(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 8)
PORTA FIDEI (The Door of Faith) to PORTA SANCTA (The Holy Door)
ความเดิมเมื่อตอนที่แล้วได้พูดถึงว่า ทำไมคริสตชนต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าในการเป็น “คริสตชนที่ศักดิ์สิทธิ์”ซึ่งได้พูดถึง 2 เหตุผลนั่นคือ 1)เพราะสายสัมพันธ์ของความเป็นลูกของพระเป็นเจ้า และ 2) ความตกต่ำของสภาพจิตใจของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน มีความยากเกินกว่ามนุษย์จะช่วยเหลือและเยียวยาตนเองให้เป็นคริสตชนที่ศักดิ์สิทธิ์ได้
ด้วยเหตุนี้ คริสตชนจึงจำเป็นต้องได้รับความเมตตากรุณาจากพระเป็นเจ้า เพื่อเดินทางสู่หนทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์
บทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรมได้ยืนยันความจริงดังกล่าวนี้กับเราว่า “เพราะพระองค์ตรัสกับโมเสสว่า เราเมตตาต่อผู้ที่เราเมตตา และสงสารผู้ที่เราสงสาร” และอีกครั้งบทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ได้ย้ำว่า “ขอถวายพระพรแด่พระเจ้า พระบิดาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระบิดาผู้ทรงพระกรุณา และพระเจ้าผู้ประทานกำลังใจทุกประการ” (2 คร. 1:3)
จากนักบุญเปาโลได้กล่าวถึงความเมตตาของพระเป็นเจ้า และพระเป็นเจ้าเป็นความกรุณา
คำถามคือ ความเมตตาและความกรุณา มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ความเมตตา หมายถึง การให้โอกาสใหม่ แก่ผู้ได้กระทำผิด ที่ได้สำนึกผิด แม้การกระทำผิดของเขานั้นจะไม่สมควรได้โอกาสใหม่อีกก็ตามที ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดถึงความเมตตาคือ บิดาผู้ใจดี ในพระวรสารของนักบุญลูกา 15 ข้อที่ 11-33 เรื่องราวของลูกคนเล็ก ได้ขอแบ่งทรัพย์สมบัติ แล้วออกเดินทางไกล ใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลก ผลาญเงินทองที่ได้มาจนหมดสิ้น อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ จนต้องไปขอเลี้ยงหมูเพื่อประทังชีวิต แต่ที่สุดก็สำนึกผิด และคิดว่า ที่บ้านของตนเองยังมีความรักรออยู่ จึงกลับไปหาบิดา ในขณะเดียวกัน บิดาก็เฝ้าคอยลูกชายคนเล็กของตนกลับมา เมื่อลูกคนเล็กกลับมา บิดาวิ่งเข้าสวมกอดด้วยความยินดี จัดงานเลี้ยงฉลองอย่างดีและยิ่งใหญ่ ให้ความเป็นลูกของตน โดยบิดาไม่ถามเลย ทำไมถึงทำกับพ่อเช่นนี้ หรือดุ ว่า ลูกตนเองว่า ลูกไม่รักดี นี่คือควาเมตตาของบิดาที่มีต่อลูกของตน
หากเราวิเคราะห์เรื่องราวความเมตตาของบิดาผู้ใจดี จะมีเรื่องของ ความรักและการให้อภัย มาเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากเรื่องราวบิดาผู้ใจดีแล้ว ในพระคัมภีร์ยังมีตัวอย่างอีกมากที่พูดถึง ความเมตตาของพระเป็นเจ้า
- นักบุญเปโตรถามพระเยซูเจ้า จำเป็นต้องให้อภัยกี่ครั้ง พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราไม่ได้บอกว่าต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” (มธ 18:22) [นี่คือความเมตตาของพระเป็นเจ้า]
- เรื่องราวชาวสะมาเรียใจดี (ลก 10:29-37) ชาวสะมาเรียผู้เดินทางผ่านมาพบชายที่บาดเจ็บ ก็เข้าไปปรนนิบัติชายคนนั้น โดยไม่รังเกียจว่าผู้บาดเจ็บเป็นใคร แต่ดูแลอย่างดี “วันรุ่งขึ้นชาวสะมาเรียผู้นั้นนำเงินสองเหรียญออกมามอบให้เจ้าของโรงแรมไว้กล่าวว่า “ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา” [นี่คือความเมตตาของพระเป็นเจ้า]
- เรื่องราวของศักเคียส (ลก 9:1-10) “ศักเคียส รีบลงมาเถิด เพราะเราจะไปพักที่บ้านท่านวันนี้” พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘วันนี้ ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว เพราะคนนี้เป็นบุตรของอับราฮัมด้วย” [นี่คือความเมตตาของพระเป็นเจ้า]
จะเห็นได้ว่า พระเมตตาของพระเจ้าไม่ได้เป็นเพียงนามธรรม แต่เป็นความจริงที่เป็นรูปธรรมซึ่งเผยให้เห็นถึงความเฉกเช่นผู้เป็นบิดาหรือมารดาหรือมารดาที่รักบุตรจนสุดหัวใจ เป็นความรักที่อยู่ใน “สายเลือด” ที่ทะลักออกมาจากภายในโดยธรรมชาติ เปี่ยมด้วยความอ่อนโยนและความเห็นอกเห็นใจ เปี่ยมด้วยพระการุญและพระเมตตา (พระพักตร์แห่งความเมตตา ข้อ 6) พระเป็นเจ้าไม่เคยเบื่อหน่ายที่จะทรงเปิดประตูแห่งดวงพระทัยของพระองค์ให้กับพวกเรา พระเป็นเจ้าตรัสซ้ำ ๆ ว่า พระองค์รักเราและทรงปรารถนาที่จะแบ่งความรักของพระองค์ให้แก่เรา (พระพักตร์แห่งความเมตตาข้อ 25)