โลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ขาว-ดำ

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

ไม่รู้เหมือนกันว่าการเปรียบเทียบ สีขาว คือ ความใส ความบริสุทธิ์ สีดำ 
คือ ความทุกข์ ความสกปรก มีมาตั้งแต่เมื่อไร และใครเป็นคนต้นคิด 
แต่เราก็ถือว่าทั้งสองสีนี้เป็นมาตรฐานของการกำเนิดสีต่างๆใน
เทคโนโลยีหลายๆชนิด การถ่ายรูปก็เกิดมาจากภาพขาว ดำ ก่อนที่จะ
ถูกพัฒนามาเป็นภาพสี ภาพขาว-ดำ จึงกลายเป็นสิ่งอมตะของคนหลายๆคน 
แม้กระทั่งระบบฟิล์มภาพยนตร์ ระบบโทรทัศน์ก็เช่นกัน เป็นระบบสีขาวดำ
มาเนิ่นนานหลายปี จนกระทั่งระบบสีเหมือนจริงถูกพัฒนาแทนที่ หนังขาวดำ 
ละครขาวดำ จึงถูกนำขึ้นหิ้งกลายเป็นของเก่าเก็บไป การพัฒนาเหล่านั้นก็
อาจจะเกิดมาจากความคิดของมนุษย์ที่ว่า โลกนี้ไม่ได้มีเพียงสีขาวสีดำ
เท่านั้น (เป็นการตั้งข้อสังเกตส่วนตัว)

ในสมัยก่อนการพัฒนาก็จะเริ่มจากเพียงไม่กี่สิ่ง ยุคต่อๆมาก็ได้ต่อ
ยอดพัฒนากันไปอย่างไม่หยุดยั้ง และช่วงของการพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ๆ
ก็สั้นลงไปทุกที การคิดอะไรของคนสมัยก่อนก็ไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือน
ในปัจจุบัน การอยู่รวมกันของมนุษย์คงไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือนสังคมวันนี้ 
ปัญหาที่เกิด จึงมีไม่มากนัก แต่เมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้น 
ปัญหาก็ตามมามากมาย เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า มากคนก็มากความ 
เมื่อปัญหาเพิ่ม การคิดแก้ไขปัญหาก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย 
ไม่ได้คิดเพียงด้านสองด้าน มุมสองมุม การแก้ไขปัญหาสมัยนี้จึงต้อง
มองหลายมุมหลายๆด้าน มองตามสภาพความเป็นจริง และแก้ไขด้วย
ปัญญาที่มั่นคง หนทางสว่างก็จะอยู่ไม่ไกล แต่ก็น่าแปลกคนยุคนี้กลับไป
คิดแก้ปัญหาแบบเดิมๆ คิดแคบๆ ไม่ได้คิดให้กว้างให้ไกลออกไป 
ประหนึ่งกับว่าโลกกว้างสมองแคบจิตวิญญาณหด

เศรษฐีคนหนึ่งชอบใจลูกสาวของชาวนาผู้ยากไร้คนหนึ่ง จึงได้เชิญชาวนา
กับลูกสาวไปที่สวนในคฤหาสน์ของเขา ซึ่งเป็นสวนกรวดอันกว้างใหญ่ 
แต่มีเพียงกรวดสีดำกับสีขาวเท่านั้น เศรษฐีบอกชาวนาว่า

“ท่านเป็นหนี้สินข้าจำนวนหนึ่ง แต่หากท่านยกลูกสาว
ให้ข้า ข้าก็จะยกหนี้สินทั้งหมดให้”

แต่ชาวนาไม่สนใจข้อเสนอ เศรษฐีจึงใช้เล่ห์เหลี่ยมกล่าวต่อไปว่า

“ถ้าเช่นนั้นเรามาพนันกันดีไหมล่ะ ข้าจะหยิบกรวด
สองก้อนขึ้นมาจากสวน ใส่ลงไปในถุงผ้านี้
ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว ให้ลูกสาวของท่านหยิบ
ก้อนกรวดจากถุงนี้ หากนางหยิบได้ก้อนสีขาว 
ข้าจะยกหนี้สินให้ท่าน และนางไม่ต้องแต่งงานกับข้า 
แต่หากนางหยิบได้ก้อนสีดำ นางต้อง
แต่งงานกับข้าและแน่นอนข้าจะยกหนี้ให้ท่านด้วย”

ชาวนาตรองดูสักครู่ เหมือนถูกต้อนให้จนมุมก็เลยตอบตกลง 
เศรษฐีจึงหยิบกรวดสองก้อนใส่ในถุงผ้า ลูกสาวชาวนาเหลือบไปเห็นว่า
กรวดทั้งสองก้อนนั้นเป็นสีดำ เธอจะทำอย่างไร!!!! หากเธอไม่ยอม
เปิดโปงความจริง ก็จะต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกงคนนี้ และคงทุกข์ไป
ทั้งชีวิต หากเธอเปิดโปงความจริง เศรษฐีก็ย่อมหน้าแตก
และอาจจะยกเลิกการพนันครั้งนี้ และบิดาของเธอก็จะต้องเป็นหนี้
เศรษฐีต่อไปอีกนาน (ช่วยคิดหาทางออกให้ลูกสาวชาวนากันหน่อย)

ใช่หรือไม่ เราส่วนใหญ่ถูกสอนให้มองปัญหาแบบขาวกับดำ 
ในความเป็นจริง หากเราลองมองต่างมุม จะพบว่าโลกนี้มีอีกหลากหลายสี 
หนทางการแก้ปัญหาก็มีมากกว่าหนึ่งทางเสมอ การรู้จักยืดหยุ่นและ
พลิกแพลงไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริงก็เป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไข
ปัญหา มาดูเรื่องของลูกสาวชาวนากันต่อ...

โลกไม่มีเพียงแค่สีขาวกับดำ ลูกสาวชาวนาเอื้อมมือลงไปในถุงผ้า 
หยิบกรวดขึ้นมาหนึ่งก้อน พลันเธอก็แกล้งปล่อยกรวดในมือก้อนนั้นร่วง
ลงสู่พื้น กลืนหายไปในสีขาวและดำในสวนกรวดอันกว้างใหญ่ของ
ท่านเศรษฐี เธอมองหน้าเศรษฐีและเอ่ยขึ้นว่า

“ขออภัย ที่ข้าพลั้งเผลอปล่อยก้อนกรวดร่วงหล่นลงไป”

เธอทำหน้าเศร้า และกล่าวต่อไปว่า

“แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อท่านใส่ก้อนกรวดสีขาวกับสีดำ
อย่างละก้อนลงไปในถุงนี้ ดังนั้น เมื่อเราเปิดถุงออก 
แล้วดูว่าสีของกรวดก้อนที่เหลือเป็นสีอะไร เราก็ย่อมรู้
ได้ทันทีว่ากรวดที่ข้าหยิบและทำร่วงไปเมื่อครู่เป็น
สีอะไร หากก้อนที่อยู่ในถุงเป็นกรวดสีดำ ดังนั้น 
กรวดก้อนที่ข้าทำตกไปย่อมเป็นสีขาว”

เรื่องก็จบโดยที่ชาวนากับลูกสาวเป็นฝ่ายที่เอาชนะได้อย่างชาญฉลาด 
ชาวนาจึงพ้นสภาพลูกหนี้ และลูกสาวก็ไม่ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกง
คนนั้นด้วยประการฉะนี้

หลายคนเมื่อประสบปัญหาก็มักหน้ามืด ตามัว สมองทึบ ไร้สติ 
และก็วนเวียนอยู่กับปัญหานั้นๆ มิได้ใช้ปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหา 
และสำคัญที่สุด เราต้องไม่ทำตัวเองให้เกิดปัญหาและไม่เป็น
ปัญหาแก่ผู้อื่น บางทีในชีวิตจริง เรานี่แหละเป็นตัวก่อปัญหา
ให้กับผู้อื่น ใช่มั๊ย...

 

โดย คุณสุญาโณ จงตระกูลศิริ