(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 9)
PORTA FIDEI (The Door of Faith) to PORTA SANCTA (The Holy Door)
ความเดิมเมื่อตอนที่แล้วได้พูดถึงว่า ความแตกต่างระหว่าง ความเมตตา (Mercy) และความกรุณา (Compassion) โดยอธิบายความหมายของคำว่า ความเมตตา มีความหมายอย่างไรในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม ซึ่งความเมตตาจะต้องมีคำว่า ความรักและการให้อภัย มาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เรื่องบิดาผู้ใจดี (ลก 15: 11-33), เรื่องราวชาวสะมาเรียใจดี (ลก 10:29-37) เป็นต้น ฉบับนี้จะพูดถึง ความกรุณา
ความกรุณา หมายถึง เมื่อเห็นใครคนใดคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ขาดแคลน เรามีความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือคนเหล่านั้น เช่น เห็นคนนั่งไม่มีเสื้อใส่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เราให้เสื้อของเราแก่เขา
เราเห็นตัวอย่างของพระเยซูเจ้าได้ทรงกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความกรุณาของพระเป็นเจ้า
มัทธิว 9:36 “เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชน ก็ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง”
เรามีความรู้สึกเหมือนพระเยซูเจ้าไหม? เรารู้สึกอยากจะช่วยเหลือคนที่ทิ้งวัด เพราะนักบุญยอห์นบันทึกว่า “เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลกแต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น” (ยน 3:17)
มัทธิว 20:34 “พระเยซูเจ้าทรงสงสาร ทรงสัมผัสนัยน์ตาของเขา ทันใดนั้น เขากลับมองเห็น และติดตามพระองค์ไป”
การรักษาคนตาบอดของพระเยซูเจ้า เพราะการร้องตะโกนขอให้พระเยซูเจ้ารักษา เรามีความรู้สึกเหมือนพระเยซูเจ้าไหม? ถูกขอร้องและตอบสนองคำข้อร้องนั้นด้วยความกรุณา
ลูกา 19:41-42 ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาใกล้กรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ทอดพระเนตรเมืองนั้นแล้วทรงพระกันแสง ตรัสว่า ‘ถ้าในวันนี้เจ้าเพียงแต่รู้จักทางนำไปสู่สันติก็จะเป็นการดี แต่ทางนั้นถูกซ่อนไว้จากดวงตาของเจ้าเสียแล้ว
การที่พระเยซูเจ้าทรงพระกันแสง ต่อผู้ที่ปฏิเสธพระองค์ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า พระเป็นเจ้า ไม่มีพระประสงค์ที่จะลงโทษมนุษย์ แต่ทรงมีความกรุณาต่อมนุษย์เสมอ “ถ้าภารกิจที่นำไปสู่การตัดสินลงโทษยังมีความสว่างรุ่งโรจน์แล้ว ภารกิจที่ให้ความชอบธรรมก็ยิ่งจะสว่างรุ่งโรจน์มากกว่านั้น” (2 คร 3:9) ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงรู้ดีถึงการถูกทำลายกรุงเยรูซาเล็ม “วันนั้นจะมาถึงเจ้า เมื่อข้าศึกสร้างที่มั่นล้อมเจ้า จะตรึงเจ้าไว้อย่างแน่นหนารอบทุกด้านจะบุกทำลายเจ้าและลูกหลานที่อาศัยอยู่ในเจ้าจนราบเป็นหน้ากลอง และจะไม่ปล่อยให้มีก้อนหินซ้อนกันอยู่ในเจ้าอีก เพราะเจ้าไม่รู้จักเวลาที่พระเจ้าเสด็จมาเยี่ยมเจ้า” (ลก 19:43-44)
นี่คือความหมายของความกรุณา
ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างความเมตตาและความกรุณา คือ
ความเมตตา คือ การให้โอกาสใหม่อีกครั้ง มีการสำนึกผิด มีการให้อภัย มีความรักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (หากไม่เข้าใจลองกลับไปอ่านตอนที่ 8)
ความกรุณา คือ เป็นความรู้สึกที่จะช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนทั้งกายและใจ
สำหรับพระเป็นเจ้า มีทั้งความเมตตาและความกรุณาต่อเราเสมอพระองค์ให้อภัยเราจากบาปต่าง และยังคอยช่วยเหลือเราทั้งกายและใจด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง คติพจน์ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม จึงเน้นว่า “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36)
“สุดท้ายนี้ท่านทั้งหลายจงมีความคิดเห็นพ้องต้องกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน รักกันฉันพี่น้อง เห็นใจกันและรู้จักถ่อมตน” (1ปต 3:8); “ เพราะว่า เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา”(มธ. 25:35-36); “แล้วพระมหากษัตริย์จะตรัสแก่ผู้ที่อยู่เบื้องขวาว่า ‘เชิญมาเถิด ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา เชิญมารับอาณาจักรเป็นมรดกที่เตรียมไว้ให้ท่านแล้วตั้งแต่สร้างโลก (มธ 25:34)
(อ่านต่อฉบับหน้า)