(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
วันหนึ่ง จูกัดเหลียง แห่ง จ๊กก๊ก พร้อมศิษยานุศิษย์
เดินทางรอนแรมอยู่กลางป่า พอได้เวลาอาหาร
ลูกศิษย์เตรียมตักข้าวใส่จานพร้อมสำรับอาหาร
ขณะกำลังตักข้าวอยู่ห่างๆนั้น ท่านจูกัดเหลียง
สังเกตเห็นว่าลูกศิษย์หยิบข้าวจากจาน
ของท่านขึ้นมาใส่ปากเคี้ยว ท่านจึงสอนและชี้ให้เห็นว่า
การหยิบอาหารจากสำรับของครูบาอาจารย์
มารับประทานก่อนได้รับอนุญาตนั้น
แสดงถึงความ “อนารยะ” ที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง
ลูกศิษย์จึงขอโอกาสชี้แจง
“อาจารย์ครับ ที่กระผมหยิบข้าวจากจานของอาจารย์
ขึ้นมารับประทานก่อน หาใช่กระทำไปด้วยความเขลา
หรือขาดคารวะก็หาไม่ แต่ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในจานข้าวของอาจารย์
มีผงถ่านสีดำปนเปื้อนข้าวอยู่ ครั้นจะยกมาให้อาจารย์เลย
ก็เกรงว่าคงไม่เหมาะ จะหยิบข้าวที่เปื้อนนั้นทิ้งก็เสียดาย
เพราะข้าวหายากและจำเป็นมากสำหรับการอยู่รอดในยามวิกฤติ
กระผมก็เลยหยิบข้าวที่เปื้อนนั้นขึ้นมารับประทานเสียเองขอรับ”
แววตาที่ฉายแววดุของผู้เป็นอาจารย์ ค่อย ๆ ทอประกายอ่อนโยน
ด้วยเมตตาก่อนเอ่ยวาจาขอโทษผู้เป็นศิษย์อย่างไม่ถือตัว
บ่อยครั้งที่เรามักตัดสินอะไรผิดพลาดอย่างง่ายดายจนเสียทั้งคน
เสียทั้งงานและบางทีก็เสียผู้เสียคน
เสียเกียรติภูมิที่สู้สั่งสมมาทั้งชีวิตในชั่วพริบตา
เพียงเพราะเราเชื่อในสิ่งที่สายตารายงาน
ขณะที่บางด้านของความจริงกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
สามีทะเลาะกับภรรยา พ่อแม่ทะเลาะกับลูก นายเข้าใจผิดลูกน้อง
เพื่อนแตกจากเพื่อน คนรักหันหลังให้กันทั้งที่ต่างฝ่ายก็แสนดี
เพียงเพราะต่างก็เชื่อใน “สิ่งที่ตาเห็น” แต่ละเลยการ “เมียงมอง”
อย่างพินิจแยบคายด้วยสำนึกในความจริงที่สำคัญที่ว่า
ไม่มีใครจะรู้แจ้งอย่างแท้จริงในทุกสิ่งได้
เว้นแต่พระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งเท่านั้น
"อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสิน
ท่านตัดสินเขาอย่างไร พระเจ้าจะทรงตัดสินท่านอย่างนั้น
ท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา
พระเจ้าจะทรงใช้ทะนานนั้นตวงให้ท่าน
ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง
แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเลย"
(มธ 7:1-3) ..."
โดย คุณสุญาโณ จงตระกูลศิริ