Homeถาม-ตอบ กับคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์ ทำไมพระเยซูจึงบอกว่า ถ้าเรารักพ่อแม่พี่น้องมากกว่าพระองค์ก็ไม่สมควรเป็นศิษย์พระองค์ แล้วเราควรจะปฏิบัติตนอย่างไร

ทำไมพระเยซูจึงบอกว่า ถ้าเรารักพ่อแม่พี่น้องมากกว่าพระองค์ก็ไม่สมควรเป็นศิษย์พระองค์ แล้วเราควรจะปฏิบัติตนอย่างไร

ทำไมพระเยซูจึงบอกว่า ถ้าเรารักพ่อแม่พี่น้องมากกว่าพระองค์ก็ไม่สมควรเป็นศิษย์พระองค์ แล้วเราควรจะปฏิบัติตนอย่างไร

         คำตอบข้อนี้ก็มีคำอธิบายอยู่ในข่าวดีของวันอาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา (ลก 14:25-33)

อาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี ลก 14:25-33

25ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินไปกับพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาตรัสกับเขาทั้งหลายว่า  26“ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้  27ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้เช่นเดียวกัน

28ท่านที่ต้องการสร้างหอคอย จะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างให้เสร็จหรือไม่  29มิฉะนั้นเมื่อวางรากฐานไปแล้ว แต่สร้างไม่สำเร็จ ทุกคนที่เห็นจะหัวเราะเยาะเขา พูดว่า  30‘คนนี้เริ่มก่อสร้าง แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้’  31หรือกษัตริย์ที่ทรงยกทัพไปทำสงครามกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง จะไม่ทรงคำนวณก่อนหรือว่า ถ้าใช้กำลังพลหนึ่งหมื่นคน จะเผชิญกับศัตรูที่มีกำลังพลสองหมื่นคนได้หรือไม่  32ถ้าไม่ได้  ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยังอยู่ห่างไกล พระองค์จะได้ทรงส่งทูตไปเจรจาขอสันติภาพ  33ดังนั้น ทุกท่านที่ไม่ยอมสละทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้”

**************************

        “ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินไปกับพระเยซูเจ้า” โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม (ลก 14:25)

        พระองค์ทรงตระหนักดีว่า ไปกรุงเยรูซาเล็มก็คือไปตายบนไม้กางเขน !

        แต่ประชาชนที่ติดตามพระองค์ไม่ได้คิดเช่นนั้น  พวกเขาคิดว่าพระองค์กำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรวบรวมกำลังพลสำหรับกอบกู้เอกราชจากโรม และทำให้ชนชาติยิวกลับมายิ่งใหญ่เกรียงไกรเหมือนในยุคสมัยของกษัตริย์ดาวิด บรรพบุรุษของพระองค์

พระองค์จึงต้องเปลี่ยนความคิดของพวกเขาด้วยการตรัสว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้   ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้เช่นเดียวกัน” (ลก 14:26-27)

หลายคนอาจบ่นว่าพระวาจานี้ “กระด้าง” จัง ใครจะฟังได้ ?!

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ต้นฉบับภาษากรีกยังใช้คำ miséō (มีแซโอ) ซึ่งแปลว่า “เกลียด”  ดังนั้นหากแปลตามต้นฉบับเราจะได้ความว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่เกลียดบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้”

และเพราะมีบางคนตีความตามตัวอักษรเช่นนี้เอง ศาสนาคริสต์จึงตกเป็นจำเลยของสังคมในข้อหาสอนให้เกลียดชังบิดามารดาของตน

อันที่จริงนี่คือเสน่ห์ของภาษาฮีบรู และภาษาทางตะวันออกอื่น ๆ ที่นิยมพูดจาให้ “เห็นจริงเห็นจัง”มากที่สุดเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะจินตนาการได้

คำ “เกลียด” จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการชนิดเห็นจริงเห็นจังว่า “หากผู้ใดไม่พร้อมสละทุกสิ่งที่ตนรัก รวมถึงหนทางสู่อำนาจและความยิ่งใหญ่ทางโลก เพื่อมาร่วมชะตากรรมแบบเดียวกับที่พระเยซูเจ้ากำลังจะได้รับในกรุงเยรูซาเล็ม ผู้นั้นย่อมเป็นศิษย์ของพระองค์ไม่ได้”

คำ “เกลียด” ในที่นี้บ่งบอกถึง “การไม่มีพันธะผูกพัน” เพื่อเราจะเป็นอิสระในการร่วมชะตากรรม “แบกกางเขน”กับพระเยซูเจ้า  หาได้มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้ผู้หนึ่งผู้ใดเกลียดชังบิดามารดา ภรรยา บุตร หรือพี่น้องชายหญิงของตนแต่ประการใดไม่ !!!

นอกจากจะเป็นวิธีพูดเพื่อให้เห็นจริงเห็นจังแล้ว เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ พระคัมภีร์ใช้คำ “เกลียด” เพื่อหมายถึง “รักน้อยกว่า” เท่านั้นเอง

        ตัวอย่างเห็นได้จากการใช้คำ sanē’ (ซาเน)ในภาษาฮีบรู และ miséō (มีแซโอ) ในภาษากรีก ซึ่งต่างก็แปลว่า “เกลียด” เหมือนกัน

        กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุตรคนแรกกำหนดไว้ว่า “ถ้าชายผู้หนึ่งมีภรรยาสองคน รักคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง และทั้งสองคนคลอดบุตรชายให้เขา แต่บุตรชายคนแรกเป็นบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า (sanē’ - miséō)  เมื่อชายนั้นจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้บุตร  เขาต้องไม่คิดว่าบุตรของภรรยาที่เขารักมีสิทธิเป็นบุตรคนแรกแทนบุตรคนแรกแท้จริงที่เป็นบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า (sanē’ - miséō)  แต่เขาต้องรับว่าบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า (sanē’ - miséō) เป็นบุตรคนแรก และต้องแบ่งทรัพย์สินให้บุตรคนแรกนี้เป็นสองเท่าของทรัพย์สินที่ให้แก่บุตรจากภรรยาที่เขารัก เพราะบุตรคนนี้เป็นผลแรกจากความหนุ่มของเขา และมีสิทธิของบุตรคนแรก (ฉธบ 21:15-17)

หากเราแปล sanē’ (ซาเน)หรือ miséō (มีแซโอ) ตามตัวอักษรคือ “เกลียด” แทนคำว่า “รักน้อยกว่า”  ย่อมเท่ากับว่าชาวยิวถูกบังคับให้ยกทรัพย์สมบัติถึงสองเท่าให้แก่ลูกของคนที่ตนเกลียดชัง ซึ่งถือว่าผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้นเมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้”  จึงบ่งบอกวัตถุประสงค์ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

1.     ให้เรา “รักผู้อื่นน้อยกว่าพระองค์” เพื่อจะเป็นอิสระจากพันธะทั้งปวงและสามารถดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ได้

2.     ให้เรา “รักพระองค์มากกว่าผู้อื่น” ซึ่งหากฟังผ่าน ๆ ดูเหมือนพระองค์จะเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง !

แต่พระองค์ตรัสเช่นนี้ก็เพราะทรงปรารถนาดีและทรงรักเราจริง เพราะความรักตามประสามนุษย์ย่อมมี “ความเห็นแก่ตัว” เจือปนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย  คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ชายหญิงที่บอกว่ารักกันปานจะกลืนกินนั้น จริง ๆ แล้วต่างฝ่ายต่างก็คิดถึงความสุขและความมั่นคงของตนเองเป็นที่ตั้งด้วยกันทั้งนั้น

ต่อเมื่อเรารักพระเยซูเจ้าเหนืออื่นใด ความรักแบบ agapē(อากาเป) ของพระองค์จะเปลี่ยนความรักที่เจือปนด้วยความเห็นแก่ตัวของเราให้เป็นความรักที่มีแต่ “ให้” และคิดคำนึงถึงความดีและความสุขสูงสุดของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง

เมื่อต่างคนต่างคิดถึงผู้อื่นก่อนเช่นนี้  ครอบครัวที่มีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางจึงมีความมั่นคง และดำรงอยู่ในความรักเป็นนิตย์ !

        นอกจากทรงปรารถนาให้เรารักพระองค์มากกว่าผู้อื่นแล้ว พระองค์ยังตรัสต่อไปอีกว่า “ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้” ซึ่งบ่งบอกว่า

        ไม่ใช่ทุกคนที่เดินตามพระองค์จะเป็นศิษย์ของพระองค์!!

        ดุจเดียวกับชาวยิวจำนวนมากที่เดินตามพระองค์ไปกรุงเยรูซาเล็มโดยไม่รู้วัตถุประสงค์ของพระองค์ และไม่พร้อมจะแบกกางเขนร่วมกับพระองค์  พวกเขาเป็นได้เพียงผู้ติดตาม แต่หาได้เป็นศิษย์ของพระองค์ไม่

น่าเสียดายที่ปัญหาของชาวยิวเมื่อสองพันปีก่อน ยังคงเป็นปัญหาของเราตราบจนทุกวันนี้ นั่นคือมีผู้รับศีลล้างบาปเข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิกมากมายทั่วโลก แต่มีสักกี่คนที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าจริง ๆ ?

        อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะหันไปดูคนรอบข้างว่าเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า หรือเป็นเพียงผู้ผ่านการรับศีลล้างบาปเท่านั้น  เราต้องตรวจสอบตัวเราเองก่อนว่า “ได้มาตรฐานหรือไม่ ?”

        มาตรฐานในการเป็น “ศิษย์ของพระเยซูเจ้า” มี 2 ประการคือ “แบกกางเขน” และ “ติดตามพระองค์” (ลก 14:27)

        กางเขนเป็นสิ่งที่ชาวยิวซาบซึ้งถึงความร้ายกาจของมันเป็นอย่างดี  เมื่อยูดาสชาวกาลิลีก่อการกบฏ แม่ทัพโรมันชื่อวารูสได้ตรึงกางเขนชาวยิวสองพันคนเรียงรายสองข้างทางสู่แคว้นกาลิลี

        “กางเขน” คือฝันร้ายและความอัปยศอดสูอย่างยิ่งสำหรับชาวยิว

        แต่พระเยซูเจ้าทรงเลือก “กางเขน” ที่ชาวยิวถือว่าร้ายกาจและน่าอัปยศอดสูอย่างยิ่งนี้ เพื่อจะบอกว่าความรักและความปรารถนาของพระองค์ที่จะทำให้เรามนุษย์เป็น “วีรบุรุษ” และได้รับ “พระสิริรุ่งโรจน์” นั้น ยิ่งใหญ่ไพศาลเพียงใด !!!

        ไม่มีผู้ใดเป็น “วีรบุรุษ” หากไม่ผ่าน “สงคราม” ฉันใด  ก็ไม่มีผู้ใดได้รับ “พระสิริรุ่งโรจน์” หากไม่ผ่าน “กางเขน” ฉันนั้น

        สงครามยิ่งรุนแรง ความเป็นวีรบุรุษยิ่งมีความหมายมากขึ้นฉันใด  กางเขนยิ่งหนักและยิ่งอัปยศอดสู พระสิริรุ่งโรจน์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นฉันนั้น !

        “กางเขน” คือความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ซึ่งยิ่งต่อสู้และฟันฝ่าได้มากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เราแข็งแกร่งและพร้อมรับมือกับความทุกข์ยากแสนสาหัสได้มากและหนักยิ่งขึ้นเท่านั้น จนว่าจะมีสักวันหนึ่งที่เราไม่เกรงกลัวความทุกข์ยากใด ๆ อีกต่อไปแม้แต่ความตายเองก็ตาม

        เมื่อไม่กลัวก็มีความมั่นคง และนี่คือ “ความมั่นคง” สูงสุดในชีวิตของผู้เป็น “ศิษย์พระเยซูเจ้า” !!

อีกมาตรฐานหนึ่งคือการ “ติดตามพระองค์” ด้วยการเลิกนึกถึงตนเอง ละทิ้งตนเอง และควบคุม “อัตตา” ของตนเองให้ได้ เพราะหาไม่แล้วเราคงตกเป็น “ทาส” ของตัวเองและหมดหนทางที่จะเป็นอิสระเพื่อติดตามพระองค์

        มีบางคนคิดว่าการติดตามพระเยซูเจ้าเป็นเรื่องของผู้ที่มีกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์และนักบวชเท่านั้น  แต่จริง ๆ แล้วการติดตามพระองค์เป็นเรื่องของเราคริสตชนทุกคน

เพราะการติดตามพระเยซูเจ้าคือการ “คิดเหมือนพระเยซูเจ้า ปรารถนาเหมือนพระเยซูเจ้า และดำเนินชีวิตเหมือนพระเยซูเจ้า” !

        ยิ่งดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์มากเท่าใด อัตตาของเราก็จะยิ่งลดน้อยลงและพระองค์จะยิ่งครองราชย์ในตัวเราได้มากขึ้นเท่านั้น

        หากพระองค์ทรงครองราชย์ในตัวเราก็เท่ากับว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นในตัวเราแล้ว  เราเป็นสมาชิกของพระอาณาจักรสวรรค์ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว !!!

        นอกจากทรงเรียกร้องให้เราเป็น “ศิษย์ของพระองค์” ไม่ใช่แค่ “เดินตามพระองค์” แล้ว  พระองค์ยังทรงเตือนเราให้ “คิดอย่างรอบคอบ” ก่อนตัดสินใจเป็นศิษย์ของพระองค์อีกด้วย

        พระองค์ตรัสว่า “ท่านที่ต้องการสร้างหอคอย จะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างให้เสร็จหรือไม่  มิฉะนั้นเมื่อวางรากฐานไปแล้ว แต่สร้างไม่สำเร็จ ทุกคนที่เห็นจะหัวเราะเยาะเขา พูดว่า ‘คนนี้เริ่มก่อสร้าง แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้’” (ลก 14:28-30)

        หอคอยที่พระองค์ตรัสถึงคือหอคอยในสวนองุ่น ซึ่งเจ้าของสวนนิยมสร้างไว้สำหรับเฝ้าระวังมิให้ขโมยเข้ามาขโมยผลผลิตได้

        ถ้าเริ่มต้นก่อสร้างแล้วทำไม่สำเร็จเพราะเงินหมด นอกจากจะอับอายขายขี้หน้าชาวบ้านแล้ว พวกขโมยคงขำกลิ้งให้เจ้าของสวนต้องชอกช้ำใจยกกำลังสองเป็นแน่

        ปัญหาคือพระองค์ทรงยกอุปมาเรื่องนี้ขึ้นมาทำไม พระองค์ไม่เต็มพระทัยให้เราเป็นศิษย์ของพระองค์กระนั้นหรือ ?

        หามิได้ พระองค์ทรงกล่าวเช่นนี้เพราะทรง “จริงใจ” กับเราต่างหาก !

พระองค์ไม่ประสงค์ใช้ “คำหวาน ๆ” หลอกล่อให้เราหลวมตัวมาเป็นศิษย์ของพระองค์ แต่ทรงจริงใจที่จะบอกเราว่า “ยากนะที่จะเป็นศิษย์ของพระองค์ เพราะต้องสละทุกสิ่งที่เรารัก ไม่เว้นแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง  ดังนั้น จงคิดให้รอบคอบ

        แต่ “รอบคอบ” ไม่ใช่ “ท้อแท้”

เราต้องไม่ท้อแท้เพราะพระองค์ตรัสสั่งให้เรา “แบกกางเขนติดตามพระองค์” ไม่ใช่ให้เรา “แบกกางเขนตามลำพัง”

ความหมายของพระองค์ชัดเจนคือ พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งเราให้แบกกางเขนหรือเผชิญหน้ากับชะตากรรมตามลำพัง  แต่จะทรงก้าวไปพร้อมกับเราทุกก้าว

        ขอเพียงเรารับคำ “ท้าทาย” และกล้าทุ่มเท “เกหมดหน้าตัก” เท่านั้น... !!!

 

สถิติการเยี่ยมชม

10266074
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
4284
4061
17229
10213635
45309
118153
10266074
Your IP: 35.170.81.33
Server Time: 2024-10-09 22:42:12

แบบฟอร์ม

instagram

พระศาสนจักร


สื่อ YOUTUBE


Laudato si’

บทเรียนคำสอน





บทภาวนา

พิธีกรรมต่างๆ

เอกสารพระศาสนจักร

บทความคำสอน



KAMSONCHAN

 

   องค์กรคาทอลิก              คณะนักบวช  
 

สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
แผนกคริสตศาสนธรรม
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ศูนย์คริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
สังฆมณฑลจันทบุรี
คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา
คามิลเลียนโซเชียลเซนเตอร์ ระยอง

  สังฆมณฑลนครราชสีมา                       
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลนครราชสีมา
สังฆมณฑลอุบลราชธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุบลราชธานี   
สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
สังฆมณฑลนครสวรรค์
สังฆมณฑลเชียงใหม่
  สังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี
สังฆมณฑลอุดรธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุดรธานี

สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย (อุดมสาร)
  ชมรมอธิการิณีเจ้าคณะนักบวชแห่งประเทศไทย
คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ต
คณะภคินีศรีชุมพาบาล       
คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
คณะเซนต์คาเบรียล
คณะซาเลเซียน
คณะซาเลเซียน (ซิสเตอร์)
กางเขนแดงสาร

 



JSN Megazine template designed by JoomlaShine.com