ก้าวไปกับโป๊ป #153 : บิชอปแห่งเอเชียพยายามตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ

บิชอปแห่งเอเชียพยายามตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Asian Bishops seek to respond to emerging challenges with compassion)

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2022 พระคาร์ดินัลชาวเอเชีย 3 ท่าน คือ

1. พระคาร์ดินัลชาร์ลส์ มอง โบ (Card. Charles Maung Bo) ประธานสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชียคนปัจจุบัน

2. พระคาร์ดินัลออสวอลด์ กราเซียส (Card. Oswald Gracias) ประธานการจัดการประชุมสหพันธ์บิชอปแห่งเอเชีย อดีตประธานสหพันธ์ฯ คนเก่า และ

3. พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช (Card. Cardinal Francis Xavier Kriengsak Kovithavanij) อาร์คบิชอปแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ประธานการจัดเตรียมงานด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

ได้แถลงข่าวครั้งแรก (First Press Conference) ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมในช่วง 12 วันแรกของการประชุมสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย (12-24 ตุลาคม) ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล “บ้านผู้หว่าน” อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีบิชอปมายโล เวอร์การา แห่งสังฆมณฑลปาซิก ประเทศฟิลิปปินส์ (Bishop Mylo Vergara, Diocese of Pasig) เป็นผู้ดำเนินรายการ

การแถลงข่าวนี้เริ่มต้นด้วยบิชอปเวอร์การา นำสวดบทภาวนาโอกาสเฉลิมฉลอง 50 ปี แห่งการก่อตั้งสหพันธ์ และกล่าวทักทายนักข่าวที่อยู่ที่บ้านผู้หว่านและร่วมรับฟังทางออนไลน์

พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ในทวีปเอเชีย (Christ is present in Asia)

พระคาร์ดินัลโบ ได้กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า เปรียบได้กับการเฉลิมฉลองการประทับอยู่ขององค์พระจิตเจ้าตลอด 50 ปีที่ผ่านมาในทวีปเอเชีย จากการแบ่งปันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของประเทศต่าง ๆ จากบรรดาบิชอปที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ เราได้พบความหลากหลายของความทุกข์ทรมานของชาวเอเชีย ความท้าทาย ที่มาพร้อม ๆ กับพระพรมากมายที่เราได้รับจากมุมมองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เปรียบได้กับการเข้ามาพบพระเจ้าในพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟของโมเสส (โมเสสเป็นตัวแทนของชาวอิสราเอลที่เป็นทุกข์เศร้าโศก อันเนื่องมาจากการถูกกดขี่ข่มเหงจากชาวอียิปต์) และถามตัวเองว่า เราจะเติมเต็มสิ่งที่พระเจ้าปรารถนาได้อย่างไร

เช่นเดียวกัน เมื่อพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “เราจะอยู่กับท่าน” (I am with you.) ที่ผ่านมาคริสตศาสนาดำรงอยู่ได้เพราะมีคนเลี้ยงแกะอย่างโมเสส และชาวประมงอย่างนักบุญเปโตรที่ยังคงได้ยินการเรียกของพระเจ้า (ให้เลี้ยงดูแลฝูงแกะของพระเจ้า) ทุกวันนี้เรายังคงได้ยินเสียงเรียกของพระองค์ แม้ว่าคริสตชนจะเป็นคนกลุ่มน้อยในทวีปเอเชีย เฉลี่ยแล้วประมาณ 2% จากประชากรทั้งหมด แต่ทว่า โฉมหน้าของพระเยซูเจ้าก็ยังคงปรากฏให้เห็นในทวีปนี้

พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวานิช ได้แสดงความยินดีที่สหพันธ์สภาบิชอปได้เลือก “บ้านผู้หว่าน” เป็นถนนที่นำไปสู่การประชุมในครั้งนี้ และซาบซึ้งในที่ได้มีโอกาสในการจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้เอื้ออำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ

การพัฒนาชาวเอเชียคือข่าวสารของเรา (Developing a message to the People of Asia)

พระคาร์ดินัลกราเซียส ได้กล่าวกระบวนการในประชุม หลังจากได้รับฟังการแบ่งปันประสบการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังท้าทายทวีปเอเชียอยู่ ณ ขณะนี้ สมาชิกในการประชุมได้ไตร่ตรองและวิเคราะห์ร่วมกันถึง 1) ความห่วงใย 2) ความท้าทาย และ 3) โอกาส ที่ได้เกิดขึ้นทั้งในระดับพระศาสนจักรและสังคม

วีดีทัศน์ที่นำเสนอความเป็นจริงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ศาสนา อากาศที่เปลี่ยนแปลง ฯลฯ ในประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้เราได้เข้าใจและทบทวนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการในสัปดาห์สุดท้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะนำไปสู่ข้อสรุปสุดท้ายของการประชุม (final document) ที่จะเป็นข่าวสารถึงชาวเอเชีย และวางแผนงานอภิบาลพระศาสนจักรในเอเชียต่อไป

ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Issues)

จากคำถามของนักข่าวระหว่างการแถลงข่าว พระคาร์ดินัลกราเซียสยอมรับว่า ที่ประชุมได้มีการสนทนากันเรื่อง “หน้าที่ของพระศาสนจักรในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การคืนดี ซึ่งพระศาสนจักรต้องการที่จะเป็นผู้ที่สร้างสะพานไปสู่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ โดยถือเป็นพันธกิจ หน้าที่ และกระแสเรียกของพระศาสนจักร

การแบ่งปันไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ (Sharing with other regions)

พระคาร์ดินัลกราเซียสได้นำรูปแบบการทำงานของสหพันธ์สภาบิชอปแห่งลาตินอเมริกา ที่ได้กระทำสำเสร็จมาแล้วมาเป็นรูปแบบสำหรับการทำงานในทวีปเอเชีย เพราะสองทวีปนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา และมีความท้าทายในด้านต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

การแบ่งปันจากพระศาสนจักรในเอเชีย (Contributions from the Church in Asia)

พระคาร์ดินัลโบ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการประชุม และสามารถแบ่งปันให้กับพระศาสนจักรในประเทศอื่น ๆ นั่นก็คือ ค่านิยมของชาวเอเชีย อันได้แก่ ครอบครัว จิตวิญญาณ การเคารพผู้สูงอายุและพ่อแม่ สันติสุข การเพ่งพิศภาวนา และความศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้คนโดยทั่วไปจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ

พระคาร์ดินัลกราเซียสกล่าวว่า พระศาสนจักรในเอเชียเป็นพระศาสนจักรหนุ่มสาว เป็นพระศาสนจักรที่เติบโต และแบ่งปันไปสู่พระศาสนจักรในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำศาสนสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำ

คนหนุ่มสาว (Young people)

เกี่ยวกับคนหนุ่มสาวที่อยู่ในโลกออนไลน์ พระคาร์ดินัลกราเซียส ได้ตระหนักว่าชาวเอเชียส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวตามอายุ และถือได้ว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม เราตระหนักว่าพวกเขามีความสำคัญต่อการวางแผนและวิสัยทัศน์ของเรา เราต้องการให้คนหนุ่มสาวอยู่ร่วมกับเรา เป็นผู้ร่วมงานที่เหนียวแน่น พระศาสนจักรซาบซึ้งและชื่นชมในความกระตือรือร้นของพวกเขาในการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ คนหนุ่มสาวเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ในทุกสิ่งที่เรากำลังจะทำ

พระคาร์ดินัลโบ กล่าวว่า ผู้นำพระศาสนจักรจะต้องรู้จักการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงคนหนุ่มสาว เราต้องอยู่ในที่ที่พวกเขาอยู่ เราต้องเป็นพระศาสนจักรออนไลน์มากยิ่งขึ้น

บิชอปจากประเทศจีน (Bishops from PRC)

พระคาร์ดินัลกราเซียสได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบิชอปชาวเอเชียต่อการประชุมในครั้งนี้ แม้ว่าพวกท่านไม่สามารถเดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ได้ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี บรรดาบิชอปจากประเทศจีนได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของสหพันธ์บิชอปแห่งเอเชียมาโดยตลอด

การแต่งตั้งพระคาร์ดินัลชาวเอเชียมากขึ้น (Creation of more Asian Cardinals)

พระคาร์ดินัลกราเซียสได้กล่าวถึง การแต่งตั้งพระคาร์ดัลชาวเอเชียมากขึ้นโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะพระสันตะปาปาฟรังซิสต้องการทำให้พระศาสนจักรเป็นสากล และลดการทำให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักรลง

พระคาร์ดินัลโบ ได้กล่าวเสริมว่า พระส้นตะปาปาฟรังซิสมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ และให้ความสำคัญกับบุคคลที่อยู่ชายขอบ ผู้ที่ยากจนมากที่สุด ซึ่งหลายครั้งชาวเอเชียเป็นพลเมืองที่ถูกลืมไป และบางครั้ง ประชากรที่ยากจนมากที่สุดก็อาศัยอยู่ในเอเชียนี้เอง

ข้อสรุป (Conclusion)

บิชอปเวอร์การา ได้กล่าวสรุปในตอนสุดท้ายว่า บรรดาบิชอปชาวเอเชียปรารถนาที่จะตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ด้วยการออกมาด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจนี้เอง ถูกแสดงออกมาให้เห็นเป็นพิเศษในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในพระศาสนจักร ด้วยการอบรมทางด้านความเชื่อให้กับคริสตชน ซึ่งพระจิตเจ้าได้อยู่ในพระศาสนจักร บนทางแยกที่พระศาสนจักรในเอเชียกำลังเผชิญหน้าอยู่

บางทีบนทางแยกนี้เอง พระจิตเจ้าช่วยทำให้เราเดินออกไปตามท้องถนนน้อยลง ทางแยกนี้กระตุ้นเตือนใจให้เราเดินไปบนถนนแห่งไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าเอง จากนั้น เราจะเป็นเหมือนกับโหราจารย์ทั้งสามคน ที่เลือกเดินทางกลับไปบ้านของตนบนหนทางอื่น เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าเลือกเดินบนหนทางแห่งไม้กางเขน เพื่อนำความรอดพ้นมาสู่มนุษย์ทุกคน ...