“ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม”

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

 

ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม             
โดย คพ. เอนก นามวงษ์

1. ปีศักดิ์สิทธิ์หรือปียูบิลี (Jubilee)

                 ตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ปีศักดิ์สิทธิ์ หรือปียูบิลี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของพระศาสนจักร เป็นช่วงเวลาของการให้อภัยบาป เป็นช่วงเวลาแห่งการกลับใจและอุทิศตนเอง เพื่อพระเป็นเจ้าด้วยความชื่นชมยินดี เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนพี่น้องคริสตชน มีความหวังในพระเป็นเจ้า และพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่บาปมนุษย์ พระหรรษทานประทานมาให้มนุษย์โดยผ่านทางพระองค์

                 ปีศักดิ์สิทธิ์ มีรากฐานมาจากหนังสือพระคัมภีร์ ในหนังสือเลวีนิติได้บันทึกไว้ว่า “ท่านจะต้องประกาศว่าปีที่ห้าสิบนั้นเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ และประกาศการปลดปล่อยสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดิน ปีนั้นจะได้ชื่อว่า ‘ปีเป่าเขาสัตว์’ สำหรับท่าน แต่ละคนจะได้รับที่ดินของตระกูลคืนมา แต่ละคนจะกลับไปยังครอบครัวของตน” (ลนต 25:10)

                 จากหนังสือเลวีนิติ จะพบว่า ทุก ๆ 50 ปี จะมีการประกาศปี Jubilee หรือปีศักด์สิทธิ์ ปีศักดิ์สิทธิ์จะถูกเรียกว่า “ปีเป่าเขาสัตว์”ระหว่างปีแห่งเขาสัตว์ หรือปีศักดิ์สิทธิ์นั้น ประชากรของพระเป็นเจ้าจะได้รับการฟื้นฟูเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว....

  • ที่ดินจะได้รับการคืนสู่เจ้าของเดิม (ลนต 25:23-34)
  • คนที่เป็นทาส จะได้รับปลดปล่อยเป็นอิสระ (ลนต 25:35-54)
  • สมาชิกในครอบครัวได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง (ลนต 25:41)
  • หนี้สินได้รับการยกหนี้ (ฉธบ 15:1-10)

                 หากดูตามเลวีนิติบทที่ 25 ข้อที่ 10 จะเห็นว่า วัตถุประสงค์ของการประกาศปีศักดิสิทธิ์คือ ช่วยผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง ผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

                 ปีศักดิ์สิทธิ์ พระเป็นเจ้ายังสัญญาว่าจะดูแลและอวยพรประชากรของพระองค์ด้วย พระเป็นเจ้าจะให้พืชผลในแผ่นดินมีอย่างอุดมสมบูรณ์ โดยที่ประชากรของพระองค์ไม่ต้องหว่านพืช “ปีเป่าเขาสัตว์นี้จะเป็นปีศักดิ์สิทธิ์สำหรับท่าน ตลอดปีนี้ ท่านจะกินพืชผลที่งอกขึ้นเองในทุ่งนา” (ลนต 25:12)

                 ปีศักดิ์สิทธิ์ อันที่จริงเป็นการเตรียมภาพลาง ๆ ล่วงหน้าขององค์พระผู้ไถ่ ที่จะเสด็จมาในการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า พระองค์ได้ประกาศ “ปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า” (ลก 4:19) ซึ่งช่วงเวลาปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้านั้นคือ ช่วงเวลา 33 ปี ที่พระเยซูเจ้าได้ประกาศข่าวดีนั่นเอง ปีศักดิ์สิทธ์ ในพระธรรมใหม่ ให้ความหมายเหมือนกับความหมายในพระธรรมเดิม นั่นคือ

  • สมาชิกในครอบครัวได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง “ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่มีทาสหรือไท ไม่มีชายหรือหญิงอีกต่อไป เพราะท่านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซู” (กท 3:28)
  • คนที่เป็นทาส จะได้รับปลดปล่อยเป็นอิสระ จากการเป็นทาสของบาป “จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาปโดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 24:47)
  • สมาชิกในครอบครัวได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ยอห์นถูกจองจำอยู่ในคุก เขาได้ยินข่าวกิจการของพระเยซูเจ้า จึงใช้ศิษย์ไปทูลถามพระองค์ว่า“ท่านคือผู้ที่จะมาหรือเราจะต้องรอคอยใครอีก” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “จงไปบอกยอห์นถึงสิ่งที่ท่านได้ยินและได้เห็นคนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:2-5)

                 ดังนั้น ปีศักดิ์สิทธิ์จะเป็นปีที่พระเยซูปลดปล่อยเราเป็นอิสระ เหมือนกับในพระธรรมเดิม แต่ลึกซึ้งกว่านั่นคือ ปลดปล่อยคริสตชนเป็นอิสระจากการเป็นทาสของบาป (รม 6:15-19)

 

2. การประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร

                 การประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

                 1. ประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ตามเวลาที่พระศาสนจักรกำหนด

                 2. ประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ตามโอกาสที่สำคัญๆของพระศาสนจักร
                     (Extraordinary of Holy Year)

                 อันที่จริงพระสันตะปาปาสามารถประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ได้ทุกเมื่อ หรือในช่วงเวลาใดก็ได้ สุดแต่วัตถุประสงค์ของพระองค์


ปีศักดิ์สิทธิ์ตามกำหนดเวลา

                 การประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรกในพระศาสนจักร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ 1300/พ.ศ. 1843 โดยพระสันตะปาปา โบนิเฟสที่ 8 โดยประกาศสมณโองการ “Antiquorum harvest fida relatio” ในสมณโองการฉบับนี้ ได้กำหนดฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ครั้งถัดไปในอีก 100 ปี นั้นคือ จะฉลองปีศักดิ์สิทธิ์อีกทีในปี ค.ศ. 1400

                 เนื่องจาก 100 ปี เป็นเวลาที่ยาวไป จึงได้กำหนดให้ประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ต่อ ๆ มา ทุก ๆ 50 ปี

                 ปี ค.ศ 1390/พ.ศ. 1933 สมัยพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 6 กำหนดให้ฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ทุก 33 ปี โดยยึดหลักพระชนมายุของพระเยซูเจ้า

                 จนกระทั่งปีค.ศ. 1450/พ.ศ. 1993 ปีศักดิ์สิทธิ์ ได้ลดจำนวนปีลง เหลือทุก 25 ปี เพื่อว่าช่วงชีวิตหนึ่งของคริสตชนจะได้มีโอกาสฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร

 

ปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษ (Extraordinary of Holy Year)

                 ในประวัติการประกาศปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษของพระศาสนจักรคาทอลิกตามบันทึกมีการประกาศในวโรกาสต่าง ๆ ดังนี้ เช่น

  • ค.ศ. 1628/พ.ศ.2171
     
  พระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ทรงประกาศเป็นปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษ เพื่อการภาวนาสำหรับสันติภาพ
หลังจากที่พระองค์ได้ทรงประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1625/พ.ศ. 2168
  • ค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476

  พระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ทรงประกาศเพื่อเป็นการระลึกถึงการครบรอบ 1900 ปี
ของการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า
  • ค.ศ. 1966/พ.ศ. 2509

  พระสันตะปาปาปอลที่ 2 ทรงประกาศในโอกาสครบ 50 ปี
ของการประกาศปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษในปี 1933/พ.ศ. 2476
  • ค.ศ. 1983/พ.ศ. 2526

  พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงประกาศในโอกาสครบ 1950 ปี ของการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า
เป็นการประกาศต่อเนื่องครบ 50 ปี จากที่ประกาศในปี ค.ศ. 1933/พ.ศ. 2476 โดยพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11
  • ค.ศ. 2015/พ.ศ. 2558

  พระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงประกาศในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการปิดสภาสังคายนาวาติกันที่ 2
เมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1965/พ.ศ. 2508

 

3. ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม(8 ธันวาคม 2015 – พฤศจกายน 2016)

ผู้ประกาศ : พระสันตะปาปาฟรังซิส

ประกาศปีศักดิ์สิทธ์เนื่องในโอกาส : โอกาสครบรอบ 50 ปี ของการปิดสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เมื่อ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1965/พ.ศ. 2508

เหตุผลที่ประกาศปีศักดิ์สิทธิ์ :

                 ในสมณโองการ “พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม (Misericordiae Vultus)” ได้เขียนว่า

  1. พระเยซูคริสตเจ้า ทรงเป็นพระพักตร์แห่งพระเมตตาของพระบิดาเจ้า เป็นบทสรุปธรรมล้ำลึกของความเชื่อคริสตชน เป็นการบรรลุจุดสูงสุดในพระองค์ พระเมตตาได้ประจักษ์และดำรงอยู่ในองค์พระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ
  2. พระเมตตาของพระเป็นเจ้า เป็นดั่งน้ำพุแห่งความชื่นชมยินดี  ความสงบ และสันติสุขและความรอดของเราขึ้นอยู่กับเมตตาธรรม
  3. เมตตาธรรมเป็นคำที่เผยแสดงธรรมล้ำลึกแห่งพระตรีเอกภาพพระเมตตาเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่พิเศษสูงสุดที่ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จมาพบกับเรา  ในช่วงเวลาที่เราถูกเรียกมารำพึงถึงความเมตตาของพระเป็นเจ้า  เราจะเป็นเครื่องหมายที่ทรงประสิทธิผลของพระราชกิจของพระบิดาในการดำเนินชีวิตของเรา

                 ด้วยเหตุผลนี้ พระสันตะปาปาฟรังซิสจึงประกาศปีศักดิ์สิทธิ์(พิเศษ)แห่งเมตตาธรรมเพื่อเป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับพระศาสนจักร  เวลาซึ่งการเป็นพยานของผู้มีความเชื่อจะเติบโตอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ระยะเวลาปีศักดิสิทธิ์ : ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2015 – 20 พฤศจิกายน 2016

                 เหตุผลที่พระสันตะปาปาเลือกเปิดวันที่ 8 ธันวาคม เพราะเป็นวันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล เป็นการระลึกถึง พระราชกิจของพระเจ้า จากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ หลังจากที่อาดัมและเอวาได้ทำบาป พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ที่จะทอดทิ้งมนุษย์ให้อยู่ตามลำพังท่ามกลางความลำเค็ญของความชั่วร้าย พระองค์จึงทรงมุ่งพระเนตรไปยังพระนางมารีย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินด้วยความรัก (เทียบ อฟ.1:4) พระองค์ทรงเลือกพระนางเป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่

                 ดังนั้น พระสันตะปาปาได้เลือกวันที่ 8 ธันวาคม เพราะเป็นวันที่มีความหมายอย่างมากในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในยุคปัจจุบัน โดยความจริงแล้วพระองค์จะเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ในโอกาสครอบรอบ 50 ปี ของการปิดสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 พระศาสนจักรตระหนักถึงความจำเป็นยิ่งใหญ่ ที่จะต้องรักษาเหตุการณ์สำคัญนี้ให้ดำรงอยู่

พระวาจาสำหรับปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม : จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก.6:36)

พระประสงค์ของพระสันตะปาปาในช่วงเวลาของปีศักดิ์สิทธิ์:เชิญชวนคริสตชนควรรำพึงไตร่ตรอง กิจการแห่งเมตตาธรรมทั้งฝ่ายร่างกาย และฝ่ายจิต

ปีศักดิ์สิทธ์ช่วงเวลาแห่งการรับพระคุณการุณย์:

                 การให้พระคุณการุณย์ เป็นส่วนหนึ่งของปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม ในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรข้อ 1471 ได้อธิบายข้อความเชื่อ และการปฏิบัติเกี่ยวกับพระคุณการุณย์ในพระศาสนจักรนั้นก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับผลของศีลอภัยบาป “พระคุณการุณย์คือ การยกโทษบาปชั่วคราวที่เรากระทำต่อหน้าพระเจ้า ยกไปแล้วในแง่ความผิดการยกบาป ซึ่งคริสตชนมีความพร้อมในฐานะเป็นหนี้ และตกอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ได้มาโดยความช่วยเหลือของพระศาสนจักรซึ่งเป็นผู้จัดการเรื่องการใช้โทษ และรับจากคลังสมบัติแห่งพระบารมีของพระคริสตเจ้าและบรรดานักบุญ” (เปาโลที่ 6 คำสอนเรื่องพระคุณการุณย์) พระการุณย์นั้นแบ่งเป็นสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์อยู่กับว่าปลดปล่อยบางส่วนหรือทั้งหมดจากบาปเบาที่ต้องรับเพราะบาป” (คำสอนเรื่องพระคุณการุณย์ 2 เทียบ 3) คริสตชนสามารถได้รับพระคุณการุณย์สำหรับตนเองหรืออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ (กฎหมายพระศาสนจักร ม.994)

                 สรุปง่าย ๆ ก็คือ พระคุณการุณย์คือ การอภัยโทษบาปของเรา ตามเงื่อนไขของพระศาสนจักรกำหนด ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขการรับพระคุณการุณย์ของสังฆมณฑล จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป

                 การให้พระคุณการุณย์ในโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์  พระเจ้าทรงประทานอภัยโดยปราศจากพันธะใด ๆ ในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า แสดงถึงอำนาจที่ทรงทำลายบาปของมนุษยชาติ การคืนดีกับพระเจ้าเป็นไปได้โดยผ่านทางธรรมล้ำลึกปัสกาและการภาวนาของพระศาสนจักร พระเจ้าทรงพร้อมเสมอที่จะประทานอภัยและไม่ทรงเหนื่อยล้าที่จะอภัย การรับพระคุณการุณย์เป็นประสบการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรแห่งการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า การให้อภัยและความรักของพระเจ้าแผ่ขยายไปทุกที่ ขอให้เราใช้ช่วงเวลาของปีศักสิทธิ์นี้อย่างเคร่งครัด เพื่อวอนขอการอภัยจากพระบิดาสำหรับบาปของเราและห่อหุ้มพวกเราด้วย “พระคุณการุณย์” พระเมตตาของพระองค์

การเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ :

                 การเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายที่สำคัญของการฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ประตูศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายของ “ทาง” ของผู้จารึกแสวงบุญ ซึ่งผู้จารึกแสวงบุญหรือบรรดาคริสตชนได้ถูกเรียกให้มายังพระหรรษทาน โดยผ่านทางประตูศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือ องค์พระเยซูเจ้าเอง พระองคตรัสว่า “เราเป็นประตู” (ยน 10:7)

                 ดังนั้น ประตูศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์หมายถึงการเปิดทางให้ผู้มีความเชื่อทุกคนได้เดินผ่านประตูเพื่อไปรับพระหรรษทานผ่านทางศีลอภัยบาป สังฆมณฑลได้กำหนดให้มี ประตูศักดิ์สิทธิ์ ที่อาสนวิหาร พระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี

                 ทำไมต้องเอาค้อนเคาะประตูศักดิ์สิทธิ์ในพิธีเปิดปีศักดิ์สิทธิ์  การเอาค้อนเคาะประตู เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่หมายถึง การหลั่งพระหรรษทานมาสู่วิญญาณของผู้มีความเชื่อทุกคน เหมือนดั่งที่โมเสสก็ยกมือขึ้นใช้ไม้เท้าตีก้อนหินนั้นสองครั้ง น้ำก็ไหลทะลักออกมา คนทั้งหลายและฝูงสัตว์ก็ได้ดื่ม (กดว 20:11)

                 สุดท้าย พระสันตะปาปาทรงปิดสมณโองการ ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรมว่า ในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ขอให้พระศาสนจักรได้ประกาศพระวาจาอย่างกึกก้องและชัดเจน เพื่อเป็นสารและเครื่องหมายแห่งการให้อภัย ความเข้มแข็ง การช่วยเหลือและความรัก และขออย่าได้เหนื่อยล้าที่จะประกาศพระเมตตา ขอให้พระศาสนจักรเป็นเสียงของชายและหญิงทุกคน ที่กล่าวย้ำอย่างมั่นใจไม่รู้จบว่า ‘ข้าพเจ้าหวังในพระองค์ตลอดทั้งวัน ข้าแต่องค์พระเจ้าโปรดทรงระลึกถึงพระกรุณาและความรักมั่นคงที่ทรงมีตลอดมา’ (สดด 25:6)”