(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
หลายคนเคยถามไถ่ว่าไปนำเรื่องราวมาจากไหนนักหนา
จึงเขียนบทความได้ทุกสัปดาห์ คำตอบคือ ได้มาจากการอ่าน
และการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดจากผู้คน
(แม้ว่าจะมีไม่กี่คน แต่มักจะคุยกันด้วยเรื่องจริงๆ จัง
กลายเป็นกลุ่มคนที่ดูซีเรียส) มีบ้างบางครั้งเหมือนกันที่ไม่สามารถกลั่นกรอง
ร้อยเรียงออกมาเป็นอักษรได้ กว่าจะเขียนจบก็ต้องใช้เวลาอยู่นาน
บางครั้งต้องถามคนรอบข้างว่า มีเรื่องอะไรจะให้เขียนถึงไหม..
มีบ้างบางคนเคยมานำเสนอเรื่องราวต่างๆให้ขีดเขียน
แต่ก็เขียนไม่ได้ คิดไม่ออก ก็ต้องเรียนตรงๆว่า เรื่องบางเรื่องที่ไม่รู้ก็จะไม่เขียน
จะเข้าข่ายอวดรู้มากกว่าแสนรู้ เพราะประสบการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา
เคยพบเจอคนประเภทที่อวดรู้ อวดเก่ง อวดภูมิ ในเรื่องที่ไม่รู้จริง
และก็ไปแอบอิงคุยเป็นตุเป็นตะ สร้างราคา สร้างภาพ อวดฉลาด ก็มีมากมาย
ดูไปแล้วก็น่าสงสาร ...
ใช่หรือเปล่า หลายครั้ง เราฆ่าคนอื่น ด้วยความไม่รู้ของเรา
ด้วยความกลัวเสียหน้า เสียท่า เสียฟอร์ม คนเราเกิดมาในโลกกว้างใหญ่ไพศาล
เราก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของโลก เป็นธุลีของจักรวาลจะรู้เรื่องราวทุกเรื่องอย่างไร
แต่ก็นั่นแหละ บางครั้งเรามักชอบทำตัวเป็นผู้รู้ทุกเรื่อง
และก็เสพติดสารยโสเข้าไปเต็มปอด ตัวบวมเปล่งไปด้วยความหยิ่งทนง
เมื่อภาพมายาที่อยู่ในจิตใจสร้างให้เราเป็นผู้รู้ ใครถามอะไรก็อธิบาย
ก็สั่งสอนได้เป็นฉากๆ แทนที่จะเป็นเพียงผู้ฟัง เรื่องไหนไม่รู้ก็บอกไม่รู้
และผู้แนะนำในสิ่งที่รู้ หลายคนกลับใช้ความคล่องแคล้วในการพูดจา
พูดไปเรื่อยๆ เป็นนักโยงเรื่อง สร้างเรื่อง จับประเด็นนั้นมาโยงประเด็นนี้
ทำให้ดูหน้าเชื่อถือ สังคมวันนี้จึงเต็มไปด้วยความรู้แบบกลวงๆ
ความรู้แบบผิดๆ ความรู้ที่เกิดจากมายาคติอย่างมากล้น
ในโลกนี้มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่คนอื่นอาจจะรู้
อาจจะเข้าใจ เป็นความแตกต่าง เป็นความหลากหลายที่ก่อให้เกิดความเกื้อกูลกัน
มีการแบ่งปันกันทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ ทำให้เกิดชุมชน และวัฒนธรรมขึ้น
คนไม่รู้ย่อมต้องแสวงหาความรู้จากผู้รู้ ผู้รู้แท้ย่อมรู้แจ้งเห็นจริง
ไม่ได้แอบอิงกล่าวอ้าง แต่ก็มีหลายครั้งหลายคราว และหลายคนที่ถูกลอกลวง
จากความหลงผิดในความไม่รู้
การยอมรับว่า “ไม่รู้” ในแง่หนึ่งเป็นการแสดงความสุภาพ
เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้ใหญ่ย่อมมีประสบการณ์แต่ก็ใช่ว่าจะรู้ไปทุกเรื่อง
เด็กๆที่เข้าถึงแหล่งความรู้ได้มากมายโดยอาศัยเทคโนโลยีก็ใช่ว่าจะรู้จริง
อาจจะรู้เพียงแค่สมองแต่ไม่มีประสบการณ์โดยตรงความรู้นั้นก็ไร้ผล
มีลิงตัวหนึ่งออกหาอาหารและได้มาเจอเม็ดถั่วเข้า
จึงจัดการเก็บเม็ดถั่วเหล่านั้นมาเก็บไว้ในกำมือด้วยความดีใจ
แต่ด้วยความที่ไม่ทันระวัง ขณะที่กำลังเดินกลับไปยังที่อยู่ของตน
ถั่วเม็ดหนึ่งได้หล่นจากกำมือ
เมื่อลิงเห็นว่ามีถั่วหล่นจากมือ มันก็รีบทิ้งถั่วที่เหลือทั้งหมด
เพื่อที่จะเก็บถั่วเพียงเม็ดเดียวที่หล่นลงไป ครั้นเก็บเม็ดที่หล่นได้แล้ว
จึงรู้ว่าตนได้ทิ้งเม็ดถั่วที่เหลือ
เจ้าลิงผู้ห่วงหน้าพะวงหลัง จึงตามเก็บเม็ดถั่วที่หล่นเรี่ยราดไปเรื่อยๆ
แต่เมื่อเก็บได้จนเต็มกำมือ มันก็ทิ้งถั่วที่เก็บขึ้นมาลงที่พื้นอีก
เพื่อที่จะเก็บถั่วที่ยังเหลืออยู่ และต้องเวียนเก็บอยู่อย่างนี้เป็นเวลานาน
แต่ก็ไม่สามารถเก็บได้หมดสักที
ในขณะที่กำลังกุลีกุจอเก็บเม็ดถั่วอยู่นั้น ก็มีฝูงนกมาจิกกินเป็นจำนวนมาก
ลิงก็ทั้งเก็บเม็ดถั่วและไล่นกไปด้วย จากที่คิดว่าจะได้ครบทุกเม็ด
ก็เหลือถั่วเพียงไม่กี่เม็ดเท่านั้น
ลิงมันก็คงคิดได้เพียงเท่านั้น
คนเราก็เหมือนกันต่างก็มีขีดจำกัดในการรับรู้ของแต่ละคนแตกต่างกัน
สัตว์แต่ละชนิดยังมีประสบการณ์ต่อโลกแตกต่างกันไป
เราจะมาเหมารวมเอาว่า คนคือสัตว์ประเภทที่รู้จริงไปเสียทุกเรื่องไม่ได้
ตราบใดที่เราเป็นมนุษย์ เราย่อมมีขีดจำกัดในการที่จะเข้าถึงความจริง
ความจริงหรือสัจจะนั้นมีอยู่ แต่มนุษย์จะใช้เพียงความรู้เพื่อเข้าถึงนั้นลำบาก
ความเชื่อ ความศรัทธา ความรักนั้นแทบไม่ต้องใช้ความรู้อะไรเลย
เพียงแต่ใช้ใจก็เข้าถึงซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้
เรื่องของจิตใจ เรื่องของความเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่เหนือกว่าความรู้
ต้องอาศัยความศรัทธาและความวางใจ “จงตามเรามาเถิด”
เป็นเสียงเรียกที่ทำให้เราต้องหยุดฟังด้วยใจสงบ และเราจะรู้ว่า
แท้จริงแล้วเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งใดที่ควรแสวงหา
เปิดใจให้กว้างน้อมรับเสียงเรียกและปฏิบัติตามเสียงเรียกเหล่านั้น
ปัญญาและปรีชาญาณบ่อเกิดแห่งความรู้
ก็จะพาเราเดินสู่หนทางที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้เราแล้วบนโลกนี้
หรือว่าเรารู้ค่าเพียงแค่เม็ดถั่วเม็ดนั้นที่หล่นลงพื้นและเราก็ไล่ตามหามัน
หลงลืมเม็ดถั่วอีกหลายสิบเม็ดที่มีคุณค่าในตัวเราไปสิ้นด้วยความไม่รู้......
โดย คุณสุญาโณ จงตระกูลศิริ