ก้าวไปกับโป๊ป #267 : ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ไปสู่พรมแดนที่ไกลที่สุด

ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ไปสู่พรมแดนที่ไกลที่สุด (Love of Christ drove St. Francis Xavier to furthest frontiers)

เมื่อวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2023 ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน โอกาสสอนคำสอนทั่วไปในวันพุธ พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงยกย่องแบบอย่างของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ว่าเป็น 'มิชชันนารีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน' ในฐานะที่มีความกระตือรือร้นในการเผยแพร่ศาสนา ด้วยความตรากตรำ และอันตรายที่พบเจออยู่ตลอดเวลา การเอาชนะความพ่ายแพ้ ความผิดหวัง และความท้อแท้ แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แท้จริงแล้วทำให้ท่านรู้สึกสบายใจ และมีความสุขในการติดตามและรับใช้พระเยซูเจ้าจนถึงที่สุด

นอกจากนี้แล้ว บรรดามิชชันนารีทุกคน ยังได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความเชื่อและความรักในพระคริสตเจ้า

“ทุกวันนี้เราเห็นความกล้าหาญนี้ในบรรดามิชชันนารีที่แม้ไม่ได้ขึ้นเรือ แต่ขึ้นเครื่องบินแทน เพราะพวกเขามีกำลังที่จะออกไปประกาศข่าวดี มีมิชชันนารีแอบแฝงอยู่มากมาย ซึ่งแม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังทำมากกว่านักบุญฟรังซิสเซเวียร์เสียอีก เช่น บรรดาพระสงฆ์ คริสตชนฆราวาส พี่น้องสตรี ที่ไปปฏิบัติภารกิจ พวกเราสามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้”

การอุทิศตนเพื่อพระเจ้าอย่างไม่มีข้อแม้ (Dedication unreservedly to God)

ในความใกล้ชิดสนิทสัมพ้นธ์ที่นักบุญฟรังซิสซาเวียร์ที่มีต่อพระคริสตเจ้า ได้ทำให้ท่านเข้มแข็งและกล้าหาญ แม้ท่ามกลางความวุ่นวายสับสน ท่านก็ยังได้รับการเสริมกำลังจากพระเยซูเจ้าอยู่เสมอ “ท่านไม่เคยละทิ้งการอธิษฐานภาวนา เพราะเขารู้ว่ามีกำลังอยู่ที่นั่น”

นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ เกิดในครอบครัวขุนนางแต่ยากจนในเมืองนาวาร์ ทางตอนเหนือของประเทศสเปนในปี 1506 ซึ่งต่อมาได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ท่านเป็นชายหนุ่มที่น่ารักและเฉลียวฉลาด เป็นเลิศในด้านกีฬาและการเรียน

ในวิทยาลัย เขาได้พบกับนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา พวกเขากลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และช่วยให้ท่านได้รับประสบการณ์ใหม่ทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง จนกระทั่งท่านได้รับเลือกจากคณะเยสุอิตในยุคนั้น ให้ไปทำงานแพร่ธรรมยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออก เพื่อเผยแพร่ความเชื่อไปสู่ผู้อื่น

ทำให้พระเยซูคริสตเจ้าเป็นที่รู้จัก (Making Jesus Christ known)

นี่เป็นการเริ่มต้นมิชชันนารีกลุ่มแรกจากจำนวนมากมายที่กระตือรือร้น พร้อมที่จะอดทนต่อความยากลำบาก และอันตรายอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันก็คือ ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้พระเยซูคริสตเจ้าและพระวรสารของพระองค์เป็นที่รู้จัก เพื่อเข้าถึงดินแดนและพบปะผู้คนในวัฒนธรรม และภาษาที่ไม่รู้จักโดยสิ้นเชิง

ต่อมานักบุญฟรังซิสเซเวียร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสมณทูต (Apostolic Nuncio) ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสันตะปาปาเปาโลที่ 3 ไปปกครองบริเวณประเทศอินเดีย (Indies) แม้ในช่วงระยะเวลาเพียง 11 ปี เขาก็ทำงานพิเศษได้สำเร็จ

แม้ว่าการเดินทางด้วยเรือในครั้งนั้น จะลำบากและอันตรายมาก มีคนจำนวนมากเสียชีวิตระหว่างทางจากเหตุเรืออับปางหรือเจ็บป่วย นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่งบนเรือ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของระยะเวลาภารกิจทั้งหมดของท่าน

ทั้งหมดออกมาจากความรักที่มีต่อพระเจ้า (All out of love for God)

เมื่อท่านเดินทางถึงเมืองกัว (Goa) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของโปรตุเกสตะวันออกในขณะนั้น ท่านได้ตั้งฐานทัพที่นั่น และไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ท่านออกไปประกาศข่าวดีแก่ชาวประมงที่ยากจนทางชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย สอนคำสอน และคำอธิษฐานภาวนาให้กับเด็ก โปรดศีลล้างบาป และรักษาผู้ป่วย

ระหว่างอธิษฐานภาวนาตอนกลางคืน ที่หลุมฝังศพของนักบุญบาร์โธโลมิว ท่านรู้สึกว่าต้องไปไกลกว่าประเทศอินเดีย ดังนั้น ท่านจึงออกเดินทางไปโมลุกกะ เกาะที่ห่างไกลที่สุดของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งท่านก่อตั้งชุมชนคริสตชนหลายแห่งภายในสองปี ท่านนำคำสอนมาแต่งเป็นบทร้อยกรองด้วยภาษาท้องถิ่น และสอนวิธีร้องเพลง

เขาเขียนจดหมายว่า: 'อันตรายและความทุกข์ทรมานที่ยอมรับโดยสมัครใจ และเพียงเพื่อความรัก และการรับใช้ของพระเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เป็นสมบัติล้ำค่าที่อุดมไปด้วยการปลอบประโลมทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้คนอาจสูญเสียดวงตาจากน้ำตาแห่งความสุขมากเกินไป!” (20 มกราคม 1548)

ผลงานอันยิ่งใหญ่ในทวีปเอเชีย (Great fruits in Asia)

วันหนึ่งในประเทศอินเดีย นักบุญฟรังซิสฟรังซิสเซเวียร์พบชายชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่ง ซึ่งเล่าเรื่องประเทศอันห่างไกลของเขาให้เขาฟัง ซึ่งไม่เคยมีมิชชันนารีชาวยุโรปคนใดเคยไปเลย ท่านตัดสินใจเดินทางไปที่นั่น แม้ว่าจะต้องกอดทนกับการเดินทางที่สุดแสนจะผจญภัย

“สามปีในญี่ปุ่นนั้นยากลำบากมาก เนื่องจากสภาพอากาศ การต่อต้าน และความไม่รู้ภาษา แต่ เมล็ดพืชที่ปลูกก็ได้ให้ผลที่ดี แต่ท่านนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ทราบดีว่า ประเทศที่ชี้ขาดสำหรับภารกิจในเอเชียคือประเทศจีน ด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อำนาจ และความยิ่งใหญ่" พระสันตะปาปาฟรังซิสกล่าว

ต้องเผชิญกับความล้มเหลว (Faced with failure)

ด้วยเหตุนี้นักบุญฟรังซิสเซเวียร์จึงกลับไปที่เมืองกัว และหลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ออกเดินทางอีกครั้ง โดยหวังว่าท่านจะสามารถเข้าสู่ประเทศจีนได้ แม้ว่าในขณะนั้นจะปิดกั้นไม่ให้คนต่างชาติเข้าก็ตาม อย่างไรก็ตามท่านไม่ประสบความสำเร็จ เพราะท่านเสียชีวิตเมื่อมีอายุได้เพียง 46 ปี ในปี 1552 ที่เกาะเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า “ซานเชียน” (Sancian) ขณะรอขึ้นฝั่งประเทศจีนที่เมือง “แคนตัน” (Canton) การเดินทางบนแผ่นดินโลกของท่านจึงสิ้นสุดลง

ความชื่นชมยินดีแห่งการประกาศข่าวดี (Joy of evanglising)

พระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงกล่าวในตอนสุดท้ายว่า "ดูที่นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ดูที่ขอบฟ้าของโลก ดูผู้คนที่ต้องการเช่นนั้น ดูผู้คนมากมายที่ทนทุกข์ ผู้คนมากมายที่ต้องการพระเยซูเจ้า และไปเถิด มีความกล้าหาญ ทุกวันนี้ยังมีคนหนุ่มสาวที่กล้าหาญ ข้าพเจ้านึกถึงมิชชันนารีมากมาย เช่น ในปาปัวนิวกินี ข้าพเจ้านึกถึงเพื่อน ๆ คนหนุ่มสาว คิดถึงทุกคนที่ออกไปประกาศข่าวดีเช่นเดียวกับนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ขอพระเจ้าโปรดประทานความสุขในการประกาศแก่เรา , ความสุข!"