Homeบทความบทความทั่วไปคำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ประทานแด่ที่ประชุมสมัชชาเทววิทยาสากลเกี่ยวกับชีวิตพระสงฆ์

คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ประทานแด่ที่ประชุมสมัชชาเทววิทยาสากลเกี่ยวกับชีวิตพระสงฆ์

คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

ประทานแด่ที่ประชุมสมัชชาเทววิทยาสากลเกี่ยวกับชีวิตพระสงฆ์

Address of His Holiness Pope Francis International Theological Symposium on The Priesthood

ณ ห้องประชุมเปาโลที่ 6 นครรัฐวาติกัน

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022

บาทหลวง ผศ.สมชัย พิทยาพงศ์พร  แปล

 

สวัสดีพี่น้องที่รักทุกคน

          พ่อรู้สึกปลื้มปิติที่มีโอกาสมาแบ่งปันผลการไตร่ตรองบางสิ่งที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือพ่อทีละเล็กทีละน้อย ให้ตระหนักรู้ในช่วงเวลามากกว่า 50 ปีของชีวิตสงฆ์ของพ่อ ด้วยความกตัญญูพ่อปรารถนาที่จะรวมพระสงฆ์ทุกๆ องค์ที่เจริญชีวิตสงฆ์เป็นประจักษ์พยาน ให้พ่อเห็นว่าการดำเนินชีวิตอย่างไรจึงสะท้อนพระพักตร์ของผู้เลี้ยงแกะที่ดี ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของชีวิตของพ่อแล้ว  พ่อคิดแบ่งปันเกี่ยวกับชีวิตของพระสงฆ์ในสมัยปัจจุบันนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ประจักษ์พยานชีวิตที่พ่อได้รับจากชีวิตของพระสงฆ์จำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พ่อยอมรับและยกย่องชมเชยสิ่งที่ทำให้พวกท่านเหล่านี้โดดเด่น ทำให้พวกท่านมีพลังพิเศษ มีความชื่นชมยินดี และมีความหวังในพันธกิจของงานอภิบาลของพวกท่าน

          ในเวลาเดียวกันพ่อควรพูดถึงบรรดาพี่น้องสงฆ์ต้องเดินเคียงข้างพวกเขา พวกเขาได้สูญเสียไฟแห่งความรักแรก และพันธกิจของพวกเขาไม่เกิดผล  ซ้ำซากจำเจและแทบจะไร้ความหมาย มีเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันในชีวิตของพระสงฆ์ทุกคน โดยส่วนตัวพ่อก็ผ่านเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายแตกต่างกันมาแล้ว ในการ “ไตร่ตรองการขับเคลื่อนของพระจิตเจ้า เวลาแห่งการถูกทดลอง ความยากลำบาก และความหดหู่ใจ แม้อยู่ในภาวะนั้นความรู้สึกสันติสุขยังคงอยู่ในชีวิตของพ่อเสมอ การแบ่งปันสะท้อนเพลง บทสุดท้ายก่อนตาย(Swan song)” ของชีวิตสงฆ์ของพ่อ แต่พ่อขอยืนยันว่า การแบ่งปันนี้เป็นผลของประสบการณ์ของพ่อ พูดจากประสบกาณ์ ไม่ใช่จากทฤษฎีใดๆ

          ช่วงเวลาที่เราดำรงชีวิตอยู่เรียกร้องให้ต้องยอมรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโดยตระหนักรู้ว่าเราอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เช่น โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า การระบาดของเชื้อไวรัสไม่อาจจำกัดเฉพาะเป็นเรื่องยารักษาโรคและการดูแลสุขภาพอนามัย มันเป็นอะไรที่มากยิ่งกว่าโรคหวัดธรรมดาๆ เราสามารถตอบโต้กับการท้าทายของการเปลี่ยนแปลงได้ในหลายหนทาง  แต่ประเด็นสำคัญคือ การวินิจฉัยดูว่าการเปลี่ยนแปลงและการกระทำมีแก่นสารของพระวรสารหรือไม่ บ่อยครั้งเราจะยึดติดกับอดีตที่ไม่เสี่ยง มีระเบียบที่กำหนดล่วงหน้าไว้ระงับความขัดแย้งนี่เป็น วิกฤตถอยหลังเพื่อแสวงหาที่กำบังหรือที่หลบภัย อีกทัศนคติหนึ่งคือการมองโลกในแง่ดีเกินจริงทุกอย่างจะเรียบร้อย”ไม่มีการวินิจฉัยอย่างรอบคอบและไม่มีการตัดสินใจเมื่อจำเป็นไม่คิดถึงความเจ็บปวดของการเปลี่ยนแปลงและความล้มเหลวที่ตึงเครียด ความยุ่งยากซับซ้อน และความคลุมเครือไม่ชัดเจนของยุคปัจจุบัน  อุทิศตัวกับความคิดใหม่ล่าสุด ถือว่าเป็นความจริงสูงสุด จึงยกเลิกละทิ้งปรีชาญาณของอดีตที่ผ่านมา ทั้งสองวิธีเป็นการหลบหนีอย่างหนึ่ง เหมือนการตอบสนองของลูกจ้างที่เห็นสุนัขป่ากำลังมาแล้วก็วิ่งหนี ไปหาอดีตหรืออนาคต ทั้งสองอย่างไม่สามารถที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบมีวุฒิภาวะได้ พวกเราต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน

          พ่อชอบมากกว่าที่จะตอบโต้ยอมรับความเป็นจริงด้วยความมั่นใจ ยึดเหนี่ยวขนบธรรมเนียมการดำเนินชีวิตของพระศาสนจักร ทำให้เราแล่นเรือไปในที่ลึก “โดยปราศจากความหวาดกลัว” พ่อรู้สึกว่า พระเยซูเจ้าทรงเชิญอีกครั้งหนึ่งให้ “ออกเรือไปในที่ลึก” (เทียบ ลก. 5: 4) ให้ไว้วางใจพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแห่งประวัติศาสตร์ โดยการนำของพระองค์เราจะวินิจฉัยเลือกทิศทางได้ถูกต้อง ความรอดของเรามิใช่เป็น “การปลอดจากเชื้อโรค” เป็นผลิตภัณฑ์จากห้องทดลองหรือเป็นจิตที่ไม่มีตัวตน นี่จะเป็นการล่อลวงของลัทธิไญยนิยม[1] (gnosticism)  เป็นลัทธิที่ยังกำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน (คำสอนเล่มครบข้อ 285) การวินิจฉัยพระประสงค์ของพระเจ้าหมายถึงการเรียนรู้ที่มองความจริงด้วยสายพระเนตรของพระเจ้า ไม่หลบหนีความจริงที่ประชากรของเรากำลังมีประสบการณ์อยู่ “ประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรที่รุ่งโรจน์ขึ้น ในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการเสียสละ  ความหวัง การต่อสู้ประจำวัน ชีวิตที่รับใช้ ความสม่ำเสมอในการทำงานหนัก และมีความสัตย์ซื่อต่อการทำงาน” (Evangelii Gaudium, ข้อ 96)

          การท้าทายมีผลกระทบต่อชีวิตของบรรดาพระสงฆ์เกิดวิกฤตของกระแสเรียกที่หลายชุมชนกำลังประสบอยู่ เพราะชุมชนขาดความร้อนรนในการแพร่ธรรม เป็นเหมือนโรคติดต่อ เช่น ชุมชนมีการจัดระเบียบดำเนินไปด้วยดี  แต่ขาดไฟของพระจิต  เมื่อมีความกระตือรือร้นที่จะนำพระคริสต์ไปสู่ผู้อื่น ที่นั่นกระแสเรียกแท้จริงก็จะบังเกิดขึ้น แม้ในชุมชนวัดที่พระสงฆ์ไม่ค่อยใส่ใจไม่ชื่นชมยินดีนัก  แต่ชีวิตร่วมกันฉันพี่น้องที่เข้มข้นของชุมชนก็สามารถที่จะปลุกความปรารถนาที่จะมอบชีวิตทั้งสิ้นให้กับพระเจ้าและการประกาศพระวรสาร ชุมชนที่อธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระแสเรียก สนับสนุนการถวายตนกับเยาวชน ถ้าเราเป็นบุคคลทำหน้าที่งานอภิบาลตามตัวอักษร จะไม่ดึงดูดใจผู้ใด ตรงกันข้ามเมื่อพระสงฆ์หรือชุมชนคริสตชนมีความร้อนรนที่มาจากศีลล้างบาป นี่จะช่วยดึงดูดกระแสเรียกใหม่ ๆ

          ชีวิตพระสงฆ์คือ ชีวิตของประวัติศาสตร์แห่งความรอดของคนที่รับศีลล้างบาป การบวชเป็นพระสงฆ์คือ การทำให้ชีวิตแห่งศีลล้างบาปมีความสมบูรณ์ กระแสเรียกอันดับแรกของผู้ล้างบาปคือความศักดิ์สิทธิ์ การปฏิบัติตนเหมือนกับพระเยซูเจ้า มีหัวใจเต้นด้วยความรู้สึกเดียวกับพระองค์ (ฟป 2: 15) ถ้าเราพยายามรักผู้อื่นเหมือนพระเยซูทรงรัก เราจะทำให้พระเจ้าเห็นได้และเดินตามกระแสเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ได้ นักบุญยอห์น พอลที่ 2 พระสันตปาปาเตือนใจเราว่า “พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ของพระศาสนจักรควรที่จะรับรู้ว่าตนเอง จำเป็นต้องได้รับการประกาศพระวรสารอยู่เสมอเช่นเดียวกัน” (P DV 26)   

          ต้องมีการวินิจฉัยกระแสเรียก กระแสเรียกของเราเป็นการตอบสนองต่อพระเจ้าผู้ที่ทรงรักเราก่อน (1ยน 4:19) นี่คือบ่อเกิดแห่งความหวังแม้อยู่ท่ามกลางวิกฤต พระเจ้าไม่เคยหยุดรักพวกเราและทรงเรียกหาเรา เราแต่ละคนสามารถเป็นพยานได้ วันหนึ่งพระเจ้าทรงพบเรา ณ ที่เราอยู่และอย่างที่เราเป็น ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือในสถานการณ์ครอบครัวที่ซับซ้อน พ่อชอบอ่านซ้ำๆ เรื่องประกาศกเอเสเคียล บทที่ 16 บางครั้งเห็นตนเอง พระเจ้าทรงพบพ่อที่นั่นในสภาพนั้น และทรงนำพ่อไปข้างหน้า  พระองค์ทรงใช้เราแต่ละคนให้เขียนประวัติศาสตร์แห่งความรอด  เราอาจคิดถึงนักบุญเปโตร นักบุญเปาโล และนักบุญมัทธิว พระเยซูเจ้าไม่ได้เลือกพวกเขาเพราะพวกเขาเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ครบครัน แต่เพราะทรงตั้งใจเลือกเขาแต่ละคนอย่างเป็นรูปธรรม มองไปยังความเป็นมนุษย์ ประวัติศาสตร์ และบุคลิกภาพของพระองค์ เราแต่ละคนควรถามว่า ถ้าไม่ตอบสนองกระแสเรียกเป็นสิ่งเหมาะสมหรือไม่ ทั้งต้องถามมโนธรรมของเราว่า กระแสเรียกได้นำแสงสว่างภายในตัวเรา และศักยภาพแห่งความรักที่เราได้รับในวันรับศีลล้างบาปหรือไม่

          ในเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เราต้องเผชิญหน้ากับหลายคำถาม และการประจญล่อลวงหลากหลาย เรื่องชี้ขาดสำหรับชีวิตของบรรดาสงฆ์ในปัจจุบันนี้ นักบุญเปาโลบอกว่า “พระคริสตเจ้าทรงทำให้อาคารทุกส่วนต่อกันสนิทเจริญขึ้นเป็นพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า” (อฟ 2: 21) การเจริญเติบโตที่มีระเบียบแบบแผนในความสมานฉัน เป็นสิ่งที่พระจิตเท่านั้นที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ดังที่นักบุญบาซิลกล่าวไว้อย่างงดงามว่า “พระองค์เองคือองค์แห่งความสมานฉัน”  [Treatise on the Holy Spirit, No. 38) ทุกโครงสร้างจำเป็นต้องมีรากฐานที่มั่นคงที่สนับสนุนค้ำจุนเราในฐานะสงฆ์  พ่อเคยพูดแล้วและจะขอพูดครั้งหนึ่ง ถึงเสาหลักสี่ต้นของชีวิตสงฆ์เป็นเหมือน “สี่รูปแบบของความใกล้ชิด”   พระเจ้าทรงตรัสว่า “เพราะไม่มีชนชาติใดแม้ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตามจะมีพระเจ้าอยู่ใกล้ชิด ดังที่พระเจ้าของเราสถิตใกล้ชิดเรา?” (ฉธบ 4:7) ลักษณะของพระเจ้าคือความใกล้ชิด มีสามคำในชีวิตของพระสงฆ์และคริสตชน มาจากคุณลักษณะของพระเจ้าคือ ความใกล้ชิด ความเมตตา และความอ่อนโยน

          บรรดาพระสงฆ์ต้องการเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมสำหรับการปฏิบัติศาสนบริการพันธกิจ และกระทำกิจวัตรประจำวัน นักบุญเปาโลเตือนใจทิโมธี ทำให้พระพรพิเศษของพระเจ้าเป็นไฟที่รุ่งโรจน์ขึ้นอีก ท่านได้รับพระพรนี้โดยการปกมือ ไม่ใช่จิตที่บันดาลความขลาดกลัว แต่จิตที่บันดาลความเข้มแข็ง  ความรัก และการควบคุมตนเอง” (เทียบ 2 ทธ 1: 6-7) พ่อมั่นใจว่าเสาหลักทั้งสี่ต้นนี้ เป็นเหมือน “สี่รูปแบบของความใกล้ชิด” จะสามารถช่วยเราในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม ทำให้พระพรพิเศษเป็นไฟรุ่งโรจน์ขึ้นอีก และทำให้เกิดผลตามคำมั่นสัญญาที่ครั้งหนึ่งเราเคยรับ เพื่อทำให้พระพรพิเศษที่รับไว้มีชีวิตชีวา  ความใกล้ชิดกับพระเจ้า ในรูปแบบ 4 ประการของความใกล้ชิด

1. ความใกล้ชิดกับพระเจ้า

          พระเจ้าแห่งความใกล้ชิด: ประการแรกคือความใกล้ชิดกับพระเจ้า พระเจ้าแห่งความใกล้ชิด “เราเป็นเถาองุ่น ท่านเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเราและเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเราท่านก็จะทำอะไรไม่ได้เลย  ถ้าผู้ใดไม่ดำรงอยู่ในเราก็จะถูกโยนทิ้งไปข้างนอกเหมือนกิ่งก้านแล้วจะเหี่ยวแห้งไป กิ่งก้านเหล่านั้นจะถูกเก็บไปทิ้งในไฟและถูกเผา ถ้าท่านทั้งหลายดำรงอยู่ในเราและวาจาของเราดำรงอยู่ในท่าน ท่านอยากได้สิ่งใด ก็จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ” (ยน 15: 5-7)

          กระแสเรียกพระสงฆ์เหนือสิ่งใดคือการฝึกฝนพัฒนาความใกล้ชิดสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ความสัมพันธ์นี้จะช่วยให้มีพลังทุกอย่างที่จำเป็นในการทำพันธกิจของตน เป็นเหมือนการ “ต่อหรือทาบกิ่ง” ของเราไว้กับพระองค์ ทำให้เราบังเกิดผล เราจะใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้าได้ โดยติดต่อสัมผัสกับพระวาจาของพระองค์ทุกวัน จะช่วยปรับเปลี่ยนชีวิตของเราให้ละม้ายคล้ายกับพระองค์ เราเรียนรู้ที่จะไม่เป็นที่สะดุดด้วยพฤติกรรมที่พลาดพลั้งของเรา และจะป้องกันไม่ให้เราเป็น “อุปสรรคขัดขวางให้พี่น้องสะดุดล้ม” (ลก17:1-2; มธ18:6-7; มก9:42; 1คร8:12) เราจะเป็นเหมือนพระอาจารย์ จะมีประสบการณ์ความชื่นชมยินดี ในงานเลี้ยงสมรส อัศจรรย์ การเยียวยารักษา การทวีขนมปัง การพักผ่อนอย่างสงบสุข และมีเวลาแห่งการสรรเสริญพระเจ้า ขณะเดียวกันจะมีประสบการณ์กับความอกตัญญู การถูกปฏิเสธ  ความสงสัย และความโดดเดี่ยวอ้างว้าง จนร้องว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า เหตุใดพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า?” (มธ 27: 46)

          ความใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้าจะทำให้เราไม่กลัวกับเวลานั้น  ไม่ใช่เพราะเราวางใจในพละกำลังของตนเอง  แต่เพราะเรายึดมั่นในพระองค์ภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดช่วยอย่าให้ข้าพเจ้าแพ้การประจญ โปรดช่วยข้าพเจ้าให้ตระหนักรู้ว่าข้าพเจ้ากำลังประสบช่วงเวลาวิกฤตในชีวิต และในเวลานั้นพระองค์ทรงประทับอยู่กับข้าพเจ้า เพื่อตรวจสอบความเชื่อและความรักของข้าพเจ้า” (C.M. MARTINI Perseverance in Trials, Reflections on Job, Collegeville, 1996) ความใกล้ชิดกับพระเจ้าบางครั้งเกิดขึ้นในรูปแบบของการดิ้นรนต่อสู้กับพระเจ้า โดยเฉพาะในเวลาที่เรารู้สึกมากที่สุดว่าพระองค์มิได้ประทับอยู่ในชีวิตของเรา และในชีวิตของบุคคลที่มอบให้เราเป็นผู้ดูแล การต่อสู้ที่ยืดเยื้อจนตลอดคืน ท่ามกลางความมืดนั้นเรายังขอพระพรจากพระองค์ (เทียบ ปฐก 32: 25-7) ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตสำหรับหลายคน ในเวลาแห่งการดิ้นรนต่อสู้นี้ พระสงฆ์ที่ทำงานอยู่ที่นี่ในโรมันคูเรียคนหนึ่งเป็นคนหนุ่มและมีงานที่ยุ่งยากต้องติดตามเรื่องต่างๆ  เขาพูดกับพ่อว่า เขากลับถึงที่พักรู้สึกเหนื่อย แต่เขาจะพักครู่หนึ่งอยู่ต่อหน้าพระรูปของพระแม่มารีย์พร้อมกับสายประคำในมือก่อนที่จะไปนอน พระสงฆ์คนนี้ต้องการความใกล้ชิดกับพระเจ้า แน่นอนผู้คนในคูเรียบางครั้งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่พ่อเป็นพยานได้ว่า มีบรรดานักบุญที่แท้จริงๆ ที่ทำงานในโรมันคูเรียด้วย

            “รูปแบบแห่งความใกล้ชิด” ที่เป็นรูปธรรม :วิกฤตชีวิตของพระสงฆ์มีสาเหตุเริ่มก่อเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากชีวิตภาวนาที่ย่ำแย่ การขาดความใกล้ชิดสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า การด้อยค่าชีวิตจิตให้เป็นเพียงการปฏิบัติศาสนกิจ  ชีวิตจิตเป็นเรื่องหนึ่ง และการปฏิบัติศาสนกิจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง “ชีวิตจิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง?” “ ผมรำพึงภาวนาเวลาเช้า สวดสายประคำ ทำวัตร ผมทำทุกอย่าง”   นี่เป็นการปฏิบัติศาสนกิจ แต่ชีวิตจิตของคุณเป็นอย่างไร? พ่อคิดถึงช่วงชีวิตสำคัญหลายช่วงในชีวิตของพ่อเอง ความใกล้ชิดกับพระเจ้าได้พิสูจน์อย่างเด็ดขาดในการสนับสนุนค้ำจุนช่วยเหลือพ่อในช่วงเวลาที่มืดมิด ความใกล้ชิดสนิทสัมพันธ์เกิดจากการภาวนา การเจริญชีวิตจิต “การฟังพระวาจาของพระองค์ การถวายบูชาขอบพระคุณ การนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าในศีลมหาสนิทในความเงียบ การมอบความไว้วางใจกับพระแม่มารีย์ การร่วมเป็นเพื่อนเดินเคียงข้างอย่างมีสติกับผู้นำชีวิตจิต และการรับศีลอภัยบาปหรือศีลแห่งการคืนดี.”   “รูปแบบแห่งความใกล้ชิด” ที่เป็นรูปธรรม

          การเลือกพี้นฐานมาจากหัวใจ:พระสงฆ์คนหนึ่งเป็นเพียงเหมือนลูกจ้างที่เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นมิตรสหายของพระคริสต์  ในสังฆมณฑลของพ่อในอดีต  พ่อชอบถามบรรดาพระสงฆ์ว่า ”ช่วยบอกเล่าชีวิตหน่อย” - พวกเขาจะเล่าเรื่องการทำงานทั้งหมดของเขา  “ช่วยบอกหน่อย คุณพ่อเข้านอนอย่างไร?”  “ เวลากลางคืนคุณพ่อเข้านอนอย่างไร?” “ผมกลับถึงบ้านพักก็เหนื่อยแล้ว ผมรับประทานอาหารค่ำนิดหน่อยแล้วก็เข้านอน แต่ก่อนจะนอนผมดูโทรทัศน์เล็กน้อย”  “ดีมาก! แต่คุณพ่อไม่ได้หยุดอยู่ต่อหน้าพระเจ้า อย่างน้อยก็กล่าวราตรีสวัสดิ์กับพระองค์?” นี่คือปัญหา การขาดความใกล้ชิด การเหน็ดเหนื่อยจากงานเป็นเรื่องปกติ การนอนและการดูโทรทัศน์ทำได้ถูกต้องชอบธรรม แต่หากปราศจากพระเจ้าความใกล้ชิดกับพระองค์? แม้สวดสายประคำ ทำวัตร แต่ไม่มีความใกล้ชิดกับพระเจ้า รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องกล่าว ราตรีสวัสดิ์กับพระเจ้าจนถึงพรุ่งนี้เช้า ขอบคุณพระองค์! นี่เป็นสิ่งเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติแห่งจิตวิญญาณของพระสงฆ์มันบ่อยครั้งมากชีวิตของพระสงฆ์ที่ภาวนาเพราะเป็นเพียงการทำหน้าที่ มิตรภาพและความรักไม่ได้มาจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แต่เป็นการเลือกพี้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมชีวิตกับพระเจ้าผู้สูงสุดที่มาจากหัวใจของเรา (a fundamental choice of the heart)ที่สุดพระสงฆ์ผู้ภาวนาเป็นคริสตชนที่ชื่นชมยินดีเห็นคุณค่าพระพรพิเศษที่ได้รับจากศีลล้างบาปอย่างเต็มเปี่ยม พระสงฆ์ผู้ภาวนาเป็นบุตรผู้ระลึกเสมอว่าตนมีพระบิดาเจ้าซึ่งรักเขาอย่างลึกซึ้ง พระสงฆ์ผู้ภาวนาเป็นบุตรที่รักษาความใกล้ชิดกับพระเจ้า

          การเพ่งพิศหรือจิตภาวนา: ไม่มีอะไรง่ายๆ นอกจากเราต้องทำเป็นประจำทุกวันจนเกิดเป็นความคุ้นเคยเพื่อการหาเวลาเงียบๆ สักครู่หนึ่งตลอดวัน หยุดกิจกรรมที่เป็นของมาร์ธาไว้ก่อน เพื่อเรียนรู้การเพ่งพิศภาวนาอย่างเงียบๆ ของมารีย์ มันยากลำบากที่จะหยุดกระทำกิจกรรมต่างๆ (แม้ว่าที่จริง เราก็สามารถหยุดได้)  แต่ปรากฏว่าเมื่อเราหยุดวิ่งพล่าน  สิ่งที่เรารู้สึกกลับไม่ใช่สันติสุข  แต่เป็นความว่างเปล่าในใจ  และเพื่อที่จะหลบหนีภาวะแบบนี้  เราจึงไม่อยากจะหยุดชีวิตแห่งกิจกรรมต่างๆ  โดยหวังว่าเราจะได้ไม่ต้องเผชิญกับการคิดมากและการรู้สึกหดหู่ ที่จริงความหดหู่ว้าเหว่เป็นเวลาที่จะพบกับพระเจ้าได้ เมื่อเรายอมรับความหดหู่ว้าเหว่ที่เกิดจากความเงียบ เราลดและหยุดกิจกรรมและการพูด  กล้าหาญที่จะมองตนอย่างจริงใจจะพบว่า ทุกสิ่งที่เราได้รับทั้งแสงสว่างและสันติสุขไม่ได้มาจากพลังหรือความสามารถของตัวเรา แต่มาจากพระเจ้า เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะให้พระเจ้าทำงานของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงในตัวเราแต่ละคน และต้อง “ตัดกิ่ง” กล่าวคือ ตัดทุกสิ่งที่ไม่เกิดผล ที่ไม่อุดม หรือไม่คู่ควรกับกระแสเรียกของเราออกไป 

          การมุ่งมั่นบากบั้นพากเพียรในการภาวนา:เป็นมากกว่าการซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติภาวนา  มันหมายถึงการไม่วิ่งหนีเมื่อการภาวนานำเราเข้าสู่ทะเลทราย หนทางของทะเลทรายคือหนทางที่นำไปสู่ความใกล้ชิดกับพระเจ้า โดยมีเงื่อนไขว่าเราจะไม่หนีหรือหาทางหลบเลี่ยงการพบปะนี้  ในทะเลทราย “เราจะพูดอย่างอ่อนโยนกับเธอ” พระเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์โดยทางคำพูดของประกาศกโฮเซยา (ฮซย 2: 16) นี่เป็นบางสิ่งบางอย่างที่บรรดาพระสงฆ์ต้องถามตนเองว่า เขาสามารถที่จะยอมให้ตนถูกนำไปยังทะเลทรายหรือไม่? ผู้นำชีวิตจิตผู้เดินเคียงข้างบรรดาพระสงฆ์ต้องเข้าใจและช่วยพวกเขาให้ตั้งคำถามนี้ “ท่านสามารถที่จะยอมให้ตนเองถูกดึงดูดสู่ทะเลทรายหรือไม่?  หรือว่าท่านจะเดินตรงไปยังโอเอซิสแห่งโทรทัศน์หรือสิ่งอื่นๆ อีกนอกจากนั้น ?”

          จิตภาวนากับการบำบัดรักษา:ความใกล้ชิดกับพระเจ้าสามารถทำให้บรรดาพระสงฆ์สัมผัสบาดแผลในใจของเรา ซึ่งหากเรายอมรับโอบกอด ปลดเปลื้องการป้องกันตัวของเรา จนถึงจุดนั้นก็เป็นไปได้ที่จะพบกับพระเจ้า คำภาวนาที่เป็นเหมือนไฟที่กระตุ้นเตือนชีวิตสงฆ์ของเราเป็นคำวิงวอนขอให้เรามีใจที่เป็นทุกข์และมีใจถ่อมตน ดังที่พระคัมภีร์บอกเราว่า “พระเจ้าจะไม่ทรงรังเกียจใจที่เป็นทุกข์และถ่อนตน” (เทียบ สดด 51: 17) “พวกเขาร้องขอความช่วยเหลือ พระเจ้าก็ทรงรับฟัง ทรงช่วยเขาให้รอดพ้นจากความคับแค้นทั้งหลาย พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจเป็นทุกข์ ทรงกอบกู้ผู้ที่มีจิตใจสำนึกผิด” (สดด 34: 17-18)

          จิตภาวนากับการขยายใจ:พระสงฆ์ต้องมีใจ ขยายใหญ่ขึ้น” เพียงพอที่จะโอบกอดรับความเจ็บปวดยากลำบากของประชาชนที่ได้รับมอบให้อยู่ในการดูแลของตน ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็เป็นเหมือนผู้พิทักษ์ผู้สามารถประกาศถึงการเริ่มต้นของพระหรรษทานของพระเจ้าที่เปิดเผยในความเจ็บปวดมากนั้น การโอบกอด การยอมรับ และการแสดงให้เห็นถึงความยากจนของตนในความใกล้ชิดกับพระเจ้า เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อยว่า จะต้องยอมรับความขาดแคลนและความเจ็บปวดยากลำบากที่ตนพบประจำวันในการทำพันธกิจของตนอย่างไร เช่นนี้เพื่อทำให้ใจของเราสอดคล้องเหมือนกับดวงพระทัยของพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้น   และเตรียมพระสงฆ์กับความใกล้ชิดหนึ่งคือ ความใกล้ชิดกับประชากรของพระเจ้า เมื่อใกล้ชิดกับพระเจ้าพระสงฆ์จะเติบโตใกล้ชิดกับประชาชนของตน ตรงกันข้ามเมื่อใกล้ชิดกับประชาชน จะใกล้ชิดกับพระเจ้า พ่อสนใจคืองานแรกของพระสังฆราช เมื่ออัครสาวกแต่งตั้งสังฆานุกร (deacons) นักบุญเปโตรอธิบายบทบาทของท่านว่า “ส่วนเราจะอุทิศตนอธิษฐานภาวนาและประกาศพระวาจา” (กจ 6:4)  หน้าที่แรกของพระสังฆราชคือการภาวนา และพระสงฆ์ก็ต้องทำหน้าที่นี้ด้วยคือ การภาวนา

          ความถ่อนตน:นักบุญยอห์น แบ็ปติสต์กล่าวว่า “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้น ส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง” (ยน 3: 30) เมื่อภาวนาเราตระหนักรู้ดีว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระองค์ ดังนั้นสำหรับพระสงฆ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า เป็นการง่ายที่จะเป็นคนต่ำต้อยในสายตาของชาวโลก ในความใกล้ชิดนั้นเราจะไม่หวาดกลัวอีกต่อไปที่จะปรับเปลี่ยนตนให้ละม้ายคล้ายกับพระเยซูผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน ดังการเรียกร้องจากเราในพิธีบวชพระสงฆ์ นี่เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่น่าเสียดายที่เรามักจะลืมสิ่งสำคัญนี้

2. ความใกล้ชิดกับพระสังฆราช

          ความนบนอบในพระศาสนจักรมีความหมายห่างไกลจากพระวรสาร ความนบนอบไม่ใช่เป็นเรื่องระเบียบวินัย แต่เป็นเครื่องหมายล้ำลึกที่สุดของสายสัมพันธ์ที่เชื่อมให้เราเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการนบนอบต่อพระสังฆราชหมายถึงการเรียนรู้ที่จะฟังอย่างไร ระลึกว่าไม่มีผู้ใด “เป็นเจ้าของ” พระประสงค์ของพระเจ้าซึ่งจะต้องเข้าใจโดยการวินิจฉัยเท่านั้น การนบนอบจึงเป็นการฟังอย่างตั้งใจต่อพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งวินิจฉัยได้ถูกต้องในการผูกมัดและในสายสัมพันธ์กับผู้อื่น ทัศนคติการฟังอย่างตั้งใจเช่นนี้ ทำให้เราตระหนักว่าไม่มีใครเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดจบของชีวิต แต่เราแต่ละคนจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น  “ตรรกะภายใน” แห่งความใกล้ชิด ในกรณีกับพระสังฆราช แม้กับผู้อื่นก็เช่นเดียวกันสามารถทำให้เราเอาชนะการล่อลวงทุกอย่างที่จะปิดกั้นจิตใจของเรา การสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง และการดำเนินชีวิตปิดกั้นตนเอง กลายเป็นผู้มีนิสัยใจคอทุกอย่างของ “ชายโสด” เป็นสิ่งที่ไม่ดี ตรงกันข้ามความใกล้ชิดนี้เชื้อเชิญให้เราฟังผู้อื่นเพื่อหาหนทางที่นำไปสู่ความจริงและชีวิต

          ความเป็นบิดาพระสังฆราชมิใช่ผู้อำนวยการหรือผู้บริหาร  แต่เป็นบิดาท่านต้องแสดงความใกล้ชิดของท่านในแนวทางนี้ มิฉะนั้นท่านจะผลักใสพระสงฆ์ผู้ร่วมงานให้ห่างไกล หรือท่านจะอยู่ใกล้ผู้ที่มีความทะเยอทะยานเท่านั้น พระสังฆราชไม่ว่าท่านจะเป็นใคร สำหรับพระสงฆ์แต่ละองค์ และสำหรับพระศาสนจักรแต่ละแห่ง ท่านต้องเป็นสายสัมพันธ์ที่ช่วยให้มีการวินิจฉัยพระประสงค์ของพระเจ้า เราไม่ควรลืมว่าพระสังฆราชเป็นเครื่องมือสำหรับการวินิจฉัยได้อย่างดี ก็ต่อเมื่อท่านใส่ใจชีวิตพระสงฆ์ของท่าน และของชีวิตประชากรของพระเจ้าที่มอบให้อยู่ในการดูแลของท่าน พ่อได้เขียนในสมณสาส์นเตือนใจความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร (EG) “เราจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติศิลปะแห่งการรับฟัง  ซึ่งมากกว่าการได้ยิน การฟังในการสื่อสารกับผู้อื่น คือความสามารถเปิดใจกว้างที่ก่อให้เกิดความใกล้ชิด ซึ่งหากปราศสิ่งนี้ ก็ไม่มีการพบปะฝ่ายจิตที่แท้จริง การฟังช่วยให้เราพบท่าทีที่เหมาะสมที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากสภาพการเป็นผู้ชมที่อยู่นิ่งๆ อาศัยการรับฟังด้วยความเคารพ และการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาเท่านั้น เราจะพบหนทางการเติบโตที่แท้จริง และกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาในอุดมคติแบบคริสตชน การตอบสนองความรักของพระเจ้า และความกระหายที่จะพัฒนาสิ่งดีๆ ที่พระเจ้าทรงหว่านในชีวิตของเรา ” (ข้อ 171)

          คำสัญญา:นี่ไม่ใช่บังเอิญที่ความชั่วร้ายพยายามที่จะบ่อนทำลายข้อผูกมัดสัญญาที่บัญญัติไว้และการปกปักรักษาเราไว้ในความเป็นหนึ่งเดียว เพื่อจะทำลายการเกิดผลดีของงานของพระศาสนจักร เพื่อปกป้องรักษาพันธะความสัมพันธ์ของพระสงฆ์กับพระศาสนจักรท้องถิ่น กับสถาบันที่สังกัด และกับพระสังฆราชของเขา ทำให้ชีวิตพระสงฆ์มีความเชื่อถือได้และความแน่นอน  ความนบนอบปกป้องรักษาพันธะความสัมพันธ์ ความนบนอบเป็นการตัดสินใจขั้นพื้นฐานในการยอมรับสิ่งที่ร้องจากพวกเรา และเพื่อปฏิบัติตามต้องมีเครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมคือพระศาสนจักร ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งความรอด   ความนบนอบอาจมีรูปแบบของการอภิปราย การฟังกันอย่างตั้งใจ และในบางกรณีก็มีความตึงเครียดด้วย แต่ก็ไม่แตกแยกบาดหมางกันจึงจำเป็นและเรียกร้องพระสงฆ์ต้องภาวนาสำหรับพระสังฆราช  และรู้สึกเป็นอิสระที่จะแสดงความคิดเห็นของตนด้วยความเคารพ กล้าหาญ และจริงใจ เช่นกันเรียกร้องให้พระสังฆราชแสดงความถ่อมตน สามารถที่จะรับฟัง พร้อมที่จะวิจารณ์ตนเอง และยินยอมที่จะได้รับความช่วยเหลือ หากเราสามารถรักษาพันธะความสัมพันธ์นี้ไว้ได้ เราจะก้าวหน้าในชีวิตสงฆ์ต่อไปอย่างปลอดภัย

3. ความใกล้ชิดกับพี่น้องพระสงฆ์

           การเลือกดำเนินชีวิตก้าวสู่ความศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับผู้อื่น:รูปแบบที่สามแห่งความใกล้ชิดกับพี่น้องพระสงฆ์ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เพราะว่า ที่ใดมีสองหรือสามชุมนุมกันในพระนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18: 20) การเป็นพี่น้องกันหมายถึงการเลือกอย่างตั้งใจที่ดำเนินชีวิตก้าวสู่ความศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับผู้อื่นและไม่ก้าวไปคนเดียว ดังที่ภาษิตแอฟริกันบทหนึ่งซึ่งท่านทราบดีแล้วกล่าวว่า “หากท่านต้องการไปเร็ว ให้ไปคนเดียว หากต้องการไปไกล ให้ไปกับผู้อื่น” บางครั้งดูเหมือนว่าพระศาสนจักรก้าวช้า ซึ่งเป็นความจริง กระนั้นก็ดีพ่อชอบคิดว่าช้าแต่เลือกเดินในความเป็นพี่น้องกัน เป็นการเดินเคียงข้างพร้อมกับผู้ต่ำต้อยที่สุดด้วย  เป็นเดินในความเป็นพี่น้องกันเสมอ

          ความรักเป็นแผนที่นำทาง:เครื่องหมายการเป็นพี่น้องกันคือความรัก ในจดหมายของนักบุญเปาโลฉบับที่หนึ่งถึงชาวโครินธ์ (1คร 13) ให้ “แผนที่นำทาง” (roadmap) ของความรักอย่างชัดเจน และให้เป้าหมายแห่งการเป็นพี่น้องกัน ก่อนอื่นคือการเรียนรู้ความอดทน(patience) ความสามารถรู้สึกรับผิดชอบต่อผู้อื่น รู้จักช่วยแบกภาระของผู้อื่น รู้ที่จะร่วมทุกข์ในทางใดทางหนึ่งกับพวกเขา สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความอดทนคือ การเพิกเฉยเย็นชา (indifference)  การสร้างระยะห่างกับผู้อื่น เพื่อเราจะไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา ความไม่สามารถที่จะชื่นชมยินดีในความดีของผู้อื่นนี้  พ่อจะบอกว่านี่คือความอิจฉา เป็นอุปสรรคต่อศิลปะการสอนความรัก เป็นบาปที่เราต้องไปสารภาพ มาจากทัศนคติของความอิจฉาที่อยู่ในชีวิตหมู่คณะสงฆ์ด้วย พระวาจาบอกเราว่า มันเป็นทัศนคติที่เป็นภัยทำลายผู้อื่น  “เพราะความอิจฉาของปิศาจ ความตายจึงเข้ามาสู่โลก” (ปชญ 2: 24) ความอิจฉาเป็นประตูสู่ความพินาศ ไม่ใช่ทุกคนอิจฉา แต่การล่อลวงให้เกิดความอิจฉาอยู่ใกล้ตัวเรา เราต้องมีสติตระหนักรู้ เพราะมีความอิจฉาการนินทาก็จะตามมา

          ชีวิตหมู่คณะ:เมื่อเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งชีวิตหมู่คณะ หรือ “ชีวิตกลุ่ม” ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากเพื่อให้น่าสนใจมากกว่าผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องโอ้อวด วางภูมิน้อยให้ที่สุด  ไม่หยิ่งยโสหรือหยาบคาย ขาดความเคารพต่อเพื่อนบ้าน มีรูปแบบของพระสงฆ์ที่ชอบกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นด้วย ถ้ามีสิ่งหนึ่งที่พระสงฆ์จะโอ้อวดได้คือพระเมตตาของพระเจ้า เพราะเมื่อมีสติตระหนักรู้ถึงความบาป ความอ่อนแอ และข้อจำกัดของตน เรารู้จากประสบการณ์ว่าที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า (รม 5:20)นี่คือข่าวดีแรกที่ให้กำลังใจมากที่สุดที่พระองค์ทรงนำมาให้พระสงฆ์ที่เก็บรักษาสิ่งนี้ไว้ในใจจะไม่สามารถอิจฉาผู้อื่นได้

          ความรักฉันพี่น้องไม่ยึดมั่นในทางของตน หรือยอมให้โกรธ หรือความไม่พอใจ เหมือนกับว่าพี่น้องหลอกลวงหรือคดโกงเรา เมื่อฉันพบความเลวร้ายของผู้อื่น ฉันเลือกจะไม่เก็บความขุ่นแค้นนั้นไว้ในใจ หรือทำให้มันเป็นพื้นฐานการตัดสินของฉัน หรือบางทีอาจถึงขั้นชื่นชมยินดีในความชั่วร้ายในกรณีของผู้ที่ทำให้เราทุกข์ ความรักแท้จริงจะชื่นชมในความจริง ถือว่าเป็นบาปหนักเป็นการล่วงละเมิดต่อความจริง และศักดิ์ศรีของพี่น้องชายหญิงด้วยการพูดให้ร้าย หรือการด้อยค่าทำให้เสื่อมเสีย และการนินทาว่าร้าย สิ่งนี้เกิดมาจากความอิจฉา ถึงขั้นใส่ร้ายเพื่อจะได้ตำแหน่ง นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อมีการขอข้อมูลเพื่อที่จะแต่งตั้งใครบางคนเป็นพระสังฆราช  บ่อยครั้งเราได้รับข้อมูลที่วางยาพิษด้วยความอิจฉา นี่คือความเจ็บป่วยของวงการสงฆ์ ท่านหลายคนเป็นผู้อบรมในบ้านเณรควรจดจำประเด็นนี้ไว้

ความรักฉันพี่น้องไม่ใช่มีอยู่โลกแต่ในอุดมคติ (utopian)  เราทุกคนรู้ดีว่าเป็นเรื่องยากแค่ไหนที่จะดำเนินชีวิตในชีวิตหมู่คณะ แม้ในชีวิตหมู่คณะสงฆ์ ครั้งหนึ่งนักบุญองค์หนึ่งกล่าวว่าการดำเนินชีวิตหมู่คณะเป็นการใช้โทษบาปสำหรับท่าน  ยังคงยากแค่ไหนที่ต้องดำเนินชีวิตร่วมกับผู้ที่เราเลือกและเรียกว่าพี่น้องชายหญิงของเรา ความรักฉันพี่น้องหากเราไม่ทำให้รู้สึกว่าหวานเกินไป ให้นิยามใหม่หรือด้อยค่าลง หรือเป็น “การพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่” เรียกร้องให้ปฏิบัติเป็นรูปร่างท่ามกลางสังคมที่ใช้แล้วทิ้งของทุกวันนี้ พ่อชอบคิดถึงความรักฉันพี่น้องเหมือน “โรงยิมแห่งจิตวิญญาณ” ซึ่งเราสามารถตรวจสอบความเจริญก้าวหน้าและอุณหภูมิของชีวิตจิตของเราทุกวัน ปัจจุบันนี้คำพยากรณ์แห่งการเป็นพี่น้องกันยังไม่เลือนหายไป เราต้องการผู้ประกาศทั้งชายและหญิงผู้รับรู้ข้อจำกัดและการท้าทายของตน ได้สัมผัสการท้าทาย ได้ขับเคลื่อนด้วยพระวาจาของพระเยซูคริสต์ “ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่า ท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13: 35)

          ความรักของผู้อภิบาล:ความรักฉันพี่น้องสำหรับบรรดาพระสงฆ์ไม่อาจจำกัดอยู่กับกลุ่มเล็กๆ  แต่ต้องแสดงออกในความรักของผู้อภิบาล (pastoral charity) (PDV 23) ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เราดำเนินชีวิตความรักอย่างเป็นรูปธรรมในพันธกิจของเรา เรากล่าวได้ว่า เรารักได้ต่อเมื่อเราเรียนรู้ที่จะแสดงความรักในวิถีที่นักบุญเปาโลอธิบายไว้ มีแต่ผู้ที่แสวงหาความรักเท่านั้นที่จะดำรงอยู่ในความปลอดภัย ผู้ดำเนินชีวิตแบบกาอิน ไม่สามารถรักผู้อื่น เพราะรู้สึกตนไม่ได้รับความรักและการยอมรับจากผู้อื่น  จึงต้องดำเนินชีวิตแบบคนเร่รอนกระสับกระส่าย ไม่เคยรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ทำให้สัมผัสกับความชั่วร้ายมากยิ่งขึ้น เขาทำร้ายตนเองและผู้อื่น ความรักฉันพี่น้องของคณะสงฆ์ จึงช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาซึ่งกันและกัน

          การถือโสดเพื่ออาณาจักรพระเจ้า:พ่อจะพูดเพิ่มเติมว่า เมื่อมีความเป็นพี่น้องกันในหมู่พระสงฆ์ ความใกล้ชิดกันจะเจริญเติบโตและเกิดสายใยแห่งมิตรภาพที่แท้จริง จะมีประสบการณ์สันติสุขของการถือโสดเพื่ออาณาจักรพระเจ้า (มธ 19:11-12) ซึ่งเป็นพระพรพิเศษที่พระศาสนจักรลาตินดำรงรักษาไว้ เพื่อดำเนินชีวิตสู่ความศักดิ์สิทธิ์และมอบตนอย่างสมบูรณ์แก่พระเจ้า ที่เรียกร้องให้มีความสัมพันธ์ที่ดี มีความโปร่งใส น่ายกย่อง มีความดีงามอย่างแท้จริง ซึ่งหยั่งรากลึกอยู่ในพระคริสตเจ้า หากปราศจากชีวิตหมู่คณะสงฆ์ และการภาวนา การถือโสดอาจเป็นไปไม่ได้ กลายเป็นพยานโต้แย้งต่อความดีงามของชีวิตสงฆ์ ประการสุดท้ายความใกล้ชิดกับประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า เราจะเรียนรู้ได้อย่างดี ถ้าเราได้อ่านธรรมนูญของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 (LG 8,12)

4. ความใกล้ชิดกับประชาชน

          ความสัมพันธ์ของเรากับประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเป็นพระหรรษทาน: “การรักผู้อื่นคือพลังฝ่ายจิตวิญญาณที่ช่วยให้เราได้พบเป็นความหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้า” (EG  272) ด้วยเหตุผลนี้สถานที่ที่เหมาะสมของบรรดาพระสงฆ์คือ การอยู่ท่ามกลางประชาชนในความใกล้ชิดกับพวกเขา ในสมณสาส์นเตือนใจความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร  พ่อพูดเน้นย้ำว่า“เพื่อที่จะเป็นผู้ประกาศพระวรสารที่แท้จริง เราจำเป็นต้องพัฒนารสชาติทางจิตวิญญาณที่ใกล้ชิดกับชีวิตของประชาชน จนกระทั่งค้นพบว่าเป็นต้นธารแห่งความชื่นชมยินดีที่เหนือกว่า พันธกิจกลายเป็นความรักต่อพระเยซูเจ้าและต่อประชาชนของพระองค์ในทันที เมื่อเราหยุดอยู่ต่อหน้าพระเยซูผู้ถูกตรึงกางเขน เรามองดูความล้ำลึกแห่งความรักของพระองค์ ซึ่งยกระดับจิตใจให้สูงและค้ำจุนเรา หากเราไม่ตาบอด เราย่อมเริ่มต้นตระหนักรู้ว่าสายพระเนตรของพระเยซูเจ้าที่เผาไหม้ด้วยความรัก ขยายโอบกอดประชากรผู้ศรัทธาทุกคนของพระองค์ เราตระหนักอีกครั้งหนึ่งว่า พระองค์ทรงใช้เราเพื่อพระองค์จะได้ใกล้ชิดกับประชากรผู้ศักดิ์สิทธิ์และซื่อสัตย์ของพระเจ้า  พระองค์ทรงนำเรามาจากท่ามกลางประชากร และทรงส่งเราไปยังประชากรของพระองค์ หากปราศจากการเป็นสมาชิกในประชากรนี้ เราจะไม่สามารถเข้าใจอัตลักษณ์ที่ล้ำลึกของเรา (EG 268)  อัตลักษณ์ของความเป็นสงฆ์ไม่สามารถเข้าใจได้ หากปราศจากการเป็นสมาชิกของประชากรผู้ศักดิ์สิทธิ์และซื่อสัตย์ของพระเจ้า

          อัตลักษณ์สงฆ์:พ่อมั่นใจว่า เพื่อจะฟื้นฟูอัตลักษณ์ของสงฆ์ ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของผู้คนในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด ดำเนินชีวิตเคียงข้างกับพวกเขา ไม่หลบหนี  “บางครั้งเราถูกประจญให้เป็นคริสตชนที่ยังอยู่ห่างไกลจากบาดแผลของพระเยซูคริสต์  อย่างไรก็ตามพระเยซูเจ้าทรงปรารถนาให้เราสัมผัสกับความทุกข์ยากของมนุษย์ ในร่างกายที่ทุกข์ทรมานของผู้อื่น พระองค์หวังว่าเราจะหยุดแสวงหาที่ลี้ภัยส่วนตัวหรือส่วนรวม ซึ่งทำให้เรามองดูความทุกข์ของมนุษย์อยู่ห่างๆ เมื่อเรายอมเข้าสู่ความสัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้อื่น และเรียนรู้ถึงพลังแห่งความรักอ่อนโยน เมื่อเรากระทำดังนั้นชีวิตของเราจะกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์เสมอ เป็นประสบการณ์ของการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในหมู่ประชากร” (EG 270) “ประชาชนคนหนึ่ง”  เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งนี้เราต้องเข้าหาประชาชนอย่างที่เราเข้าหาสิ่งที่เป็นตำนานธรรม (mythic category)

          ผู้อภิบาลตามแบบพระเยซูเจ้า: มีความใกล้ชิดกับประชากรของพระเจ้าตามแบบพระเยซูคริสต์ คือความใกล้ชิด  ความเมตตา และความอ่อนโยน เราไม่ใช่เป็นผู้พิพากษา แต่เป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่ยอมรับบาดแผลและความทุกข์ของประชากรของเรา  พ่อแม่จำนวนมากเสียสละความต้องการตนเอง เพื่อสนับสนุนค้ำจุนครอบครัวของตน  เราต้องยอมรับผลของความรุนแรง ความไม่ซื่อสัตย์ฉ้อโกง และความเพิกเฉยเย็นชา ที่บดขยี้ความหวัง ความใกล้ชิดทำให้เราใส่ยาบนบาดแผล และประกาศปีแห่งการโปรดปรานจากพระเจ้า (อสย 61: 2) ประชากรของพระเจ้าหวังจะพบผู้เลี้ยงแกะในลักษณะรูปแบบของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ “พระสงฆ์ที่เป็นเหมือนเจ้าหน้าที่”  หรือ “ผู้เชี่ยวชาญของสิ่งศักดิ์สิทธิ์”  สมัยนักบุญยอห์น มารีย์เวียนเนย์เจ้าอาวาสหมู่บ้านอาร์ส ในประเทศฝรั่งเศส  สมัยนั้นมีพระสงฆ์ที่เป็นเหมือนเจ้าหน้าที่  เหมือนในปัจจุบัน แต่ประชาชนกำลังแสวงหาผู้อภิบาลที่เมตตา ห่วงใย กล้าหาญ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องการ  ผู้อภิบาลที่เพ่งพิศภาวนาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน จะช่วยให้พวกเขาสามารถประกาศต่อหน้าบาดแผลต่างๆ ของโลก ถึงพลังอำนาจของการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสต์ที่กำลังทำงานอยู่ในปัจจุบันนี้

           สร้างชุมชนแท้:สังคมปัจจุบันของเราเป็นสังคม “เครือข่าย” แต่ประชาชนรู้สึกว่า “กำพร้า” เป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน แม้จะมีการติดต่อกันกับทุกคนในทุกเรื่อง แต่ยังรู้สึกขาดความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งเป็นมากกว่าการติดต่อกัน ความใกล้ชิดของผู้อภิบาลจะทำให้เป็นไปได้ที่จะรวบรวมชุมชน และส่งเสริมให้เจริญเติบโตในความรู้สึกเป็นเจ้าของ เข้าสังกัดเป็นประชากรที่ศักดิ์สิทธิ์และซื่อสัตย์ของพระเจ้า ซึ่งถูกเรียกให้เป็นเครื่องหมายของปรากฏการณ์ใหม่ของพระอาณาจักรสวรรค์ในประวัติศาสตร์ของโลกปัจจุบัน หากผู้อภิบาลหลงทางหรือถอนตัวแกะก็จะกระจัดกระจายและตกเป็นเหยื่อของสุนัขป่า

          กระแสเรียกพระสงฆ์กับสงฆ์นิยม:จิตสำนึกของการเป็นเจ้าของหรือการมีสังกัด ทำให้เราเข้าใจกระแสเรียกพระสงฆ์ว่า “เป็นของพระคริสตเจ้าและบุคคลที่พระองค์ทรงมอบให้อยู่ภายใต้การดูแลของเรา” การลืมประเด็นนี้เป็นรากเหง้าของ“สงฆ์นิยม”(clericalism) พระคาร์ดินัลโอเล็ท (Ouellet) กล่าวว่า ผลคือการบิดเบือนชีวิตสงฆ์ เครื่องหมายหนึ่งคือ ความเข้มงวดไม่ยึดหยุ่น (rigidity) เป็นการบิดเบือนชีวิตสงฆ์เพราะไม่มีพื้นฐานอยู่บนความใกล้ชิด ตรงข้ามอยู่บนความห่างเหิน พ่อคิดถึง “สงฆ์นิยม”ของฆราวาส การสร้างกลุ่มอภิสิทธิ์เล็กๆ รอบ ๆ พระสงฆ์ ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการทรยศต่อการทำพันธกิจที่สำคัญคือ         พันธกิจของฆราวาส (GS 44)  ฆราวาสบางคนกล่าวว่า “ฉันเป็นสมาชิกสมาคมนั้น ฉันอยู่ที่นั่นในชุมชนวัดนั้น...” “ที่ถูกเลือกมา” ให้เป็น ให้ทำหน้าที่   ขอให้เราระลึกว่า “พันธกิจของข้าพเจ้าท่ามกลางประชาชน มิใช่เป็นพียงส่วนหนึ่งของชีวิตข้าพเจ้า มิใช่เป็นเครื่องประดับที่ข้าพเจ้าจะถอดออกได้ และมิใช่เป็น “ภาคผนวก” หรือเป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต พันธกิจเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถดึงออกไปจากชีวิตของข้าพเจ้าได้ โดยที่ไม่ทำร้ายตัวตนเอง ข้าพเจ้าเองเป็นพันธกิจในโลกนี้ และเพื่อสิ่งนี้ข้าพเจ้าจึงอยู่ในโลกนี้โดยทางพันธกิจนี้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนไฟที่ส่องสว่าง อวยพร ทำให้มีชีวิตชีวา ทำให้ฟื้นคืนชีพใหม่ บำบัดรักษา และการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ” (EG 273) 

          การภาวนาของผู้อภิบาล:พ่อต้องการเชื่อมสัมพันธ์ความใกล้ชิดกับพระเจ้ากับประชาชนของพระองค์ เนื่องจากการภาวนาของผู้อภิบาลหล่อเลี้ยง และก่อกำเนิดในหัวใจแห่งประชากรของพระเจ้า เมื่อพระสงฆ์ผู้อภิบาลภาวนา เขาจะแบกรับความทุกข์และความชื่นชมยินดีของประชากรของตน ซึ่งเขาจะมอบถวายแด่พระเจ้าอย่างเงียบๆ เพื่อจะได้รับเจิมด้วยพระพรพิเศษของพระจิตเจ้า นี่คือความหวังของผู้อภิบาลทุกคน ผู้ทำงานด้วยความไว้วางใจและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อว่าพระเจ้าจะได้อวยพรประชากรของตนเอง

          สรุปวิถีทาง:นักบุญอิกญาซีโอสอนว่า “นี่มิใช่อยู่ที่การมีความรู้มากมาย แต่อยู่ที่เกิดปัญญารู้แจ้งและความรู้สึกภายในที่ดื่มด่ำ ซึ่งสร้างความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ให้แก่ดวงวิญญาณ” (Spiritual Exercises, Annotations, ข้อ 2, 4) พระสังฆราชและพระสงฆ์จะก้าวเดินไปด้วยกันได้อย่างงดงาม หากจะถามว่า “พ่อจะปฏิบัติสี่รูปแบบแห่งความใกล้ชิดนี้อย่างไร? พ่อจะดำเนินชีวิตในสี่มิติที่สลับกันอยู่และหล่อหลอมหัวใจในการเป็นสงฆ์ของพ่ออย่างไร และการปฏิบัติตามนี้ทำให้พ่อสามารถจัดการกับความเครียด และความไม่สมดุลที่เราแต่ละคนมีประสบการณ์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?” ทั้งสี่รูปแบบของความใกล้ชิดเหล่านั้นเป็นการฝึกอบรมที่ดีเพื่อ “บทบาทจริงในภาคสนาม” ซึ่งบรรดาพระสงฆ์ถูกเรียกร้องให้ไปอยู่ในที่ใดก็ตาม โดยไม่มีความหวาดกลัว และไม่มีความเข้มงวดไม่ยึดหยุ่น ไม่มีการลดทอนหรือทำให้พันธกิจไร้ผล

          หัวใจของพระสงฆ์รู้จักความใกล้ชิดแรกของเขาคือ ความใกล้ชิดกับพระเจ้า ขอให้พระคริสตเจ้าเสด็จมาเยี่ยมพระสงฆ์ของพระองค์ในการภาวนาของเขา  ในพระสังฆราช ในพี่น้องสงฆ์ และในท่ามกลางประชาสัตบุรุษของพวกเขา ขอให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันของเขาอย่างสิ้นเชิง ไม่ให้สับสนหรือกังวล และขอให้วันนี้เป็นเหมือนวันแรกรักของเขา  ขอพระคริสตเจ้าทรงนำเราให้ได้ใช้สติปัญญาและความสามารถทุกอย่างทำให้มั่นใจว่าประชากรจะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ (เทียบ ยน 10: 10) ความใกล้ชิดที่พระเจ้าทรงต้องการคือ  ความใกล้ชิดกับพระเจ้า ความใกล้ชิดกับพระสังฆราช ความใกล้ชิดกับพี่น้องหมู่คณะสงฆ์ และความใกล้ชิดกับประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า นี่ไม่ใช่เป็นภาระที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นพระพรพิเศษที่พระองค์ทรงประทานให้เรา เพื่อทำให้กระแสเรียกของเรามีชีวิตชีวาและบังเกิดผล ถ้าเราถูกประจญให้ติดอยู่กับสุนทรพจน์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น การอภิปรายเกี่ยวกับเทววิทยาของชีวิตสงฆ์ หรือทฤษฎีว่าด้วยชีวิตสงฆ์ควรเป็นอย่างไร พระคริสตเจ้าทรงเพ่งพิศมายังเราด้วยความอ่อนโยนและความเมตตา พระองค์จะทรงแสดงป้ายชี้หนทาง เพื่อเราจะได้ชื่นชมยินดีและจุดไฟความร้อนรนในงานธรรมทูตของเราขึ้นใหม่ ความใกล้ชิดคือความเมตตาและความอ่อนโยน เป็นความใกล้ชิดกับพระเจ้า กับพระสังฆราช กับพี่น้องในหมู่คณะสงฆ์ และกับประชากรที่พระองค์มอบให้อยู่ภายใต้การดูแลของเรา  นี่เป็นความใกล้ชิดของคุณลักษณะของพระเจ้าเอง ที่ทรงประทับอยู่อย่างใกล้ชิดกับเราเสมอด้วยความรักที่เมตตาและอ่อนโยน  

            พ่อขอขอบคุณสำหรับความใกล้ชิดและความอดทนของพวกท่าน ขอบคุณมากๆ ขอให้ทุกคนทำงานอย่างดีและมีความสุข



[1] ลัทธิไญยนิยม [1] (gnosticism)   ถือว่าความรู้แท้(gnosis)มาจากการเปิดเผยที่พระเจ้าประทานให้เป็นส่วนบุคคลเพื่อช่วยให้รอดพ้น  โดยหนทางแห่งการมุ่งมั่นแสวงหา การภาวนา การเข้าญาณ  และมีทัศนะว่าในโลกมีพระเจ้าผู้ทรงความดีสูงสุดและก็มีสิ่งชั่วร้ายลักษณะเดียวกัน   ความทุกข์และความชั่วร้ายมาจากการครอบงำความความเลวร้ายนิรันดรนี้ จึงเป็นต้องมีการปลดปล่อย การไถ่บาปของพระเยซูคือมาปลดปล่อยมนุษย์จากความมืดไปสู่ความสว่าง และมีทัศนะว่าวัตถุเป็นสิ่งไม่ดี จิตเป็นสิ่งดี ฯลฯพระศาสนจักรสอนว่าคำสอนเหล่านี้ผิด ”จงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันใน “ความรู้” ที่ไม่ใช่ความรู้” (1ทธ6:20-21)  ต่อมานักบุญอีเรเนอัสปิตาจารย์ได้กล่าวหมายถึง  ลัทธิไญยนิยม(Gnosticism)  

สถิติการเยี่ยมชม

10485991
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
424
3833
6967
10448190
6967
124638
10485991
Your IP: 18.227.0.57
Server Time: 2024-12-03 00:45:49

แบบฟอร์ม

instagram

พระศาสนจักร


สื่อ YOUTUBE


Laudato si’

บทเรียนคำสอน





บทภาวนา

พิธีกรรมต่างๆ

เอกสารพระศาสนจักร

บทความคำสอน



KAMSONCHAN

 

   องค์กรคาทอลิก              คณะนักบวช  
 

สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
แผนกคริสตศาสนธรรม
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ศูนย์คริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
สังฆมณฑลจันทบุรี
คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา
คามิลเลียนโซเชียลเซนเตอร์ ระยอง

  สังฆมณฑลนครราชสีมา                       
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลนครราชสีมา
สังฆมณฑลอุบลราชธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุบลราชธานี   
สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
สังฆมณฑลนครสวรรค์
สังฆมณฑลเชียงใหม่
  สังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี
สังฆมณฑลอุดรธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุดรธานี

สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย (อุดมสาร)
  ชมรมอธิการิณีเจ้าคณะนักบวชแห่งประเทศไทย
คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ต
คณะภคินีศรีชุมพาบาล       
คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
คณะเซนต์คาเบรียล
คณะซาเลเซียน
คณะซาเลเซียน (ซิสเตอร์)
กางเขนแดงสาร

 



JSN Megazine template designed by JoomlaShine.com