บาปผิดต่อพระจิตเจ้าคืออะไร?
มธ 12:31-32
31ดังนั้นเราบอกท่านทั้งหลายว่ามนุษย์จะได้รับการอภัยบาปทุกชนิดรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าด้วยแต่คำดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย32ใครที่กล่าวร้ายต่อบุตรแห่งมนุษย์จะได้รับการอภัยแต่ใครที่กล่าวร้ายต่อพระจิตของพระเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลยทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า
ลก 12:10
10“ทุกคนที่กล่าวร้ายต่อบุตรแห่งมนุษย์จะได้รับการอภัยแต่ผู้ที่กล่าวร้ายต่อพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย”
มก 3:22-30
ข้อกล่าวหาของบรรดาธรรมาจารย์
22บรรดาธรรมาจารย์ที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มพูดว่า“เขามีปีศาจเบเอลเซบูลสิงอยู่”และ“ขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเจ้าแห่งปีศาจนั่นเอง” 23พระองค์จึงทรงเรียกเขาเหล่านั้นเข้ามาพบตรัสเป็นอุปมาว่า “ซาตานจะขับซาตานได้อย่างไร24ถ้าอาณาจักรหนึ่งแตกแยก อาณาจักรนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ 25ถ้าครอบครัวหนึ่งแตกแยกครอบครัวนั้นก็ตั้งมั่นอยู่ต่อไปไม่ได้26ถ้าซาตานลุกขึ้นต่อสู้กันเองและแตกแยกมันก็อยู่ไม่ได้ต้องถึงจุดจบ27ไม่มีใครเข้าไปในบ้านของคนเข้มแข็งและปล้นเอาทรัพย์ของเขาได้ถ้าไม่มัดคนเข้มแข็งนั้นไว้ก่อนเมื่อนั้นแหละจึงจะเข้าปล้นบ้านได้
28“เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่ามนุษย์จะรับการอภัยบาปทุกประการรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าที่ได้พูดออกไป29แต่ใครที่พูดดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลยเขามีความผิดตลอดนิรันดร” 30พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพราะมีผู้พูดว่า “คนนี้มีปีศาจสิงอยู่”
เพื่อจะเข้าใจพระวาจาอันน่าตื่นตระหนกนี้ จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมขณะนั้นเสียก่อน
เริ่มด้วยบรรดาธรรมาจารย์และฟาริสีพูดดูหมิ่นพระองค์ว่าขับไล่ปีศาจ ไม่ใช่ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า แต่ด้วยฤทธิ์อำนาจของเจ้าแห่งปีศาจ
อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องระลึกถึงคือ พระเยซูเจ้ามิได้ใช้คำ “พระจิตเจ้า” ในความหมายเต็มๆ อย่างที่เราคริสตชนเข้าใจ ซึ่งความหมายเต็มๆ นี้เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรค์และทรงส่งพระจิตลงมาในวันเปนเตกอสเตแล้วเท่านั้น
แต่พระองค์ทรงใช้คำ “พระจิตเจ้า” ในความหมายที่ชาวยิวขณะนั้นเข้าใจ !
ชาวยิวเข้าใจว่าพระจิตเจ้าทรงมีบทบาทหน้าที่สำคัญสองประการ คือ เปิดเผยความจริงของพระเจ้าแก่มนุษย์ และทำให้มนุษย์รู้จักความจริงนั้นเมื่อมีโอกาสพบเห็น
ด้วยความคิดของชาวยิวนี้เอง เราจึงพอจะอธิบายความหมายของพระวาจาที่ว่า “มนุษย์จะรับการอภัยบาปทุกประการรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าที่ได้พูดออกไปแต่ใครที่พูดดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลยเขามีความผิดตลอดนิรันดร”ได้ดังนี้
1. พระจิตทรงทำให้มนุษย์รู้จักความจริงของพระเจ้าเมื่อความจริงนั้นเข้ามาสู่ชีวิตของเราก็จริง แต่หากมนุษย์ยืนกรานปฏิเสธความจริงนั้นบ่อยครั้งเข้า ความสามารถที่จะรู้จักความจริงนั้นก็จะสูญหายไป
คนที่นอนติดเตียงนานๆ จะสูญเสียความสามารถในการเดินฉันใด ผู้ที่ปฏิเสธการดลใจของพระจิตเจ้าบ่อยๆ ก็จะสูญเสียความสามารถในการรู้จักความจริงเมื่อพบเห็นฉันนั้น และหากปล่อยจนถึงเวลานั้น ความชั่วสำหรับเขาจะกลายเป็นความดี และความดีจะกลายเป็นความชั่ว ดังเช่นบรรดาธรรมาจารย์ที่มองเห็นความดีของพระเจ้าเป็นความชั่วร้ายของปีศาจไปได้
2. เมื่อมีโอกาสพบปะกับพระเยซูเจ้า ผลพวงประการแรกสุดก็คือ มนุษย์จะตระหนักว่าตนเองไม่มีอะไรคู่ควรเลยเมื่อเทียบกับความงดงามและความน่ารักของพระองค์ แม้แต่เปโตรเองยังทูลพระองค์หลังจับปลาได้จำนวนมากมายว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8)
เราเรียกการตระหนักเช่นนี้ว่า “การเป็นทุกข์ถึงบาป” ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญเพียงหนึ่งเดียวเพื่อจะได้รับ “การอภัย”
แต่ถ้าเรา “ดูหมิ่นพระจิตเจ้า” ด้วยการปฏิเสธการดลใจของพระองค์ซ้ำซาก จนกระทั่งเราไม่สามารถมองเห็นความน่ารักของพระเยซูเจ้าได้แล้วละก็ เราจะไม่มีทางสำนึกถึงความผิดบาปของเราได้เลย
เมื่อไม่สำนึกถึงความผิดบาป เราก็ไม่สามารถเป็นทุกข์ถึงบาป เมื่อไม่สามารถเป็นทุกข์ถึงบาป เราก็ไม่มีทางได้รับการอภัย
มีตำนานเกี่ยวกับลูซิเฟอร์เรื่องหนึ่ง เล่าว่า...
วันหนึ่ง พระสงฆ์องค์หนึ่งสังเกตเห็นชายหนุ่มรูปร่างสง่างามผู้หนึ่งนั่งอยู่ท่ามกลางสัตบุรุษ หลังพิธีเสร็จสิ้น ชายหนุ่มผู้นั้นเข้ามาแก้บาป เขาสารภาพบาปหนักมากมายจนพระสงฆ์ขนลุก ที่สุดพระสงฆ์เอ่ยขึ้นว่า “ลูกคงต้องมีชีวิตยืนยาวมากสินะกว่าจะทำบาปทั้งหมดนั่นได้”
“ผมชื่อลูซิเฟอร์ครับ ผมตกจากสวรรค์ตั้งแต่ก่อนกาลแล้ว” ชายหนุ่มตอบ
“ถึงกระนั้น ถ้าลูกเป็นทุกข์เสียใจ ลูกก็จะได้รับการอภัยบาป” พระสงฆ์กล่าว
ชายหนุ่มมองหน้าพระสงฆ์อยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็เดินอาดๆ ออกไป เขาไม่มีทางและก็ไม่สามารถด้วยที่จะเป็นทุกข์ถึงบาป ...!
ตราบใดที่มนุษย์ยังมองเห็นความน่ารักในพระเยซูเจ้าแล้วเกลียดชังบาป แม้จะยังละทิ้งบาปนั้นไม่ได้ เขาก็สามารถรับการอภัยได้
ตรงกันข้าม หากเขาปฏิเสธพระจิตเจ้าจนกระทั่งมองเห็นความดีเป็นความชั่ว และความชั่วเป็นความดีเสียแล้ว เขาจะไม่มีทางเป็นทุกข์ถึงบาปและรับการอภัยได้เลย
นี่คือบาปผิดต่อพระจิตเจ้า !