ก้าวไปกับโป๊ป #219 : เทคโนโลยีจะต้องรับใช้มวลมนุษยชาติ

เทคโนโลยีจะต้องรับใช้มวลมนุษยชาติ (Technology must be at the service of humanity)

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023 พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขั้นโดย สถาบันเพื่อชีวิตแห่งสันตะสำนัก (the Pontifical Academy for Life) หัวข้อ “เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ และประโยชน์ส่วนรวม” ทรงย้ำว่า ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องนำมาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการพัฒนามนุษย์อย่างบูรณาการเสมอ

การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้จัดให้มีขึ้น 2 วัน ระหว่างวันจันทร์ที่ 20 ถึง วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2023 จากผู้เข้าร่วมประชุมทั่วโลก มุ่งเน้นไปที่แง่มุมทางจริยธรรมของสิ่งที่เรียกว่า "การมาบรรจบกันของเทคโนโลยี" (Converging Technologies) ระหว่างนาโนเทคโนโลยี, เทคโนโลยีชีวภาพ, เทคโนโลยีสารสนเทศ, และวิทยาศาสตร์ความรู้ความเข้าใจ (Nanotechnology, Biotechnology, Information Technology, and Cognitive Science).

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นถึงความท้าทายสำคัญ 3 ประการในด้านที่ละเอียดอ่อนนี้ว่า “ที่ซึ่งความก้าวหน้า จริยธรรม และสังคมมาบรรจบกัน” และที่ใดที่มี “ความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งนั้นจะมีคุณประโยชน์อันประเมินค่ามิได้”

ผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ (The impact of technological advances on human living conditions)

ความท้าทายประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสภาพความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ อันที่จริง "ความรุนแรงและการเร่งความเร็ว" ของความก้าวหน้าเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

"ด้วยผลกระทบและการพัฒนาที่ไม่ชัดเจนและคาดการณ์ได้เสมอไป" ดังที่แสดงให้เห็นโดยวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ตั้งแต่โรคระบาดไปจนถึงวิกฤตพลังงานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการย้ายถิ่นฐาน ดังนั้น “การพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีจึงไม่สามารถมองข้ามการผสมผสานที่ซับซ้อนนี้”

เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่การติดต่อของมนุษย์ได้และต้องไม่ลืมผู้ที่เปราะบาง (Technology cannot replace human contact and must not forget the vulnerable)

ความท้าทายประการที่สอง คือผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ ต่อคำจำกัดความของ "มนุษยธรรม" และ "ความสัมพันธ์" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสภาพของบุคคลที่เปราะบาง เมื่อสังเกตว่ารูปแบบทางเทคโนโลยีของประสบการณ์ของมนุษย์กำลัง “แพร่หลาย” มากขึ้นเรื่อย ๆ พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ “ไตร่ตรองอย่างจริงจังเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษยชาติ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ “ยืนยันถึงความสำคัญของแนวคิดเรื่องความรู้สึกผิดชอบชั่วดีส่วนบุคคลในฐานะประสบการณ์เชิงสัมพันธ์ (Relational Experience คือ ประสบการณ์อันเกิดมาจากการมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ) ซึ่งไม่สามารถมองข้ามความเป็นองค์กรหรือวัฒนธรรม” ไปได้

“ในเครือข่ายความสัมพันธ์ ทั้งแบบอัตวิสัย (Subjective คือ ระดับส่วนบุคคล) และแบบชุมชน (Community) เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่การติดต่อของมนุษย์ได้ ไม่สามารถแทนที่ของจริงได้ และสื่อสังคมออนไลน์ ก็ไม่สามารถแทนที่ขอบเขตทางสังคมของมนุษย์ได้”

แม้ว่าจะอยู่ในกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชนก็ส่งสัญญาณถึง "นัยยะทางจริยธรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ" เช่น ในภาคสุขภาพ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการรับประกันการเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน "โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อผู้เปราะบางที่สุด เช่น ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วย และคนยากไร้”

เทคโนโลยีกับวัฒนธรรมต่าง ๆ (Technology and cultures)

สิ่งสำคัญก็คือ “การตรวจสอบความเร็วของการเปลี่ยนแปลง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปได้ในการรับประกันความสมดุลโดยรวม” และพึงระลึกว่าความสมดุลนี้แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม

“ควรมุ่งเป้าหมายไปที่การทำให้แน่ใจว่าทุกคนเติบโตไปพร้อมกับรูปแบบที่เฉพาะหรือเหมาะสมสำหรับพวกเขา โดยพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยเริ่มจากค่านิยมของวัฒนธรรมของตนเอง”

ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม (Promoting mutual understanding between science, technology and society)

ความท้าทายประการที่ 3 คือ การนิยามแนวคิดของความรู้และผลที่ตามมา เมื่อสังเกตว่า “ประเภทของความรู้ที่เรานำมาใช้มีความหมายแฝงอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว” พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของ “รูปแบบการกระทำที่ชัดเจน” (Articulated Models) มากขึ้น โดยพิจารณาจาก “การเกี่ยวพันของความสัมพันธ์ที่เหตุการณ์เดียวถูกถักทอ” แทนวิธีการที่เรียบง่ายจนเกินไป ซึ่งไม่สามารถนำไปแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้

ในเรื่องนี้สมณลิขิตเตือนใจเรื่อง “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” (Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium) และรวมถึงพระสมณสาส์น "ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" (Laudato Si') ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับความรู้ทางเทคนิคที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางตามหลักการที่ว่า "ส่วนรวมมีค่ามากกว่าส่วนตัว" และ "ทุกสิ่งในโลกเชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิด" สามารถส่งเสริม "วิธีคิดใหม่ ๆ ในแวดวงศาสนศาสตร์ด้วย" ในความเป็นจริง "เป็นเรื่องดีที่ศาสนศาสตร์ยังคงเอาชนะแนวทางการขอโทษหรือการคืนดีระหว่างกันอย่างเด่นชัด เพื่อนำไปสู่การนิยามมนุษยนิยมใหม่ (New Anthropology) และส่งเสริมการรับฟังซึ่งกันและกัน และความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม"

“การขาดการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่าง (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม) ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์หมดไป และต่อ “มิตรภาพทางสังคม” ทุกรูปแบบ”

บทบาทของศาสนาต่าง ๆ (Role of religions)

พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงสนับสนุนให้สถาบันเพื่อชีวิตแห่งสันตะสำนัก ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่า “การเติบโตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะคืนดีกันมากขึ้นกับการพัฒนาแบบคู่ขนานของมนุษย์” โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพและการอุทิศตนเพื่อทำงานร่วมกัน” เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้