(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
เมื่อเปิดเทอมครูมีโครงงานให้นักเรียนทำ วันหนึ่งครูให้นักเรียน
เตรียมโหลแก้ว ก้อนกรวด และทรายมาโรงเรียน เมื่อถึงชั่วโมง
ครูให้นักเรียนเอาอุปกรณ์ออกมา และให้ เอาแก้วน้ำที่ใช้ดื่มไป
เติมน้ำมา จากนั้นครูสั่งให้นักเรียนเติมเหยือกให้เต็มโดยใส่หิน
ลงไปก่อน จากนั้นครูถามนักเรียนว่า
"นักเรียนคิดว่าเหยือกเต็มหรือยัง?"
นักเรียนทั้งชั้นตอบว่า
"เต็ม แล้วครับ / ค่ะ"
จากนั้น คุณครูบอกให้นักเรียนเอาทรายที่เตรียมมาค่อยๆ เทลง
ใส่ในเหยือกที่เต็มไปด้วยก้อนหิน ทรายก็ค่อยๆ แทรกตัวลงไป
ระหว่างช่องว่างของก้อนหิน ไม่นานนักก็มองไม่เห็นช่องว่างใน
เหยือกอีก นักเรียนก็บอกครูว่า
"เต็มแล้วครับ / ค่ะ"
ครูถามว่า
"แน่ใจหรือเปล่า?"
นักเรียนทั้งชั้นก็ตอบว่า
"ครับ / ค่ะ"
ครูจึงบอกว่า
"ถ้าอย่างนั้นเอาน้ำที่เตรียมมา
ค่อยๆ เทลงไปในเหยือกดูนะคะ"
นักเรียนก็ค่อยๆ เทน้ำลงไปในเหยือก น้ำก็ค่อย ๆ ซึมไประหว่าง
ทราย นักเรียนก็สามารถเติมน้ำลงไปได้หลายแก้วจนกว่าเหยือก
นั้นจะเต็มจริง ๆ ครูถามนักเรียนต่อไปว่า
"เหยือกเต็มหรือยัง?"
นักเรียนก็ตอบว่า
"เต็มแล้วครับ / ค่ะ"
ครูถามต่อไปว่า
"จริง ๆ หรือ?"
แล้วครูก็ไปหยิบก้อนหินบางก้อนออกจากโหลของนักเรียน
แล้วถามว่า
"ทีนี้ล่ะ ยังเต็มอยู่หรือเปล่า?"
นักเรียนบอกว่า
"ไม่ครับ / ค่ะ"
ครูบอกว่า
"ถ้าเรา เอาก้อนหินออกบางก้อน เรามีที่พอสำหรับใส่
อย่างอื่นลงไปให้โหลเต็มอีกใช่ไหม?"
นักเรียนก็ตอบว่า
"ใช่ครับ / ค่ะ"
ครูจึงถามต่อ ไปว่า
"นักเรียนได้ข้อสรุปอะไรจากการทดลองนี้บ้าง?"
นักเรียนก็ตอบว่า
"โหลที่ดูเหมือนเต็มแล้ว จริง ๆ อาจไม่เต็ม และโหลที่
เต็มแล้ว เราสามารถเอาบางอย่างออก และเอาบางอย่าง
ใส่แทน เพื่อให้เต็มเหมือนเดิมได้"
ครูยิ้ม และบอกว่า
"เก่งมาก นอกจากการเรียนเรื่องปริมาตร และการชั่ง
ตวง วัด ครูก็อยากบอกนักเรียนว่า ขวดโหลก็เหมือนเวลา
ที่พวกเรามี 24 ชั่วโมง ก้อนหินก็เหมือนภาระต่าง ๆ
ที่เราแบกรับ ทรายเหมือนหน้าที่ที่เราต้องทำ และน้ำก็คือ
สิ่งอื่น ๆ ที่เราต้องจัดการ บางทีเรารู้สึกว่า ภาระเรามากมาย
เหลือเกิน แต่ถ้าจัดการดี ๆ เราก็ยังมีเวลาทำหน้าที่
และสิ่งต่างๆ ได้อีก ถ้าภาระบางอย่างมากเกินไป เราก็จัดการ
ใหม่เพื่อให้มีเวลาให้กับสิ่งอื่น ๆ ในชีวิต"
ในชีวิตเราก็เช่นกัน ไม่ควรอ้างว่าไม่มีเวลาทำการบ้าน
ไม่มีเวลาไปวัด ไม่มีเวลาสวดภาวนา ทุกคนมีเวลาเท่า ๆ กัน
ขึ้นกับว่า เราจะเห็นว่าอะไรคือ ก้อนหิน อะไรคือ ทราย
และอะไรคือ น้ำในชีวิตของเราและจัดการอย่างไรให้
"เหยือกเต็ม แบบ พอดี พอดี..."
โดย คุณเทียนชัย กีระนันทน์