ตอนที่ 14
หลักการบริหารทรัพย์สินของพระศาสนจักรคาทอลิก
พระศาสนจักรคาทอลิกยึดหลักการตามคำสั่งสอนจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล และธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนจักรเรื่อยมา โดยเฉพาะแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เอง ซึ่งในพระคัมภีร์เขียนย้ำไว้ว่า “พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า แม้พระองค์ทรงมั่งคั่ง ก็ยังทรงยอมทำตนเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย” (2 โครินธ์ 8:9) ดังนั้น อุดมการณ์และปรัชญาของคริสตศาสนิกคาทอลิกคือ ต้องยืนเคียงข้างกับคนยากจน คนตกขอบสังคม ผู้ยากไร้ ผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ได้รับเคราะห์กรรมต่างๆ ผู้ที่มีความจำเป็นในชีวิต ดังนั้น หลักการแบ่งปัน การวางสิ่งที่มีไว้เป็นส่วนกลาง จึงเป็นการปฏิบัติตั้งแต่เริ่มต้นพระศาสนจักรเมื่อ 2000 กว่าปีที่แล้ว ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลยังเตือนอีกว่า “พวกคริสตชนจากทุกประเทศทั่วใต้ฟ้า ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชื่อและศรัทธา ได้นำทรัพย์สิน สิ่งของของเขาที่มีเอามารวมกันเป็นของกลาง และได้วางไว้ที่แทบเท้าของอัครสาวก จากนั้นอัครสาวกจึงแจกจ่ายสิ่งต่างๆ ให้ทุกคนตามที่ต้องการ” (เทียบ กิจการอัครสาวก 2:45; 4:35) ด้วยเหตุนี้บุคคลที่มีมากกว่าจึงต้องแบ่งปันให้กับผู้ยากจนและมีความต้องการ ซึ่งเป็นความรักต่อพระเจ้าผ่านทางความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และนี่คือพระบัญญัติเอกทางคริสตศาสนา
ฉันใดฉันนั้น การบริหารทรัพย์สินของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เขตศาสนปกครองใหญ่ (มิสซังใหญ่) ที่พอจะมีฐานะทางการเงินที่อยู่ได้ จับคู่กับเขตศาสนปกครองที่เล็กและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ส่วนวัดคาทอลิกที่มีผู้มีจิตศรัทธาทำบุญมาก ต้องส่งเงินมายังศูนย์กลางของเขตศาสนปกครอง (มิสซัง) เพื่อจะส่งความช่วยเหลือไปยังวัดที่ยากจน โรงเรียนใหญ่ที่มีฐานะดีต้องส่งความช่วยเหลือไปยังชนบท คณะนักบวช - นักพรตที่พอจะมีผู้บริจาคหรือทำบุญต้องส่งปัจจัยหรือสิ่งของที่มีเข้ากองกลางเพื่อศูนย์กลางการบริหารทรัพย์สินไปยังผู้ที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะงานเมตตาจิต งานสังคมสงเคราะห์ทุกประเภท โดยภาพรวมแล้ว พระศาสนจักรคาทอลิกใช้ระบบ “กงสี” นั่นเอง เมื่อเริ่มแรกพระศาสนจักรท้องถิ่น พวกเราไม่มีทรัพย์สินใดๆ เลยและยังยืนด้วยตัวเองไม่ได้ แต่เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าของพระมหากษัตริย์ไทยได้พระราชทานที่ดิน เหรียญกษาปณ์ และสิ่งจำเป็นเพื่อทำนุบำรุงศาสนาให้ยืนอยู่ได้ บรรดาธรรมทูตยุคแรก หรือมิชชันนารีสมัยเริ่มต้นเห็นความจำเป็นในการช่วยสร้างประเทศจึงพยายามหาทุนรอนจากที่ต่างๆ มาช่วยพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ทั้งสร้างสถานสงเคราะห์ โรงพยาบาล โรงเรียน ให้ทุนการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของบุคคล แต่เมื่อพระศาสนจักรท้องถิ่นเติบโตขึ้น สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง บรรดาธรรมทูตจึงค่อยๆ ถอนตัวออกไป และให้บุคคลท้องถิ่นดำเนินพันธกิจสืบเนื่องต่อไป และพระศาสนจักรก็ใช้หลักการเดียวกันคือต้องผันปัจจัยและสิ่งของทั้งอุปโภค บริโภค ไปยังผู้ที่ยังไม่มีและมีความจำเป็นในการดำรงชีวิต กล่าวคือแบ่งปันผันความเจริญไปสู่พื้นที่ชนบท ที่อยู่ชายขอบสังคม
อนึ่ง สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงและยืนยันว่า พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยแต่ละเขตศาสนปกครองได้ออก “ข้อกำหนด หรือ กฏเกณฑ์เฉพาะ” ของการบริหารและการใช้ทรัพย์สินของพระศาสนจักร ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุไว้แล้วอย่างเป็นระบบมาตรฐานซึ่งสามารถตรวจสอบและควบคุมการใช้ทรัพย์สินได้ทุกประการ