จากเบธเลเฮมสู่กัลวาริโอ เส้นทางแห่งรัก

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

          “เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” (กท 4:4) การที่ทูตสวรรค์มาแจ้งสารแด่พระนางมารีอา (ลก 1: 26-38) เป็นการเริ่มต้น “เวลาที่กำหนดไว้” และทำให้เวลาที่กำหนดเกิดความสมบูรณ์ขึ้น เป็นการบ่งบอกว่าพระเป็นเจ้าได้ทำตามสัญญาที่พระองได้สัญญาไว้กับเรา (เทียบ มลค 4:6)

          "พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิด" (กท.4:4) แต่ในการที่จะก่อร่างสร้างกาย สำหรับพระบุตรนั้น พระองค์ทรงปรารถนาที่จะได้รับความร่วมมืออย่างอิสระจากสิ่งสร้าง เพื่อการนี้ -แต่ในนิรันดรกาล- พระเจ้าได้ทรงเลือกสรรสตรีชาวอิสราเอลผู้หนึ่ง เป็นสาวชาวยิวจากเมืองนาซาเร็ธ ในแคว้นกาลิลี ให้เป็นพระมารดาแห่งพระบุตรของพระองค์ คือ "หญิงพรหมจารีคนหนึ่งซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อ มารีย์"

          พระบิดาแห่งความเมตตากรุณา ได้ทรงปรารถนาให้การรับธรรมชาติของพระบุตรเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการยอมรับ แล้ว โดยพระมารดาคนที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้านั้น ในลักษณะที่ว่า เมื่อสตรีผู้หนึ่งมีส่วนในการทำให้ความตายเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน สตรีอีกผู้หนึ่งก็ได้มีส่วนในการทำให้ชีวิตอุบัติขึ้นมา (LG 56) (CCC488)

          นับตั้งแต่พระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย (ยน1:14) แม้จะได้รับการยืนยันจากพระบิดาว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา” (มก1:11) แต่ตลอดเส้นทางเดินของพระเยซูเจ้าส่วนใหญต้องเผชิญหน้ากับการถูกทดลอง (มธ 4:1-11), ความเกลียดชัง, การหลบหนี (มธ 2:13-18), การถูกดำหนิจากฟารีสีและธรรมจารย์ (มก 15:3) , คนที่ไม่เชื่อในพระองค์ (“ถ้าเขาไม่เชื่อฟังโมเสสและบรรดาประกาศก แม้ใครที่กลับคืนชีวิตจากบรรดาผู้ตายเตือนเขา เขาก็จะไม่เชื่อ”ลก16:31), การหัวเราะเยาะ, การเยาะเย้ย (มธ 27:39-44; มก 15:16-20; ลก 23:35-43 ), การนินทา (มก 6:3),การดูถูกและการใส่ร้ายต่อพระเยซูเจ้า(มธ 12:22-37; ยน 5:1-47)จนเป็นเหตุให้พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

          แต่หัวใจของพระเยซูเจ้าตอบสนองคนเหล่านั้นด้วยความรัก ความเมตตา ความอดทน แบกกางเขนตามเส้นทางสู่กัลวารีโอด้วยใจสงบ ก้าวย่างไปละก้าวเต็มเปี่ยมไปด้วย รัก รัก รัก รัก มนุษย์ ขณะแบกไม้กางเขนยังปลอบใจคนที่เป็นทุกข์ จนกระทั่งนายร้อยซึ่งยืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์ดังนั้น จึงพูดว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก15:39)

          ดังนั้น ชีวิตทั้งชีวิตของพระคริสตเจ้า คือการเผยแสดง (ความจริง) ของพระบิดา พระวาจาและกิจการของพระองค์ การนิ่งเงียบ และพระทรมานของพระองค์ วิธีดำรงอยู่ของพระองค์และวิธีเจรจาของพระองค์ พระเยซูสามารถตรัสได้ว่า "ผู้ที่เห็นเราก็เห็นพระบิดาด้วย" (ยน.14:9) เนื่องจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาเป็นมนุษย์ เพื่อให้สำเร็จไปตามน้ำพระทัยของพระบิดา ลักษณะแม้เพียงเล็กน้อยแห่งธรรมล้ำลึกของพระองค์ ย่อมเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่เราถึง "ความรักของพระเจ้า" (1ยน.4:9)1 และการไถ่กู้ ไถ่บาปเรา2

          ๏ เริ่มจากการทรงรับธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งจากการเสด็จมาเป็นมนุษย์ ในสภาพที่ยากจน พระองค์ก็ทรงทำให้เรามั่งคั่ง โดยอาศัยความยากจนของพระองค์ (เทียบ 2คร.8:9)

          ๏ ในชีวิตภาคเร้นอยู่ เพราะการนอบน้อมเชื่อฟังของพระองค์ (เทียบ ลก.2:51)

          ๏ พระองค์ก็ได้ทรงชดเชยการดื้อดึงไม่ยอมนบนอบของเรา ในพระวาจาซึ่งชำระผู้ฟังให้บริสุทธิ์ (เทียบ ยน.15:3)

          ๏ ในการรักษาโรคภัยให้หาย และในการทรงขับไล่ปีศาจ ซึ่งจากการกระทำดังกล่าว "พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา" (มธ.8:17)

          ๏ ในการฟื้นคืนพระชนม์  ซึ่งอาศัยการคืนชีพครั้งนั้น พระองค์ก็ได้ทรงโปรดให้เราเป็นผู้ชอบธรรม (เทียบ รม.4:25)

          ตั้งแต่ผ้าห่มห่อพระกายพระกุมาร เมื่อทรงบังเกิด ไปจนกระทั่งถึงน้ำส้มอันจะขมขื่นแห่งมหาทรมาน และผ้าตราสังในวันฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ เราได้เห็น “ความรักของพระเยซูเจ้า” หรือไม่? เราสามารถแบ่งปันความรักนี้ ได้หรือไม่?  เราสามารถทำให้ผู้อื่นมองเห็นร่องรอยแห่งธรรมล้ำลึกของพระองค์ในชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินนี้ ได้หรือไม่?.



1 CCC 156
2 CCC 157