ตอนที่ 7
นักบวช นักพรต คือใคร?
คริสตชนบางคน ทั้งชาย-หญิง ที่มีความมุ่งมั่นอุทิศตนเองเพื่อรับใช้พระเจ้า และการรับใช้เพื่อนมนุษย์ โดยผ่านทางพระศาสนจักรคาทอลิก สามารถสมัครใจเข้าสังกัดในคณะนักบวชต่างๆ ที่พระศาสนจักรรับรอง ในพระศาสนจักรคาทอลิกมีนักบวชมากมายหลายพันคณะฯ ซึ่งผู้ตั้งคณะมีจุดประสงค์เฉพาะเพื่อรับใช้พระศาสนจักรของพระเจ้า และตอบสนองความต้องการในสังคมเพื่อนมนุษย์ ตัวอย่าง คณะนักบวชชาย เช่น คณะเยซูอิต ผู้ก่อตั้งคือนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา มีจุดประสงค์หลักคือให้การศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะอุดมศึกษา ผู้ให้คำแนะนำชีวิตฝ่ายจิต และงานสังคมสงเคราะห์ทุกประเภท เช่น ผู้ลี้ภัย ผู้ต้องกักขัง ฯลฯ คณะซาเลเซียน ผู้ก่อตั้งคือนักบุญยอห์น บอสโก มีจุดประสงค์หลักคืออภิบาลบรรดาเยาวชน ให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองในการอบรมบุตรธิดาโดยเฉพาะเยาวชนที่เผชิญปัญหาชีวิต คณะฟรังซิสกัน ผู้ก่อตั้งคือนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี จุดประสงค์หลักคืออภิบาลผู้ยากจน บุคคลชายขอบทางสังคม คณะพระมหาไถ่ ผู้ก่อตั้งคณะคือนักบุญอัลฟอนโซ มีจุดประสงค์หลักคือการเป็นนักเทศน์ และสอนจริยธรรม คณะคามิลเลียน ผู้ก่อตั้งคณะคือนักบุญคามิลโล เดอลาลิซ มีจุดประสงค์หลักคือการอภิบาลผู้เจ็บป่วย คนชรา บุคคลพิการ คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ผู้ก่อตั้งคณะคือนักบุญหลุยส์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต มีจุดประสงค์หลักคือการอบรม ให้การศึกษาบรรดาเยาวชน ฯลฯ
คณะนักบวชหญิง เช่น คณะภคินีเซนต์ปอล เดอชาร์ตร มีจุดประสงค์หลักคือให้การศึกษา งานอภิบาลในโรงพยาบาล งานสังคมสงเคราะห์เมตตากิจต่างๆ คณะภคินีอูร์ซูลิน จุดประสงค์หลักคือให้การศึกษา เมตตากิจในสังคมคนยากจน และเน้นงานสิทธิมนุษยชน คณะภคินีศรีชุมพาบาล มีจุดประสงค์หลักคือดูแลสตรีที่ด้อยโอกาส สิทธิสตรี ดูแลผู้ต้องจองจำ อภิบาลเด็กกำพร้า ดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ คณะนักพรตคาร์เมไลท์ และคณะภคินีกาปูชิน มีจุดประสงค์หลักคือการจำศีล อธิษฐานภาวนาแบบเชิงลึกเพื่อมวลมนุษย์ ฯลฯ
ผู้สมัครเข้าเป็นนักบวช อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ที่แต่ละคนมีความถนัดและเหมาะสมกับชีวิตของตน และต้องเข้ากฎเกณฑ์ตามพระธรรมนูญ และพระวินัยตามที่แต่ละคณะกำหนดไว้ แต่ละคณะมีเครื่องแบบภายนอกเฉพาะของตน มีแบบแผนการเจริญชีวิตของตน แต่ทุกคณะจะมีหลักการที่เหมือนๆ กัน กล่าวคือ การใช้ชีวิตเป็นหมู่คณะ มีการปฏิญาณตนแบบสาธารณะ ในการยึดถือ สาบานตนหลักๆ 3 ประการ คือ 1) ความยากจน (คือสละวัตถุทางโลกที่เกินความจำเป็น และต้องวางทุกอย่างไว้เป็นส่วนกลาง) 2) การนอบน้อมเชื่อฟัง ต่อผู้ที่เป็นหัวหน้า ซึ่งเรียกว่าอธิการ หรืออธิการิณี 3) การถือโสด เพื่อเห็นแก่อาณาจักรพระเจ้า และรับใช้เพื่อนมนุษย์แบบอิสระ ผู้ที่เป็นนักบวชในระยะแรก อาจจะให้คำสัญญาปฏิญาณตนแบบชั่วคราวปีต่อปี (อาจจะมีระยะ 5 ปี ถึง 7 ปี แล้วแต่คณะกำหนด) หลังจากนั้นถ้าหากผู้สมัครเห็นว่าชีวิตเช่นนี้เหมาะสมกับตนเองและผู้ใหญ่ในคณะรับรองเห็นชอบ จึงอุทิศตนให้คำสัญญาเป็นสมาชิกในคณะนั้นๆ แบบตลอดชีวิต
ผู้ที่เป็นนักบวชชาย ปกติจะขอบวชเป็นบาทหลวง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาด้วย ถ้าหากไม่เป็นบาทหลวง ท่านก็เป็นภราดา (บราเดอร์) เช่นคณะเซนต์คาเบรียล ท่านเป็น “นักบวช ที่เรียกว่า บราเดอร์” ไม่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่เจริญชีวิตแบบหมู่คณะ ภาวนาร่วมกัน มุ่งงานการศึกษาแก่เยาวชน ส่วนนักบวชหญิงนั้น เรามักจะเรียกท่านว่า “ซิสเตอร์” (ภาษาอังกฤษ) หรือ “มาเซอร์” (ภาษาฝรั่งเศส)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสมาชิกนักบวชจะปฏิบัติภารกิจในเขตศาสนปกครองใดก็ตาม (ในมิสซังใดก็ตาม) ท่านต้องขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของบิช็อป ในแต่ละเขตนั้นๆ โดยมีข้อตกลงเป็นการภายในระหว่างบิช็อป และอธิการผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ ด้วยเหตุนี้การปกครองและบริหารงานจึงเป็นเอกภาพ แต่ละคณะนักบวชมีความเชี่ยวชาญในพระพรพิเศษแห่งการรับใช้สังคมในรูปแบบต่างกัน แต่เป็นหนึ่งเดียวกัน เฉกเช่นร่างกายหนึ่งเดียว แต่ประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน