ตอนที่ 9
หน้าที่และบทบาทหลักของเอกอัครสมณทูตของสถานสมณทูต นครรัฐวาติกัน
บทบาทและหน้าที่หลัก มี 3 ประการ คือ
1. เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทางความเชื่อระหว่างพระศาสนจักรท้องถิ่นกับพระศาสนจักรสากล หรือพระศาสนจักรแม่แห่งกรุงโรม เป็นสื่อกลางระหว่างพระสันตะปาปากับบรรดาอาร์คบิช็อปหรือบิช็อป ผู้เป็นประมุขแห่งเขตศาสนปกครองท้องถิ่น หรือแต่ละมิสซัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหลักความเชื่อ หลักจริยธรรม และหลักคำสอนทางศาสนา ด้วยว่าแนวคิดทางเทวศาสตร์ของศาสนาคริสต์มีการพัฒนาทางความคิด ที่ต้องปฏิบัติเพื่อการตอบรับสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ทางสังคม และต้องรับใช้ประชากรในสังคมโลก โดยเฉพาะเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม ต้องสอดคล้องกับข้อเชื่อทางพระคัมภีร์ เนื่องจากสถานการณ์ วัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป เพื่อความเป็นเอกภาพในข้อความเชื่อ และหลักคำสอนของศาสนจักร สถานสมณทูตจึงทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษา ให้คำแนะนำเมื่อมีความขัดแย้งการตีความในข้อความเชื่อ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพระศาสนจักรและความผูกพันกับพระสันตะปาปาผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักรคาทอลิก
2. เสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีสถานสมณทูตประจำอยู่ โดยเฉพาะส่งเสริมกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ในประเทศนั้นๆ ที่จะนำความมั่นคง สันติสุขในการอยู่ร่วมกัน เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการปฏิบัติศาสนกิจ ส่งเสริมเรื่องความยุติธรรมในสังคม ส่งเสริมเรื่องการเสวนาระหว่างศาสนา ส่งเสริมทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องศักดิ์ศรีแห่งการเป็นมนุษย์
3. เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคณะทูตานุทูต นโยบายทางการทูตของสันตะสำนักมีจุดยืนที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ และสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมีร่วมกับประชาคมโลกในนานาชาติ สันตะสำนักคัดค้านเสมอต่อสิ่งที่เป็นภัยคุกคามสันติภาพของโลก หรือสิ่งที่ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ (Natural Law) และกฎพระเจ้า (Divine Law)
สถานสมณทูตแห่งสันตะสำนัก มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งองค์กรต่างๆ ของสหประชาชาติ ณ ปัจจุบัน จำนวน 182 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
มิตรภาพอันดีงามระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกและราชอาณาจักรไทยทั้งความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และรัฐบาลไทยได้มีมาเนิ่นนานกว่า 450 ปีแล้ว ซึ่งมิตรไมตรีอันดีงามพัฒนาขึ้นเรื่อย ทีละย่างก้าวจนกลายเป็นมิตรที่แน่นแฟ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1958 สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้ส่งผู้แทนพระองค์มาประจำที่กรุงเทพฯ คืออาร์คบิช็อปจอห์น กอร์ดอน (Archbishop John GORDON) ในฐานะ “Apostolic Delegate” ต่อมา เมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1969 ความสัมพันธ์ระดับทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยทางสันตะสำนัก นครรัฐวาติกันได้ส่งเอกอัครสมณทูต (Apostolic Nuncio, Vatican Ambassador) คือ อาร์คบิช็อป ยัง ยาโด (Archbishop Jean JADOT) มารับตำแหน่งฐานะเอกอัครสมณทูตองค์แรก ส่วนราชอาณาจักรไทยได้ส่งราชทูตไทยประจำสันตะสำนักนครรัฐวาติกัน บุคคลแรก คือ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ
เอกอัครสมณทูตแห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน ปัจจุบัน (ค.ศ.2018) คือ ฯพณฯ อาร์คบิช็อป พอล ชาง อิน-นัม (Archbishop Paul Tschang In-nam) สถานเอกอัครสมณทูตแห่งสันตะสำนัก (Embassy of Holy See, Vatican) 217/1 ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
อย่างไรก็ตามเราสังเกตได้ว่า แม้ก่อนหน้า หรือหลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ระดับทางการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสองแห่งได้มีไมตรีจิตต่อกันมาแล้วอย่างแนบแน่น เพราะทั้งพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนรัฐบาล แสดงมุทิตาจิตต่อสมเด็จพระสันตะปาปาตลอดมาทุกยุคทุกสมัย และบุคคลสำคัญทั้งสองฝ่ายได้เยี่ยมเยือนไปมาเป็นระยะๆ แม้แต่คณะพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่จากประเทศไทยก็ได้เยือนสมเด็จพระสันตะปาปา ณ กรุงโรม เช่น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1971 และวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1972 พระเทพโสภณ จากวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) และสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพล (ปุ่น ปุณณสิริ ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 หรือที่รู้จักกันในนาม สมเด็จป๋า นั่นเอง) และเมื่อไม่นานมานี้ คณะพระภิกษุ 12 รูป แห่งวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นผู้แทนของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) ร่วมกับผู้แทนของรัฐบาลไทย (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และอธิบดีกรมการศาสนา) พร้อมกับบรรดาฆราวาสผู้ทรงเกียรติจำนวนหนึ่ง ผู้มีส่วนร่วมในการปริวรรติพระคัมภีร์โบราณ “พระมาลัย” ต้นฉบับภาษาขอม ให้เป็นภาษาร่วมสมัย ได้เดินทางไปนครรัฐวาติกัน ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีท่านเจ้าคุณพระภิกษุผู้ใหญ่ ผู้แทนสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เป็นหัวหน้าคณะฯ เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสแบบส่วนพระองค์ และได้นำพระคัมภีร์ดังกล่าวไปทูลเกล้าแด่องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส นำมาซึ่งความปีติยินดีแก่ทุกท่าน ที่เราต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน