CATHOLICISM ตอนที่ 4 (จบ)

 (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

บทความจากวารสารมิตรสงฆ์

CATHOLICISM 
ตอนที่ 3

โดย ล.เทียนชัย สมานจิต

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

        ไฟแห่งรัก : คำภาวนาและชีวิตจิต การภาวนามีหลายรูปแบบ : ภาวนาดังๆ ร้องเป็นเพลง นิ่งเงียบๆ ทำจิตให้ว่าง อ่านหนังสือศรัทธา ฟ้อนรำ อ้อนวอนจากขั้วหัวใจบ่อยๆ การภาวนาของเรา เป็นการวอนขอบางสิ่งจากพระเจ้า แต่การภาวนาจริงๆ คือ การอยู่กับพระเจ้า แต่มีอะไรไหมที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์พื้นฐานร่วมกัน นักบุญยอห์นแห่งดามัสกัส ฤาษีและนักเทววิทยาศ.ที่ 8 กล่าวว่า : "การภาวนาคือการยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า เป็นความปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและพระเจ้าปรารถนาจะเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เราจะเข้าใจความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าก็โดยใส่ใจพิจารณาชีวิตของบางบุคคลที่ปฏิบัติการภาวนานี้"

        เริ่มด้วย THOMAS MERTON ซึ่งได้เขียนชีวประวัติและการกลับใจของเธอในหนังสือ "THE SEVEN STOREY MOUNTAIN" พิมพ์โฆษณาในปี 1948 ทำให้เกิดการฟื้นฟูชีวิตฝ่ายจิตทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่สนใจ MYSTICISM (ฌานนิยม) รูปแบบของ MERTON สามารถทำให้เราผู้ร่วมสมัยเข้าใจความหมายแห่งการภาวนา ทำให้เราเห็นเธอมีความกระหายต้องการพระเจ้าจากภายใน THOMAS MERTON เกิดในปี 1915 ในประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรของบิดาชาวนิวซีแลนด์และมารดาชาวอเมริกัน มารดาถึงแก่กรรมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเธออายุ 6 ขวบ และเมื่อเธออายุ 16 ปีบิดาก็ถึงแก่กรรม เธอได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และเริ่มปล่อยตัวอย่างไม่รับผิดชอบเลย ดื่มสุราจัด เที่ยว หมกมุ่นกับกามารมย์ เพื่อนของบิดาได้ส่งเธอไปศึกษาต่อที่นิวยอร์คในมหาวิทยาลัยโกลุมเบีย เธอรักมหาวิทยาลัยโกลุมเบียมาก วันหนึ่งเธอพบหนังสือเล่มหนึ่งที่มีคำ IMPRIMATUR และ IMPRIMI POTEST เป็นคำลาตินแปลว่าให้พิมพ์ได้ แสดงว่าเป็นหนังสือที่พระศาสนจักรคาทอลิกรับรอง เธอเกือบจะโยนทิ้งไปทางหน้าต่างรถไฟเสียแล้ว แต่โดยพระหรรษทานของพระ หนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของเธอแบบปฏิวัติเลย เธอพบหนังสือเล่มนี้อธิบายถึงพระเจ้าที่คลุมเคลือเข้าใจยากให้กระจ่างแจ้งเป็นที่พอใจ โดยเฉพาะเธอเข้าใจถึง ASEITY (การอยู่ได้ด้วยตนเอง) ของพระเจ้า เธอรู้สึกกระหายอยากติดต่อกับพระเจ้าอย่างบุคคลต่อบุคคล เธอเริ่มไปร่วมพิธีภาวนาของโปรเตสตันต์ แต่ยังไม่รู้สึกประทับใจ เช้าวันอาทิตย์อีกวันหนึ่ง MERTON ตื่นแต่เช้าอยากไปร่วมพิธีบูชามิสซาจึงไปที่โบสถ์คาทอลิก เธอก็ยังไม่เข้าใจอะไรเท่าไร หลังจากนั้นเธอได้พบกับพระสงฆ์เพื่อเรียนคำสอนอย่างกระหาย มิช้าก็ได้รับศีลล้างบาป หลังจากนั้นได้พบเพื่อนที่มีชีวิตจิตลึกซึ้ง เพื่อนได้ถาม THOMAS ว่า "เธออยากมีชีวิตนี้อย่างไร" THOMAS ตอบว่า "ผมอยากเป็นคาทอลิกที่ดี" เพื่อตอบว่า : "มิได้ ไม่พอ เธอต้องเลือกเป็นนักบุญ" เพื่อนคิดคำของอาจารย์ฝ่ายจิตชาวฝรั่งเศสที่กล่าวว่า "ในชีวิตมีความเศร้าจริงๆ แต่อย่างเดียว คือการไม่เป็นนักบุญ" MERTON คิดหนักเกี่ยวกับชีวิตจิตเป็นเวลาหลายปี เริ่มแสวงหาว่าจะเป็นพระสงฆ์ได้ไหม ที่สุดก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ คงแสวงหาต่อไปเกี่ยวกับคณะนักพรตต่างๆ ที่สุดได้ตัดสินใจเข้าคณะฟรันซิสกัน แต่ทางคณะไม่รับเพราะเห็นประวัติไม่ดีในอดีต THOMAS ผิดหวังมาก แต่ก็พยายามดำเนินชีวิตแบบนักพรต สวดทำวัตรของพระสงฆ์... ต่อมาได้รู้จักอาจารย์ที่โกลุมเบียซึ่งแนะนำว่าคณะ TRAPPIST เป็นคณะที่ประทับใจมาก เป็นคณะที่มีวินัยเคร่งครัด เป็นแขนงของคณะเบเนดิกตินที่ถือความเงียบอย่างเคร่งครัด ใช้ได้แต่ภาษามือเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อนแนะนำให้ไปเข้าเงียบในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ที่อารามตรัปปิสต์แห่งเกทเสมานีที่เกนตุกกี สิ่งที่เธอได้รับจากคณะนี้ที่อุทิศตนในการสรรเสริญพระเจ้า คือพลังแห่งการนมัสการ เธอเข้าใจว่าเธอต้องเป็นส่วนหนึ่งของอารามแห่งนี้ที่ไม่ถือว่าอดีตของเธอเป็นอุปสรรค เพราะเป็นคณะที่ทำการพลีกรรมใช้โทษบาป วันที่ 10 ธันวาคม 1941 MERTON ได้สมัครเข้าอยู่ในอารามคณะนี้ และใช้ชีวิต 27 ปีที่นี่ในการภาวนา การภาวนาของเธอ มิใช่เป็นการวอนขออย่างที่เรากระทำกัน หากเป็นการเพ่งพิศ (CONTEMPLATION) เป็นการยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า เธอเป็นนักเขียน จินตกวีและอาจารย์ฝ่ายจิต เธอได้เขียนหนังสือหลายเล่ม ถ่ายทอดธรรมประเพณีฝ่ายจิตของคริสตชน เป็นที่น่าเชื่อถือและยอมรับจากผู้คนร่วมสมัย ข้อเขียนของเธอเดินตามจิตตารมณ์ของนักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนคณะการ์เมไลท์ เธอได้เข้าใจมิติคริสตศาสตร์เป็นอย่างดี กล่าวว่า : "ข้าพเจ้ามีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสมาชิกของเชื้อสายมนุษย์ที่พระเจ้าอวตารมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้เรามีความสัมพันธ์ต่อกันมิใช่ในฐานะเป็นสิ่งสร้างด้วยกันเท่านั้น หากด้วยความสัมพันธ์สากลในฐานะที่เราเป็นอวัยวะแห่งพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า" เธอได้มาเสียชีวิตที่สวางคนิวาสในประเทศไทยโดยถูกไฟฟ้าช็อค เป็นที่น่าเสียดาย

        นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนและการภาวนาเพ่งพิศ

        นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนเกิดในปี 1542 เข้าคณะการ์เมไลท์ในปี 1563 ได้ศึกษาเทววิทยาชั้นสูง ตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อาไกวนัส เธอได้อุทิศตนทำการปฏิรูปคณะให้กลับมาสู่ความเรียบง่ายและความร้อนรนแห่งพระวรสาร ภายใต้อิทธิพลของนักบุญเทเรซาแห่งพระเยซู (อาวีลา) ยอห์นไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้ที่ท่านต้องการปฏิรูปเหมือนผู้ปฏิรูปทั้งหลาย ในเดือนธันวาคม ปี 1577 พี่น้องสมาชิกคณะการ์เมไลท์ได้จับเธอเข้าคุกของคณะ ให้อยู่ในห้องเล็กๆ ได้รับอนุญาตให้ออกไปได้โดยคุกเข่าในห้องอาหารเพื่อให้สมาชิกโบยตี ขณะที่อยู่ในคุก ยอห์นเริ่มประพันธ์ในสมอง (เพราะไม่มีปากกาและกระดาษ) โคลงกลอนเหล่านี้ไม่เพียงเป็นสิ่งมีคุณค่าของวรรณคดีสเปนเท่านั้น หากเป็นคำสอนที่ยอดเยี่ยมที่สุดของธรรมประเพณีฝ่ายชีวิตจิตของคาทอลิกอีกด้วย หลัง 9 เดือน ยอห์นได้พยายามหนีออกจากคุกโดยปีนออกทางหน้าต่าง ลงทางกำแพงของอารามและของเมืองสู่ที่ปลอดภัย เธอเริ่มงานเทศน์ งานเขียน และปฏิรูปอีกครั้งหนึ่ง

        อะไรเป็นหัวใจคำสอนของยอห์น? ในบทกลอน "เปลวไฟที่มีชีวิตชีวาแห่งรัก" ยอห์นให้ภาพพจน์ที่ทรงพลังของวิญญาณมนุษย์ อยากรู้ทุกอย่าง อยากเห็นพระเจ้าซึ่งๆ หน้า ที่เรียกว่า BEATIFIC VISION (บรมสุขทัศน์) ยอห์นยังใช้ภาพค่ำคืนมืดมิดซึ่งเปรียบได้กับความเครียด ความทุกข์โศกเศร้า หรือการไร้ทิศทาง หากวิญญาณต้องการมุ่งไปหาพระเจ้า จำต้องไม่ยึดติดกับสิ่งสร้างใดๆ การหนีจากโลก มิใช่ประมาทโลกหรือสิ่งสร้าง ยอห์นเข้าใจดีถึงความดีของสิ่งสร้างตามพระคัมภีร์และคำสอนคาทอลิก การเอาชนะค่ำคืนมืดมิดอยู่ที่การจัดลำดับความต้องการของเรา : พระเจ้าต้องเป็นที่หนึ่ง สิ่งอื่นเป็นรอง และเพราะเห็นแก่พระ

        นักบุญเทเรซาแห่งพระเยซู (อาวีลา) และคำภาวนาจากศูนย์กลางภายใน

        อาจเป็นได้ บุคคลสำคัญในชีวิตของยอห์นแห่งไม้กางเขน คือ เทเรซาแห่งพระเยซู (อาวีลา) ที่เปิดกระบวนการปฏิวัติซึ่งยอห์นมีส่วนร่วม เทเรซาได้เขียนหนังสือหลายเล่มเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกการ์เมไลท์ของเธอ เช่น THE INTERIOR CASTLE, THE BOOK OF HER LIFE, THE WAY OF PERFECTION ซึ่งถือเป็นประดุจเพชรพลอยของธรรมประเพณีชีวิตจิตคาทอลิก เทเรซาพบว่าการที่พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในตัวเธอ การประทับอยู่ของพระเจ้า เปรียบได้กับปราสาทภายใน ให้เราหวนระลึกถึงบทภาวนาที่มีชื่อของเธอ : LET NOTHING DISTURB YOU; LET NOTHING FRIGHTEN YOU. ALL THING ARE PASSING. GOD NEVER CHANGES, PATIENCE OBTAINS ALL THINGS. WHO HAS GOD WANTS NOTHING. ALONE GOD SUFFICES. ปราสาทภายในนี่แหละ เทเรซาเรียกว่าเป็นการภาวนาเพ่งพิศ เป็นการพบปะกับพระเจ้า

        WORLD WITHOUT END : THE LAST THINGS.

        ผู้ที่มีความเชื่อและไม่มีความเชื่อต่างเป็นกังวลว่าหลังตายแล้วจะมีอะไร

        เหตุการณ์สุดท้าย : นรก ไฟชำระ สวรรค์ เป็นเรื่องที่มีคนคัดค้านมากที่สุดในความเชื่อคาทอลิก เมื่อมีใครต้องการวิพากษ์วิจารณ์หรือเลิกเชื่อคำสอนคาทอลิกก็มักอ้างว่า การมีพระเจ้าที่ใจดีมีเมตตาทุกอย่างกับการมีนรกชั่วนิรันดรไปด้วยกันไม่ได้ ขัดแย้งกัน แม้แต่คริสตชนบางคนที่ยอมรับเรื่องสวรรค์และนรก ก็พบว่าคำสอนคาทอลิกเรื่องไฟชำระเป็นเรื่องแปลกปลาดขาดหลักฐานจากพระคัมภีร์ คำสอนเรื่องสวรรค์ นรก และไฟชำระตบตาเรา เพราะความเข้าใจของเราเรื่องความยุติธรรม : หลายคนดีๆ ตายไม่ได้รับรางวัลความดีในชีวิตนี้ และหลายคนชั่วๆ ตายไปก็ไม่ได้รับผลกรรมสนองความชั่วที่ทำไว้ในชีวิตนี้ ถ้าพระเจ้าทรงความยุติธรรม ควรจะมีสภาพหรือสถานที่ใดที่หนึ่งเพื่อจัดการกับความอยุติธรรมเหล่านี้ สำหรับหลายคนที่ทนทุกข์ลำบากซึ่งเชื่อเรื่องสวรรค์และนรก คำสอนเหล่านี้ไม่ได้ดับความโกรธของเขาต่อความอยุติธรรมในโลกนี้ กลับยั่วยุมากขึ้น พระศาสนจักรคาทอลิกสอนอะไรเกี่ยวกับสวรรค์ นรกและไฟชำระ

        นรก เป็นสถานที่หรือสภาพที่มิได้สร้างขึ้นโดยพระเจ้า แต่โดยเสรีภาพที่หลงผิดของมนุษย์ พะเจ้าสร้างมนุษย์มาเพื่อความสุขความยินดี ดังนั้นเมื่อมนุษย์หันเหจากพระเจ้า ก็ทำให้เกิดโศรกนาฏกรรม พระเจ้าผู้ทรงความดีหาที่สุดมิได้ไม่เคยส่งใครไปนรก การที่เขาไปนรกเพราะเขาเลือกไปเองโดยอิสระ เราไม่สามารถตัดสินด้วยความแน่ใจว่าใครตกนรก แม้ยูดาสหรือฮิตเลอร์ แต่ทางพิธีกรรมก็สั่งเราให้ภาวนาเพื่อผู้ตายทุกคน หลักของการภาวนาเป็นหลักของความเชื่อ เราต้องหวังว่าทุกคนจะได้รอด ในเมื่อพระคริสตเจ้าทรงยอมถ่อมองค์ลง ทรงยอมถูกทอดทิ้งจากพระบิดาเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ที่อยู่ห่างไกลพระหรรษทาน เราก็สามารถหวังอย่างมีเหตุผลว่าทุกคนจะได้รอด ดังที่ HANS URS VON BALTHASAR ย้ำ เพราะนี่ไม่ใช่เนื่องจากความดีสมบูรณ์ของใคร แต่เนื่องจากพระหรรษทานอันน่าพิศวงของพระเจ้า

        ไฟชำระ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งรองจากนรกที่มีคนโต้แย้งมาก ในสมัยกลางเป็นเรื่องที่มีคนเอามาใช้เทศน์เพื่อหาเงิน (จากการซื้อขายพระคุณการุญ) MARTIN LUTHER และพวกปฏิรูปอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเรื่องไฟชำระ พระศาสนจักรคาทอลิกสอนอะไร เทียบหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก : "ทุกคนที่ตายในพระหรรษทานและมิตรภาพของพระเจ้า แต่ยังไม่บริสุทธิ์ แน่นอนว่าเขาจะได้รอดตลอดนิรันดร แต่หลังจากตาย เขาต้องผ่านการชำระให้บริสุทธิ์ เพื่อจะบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจำเป็นสำหรับเข้ารับความยินดีในสวรรค์ พระศาสนจักรใช้คำ ไฟชำระ เพื่อหมายถึงการชำระสุดท้ายสำหรับผู้รับเลือกสรร" เทววิทยาที่สอนตามธรรมเนียมประเพณีแยกแยะ บาปที่ถึงตาย (หนัก) กับบาปเบา บาปหนักหมายถึงการตัดความสัมพันธ์กับพระเจ้า ส่วนบาปเบา เป็นการปฏิเสธ แต่ไม่ถึงกับหักมิตรภาพกับพระเจ้า บาปหนักเป็นการฆ่าชีวิตพระเจ้าในตัวผู้นั้น เปรียบเหมือนกับการผิดประเวณีในชีวิตสมรส ส่วนบาปเบาไม่ถึงกับฆ่าชีวิตพระเจ้าในตัวผู้นั้น แต่เป็นการต่อรองมิตรภาพกับพระเจ้า กระทบต่อวิญญาณในเชิงปฏิเสธ บาปเช่นนี้ต้องการการแก้ไข และแผลของบาปต้องการการบำบัดรักษา การใช้โทษบาป การปฏิเสธตนเอง การจำศีลอดอาหาร การภาวนาสามารถโน้มน้าวจิตใจให้กลับมาสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

        สวรรค์ เป็นเป้าหมายของความเชื่อคาทอลิกของเรา และเราก็มาถึงตอนจบการไตร่ตรองของเราในหนังสือเล่มนี้ เราพูดถึงพระเจ้า พระเยซูเจ้า พระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม แม่พระ และนักบุญต่างๆ ก็เพื่อนำเราไปสวรรค์ สิ่งที่พระเจ้าปรารถนาหรับเรามนุษย์ ก็คือ การมีส่วนร่วมกับชีวิตพระตรีเอกภาพ นั่นคือ ชีวิตแห่งความรัก สวรรค์ คือ ความรักในความหมายที่สมบูรณ์ที่สุด นักบุญเปาโลสอนว่ามี 3 สิ่งที่สำคัญ แต่ความรักสำคัญที่สุด และคงอยู่ตลอดไป ในพระคัมภีร์และธรรมประเพณีมีภาพพจน์ต่างๆ ที่หมายถึงสวรรค์ เช่น การกินเลี้ยง งานมงคลสมรส เหล้าองุ่นของพระอาณาจักร ชีวิต ความสว่าง สันติ บ้านของพระบิดา เยรูซาเลมใหม่ การพักผ่อนนิรันดร ภาพพจน์เหล่านี้อธิบายถึงความจริงส่วนหนึ่งของสวรรค์เท่านั้น สวรรค์ในความเป็นจริงอยู่เหนือความนึกคิดของเรา เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของพระเจ้าซึ่ง "ไม่มีตาได้เห็น ไม่มีหูได้ยิน ไม่มีหัวใจของมนุษย์เข้าใจ" แต่ขอเสนอ 3 ภาพพจน์ที่น่าสนใจมากกว่าหมด คือ : BEATIFIC VISION (บรมสุขทัศน์) นครเยรูซาเล็มใหม่ และฟ้าใหม่ แผ่นดินใหม่

        - บรมสุขทัศน์ "เวลานี้เราเห็นพระเจ้าเป็นรางๆ เหมือนเห็นพระองค์ในกระจกเงา แต่เมื่อถึงเวลานั้น เราจะเห็นพระองค์เหมือนพระองค์ทรงอยู่ต่อหน้าเรา "เวลานี้ข้าพเจ้ารู้อย่างไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อถึงเวลานั้น ข้าพเจ้าจะรู้แจ้งเหมือนที่พระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า" (1กร.13:12) นักบุญโทมัสกล่าวว่าจิตใจของมนุษย์พยายามแสวงหาความดี เมื่อพบแล้วก็ยังไม่อิ่ม ปรารถนาความบริบูรณ์มากยิ่งขึ้นเรื่อยไป เพราะจิตใจมนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งที่มีค่าสูงส่งเหนือพื้นพิภพ (TRANSCENDENT) ซึ่งพบไม่ได้ในชีวิตนี้ สวรรค์คือสิ่งที่ตอบกับความปรารถนาเหนือความปรารถนา ตอบกับการแสวงหาเหนือการแสวงหา นักบุญโทมัสกล่าวว่าสิ่งที่นักบุญในสวรรค์เข้าใจเป็นครั้งแรกก็คือ พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าใจได้เป็นอย่างไร

        - ภาพพจน์ต่อมาที่อธิบาย สวรรค์ คือ นครเยรูซาเล็มใหม่ - "ข้าพเจ้าเห็นนครศักดิ์สิทธิ์ คือนครเยรูซาเล็มใหม่ลงมาจากสวรรค์ ลงมาจากพระเจ้า นครนี้มีพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ข้าพเจ้าไม่เห็นพระวิหารใดในนครนี้ เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพและลูกแกะทรงเป็นพระวิหารของนครนี้ ... ผู้ที่มีมลทินหรือมีความประพฤติน่ารังเกียจ หรือพูดเท็จจะไม่เข้าในนครนี้เลย... พระบัลลังก์ของพระเจ้าและของลูกแกะจะอยู่ในนครนี้" (วว21:2,22;22,3)

        - ภาพพจน์สุดท้ายคือ "ฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่" - "ข้าพเจ้าเห็นฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่ เพราะฟ้าและแผ่นดินเดิมสูญหายไป พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเขา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญการร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป เพราะโลกเดิมผ่านพ้นไปแล้ว...เราทำทุกสิ่งขึ้นใหม่" (วว21:1,4-5)

        คริสตชนหลายคนคิดว่าเป้าหมายของชีวิตจิตคือออกจากโลกนี้แล้วได้เข้าสวรรค์ บทข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าของบรรดาอัครสาวก : "ข้าพเจ้าเชื่อใน...การกลับคืนชีพของร่างกายและชีวิตนิรันดร" และบทข้าพเจ้าเชื่อของสังคายนานีเชนา : "...ข้าพเจ้ารอวันที่ผู้ตายจะกลับคืนชีพและคอยชีวิตในโลกหน้า" ความเชื่อของคริสตชนไม่ได้ยืนยันเป็นที่แน่นอนว่า วิญญาณจะหนีออกจากร่างกาย แต่บทข้าพเจ้าเชื่อทั้ง 2 บท พูดถึงการกลับคืนชีพซึ่งมิใช่วิญญาณทิ้งร่างกายไว้เบื้องหลัง แต่พูดถึงการแปรสภาพของร่างกาย นี่คือความหมายของการกลับคืนชีพของร่างกาย มิใช่เป็นการหนีของวิญญาณจากร่างกาย แต่เป็นการฟื้นฟูร่างกายใหม่ พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ ทรงปรากฎมาหาบรรดาศิษย์ของพระองค์ในสภาพที่มีร่างกายจริงๆ : "จงแตะเรา จงดูว่า เรามีเนื้อมีกระดูก" (ผู้แปลให้ข้อสังเกตและข้อสงสัยว่า "หลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว วิญญาณของพระองค์อยู่โดดเดี่ยว ทิ้งร่างกาย หรืออยู่กับร่างกายที่กลับคืนชีพ เช่นเมื่อเสด็จสู่แดนมรณะ(หรือใต้บาดาล) ส่วนร่างกายของเรามนุษย์ที่ตายอยู่โดดเดี่ยว ทิ้งร่างกาย ต้องรอถึงวันสิ้นพิภพ จึงกลับคืนชีพรวมกับวิญญาณที่อยู่โดดเดี่ยวหลังความตาย ซึ่งไม่เหมือนกับพระเยซูเจ้า จะอธิบายอย่างไร?)

        ร่างกายที่กลับคืนชีพจะเป็นอย่างไร? นักบุญโทมัสอธิบายจากพระวรสารที่บรรยายถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพว่า ร่างกายมีลักษณะของ SUBTLETY (SUBTILITAS) ซึ่งหมายถึง ความสามารถอยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ และมีลักษณะของ RADIANCE (CLARITAS) ซึ่งหมายถึงลักษณะสุกใส และ AGILITY (AGILITAS) ซึ่งหมายถึง ลักษณะคล่องแคล่ว หมายถึงร่างกายที่รุ่งโรจน์มีคุณภาพสมบูรณ์เต็มที่ ร่างกายใหม่นี้ต่อเนื่องจากร่างกายเดิม แต่มีบางสิ่งใหม่ บางสิ่งสุกใสสมบูรณ์ วิธีการคิดแบบเดียวกันนี้อาจจะช่วยเราให้เข้าใจ "ฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่" เป็นอะไร

        จึงกล่าวกันว่า ทางที่ดีที่สุดในการเตรียมตัวเราสำหรับชีวิตในโลกหน้าก็คือ ฝึกฝนตัวเราให้สามารถตะลึงพรึงเพริดกับสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ต่างๆ ที่จะเป็นมา

        - ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้เกี่ยวกับพระเจ้าทั้งนั้น

        ก่อนเปิดการประชุมพระสังคายนาวาติกันที่ 2 มีการประชุมบรรดานักเทววิทยาและบรรดาพระสังฆราชเยอรมัน นักเทววิทยาหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งเป็นความหวังในอนาคต ชื่อ JOSEPH RATZINGER ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้รายงานว่า มีการถกเถียงกันว่าในการประชุมพระสังคายนาจะพูดถึงเรื่องอะไรกัน ตามการเรียกร้องของกาลเวลา หลายคนมีความเห็นว่า เรื่องสำคัญๆ ที่จะต้องประชุมกันก็คือ เรื่อง ธรรมชาติของพระศาสนจักร บทบาทของฆราวาส พระศาสนจักรกับโลกปัจจุบัน ฯลฯ ก่อนเลิกประชุม พระสังฆราชองค์หนึ่งเกษียณอายุแล้วยืนขึ้นบอกว่า "ข้าพเจ้าได้ยินพี่น้องถกเถียงกันน่าสนใจ ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าเรื่องพระศาสนจักรเป็นเรื่องสำคัญ แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าพระสังคายนาควรพูดถึงพระเป็นเจ้าก่อนสิ่งใดหมด" แล้วก็นั่งลง RATZINGER กล่าวว่า จากการเตือนสติซื่อๆ นี้ ที่ประชุมรู้สึกว่าได้ยินเสียงของพระจิตเจ้า : พระศาสนจักรเป็นอะไร สภาสังคายนา เทววิทยา โครงการอภิบาล พิธีกรรม ฯลฯ ก็เกี่ยวกับพระเป็นเจ้าทั้งนั้น หนังสือ CATHOLICISM ก็พูดถึงพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกัน

        ความหวังของข้าพเจ้าก็คือหนังสือเล่มน้อยนี้ได้พูดถึงพระเป็นเจ้าหรือพูดให้ดีขึ้นก็คือ พระเป็นเจ้าใช้หนังสือ CATHOLICISM นี้เพื่อประกาศพระวจนาตถ์ ข้าพเจ้ามั่นใจว่า พระเป็นเจ้าตรัสทางข้อพิสูจน์ของนักบุญโทมัส อาไควนัส ทางเรื่องการทนทุกข์ทรมานของย็อบ ทางหนังสือ CONFESSION ของนักบุญออกัสติน ทางจดหมายของนักบุญเปาโลที่เขียนจากคุก ทางการยืนยันความเชื่อของ SIMON บุตรของโยนา ทางคำเทศน์ของเปาโลให้นักปราชญ์ฟังที่กรุงเอเธนส์ ทางการเดินทางของธรรมทูต MATTEO RICCI และของนักบุญฟรันซิส เซเวียร์ และจากเพลงขับร้องที่กรุงวอร์ซอ : "เราต้องการพระเป็นเจ้า" ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระเป็นเจ้าทรงสื่อพระองค์กับหญิงสาวพรหมจารีย์แห่งกาลิลีในการแจ้งข่าวดีของเทวทูตในบทวันทามารีย์ทางสังคายนาที่เมืองเอเฟซัสที่ประกาศว่าแม่พระเป็น THEOTOKOS เป็นเกียรติแด่พระชนนีของพระเป็นเจ้า ทางสตรีจากสวรรค์ที่ปรากฎมาหาชาวอินเดียนที่เดินไปวัดให้สร้างวัด ทางพิธีกรรมต่างๆ ทางเครื่องหมายของปังและเหล้าองุ่นที่แปรสภาพ ทางหัวใจที่ถูกแทงของนักบุญเทเรซาแห่งพระเยซู ทางการเป็นประจักษ์พยานของมรณสักขีอูกันดา และข้าพเจ้ามั่นใจว่าพระเป็นเจ้าตรัสกับมนุษย์อย่างชัดเจน ทางพระกุมารที่เบธเลเฮมที่อ่อนแอไม่สามารถเงยศีรษะขึ้น แต่ทรงพลังเหนือกว่าจักรพรรดิ์ออกัสตัส ซึ่งตรัสสอนเรา วิธีหามหาบุญลาภ ความสุขที่แท้จริง ทางบุรุษผู้หนึ่งที่ถูกทรมานจนถึงแก่ความตายบนเนินกัลวารีโอนอกเยรูซาเล็ม พร้อมกับคำว่า : "พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด" ทางพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพซึ่งตรัสว่า "SHALOM" (สันติภาพ) แก่ผู้ที่ละทิ้งและทรยศพระองค์ คือพระเยซูคริสตเจ้าพระเมสิยาห์ พระเป็นเจ้าของนานาชาติ

        การได้ยินเสียงก้องกังวานของพระเป็นเจ้าในเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด นั่นแหละคือ CATHOLIC

 

|< ก่อนหน้า CATHOLICISM ตอนที่ 3