(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 10) ตอนจบ
PORTA FIDEI (The Door of Faith) to PORTA SANCTA (The Holy Door)
ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างความเมตตาและความกรุณา และสำหรับพระเป็นเจ้า มีทั้งความเมตตาและความกรุณาต่อเราเสมอ พระองค์ให้อภัยเราจากบาปต่าง ๆ และยังคอยช่วยเหลือเราทั้งกายและใจด้วย ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรมที่ผ่าน พระสันตะปาปาฟรันซิส ได้เลือกด้วยเหตุนี้เอง คติพจน์ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม จึงเน้นว่า “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) เป็นคติพจน์ประจำปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม
พระสันตปาปาฟรันซิส มีความประสงค์ให้พระวาจานี้เป็นจริงเป็นจังผ่านทางการดำเนินชีวิตของบรรดา คริสตชน ซึ่งพระองค์ได้พูดสั้น ๆ ว่า “พระเมตตาของพระเจ้าไม่ได้เป็นเพียงนามธรรม แต่นี่คือความจริงที่เป็นรูปธรรมซึ่งเผยให้เห็นถึงความรักเฉกเช่นผู้เป็นบิดาหรือมารดาที่รักบุตรจนสุดหัวใจ” (สมณโองการ พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม ข้อ 6)
การทำให้คติพจน์ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” ปรากฏเห็นชัดในชีวิตคริสตชน พระสันตะปาปาแนะนำว่า “ตลอดปีศักดิ์สิทธิ์นี้ ข้าพเจ้าปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ใครขอร้องให้บรรดาคริสตชนคำนึงถึงงานเมตตาทั้งฝ่ายกาย และฝ่ายจิต” (สมณโองการ พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม ข้อ 15)
งานเมตตาธรรมฝ่ายกาย เช่น ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย, ให้น้ำแก่ผู้กระหาย, ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มีนุ่งห่ม,ให้ที่พักแก่ผู้ที่ไร้ที่อยู่, เยี่ยมผู้ป่วย, เยี่ยมผู้ต้องขัง, ร่วมงานฝังศพ
งานเมตตาธรรมฝ่ายจิต เช่น ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย, สอนคนที่ไม่รู้, ตักเตือนคนบาป, บรรเทาใจผู้ทุกข์ยาก, ให้อภัยผู้ทำความผิด, อดทนต่อความผิดของผู้อื่น, ภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย
เมตตาธรรมเป็นรากฐานของชีวิตพระศาสนจักร พันธกิจทุกอย่างบด้านอภิบาลควรช่วยให้สัตบุรุษสัมผัสความอ่อนหวาน ทั้งการเทศน์สอน และประจักษ์พยานชีวิต มีความยุติธรรม แต่ต้องมีเมตตาธรรมด้วย… เพื่อช่วยผู้อ่อนแอให้มีชีวิตใหม่ สู่อนาคตด้วยความหวัง (สมณโองการ พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม ข้อ 10)
หากบรรดาคริสตชนปฏิบัติงานเมตตาธรรมฝ่ายกายและจิต ในชีวิตประจำวัน จะเป็นเหมือนแม่น้ำแห่งความเมตตาไม่มีวันเหือดแห้งในชีวิตพระศาสนจักร และพระสันตปาปาฟรันซิสได้กล่าวว่า การปฎิบัติกิจเมตตาธรรมจะเป็นภาพสะท้อนประกาศกอิสยาห์ (สมณโองการ พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม ข้อ 16)
“พระจิตของพระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระยาห์เวห์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปปลอบโยนคนที่มีใจชอกช้ำ ประกาศอิสรภาพแก่เชลย ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า” (อสย 61: 1-2)
พันธกิจที่พระ เยซูเจ้าได้รับจากพระบิดา คือ การเผยแสดงธรรมล้ำลึกความรักของพระเจ้าอย่างเต็มรูปแบบว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4:8, 16) ทรงทำงานเป็นพิเศษเพื่อคนบาป คนจน คนชายขอบ ผู้ป่วยและทนทุกข์ เพื่อสอนเมตตาธรรม ทุกสิ่งในตัวพระเยซูเจ้าพูดถึงแต่พระเมตตา (สมณโองการ พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม ข้อ 8)
เพื่อที่จะเลียนแบบความเมตตาของพระเยซูเจ้า พระสันตะปาปาได้เน้นว่า “ผู้ที่ปฏิบัติ เป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณา ต้องปฏิบัติด้วยใจยินดี” (สมณโองการ พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม ข้อ 16)
บันทึกวิญญาณของนักบุญโฟสตินา ข้อ 1448 ได้บันทึกสิ่งได้รับการเผยแสดงจากพระเยซูเจ้าว่า “จงเขียนและเอ่ยถึงความเมตตาของเรา จงบอกให้ทุกคนรู้ว่าควร แสวงหาการบรรเทาทุกข์จากที่ใด ที่นั่นคือบัลลังก์ความเมตตา”
ดังนั้น บรรดาคริสตชน ผู้ที่มีความเชื่อ ย่อมดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเชื่อที่พวกเขามี ความเชื่อนั้น ต้องประกาศด้วยชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตที่เป็นพยาน การเป็นพยานที่จัดเชนที่สุดคือ “ท่านจงรักองค์พระเป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลังของท่าน... ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มก 12:30-31) “หากผู้ใดกล่าวว่า ข้าพเจ้ารักพระเจ้า แต่จงเกลียดจงชังพี่น้องของตน ผู้นั้นเป็นคนโกหก เพราะผู้ที่ไม่รักพี่น้องผู้ที่เขามองเห็นได้ก็จะไม่สามารถรักพระเจ้าผู้ที่เขามองไม่เห็น” (1 ยน 4:20) “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)
การดำเนินชีวิตแบบนี้ของคริสตชน คือ ชีวิตเดินก้าวเข้าสู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ ประตูสวรรค์ นั่นเอง.......