พระมารดาแห่งเมตตาธรรม

 
 พระมารดาแห่งเมตตาธรรม

สมณโองการประกาศปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม “พระพักตร์แห่งความเมตตา” (Misericordiae Vultus) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส มีทั้งหมด ๒๕ ข้อ ด้วยกัน หลังจากที่พระสันตะปาปาได้อธิบายเรื่อง พระเมตตาของพระเป็นเจ้า ที่มาที่ไปของการประกาศปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรมและแนวทางปฏิบัติภายในปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษนี้ ก่อนจบ ในข้อที่ ๒๔ ท่านได้เขียนถึงพระแม่มารีย์ว่า “บัดนี้ความคิดของข้าพเจ้าหวนกลับไปยังพระมารดาแห่งความเมตตา[1]……

พระมารดาแห่งความเมตตา คำนี้ มาจากไหนกัน?

พระมารดาแห่งความเมตตา อันที่จริงคำพูดนี้ บรรดาคริสตชนคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งคำนี้อยู่ในบทสวด “วันทาพระราชินี” พระแม่แห่งความเมตตา กรุณา ท่านคือชีวิต ความอ่อนหวาน และความหวังของเรา (บทสวดแบบเก่า)

พระมารดาแห่งความเมตตา คำนี้เราพบได้ในบันทึกของนักบุญโฟสตินาข้อที่  ๐๓๓๐ พระแม่มารีย์ยืนยันว่า แม่มิได้เป็นเพียงราชินีสวรรค์เท่านั้นแต่เป็นพระมารดาแห่งความเมตตาและเป็นแม่ของลูกด้วย(I am not only the Queen of Heaven, but also the Mother of Mercy and your Mother.)[2]

พระมารดาแห่งความเมตตา คำนี้พระแม่มารีย์ได้เผยให้กับนักบุญบริจิตแห่งสวีเดนว่า “แม่เป็นราชินีแห่งสวรรค์ และเป็นมารดาแห่งความเมตตา จะนำคนบาปไปสู่พระเป็นเจ้า” การประจักษ์ของพระแม่มารีย์แก่ ยวง ดิเอโก ประเทศเม็กซิโก ค.ศ.๑๕๓๑ ได้ตรัสกับดิเอโกว่า “แม่ไม่ได้อยู่ที่หรือ? แม่ไม่เป็นแม่ของลูกหรือ? ลูกไม่ได้อยู่ภายในร่มเงาการปกป้องของแม่หรือ? แม่ไม่ได้เป็นความชื่นชมยินดีของลูกหรือ? ลูกไม่ได้อยู่ภายในเสื้อคลุมภายใต้วงแขนของแม่หรือ? แล้วลูกต้องการอะไรอีก?  นี่เป็นคำพูดของที่บ่งบอกถึงความเป็นมารดาแห่งความเมตตาอย่างแท้จริง

พระสมณสาสน์ของพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่ ๒ เรื่อง พระเมตตาของพระเป็นเจ้า (Dives in Misericordia) ได้เขียนว่า “พระนางมารีย์จึงเป็นบุคคล ผู้มีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกแห่งพระเมตตาของพระเป็นเจ้า พระนางรู้ดีถึงสิ่งที่จะต้องแลกเปลี่ยน พระนางจึงรูว่ามีคุณเพียงใด ดังนั้น เราจึงเรียกพระนางว่า พระแม่แห่งความเมตตา หรือ พระมารดาแห่งความเมตตา” [3]

เหตุผลที่เราเรียกพระแม่มารีย์ว่า เป็นมารดาแห่งความเมตตา

๑. พระแม่มารีย์เป็นสตรีมีประสบการณ์พระเมตตาของพระเป็นเจ้าเป็นพิเศษ[4]

นักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ ๒ ได้ให้เหตุผลว่า พระนางมารีย์ยังเป็นผู้ที่ได้รับพระเมตตาเป็นพิเศษอย่างยิ่ง และอย่างที่ไม่มีผู้ใดเคยได้รับมาก่อน ในขณะเดียวกันและในแนวพิเศษ อาศัยดวงใจที่เสียสละ พระนางสามารถมีส่วนร่วมในการเผยแสดงพระเมตตาของพระเป็นเจ้า ความเสียสละนี้เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด กับกางเขนแห่งพระบุตรของพระนาง เหตุว่า พระนางยืนอยู่แทบเชิงกางเขน บนเนินเขากัลวาริโอ

การเสียสละของพระนางนับว่ามีส่วนเป็นพิเศษในการเผยแสดงพระเมตตา กล่าวคือการที่พระเป็นเจ้าทรงยึดมั่นในความรักของพระองค์ พันธสัญญาซึ่งพระองค์ทรงมีพระประสงค์มาตั้งแต่นิรันดร์กาล แต่ทรงมาผูกมัดกับมนุษย์ กับประชาชนและกับมนุษย์ชาติในกาลเวลา เป็นการแบ่งปันการเผยแสดงซึ่งสำเร็จไปด้วยอานุภาพของกางเขน ไม่มีผู้ใดเคยมีประสบการณ์ในขั้นเดียวกันนี้ กับพระมารดาของพระผู้ทรงถูกตรึงกางเขนถึงธรรมล้ำลึกแห่งกางเขน อันเป็นการพบปะซึ่งเหนือคำบรรยายระหว่างพระเมตตาอันเอื้ออาทรควบคู่ไปกับความรัก ไม่มีผู้ใดต้องรับธรรมล้ำลึก อันได้แก่มิติอันแท้จริงของพระเป็นเจ้าเกี่ยวกับการไถ่กู้ ซึ่งสำเร็จลงบนเนินเขากัลวาริโอ ด้วยการสิ้นพระชนม์ขององค์พระบุตร พร้อมๆ ไปกับการยกถวายดวงใจแห่งการเป็นมารดาของพระนาง ควบคู่ไปกับการยินยอมน้อมรับของพระนาง

๒. ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสวด “สัญลักษณ์อัครสาวกหรือบทข้าพเจ้าเชื่อ” พระนางมารีย์ทรงมีส่วนร่วมในแผนการประวัติศาสตร์แห่งความรอดของพระเป็นเจ้า เป็นผู้นำพระเมตตาของพระเป็นเจ้า (พระเยซูเจ้า) เข้ามาสู่โลก สู่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ “ท่าน​จะ​ตั้ง​ครรภ์​และ​ให้​กำเนิด​บุตร​ชาย​คน​หนึ่ง ท่าน​จะ​ตั้ง​ชื่อ​เขา​ว่า​เยซู เขา​จะ​เป็น​ผู้ยิ่งใหญ่​และ​พระ​เจ้า​ผู้​สูงสุด​จะ​ทรง​เรียก​เขา​เป็น​บุตร​ของ​พระ​องค์ พระ​เจ้า​จะ​ประ​ทาน​พระ​ที่นั่ง​ของ​กษัตริย์​ดา​วิด​บรรพบุรุษ​ให้แก่​เขา เขา​จะ​ปกครอง​วงศ์​ตระกูล​ของยา​โคบ​ตลอดไป​และ​พระ​อาณา​จักร​ของ​เขา​จะ​ไม่​สิ้นสุด​เลย (ลก 1:31-33) “เมือง​เบธเล​เฮ​ม ดินแดน​ยูดาห์ เจ้า​มิใช่​เล็ก​ที่สุด​ใน​บรรดา​หัวเมือง​แห่ง​ยูดาห์ เพราะ​ผู้นำ​คน​หนึ่ง​จะ​ออก​มา​จาก​เจ้า ซึ่ง​จะ​เป็น​ผู้นำ​อิสราเอล ประชากร​ของ​เรา (มธ 2:6)

สมณโองการ พระพักตร์แห่งความเมตตา(Misericordiae Vultus) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ท่านได้อธิบายว่า "ไม่มีผู้ใดเข้าถึงธรรมล้ำลึกแห่งการบังเกิดของพระเยซูเจ้าเฉกเช่นพระนางมารีย์ ชีวิตทั้งหมดของแม่พระคือ สำเนาแห่งผู้ทรงเมตตาที่เสด็จมารับสภาพมนุษย์ พระมารดาของพระผู้ถูกตรึงตายบนไม้กางเขนและเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพ ทรงเสด็จเข้าถึงตำหนักพระเมตตาของพระเจ้า เพราะพระนางมารีย์ทรงมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระองค์ เมื่อถูกเลือกให้เป็นมารดาของพระบุตรของพระเจ้า พระแม่มารีย์ถูกเตรียมด้วยความรักของพระเจ้าตั้งแต่เริ่มแรก ให้เป็นสำเภาแห่งพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ พระแม่ทรงเก็บรักษาพระเมตตาของพระเจ้าไว้ในดวงพระทัยพร้อมกับความกลมเกลียวเสมานฉันท์อย่างครบครันกับพระเยซูบุตรของพระแม่..”

 จดหมายของพระสันตะปาปา ถึงพระอัครสังฆราชไรโน ฟิสิเชลลี่ ได้ลงท้ายจดหมายว่า “อาศัยการวอนขอของพระมารดาผู้ทรงเมตตา พ่อมั่นใจว่าการเตรียมการสำหรับปีศักดิ์สิทธิ์ที่พิเศษนี้จะได้รับการปกป้องจากพระนาง”

"ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม ช่วงเวลานี้ได้เชื่อมโยงกับสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดคือ ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี (ศีลอภัยบาป) และ การประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณที่สะท้อนถึงพระเมตตาธรรมของพระเจ้า มันเป็นความจำเป็นมากที่ต้องมีการเฉลิมฉลองเหล่านี้กับการประกาศยืนยันความเชื่อ และกับการสวดภาวนาเพื่อตัวสัตบุรุษเองและเพื่อความตั้งใจของเขา/เธอว่า พวกเขา/เธอนั้นมีความปรารถนาดีต่อพระศาสนจักรและโลกทั้งมวลด้วย.." (พระสันตะปาปาฟรังซิส)

เพื่อร่วมฉลองปีศักดิ์สิทธ์แห่งเมตตาธรรม อย่าลืม มารดาแห่งเมตตาธรรม



[1] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส, พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม (Misericordiae Vultus), (สมณโองการ) ข้อ ๒๔

[2] divine-mercy-in-my-soul online from https://liturgicalyear.files.wordpress.com/.../divine-mercy-in-my-soul.pdf no.๐๓๓๐

[3] สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ ๒, พระเมตตาของพระเป็นเจ้า(Dives in Misericordia), แปลโดยพระคุณเจ้ายอด พิมพิสาร, C.Ss.R.. หน้า ๕๑-๕๒

[4] สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ ๒, พระเมตตาของพระเป็นเจ้า(Dives in Misericordia), แปลโดยพระคุณเจ้ายอด พิมพิสาร, C.Ss.R.. หน้า ๕๐