“ Lumen  Gentium ”ข้อ 42

 

(ติดตามตอนต่อไป)