ตอนที่ 1 กระแสเรียกของมนุษย์ ชีวิตในพระจิตเจ้า
(จากหนังสือประมวลคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อที่ 357-433)
บทที่ 1 ศักดิ์ศรีของมนุษย์ มนุษย์ คือ ภาพลักษณ์ของพระเจ้า ศักดิ์ศรีของมนุษย์นั้นหยั่งรากลึกลงในการสร้างตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า กระแสเรียกของมนุษย์สมบูรณ์เมื่อมุ่งสู่บรมสุขของพระองค์ ความคล้ายคลึงของมนุษย์กับพระเจ้า คือ การมีวิญญาณที่เป็นจิตและไม่รู้จักตาย มีสติปัญญาและอำเภอใจที่เป็นอิสระ “พระคริสตเจ้าได้แสดงให้มนุษย์เห็นอย่างเต็มที่ และเผยให้มนุษย์รู้ถึงกระแสเรียกอันสูงสุดของเขา” กระแสเรียกสู่ความบรมสุข ความบรมสุขสอนเราถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายซึ่งพระเจ้าทรงเรียกเรา นำพาเราไปสู่ความสุขถาวร ความสุขนิรันดร คือการเห็นพระเป็นเจ้าในชีวิตนิรันดรเป็นพรเหนือธรรมชาติของพระเป็นเจ้าที่ให้เปล่า เป็นพระหรรษทานที่นำไปสู่ความบรมสุขที่สัญญาไว้ให้เราตัดสินใจเลือกทางศีลธรรมอย่างมั่นใจเกี่ยวกับความดีงามของโลก เสรีภาพของมนุษย์ พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ที่มีเหตุผล โดยทรงประทานศักดิ์ศรีแห่งบุคคล คือให้เขามีความคิดริเริ่ม และสามารถควบคุมการกระทำของตนได้ “พระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะให้มนุษย์คิดพิจารณาไตร่ตรองเอง” (บสร 15 : 14) เสรีภาพทำให้มนุษย์มีความรับผิดชอบในการกระทำของตน ยิ่งทำความดีมากเท่าไร ยิ่งเป็นอิสระมากขึ้นเท่านั้น เสรีภาพของเราอ่อนแอลงเนื่องจากบาปกำเนิดและยังเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากบาปของเราเอง ความตั้งใจของผู้กระทำ คือเป้าหมายของการกระทำจุดประสงค์ที่ดีไม่สามารถทำให้การกระทำนั้นดีได้ถ้าการกระทำนั้นไม่ถูกต้อง มีการกระทำบางอย่างไม่ถูกต้องเสมอไปเมื่อเลือกกระทำเพราะเหตุผลของการกระทำ ความมีศีลธรรมของความปรารถนา ความปรารถนา คือ ความรู้สึกพอใจ ความปรารถนาถ้าเป็นการกระทำที่ดีก็เกิดเป็นความดี และเป็นความชั่วในกรณีตรงกันข้าม ซึ่งจะบอกว่าดีหรือชั่วจากการกระทำนั้น มโนธรรมทางศีลธรรม มโนธรรมของมนุษย์เป็นแก่นที่ลี้ลับที่สุดและเป็นสักการสถานของเขา ณ ตรงนั้นเขาจะพบกับพระเจ้าตามลำพัง มโนธรรมเป็นการวินิจฉัยของเหตุผล ศักดิ์ศรีของมนุษย์เรียกร้องความเที่ยงตรงของมโนธรรมทางศีลธรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องถูกบังคับให้กระทำสิ่งที่ขัดกับมโนธรรมของตนโดยเฉพาะในเรื่องศาสนา มโนธรรมที่ได้รับการหล่อหลอมมาอย่างดี จะเต็มเปี่ยมด้วยความเที่ยงธรรมและความจริง เมื่อเผชิญกับข้อเลือกทางศีลธรรม มโนธรรมสามารถทำการวินิจฉัยตัดสินได้อย่างถูกต้อง คุณธรรม “จุดหมายของชีวิตที่มีคุณธรรมนั้นคือการเป็นเหมือนกับพระเป็นเจ้า” (น. เกรโกรี แห่งนิซา) คุณธรรม คือ ความพร้อมที่เป็นกิจนิสัยและมั่นคงที่จะกระทำสิ่งดีงาม คุณธรรมหลักแบบมนุษย์ที่สำคัญ - ความรอบคอบ การใช้เหตุผลในการแยกแยะสิ่งดีงามแท้จริงและเลือกวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม - ความยุติธรรม ความตั้งใจที่มั่นคงและคงที่ ที่จะให้สิ่งที่ต้องให้แก่ผู้อื่น - ความกล้าหาญ ให้ความมั่นคงในความยากลำบากและความสม่ำเสมอในการแสวงหาความดี - ความมัธยัสถ์ รู้จักบังคับแรงดึงดูดของความสนุกสนานทางประสาทสัมผัสให้พอประมาณ คุณธรรมทางเทววิทยา มีพระเป็นเจ้าเป็นบ่อเกิด เป็นแรงจูงใจและเป้าหมายโดยตรงพร้อมที่จะเจริญชีวิตในความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพ โดยทางความเชื่อ เราเชื่อในพระเจ้า โดยทางความหวัง เราปรารถนาและรอคอยชีวิตนิรันดร โดยทางความรัก เรารักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด พรเจ็ดประการ คือ พระดำริ สติปัญญา ความคิดอ่าน ความเข้มแข็ง ความรู้ ความศรัทธา และความยำเกรงพระเจ้า บาป บาป เป็นถ้อยคำ การกระทำ หรือความต้องการที่ตรงกันข้ามกับธรรมบัญญัตินิรันดร์ (น. ออกัสติน) บาปเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับเหตุผล มันทำร้ายธรรมชาติของมนุษย์ รากเหง้าของบาปทั้งปวงนั้นอยู่ในใจมนุษย์ บาปแยกออกเป็น บาปหนัก และ บาปเบา บาปหนัก คือการกระทำผิดในเรื่องที่หนัก รู้ตัวอย่างเต็มที่และเต็มใจกระทำ บาปชนิดนี้ทำร้ายความรักในตัวเรา ทำให้เราขาดจากพระหรรษทาน และหากไม่เป็นทุกข์กลับใจก็จะนำไปสู่ความตายนิรันดรในนรก บาปเบา คือการทำผิดในเรื่องที่เบา อาจเป็นเรื่องหนักก็ได้ แต่ไม่รู้ตัวอย่างเต็มที่หรือขาดความเต็มใจ บาปไม่ได้ทำลายพันธสัญญากับพระเจ้า แต่ทำให้ความรักอ่อนแอ เป็นอุปสรรคต่อการก้าวหน้าของวิญญาณ บาปเบาสมควรได้รับโทษชั่วคราว แต่การทำบาปซ้ำๆ ซากๆ แม้เป็นบาปเบา ก็ก่อให้เกิดพยศชั่ว ซึ่งทำให้เกิดบาปต้นได้ |