ตอนที่ 3
การสืบทอดตำแหน่งของพระสันตะปาปา
ภายใน 15 - 18 วันหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาองค์ก่อน บรรดาพระคาร์ดินัลทั่วโลก จะเปิดการประชุมลับในวัดน้อยซิสติน ภายในนครรัฐวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่โดยการเลือกตั้งจะใช้วิธีลงคะแนนลับ (Conclave)
พระคาร์ดินัล (Cardinal) เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูง รองจากพระสันตะปาปา
ท่านทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระสันตะปาปา ที่เกี่ยวข้องกับคำสอนด้านข้อความเชื่อ จริยธรรม - ศีลธรรม ด้านความยุติธรรม ปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์ ในการปกครองพระศาสนจักรสากล ตำแหน่งนี้ อาจเทียบเท่ากับพระชั้นพระราชาคณะในพุทธศาสนาหรือวุฒิสมาชิกในทางโลก สมัยก่อนตำแหน่งพระคาร์ดินัล อาจเป็นฆราวาส หรือบุคคลที่มีความเชื่อ จริยธรรมเด่น ใครก็ได้ที่เป็นคาทอลิกชาย นับตั้งแต่ตรากฎหมายภายในพระศาสนจักรฉบับปี ค.ศ. 1917 - ค.ศ. 1983 บาทหลวงและบิช็อปเท่านั้น มีสิทธิ์ถูกแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลได้ หน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งของพระคาร์ดินัล คือ เข้าร่วมประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง และตนเองก็มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาได้ด้วย
พระคาร์ดินัล ปกติมีตำแหน่งเป็นอาร์คบิช็อปหรือบิช็อปผู้เป็นหัวหน้าปกครองของคณะบาทหลวง นักบวชชาย-หญิง และ คริสต์ศาสนิกชน ในเขตศาสนปกครองแห่งใดแห่งหนึ่ง
ปัจจุบัน ณ วันนี้ (ค.ศ.2018) พระศาสนจักรคาทอลิก มีคาร์ดินัล 225 องค์ รวมทั้งผู้เกษียณอายุ แต่ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนในการเลือกพระสันตะปาปา คืออายุต่ำกว่า 80 ปี ซึ่งมีอยู่ 124 องค์
บิช็อป (Bishop) หรือ พระสมณประมุข หรือ มุขนายก
บิช็อป เป็นตำแหน่งผู้มีอำนาจของพระศาสนจักรสูงสุดในเขตศาสนปกครองของตน (Dioceses) หมายถึง ประมุขคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก บิช็อปเป็นผู้สืบตำแหน่งจาก อัครธรรมทูต (ศิษย์สำคัญ 12 คน ซึ่งติดตามพระเยซูคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิดในสมัยที่พระองค์ยังคงดำรงชีพเป็นมนุษย์เมื่อ 2000 ปีมาแล้ว)
บิช็อป มีหน้าที่หลักคือผู้นำความเชื่อ ผู้นำจริยธรรม เป็นหัวหน้าปกครองของคณะบาทหลวง นักบวชชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชนในเขตศาสนปกครองของตนเอง
- Ø เขตศาสนปกครอง (Diocese) หรือมิสซัง คือ เขตการปกครองของบิช็อปในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ในประเทศไทยแบ่งเขตศาสนปกครอง ณ ปัจจุบัน มี 11 เขต ซึ่งแต่ละเขตศาสนปกครอง มีบิช็อป หรือพระสมณประมุข 1 ท่าน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบทั้งต่อหน้าพระศาสนจักรและต่อหน้าฝ่ายบ้านเมือง
- Ø บิช็อป หรือ พระสมณประมุข (มุขนายก) จะต้องเป็นพระสงฆ์หรือบาทหลวงมาก่อน และต่อมาได้รับการเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสมจากท้องถิ่น โดยมีกระบวนการสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกระดับ (แบบไม่เปิดเผยถึงผู้ที่เป็น candidates) จากนั้นจะส่งชื่อ 3 ชื่อ เพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปาพิจารณาในความเหมาะสมของบุคคลนั้นๆ และพระองค์จะแต่งตั้งบุคคลหนึ่งโดยได้รับการบวชเป็นบิช็อปขึ้นสู่ตำแหน่ง ซึ่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกถือว่าเป็นศีลบวชขั้นสูงสุด แม้แต่สมเด็จพระสันตะปาปาก็ต้องได้รับศีลบวชเป็นบิช็อป พระองค์มีตำแหน่งเป็นบิช็อปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงโรม ซึ่งถือว่าเป็นพระศาสนจักรแม่ ดังนั้นบรรดาบิช็อปทั่วโลก และเขตศาสนปกครองทุกแห่งจึงมีความผูกพันในความเชื่อและศาสนพิธีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระศาสนจักรแม่ หรือพระศาสนจักรสากล ที่มีหลักทางศาสนาอันเดียวกัน
- Ø ศีลบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มี 3 ขั้นคือ ขั้นสังฆานุกร (Deacon) ขั้นบาทหลวง (Priest) ขั้นบิช็อป (Bishop)
- บิช็อป เป็นสรรพนามที่ใช้เรียก ประมุข แห่งเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) หรือชื่อเดิมเรียกว่า “มิสซัง” ซึ่งเป็นเขตการปกครองที่เป็นการบริหารศาสนกิจลักษณะภายในของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งทั่วโลกมีโครงสร้างเหมือนกันหมด
- พระคุณเจ้า เป็นสรรพนามที่ชาวคริสต์ใช้เรียก บิช็อป แต่ทางราชการโดยกรมการศาสนากำหนดให้ใช้คำว่า “มุขนายก” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ซึ่งคำนี้มักไม่มีคนเข้าใจความหมายว่าหมายถึงใคร แต่เพื่อความเข้าใจเราหมายถึง บิช็อปคาทอลิก หรือ พระสมณประมุข (ผู้เขียนคิดว่าคำนี้อาจเหมาะกว่า)