Homeบทความบทความทั่วไปสรุปย่อถ้อยแถลง “ศักดิ์ศรีไม่มีที่สิ้นสุด” ของสมณสภาเพื่อข้อความเชื่อ

สรุปย่อถ้อยแถลง “ศักดิ์ศรีไม่มีที่สิ้นสุด” ของสมณสภาเพื่อข้อความเชื่อ

สรุปย่อถ้อยแถลง “ศักดิ์ศรีไม่มีที่สิ้นสุด” ของสมณสภาเพื่อข้อความเชื่อ

(Declaration “Dignitas Infinita” on human dignity

by Dicastery for the doctrine of the faith)

 

บทนำ (Introduction)

            มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีที่ไม่มีสิ้นสุด ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ของชีวิต ศักดิ์ศรีนี้ได้รับการเคารพและคุ้มครองอยู่เสมอ เพราะมนุษย์ได้ถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้าและได้รับการไถ่ให้รอดโดยพระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรจึงมีหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์มาเป็นอันดับที่หนึ่ง

            ตามปฏิญาณสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ซึ่งได้ครบรอบ 75 ปีมาแล้วในปี 2023 จึงเป็นโอกาสดีที่พระศาสนจักรจะได้รื้อฟื้นคำสอนเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้กับสังคมโลกในยุคปัจจุบัน

            นักบุญพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นคุณค่าแห่งพระวรสารที่ไม่สามารถดูถูกเหยียดหยามได้เพราะได้รับการปกป้องจากพระผู้สร้าง ได้รับการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพ สิทธิในการนับถือศาสนา ความสมบูรณ์ทางร่างกายและจิตใจ สิทธิในสิ่งของที่จำเป็น การดำรงชีวิต สิทธิในการมีส่วนร่วมในสังคมและการเมือง ไม่ถูกบังคับอย่างอยุติธรรมและผิดกฎหมาย หรือถูกทรมานทางร่างกายและจิตใจ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่จะต้องปกป้องหรือทำให้ก้าวหน้า”[1]

            พระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสว่า “การอยู่ร่วมกันแบบใหม่ระหว่างผู้คน การยอมรับในศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคน จะช่วยทำให้เกิดภราดรภาพสากลได้ (FT 8)[2]  ซึ่งมีบ่อเกิดอยู่ในพระวรสาร ศักดิ์ศรีของผู้อื่นนี้จะต้องได้รับการเคารพในทุกสถานการณ์ (FT 277)[3] มีคุณค่าสูงกว่ามูลค่าทางวัตถุ และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (FT 213)[4]

 

หลักการพื้นฐาน (A Fundamental Clarification)

            การตีความเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ในยุคปัจจุบันอาจคลุมเครือหรือไม่ชัดเจน เราจึงควรพิจารณาถึงแนวความคิดของศักดิ์ศรีของมนุษย์ใน 4 ประเภท คือ 1) ศักดิ์ศรีทางภววิทยา 2) ศักดิ์ศรีทางศีลธรรม 3) ศักดิ์ศรีทางสังคม และ 4) ศักดิ์ศรีที่มีอยู่

            - ศักดิ์ศรีทางภววิทยา (Ontological dignity) เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพราะมนุษย์ทุกคนดำรงอยู่ มีน้ำใจเสรี ถูกสร้าง และถูกรักโดยพระเจ้า ศักดิ์ศรีทางภววิทยาไม่สามารถลบเลือนได้ อยู่เหนือทุกสถานการณ์

            - ศักดิ์ศรีทางศีลธรรม (Moral dignity) หมายถึง วิธีการที่ผู้คนใช้เสรีภาพของตนเอง แม้ว่าพวกเขาจะมีมโนธรรม แต่พวกเขาก็สามารถต่อต้านมันได้เสมอ หากพวกเขาทำเช่นนั้น พวกเขาจะประพฤติตนในลักษณะที่ “ไม่มีเกียรติ” เพราะพวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับความรักจากพระเจ้า และถูกเรียกให้รักผู้อื่น ผู้ที่ไม่ประพฤติตามมโนธรรมจะสูญเสียความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีของพวกเขาไป เราจึงต้องทำงานอย่างสุดกำลังเพื่อที่จะทำให้คนทั้งหลายสำนึกผิดและกลับใจ

            - ศักดิ์ศรีทางสังคม (Social Dignity) หมายถึง คุณภาพของสภาพความเป็นอยู่ของบุคคล ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ยากจนที่สุดไม่มีแม้แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดในชีวิตเพื่อที่จะดำเนินชีวิตตามศักดิ์ศรีทางภววิทยาของตน นั่นแสดงว่า ผู้ยากจนผู้นั้นดำเนินชีวิตอยู่ในลักษณะที่ “ไม่มีศักดิ์ศรี”

            - ศักดิ์ศรีที่มีอยู่ (Existential dignity) หมายถึง การอธิบายว่ามนุษย์คนนั้นอยู่ในสภาพ “มีเกียรติ” หรือ “ไม่มีเกียรติ” (มีอยู่หรือไม่มีอยู่) เช่น บางคนอยู่ในสภาพที่เจ็บป่วยร้ายแรง ยากลำบาก ติดสารเสพติด ทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่มีเกียรติหรือศักดิ์ศรี หรือตรงกันข้าม บางคนดูเหมือนว่าเขาอยู่ในสภาพที่ไม่มีเกียรติ กล่าวคือขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นในชีวิต แต่พวกเขาก็ยังดำเนินชีวิตอย่างมีสันติสุข ความยินดี และความหวัง ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อควรพิจารณาว่าพวกเขามีศักดิ์ศรีอยู่หรือไม่

            ความหมายของความเป็นบุคคลของมนุษย์ คือ “การเป็นผู้ที่มีเหตุผล” (an individual substance of a rational nature) ความเป็นอยู่ของมนุษย์แต่ละคนเป็นกระบวนการของศักดิ์ศรีทางภววิทยา ซึ่งได้รับมาจากพระเจ้าโดยอัตโนมัติ  การใช้เหตุผลจึงเป็นศักยภาพของความเป็นมนุษย์ รวมถึงศักยภาพที่จะรับรู้ ทำความเข้าใจ มีความต้องการ มีความรัก มีเสรีภาพที่จะเลือก มีความปรารถนา ทั้งนี้ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็ยังคงอยู่ แม้ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะปราศจากศักยภาพในการใช้เหตุผลไปแล้ว เช่นในกรณีของทารกในครรภ์ ผู้ที่หมดสติ หรือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย

 

1. การตระหนักรู้ถึงความเป็นศูนย์กลางของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (A Growing Awareness of the Centrality of Human Dignity)

            ในสมัยโบราณ (ปรัชญากรีกและโรมัน) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกมองว่าเกิดขึ้นจากชนชั้น สถานะทางสังคม ตำแหน่ง ฐานะ ความสามารถที่จะรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม การทำตามหน้าที่ที่ควรจะทำหรือในความคาดหวัง (คนและวัว) ซึ่งแนวคิดเหล่านั้นยังห่างไกลจากแนวความคิดที่ว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้รับการเคารพแม้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ของชีวิต

 

1.1 มุมมองในพระคัมภีร์ (Biblical Perspectives)

            มนุษย์มีศักดิ์ศรีเพราะถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า เป็นชายและหญิง (ดู ปฐก 1:26-27) ในความสัมพันธ์ระหว่างความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน และความรักซึ่งกันและกัน ไม่สามารถถูกลดทอนลงให้เป็นวัตถุได้ ชายและหญิงจึงเป็นตัวแทนของพระเจ้าในโลกนี้ นอกจากนั้นแล้ว ยังถูกเรียกให้ทะนุถนอมและดูแลโลกอีกด้วย การถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้านี้ทำให้มีคุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่เหนือความแตกต่างทุกด้านของธรรมชาติทางเพศ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และศาสนา

            ในหนังสืออพยพ พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงได้ยินเสียงร้องของผู้ยากจน ดูแลผู้ต่ำต้อยและถูกกดขี่ (ดู อพย 3:7; 22:20-26, ฉธบ 12-26) เป็นพิเศษต่อเด็กกำพร้า หญิงม่าย และคนแปลกหน้า (ฉธบ 24:17) ประกาศกอาโมส โฮเชยา อิสยาห์ มีคาห์ และเยเรมีย์ หนังสือบุตรสิรา เพลงสดุดี ต่างก็ประฌามความอยุธรรมที่กระทำต่อผู้ยากจน

            พระเยซูเจ้าทรงประสูติและเติบโตในความต่ำต้อย ทรงเปิดเผยศักดิ์ศรีของผู้ยากจนและทำงานหนัก (ช่างไม้) ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ก็ทรงยืนยันถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางสังคมและสถานการณ์ภายนอก แม้บางครั้งพระองค์ทำลายอุปสรรคทางวัฒนธรรมและคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้ที่ถูกปฏิเสธ (คนเก็บภาษีใน มธ 9:10-11 หญิงชาวสะมาเรียใน ยน 4, คนแปลกหน้าใน มธ 18:12-14, หญิงม่ายใน ลก 7:11-15) พระองค์ทรงรักษา ให้อาหาร ปกป้อง ปลดปล่อย และช่วยชีวิต แม้จะเพียงชีวิตของคนคนเดียว (แกะตัวเดียวที่หายไป มธ 18:12-14) พระองค์ตรัสว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

            พระเยซูเจ้ายังทรงใส่ใจกับกลุ่มผู้เปราะบาง เด็กเล็ก ๆ ผู้ถูกขับไล่ ผู้ถูกกดขี่ ผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ยากจน บุคคลชายขอบ ผู้ไร้การศึกษา ผู้ป่วย ผู้ถูกเบียดเบียนโดยผู้มีอำนาจ ทรงกล่าวถึงการตัดสินครั้งสุดท้ายจากความรักที่แสดงออกต่อเพื่อนบ้าน ผู้หิวโหย ผู้กระหาย คนแปลกหน้า คนเปลือยเปล่า ผู้ป่วย และผู้ถูกคุมขัง (ดู มธ 25:34-36) สำหรับพระเยซูเจ้าแล้วความดีที่ทำต่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือศาสนาเป็นกฎเกณฑ์เดียวในการตัดสิน นักบุญเปาโลอัครสาวกยืนยันว่า คริสตชนทุกคนจะต้องดำเนินชีวิตตามข้อกำหนดของศักดิ์ศรี และเคารพสิทธิของทุกคน (ดู รม 13:8-10) และตามบัญญัติใหม่แห่งความรัก (ดู 1 คร 13:1-3)

 

1.2 การพัฒนาแนวความคิดของคริสตชน (Developments in Christian Thought)

            นักบุญโทมัส อไควนัส ยืนยันว่า “บุคคล” หมายถึง สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดในธรรมชาติทั้งหมด นั่นคือ บุคคลดำรงอยู่โดยมีลักษณะที่มี “เหตุผล”[5] มานุษยนิยมยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยากรบอกว่าเป็นการกระทำด้วย “เสรีภาพ”[6] ลัทธิบุคลานิยม (Personalism) ให้เหตุผลว่าเป็นการรวมกันระหว่างอัตวิสัย (intersubjectivity) และความสัมพันธ์ (Relationship) เข้าไว้ด้วยกัน

 

1.3 ยุคปัจจุบัน (The Present Era)

            ปัจจุบันคำว่า “ศักดิ์ศรี” เน้นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งไม่มีสิ่งใดเทียบได้ในจักรวาล ปฏิญญาสหประชาชาติปี 1948 ได้กล่าวว่า “ศักดิ์ศรีมีมาแต่กำเนิด สิทธิเท่าเทียมกัน และไม่อาจเพิกถอนได้ของแต่ละคนในครอบครัวมนุษยชาติ” ศักดิ์ศรีไม่ใช่สิ่งที่ผู้อื่นมอบให้โดยอาศัยพรสวรรค์หรือคุณสมบัติของพวกเขา อันเป็นสาเหตุให้เพิกถอนหรือยกเลิกออกไปได้ แต่ศักดิ์ศรีมีอยู่ภายในตัวบุคคลแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าพวกเขาจะแสดงออกอย่างเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม ชายและหญิงจึงควรใช้วิจารณญาณและศักดิ์ศรีของตนเองอย่างเต็มที่ ด้วยความรับผิดชอบ และไม่ควรตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของการบังคับขู่เข็ญ แต่ควรมาจากแรงบันดาลใจของความสำนึกในหน้าที่[7] ดังนั้น ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จึงอยู่เหนือทุกสถานการณ์ของชีวิต

 

2. พระศาสนจักรประกาศ ส่งเสริม และรับประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (The Church Proclaims, Promotes, and Guarantee human Dignity)

2.1 ภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่ลบไม่ออก (The Indelible Image of God)

            พระผู้สร้างทรงเรียกและทำให้แต่ละคนรู้จักพระองค์ รักพระองค์ และมีชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ตามพันธสัญญากับพระองค์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้บุคคลนั้นอยู่ในภราดรภาพ ความยุติธรรม และสันติสุขร่วมกับคนอื่น ๆ ทั้งหมด ศักดิ์ศรีจึงถูกรวมเข้ากับความเป็นบุคคลอันแยกไม่ออกจากร่างกายและจิตวิญญาณ

 

2.2 พระคริสตเจ้าทรงยกระดับศักดิ์ศรีของมนุษย์ (Christ Elevates Human Dignity)

            ในพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระวจนาต์ทรงรับสภาพมนุษย์ พระเยซูเจ้าได้ทรงยืนยันถึงศักดิ์ศรีอันประเมินค่ามิได้ของร่างกายและจิตวิญญาณที่ประกอบเป็นมนุษย์ นอกจากนี้พระองค์ยังประกาศว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนยากจน คนถ่อมตัว คนที่ถูกดูหมิ่น ผู้ที่ทนทุกข์ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ โดยการรักษาความเจ็บป่วยและความทุพพลภาพทุกประเภท แม้แต่โรคร้ายแรงที่สุดในเวลานั้น คือ โรคเรื้อน โดยยืนยันว่าทุกสิ่งที่กระทำกับบุคคลเหล่านี้ก็เพื่อพระองค์จะได้ประทับอยู่กับพวกเขา

 

2.3 กระแสเรียกสู่ความสมบูรณ์แห่งศักดิ์ศรี (A Vocation to the Fullness of Dignity)

            ศักดิ์ศรีของมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใดอยู่บนความจริงที่ว่า พวกเขาถูกเรียกให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า[8] และจะคงอยู่ตลอดไป ศักดิ์ศรีจึงเกิดมาจากพระเจ้า (ถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ถูกสร้างใหม่ในศีลล้างบาปให้กลายเป็นบุตรของพระองค์ และอาศัยการนำทางของพระจิตเจ้า) เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าตลอดชีวิตกระทั่งจุดจบสุดท้ายของชีวิต ด้วยการกลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในความรู้และในความรักต่อพระองค์

 

2.4 ความมุ่งมั่นต่ออิสรภาพของตนเอง (A Commitment to One’s Own Freedom)

            ดังนั้น มนุษย์แต่ละคนจะต้องแสดงออกถึงศักดิ์ศรีที่ตนเองมีอย่างอิสระ มีพลัง และก้าวหน้า ด้วยการทำให้เติบโตและต้องพยายามดำเนินชีวิตให้สมศักดิ์ศรีของตนเองอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจว่า บาปสามารถสร้างบาดแผลและบดบังศักดิ์ศรีได้อย่างไร แต่บาปไม่สามารถยกเลิกความจริงที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างตามภาพลักษณ์ของพระเจ้าได้ ความเชื่อที่ถูกต้องจึงมีบาทบาทชี้ขาดในการช่วยให้มีเหตุผลที่ถูกต้องได้รับรู้ถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ การใช้เหตุผลในทางที่ผิดทำให้เกิดการค้าทาสตั้งแต่แรกและความชั่วร้ายทางสังคมอื่น ๆ มากมาย

 

3. ศักดิ์ศรี รากฐานของสิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน (Dignity the Foundation of Human Rights and Duties)

3.1 การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Respect for Human Dignity)

            บางคนเสนอให้ใช้คำว่า “ศักดิ์ศรีส่วนบุคคล” หรือ “สิทธิของบุคคล” มากกว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เพราะมีความเข้าใจที่บิดเบือนที่ว่า “บุคคลเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้เหตุผลเท่านั้น” ผู้ที่ไม่มีความสามารถที่ใช้เหตุผลได้ก็ไม่ใช่บุคคล รวมถึงความรู้และเสรีภาพของบุคคลนั้น ๆ เช่น ทารกในครรภ์ ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ผู้ที่ไม่สามารถใช้เหตุผลได้ ผู้ที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ผู้ป่วยที่มีสภาพคล้ายผัก ผู้พิการทางจิต ดังนั้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงอยู่เหนือสถานการณ์ดังกล่าว และสมควรได้รับความเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

3.2 วัตถุประสงค์พื้นฐานเพื่อเสรีภาพของมนุษย์ (An Objective Basis for Human Freedom)

            แนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังถูกใช้ในทางที่ผิด เมื่อบางคนหรือบางลัทธิได้อธิบายว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ขึ้นอยู่กับอัตวิสัย เป็นเรื่องส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับการตีความของบุคคล ซึ่งควรได้รับการเคารพ ปกป้อง และใช้เสรีภาพที่จะกระทำตามใจของตนเองได้โดยไม่สนใจผู้อื่น แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่สามารถอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานเฉพาะบุคคลเท่านั้น และไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ทางร่างกายและจิตใจของผู้นั้น แต่มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หากศักดิ์ศรีของมนุษย์ถูกทำให้เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะกลายเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่จะกระทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการโดยอ้างว่าเป็นศักดิ์ศรีของเขา ซึ่งจะนำไปสู่การทำตามใจของตนเองในรูปแบบที่หลากหลายที่สุด

 

3.3 โครงสร้างความสัมพันธ์ของบุคคลมนุษย์ (The Relational Structure of the Human Person)

            ในมุมมองความสัมพันธ์ของบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงไม่สามารถมองว่าเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล โดยไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานเป้าหมายของความดี และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งสร้างอื่น ๆ ความคิดเช่นนี้นำไปสู่การกำหนดอัตลักษณ์และอนาคตของตนเองโดยเป็นอิสระจากผู้อื่น ไม่คำนึงถึงการเป็นสมาชิกในชุมชนมนุษย์ร่วมกัน ไม่ยอมรับหน้าที่และสิทธิร่วมกันต่อส่วนรวม ทำให้เรื่องการดูแลกันและกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังที่นักบุญพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ให้ความหมายของเสรีภาพว่า “คือการรับใช้ของบุคคลและของตัวของเขาเองทั้งครบ เพื่อเป็นของขวัญสำหรับตัวเองและเปิดกว้างไปสู่ผู้อื่น หากเสรีภาพมีไว้เพื่อการกระทำสำหรับตัวเองเท่านั้น มันก็จะทำให้ความหมายดั้งเดิมว่างเปล่า ความหมายของเสรีภาพและศักดิ์ศรีก็จะขัดแย้งกัน”

 

3.4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: ยังรวมถึงความสามารถ, มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์, หน้าที่ในการเผชิญหน้ากับผู้อื่น (Human dignity also encompasses the capacity, inherent in human nature, to assume obligation vis-à-vis others)

            ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งสร้างอื่น ๆ สิ่งสร้างต่าง ๆ ดำรงอยู่ตามคุณค่าในตัวของมันเองและเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นสติปัญญาและความดีงามอันไม่มีสิ้นสุดของพระเจ้า เป็นเสมือนของขวัญที่พระเจ้าได้ทรงมอบให้กับมนุษย์ เราจึงถูกเรียกให้เคารพสิ่งสร้างและกฎธรรมชาติของมันด้วย หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของอย่างไม่มีระเบียบ (LS 69 และ CCC 339)[9] การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยคำนึงถึงระบบนิเวศน์ที่รักษาการดำรงอยู่ของพวกเขาเองโดยเฉพาะ

 

3.5 การปลดปล่อยบุคคลมนุษย์จากอิทธิพลเชิงลบในด้านศีลธรรมและสังคม (Freeing the Human Person from Negative Influences in the Moral and Social Spheres)

            “พระเจ้าได้สร้างมนุษย์ให้มีเหตุผล โดยประทานศักดิ์ศรีของบุคคลที่สามารถริเริ่มและควบคุมการกระทำของเขาเอง (CCC 1730) เมื่อพูดถึงความดี เจตจำนงเสรีของเรามักจะเลือกความชั่วมากกว่าความดี ด้วยเหตุนี้ เสรีภาพของมนุษย์จึงต้องได้รับปลดปล่อยในที่สุด “เพื่ออิสรภาพ พระคริสตเจ้าได้ทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ” (กท 5:1) คริสตชนแต่ละคนจึงมีหน้าที่ในการปลดปล่อยซึ่งขยายไปถึงโลกทั้งโลก (ดู รม 8:19) นั่นคือการปลดปล่อยซึ่งเริ่มต้นจากหัวใจของแต่ละคน ถูกเรียกให้เผยแพร่และแสดงออกให้เห็นในทุกความสัมพันธ์

            เสรีภาพเป็นของขวัญจากพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าไม่เคยละเมิดเสรีภาพของเรา การเหินห่างจากพระเจ้าและความช่วยเหลือของพระองค์ อาจทำให้เราคิดว่าเรามีเสรีภาพมากขึ้น (จากการบังคับและกฎเกณฑ์ของพระองค์) และรู้สึกมีเกียรติมากขึ้น ตรงกันข้าม กลับทำให้อิสรภาพของเราอ่อนแอและถูกบดบัง ส่งผลให้การเคารพในเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้อื่นลดน้อยลงไปด้วย การใช้เสรีภาพอย่างเหมาะสมจึงควรคำนึงถึงระบบทางเศรษฐกิจ สังคม นิติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม[10]

            พระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสว่า “บางคนเกิดมาในครอบครัวที่มั่นคง ได้รับการศึกษาอย่างดี เติบโตและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี หรือมีพรสวรรค์อันยอดเยี่ยม พวกเขาอาจจะไม่ต้องการสภาวะเชิงรุก แต่เรียกร้องเพียงแค่อิสรภาพเท่านั้น ตรงกันข้ามกับคนพิการ ผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ขาดการศึกษา ห่างไกลจากการรักษาพยาบาล นอกจากนั้นแล้ว ยังถูกสังคมควบคุมโดยหลักเกณฑ์ของเสรีภาพและประสิทธิภาพทางการตลาด ก็ย่อมไม่มีที่ว่างสำหรับบุคคลดังกล่าว และภราดรภาพก็ยังเป็นอุดมคติต่อไป” FT 109) ทำให้เราเข้าใจว่า “การสร้างความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมศักดิ์ศรีและเสรีภาพของมนุษย์”[11] ดังนั้น เสรีภาพของมนุษย์ที่แท้จริงจึงต้องสมควรได้รับการปลดปล่อยออกมาจาการถูกบดบังจากความหลากหลายทางด้านจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคม การศึกษา และอิทธิพลทางวัฒนธรรม

 

4. การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงบางประการ (Some Grave Violations of Human Dignity)

            มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และพัฒนาอย่างบูรณาการ การกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในปัจจุบันได้แก่ การฆาตกรรม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  การทำแท้ง การการุณยฆาต และการฆ่าตัวตายโดยเจตนา รวมถึงการทำลายล้าง การทรมานทางร่างกายและจิตใจ ความกดดันทางจิตใจที่ไม่เหมาะสม (การกลั่นแกล้ง / Bully) และการปล่อยปะละเลยที่ทำให้เกิดสภาพความเป็นอยู่ต่ำกว่ามนุษย์ การจำคุกตามอำเภอใจ การเนรเทศ การเป็นทาส การค้าประเวณี การขายสตรีและเด็ก สภาพการทำงานที่เสื่อมโทรมซึ่งบุคคลถูกปฏิบัติเป็นเพียงเครื่องมือในการแสวงหากำไร การกล่าวโทษประหารชีวิต และผู้ถูกจองจำ

 

4.1 ดราม่าแห่งความยากจน (Drama of Poverty)

          ดราม่าแห่งความยากจนอันเกิดมาจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ร่ำรวยกับผู้ยากจน ประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน ในขณะที่ผู้ร่ำรวยใช้ชีวิตแบบสิ้นเปลืองและบริโภคนิยม แต่อีกฝ่ายหนึ่งกำลังถูกลดทอนศักดิ์ศรีทางสังคม (Social Dignity) จากความเมินเฉยของคนบางกลุ่ม

 

4.2 สงคราม (War)

            สงครามเป็นสิ่งที่ปฏิเสธศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน การโจมตีของผู้ก่อการร้าย การประหัตประหารทางเชื้อชาติหรือศาสนา

 

4.3 ความทุกข์ยากของผู้อพยพ (The Travail of Migrants)

            ผู้อพยพเป็นหนึ่งในเหยื่อกลุ่มแรก ๆ ของความยากจนในหลายรูปแบบ ไม่เพียงแต่ศักดิ์ศรีของพวกเขาถูกปฏิเสธในบ้านเกิดเมืองนอนของตน แต่ชีวิตของพวกเขายังตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะพวกเขาไม่มีหนทางที่จะเริ่มต้นครอบครัว ทำงาน หรือหาเลี้ยงตัวเองอีกต่อไป (FT 38) เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงประเทศที่ยอมรับพวกเขาแล้ว พวกเขากลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกลดทอนสิทธิ ขาดการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างสมบูรณ์​ และถูกลืมไปว่าพวกเขามีศักดิ์ศรีเหมือนกับคนอื่น

 

4.4 การค้ามนุษย์ (Human Trafficking)

            การค้ามนุษย์นับว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง การค้าอวัยวะและเนื้อเยื่อของมนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชายและเด็กหญิง แรงงานทาส การค้าประเวณี การค้ายาเสพติดและอาวุธ การก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมระหว่างประเทศ ผู้แสวงหาประโยชน์และลูกค้าทุกระดับควรตรวจสอบมโนธรรมอย่างจริงจังทั้งในบุคคลแรกและต่อหน้าพระเจ้า ในโลกที่มีการพูดถึงสิทธิมากมาย ดูเหมือนว่าสิ่งเดียวที่มีสิทธิก็คือเงิน การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มันปฏิเสธศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สองประการ คือ 1) ของเหยื่อโดยการถูกละเมิดเสรีภาพและศักดิ์ศรีของพวกเขา และ 2) ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำ

 

4.5 การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse)

            ผู้ถูกทารุณกรรมทางเพศต้องพบกับบาดแผลสาหัสในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทิ้งรอยแผลเป็นลึกไว้ในใจของผู้ที่ทนทุกข์ทรมาน

 

4.6 ความรุนแรงต่อผู้หญิง (Violence Against Women)

            แม้ว่าศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงอาจรับรู้ได้ด้วยคำพูด แต่ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในบางประเทศยังคงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ผู้หญิงต้องอดทนต่อสถานการณ์ของการกีดกัน การทารุณกรรม และความรุนแรง มีผู้หญิงที่ยากจนเป็นสองเท่าเนื่องจากพวกเธอปกป้องสิทธิของตนเองได้น้อยกว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อบรรลุถึงความเท่าเทียมกันที่แท้จริงในทุกด้าน เช่น ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน การคุ้มครองคุณแม่ที่ทำงาน ความเป็นธรรมในความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ความเท่าเทียมกันของคู่สมรสในเรื่องสิทธิของครอบครัว สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในรัฐ เด็กผู้หญิงที่อายุน้อยมากต้องยอมให้ร่างกายของพวกเธอถูกใช้เพื่อหากำไร การบีบบังคับให้ทำแท้งซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งแม่และเด็ก การมีภรรยาหลายคนนั้นตรงกันข้ามกับศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย

 

4.7 การทำแท้ง (Abortion)

            ศักดิ์ศรีของมนุษย์มีอยู่ภายในและมีผลตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์จนถึงความตายตามธรรมชาติ เด็กในครรภ์จึงเป็น “ผู้ที่ไม่มีการป้องกันและไร้เดียงสาที่สุดในหมู่พวกเขา”

 

4.8 การอุ้มบุญ (Surrogacy)

            พระศาสนจักรยืนหยัดต่อต้านการตั้งครรภ์แทน ซึ่งทำให้เด็กที่มีค่าควรอย่างยิ่งกลายเป็นเพียงเป้าหมาย กลายเป็นวัตถุของการค้ามนุษย์และสัญญาทางการค้า การอุ้มบุญถือเป็นการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีของเด็ก เด็กมีสิทธิที่จะมีต้นกำเนิดที่เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ไม่ถูกชักจูงโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกทั้งมิติของศักดิ์ศรีของการอยู่ร่วมกันในการสมรสและการให้กำเนิดมนุษย์ นอกจากนี้ การอุ้มบุญยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของผู้หญิง ไม่ว่าเธอจะถูกบังคับหรือเลือกที่จะยอมทำอย่างอิสระก็ตาม เพราะในการกระทำนี้ ผู้หญิงจะถูกแยกตัวออกจากเด็กที่เติบโตในตัวเธอ และกลายเป็นเพียงช่องทางที่ยอมจำนนต่อผลประโยชน์หรือความปรารถนาตามอำเภอใจของผู้อื่น สิทธิของแต่ละคนต้องได้รับการยอมรับเป็นรายบุคคลเสมอ และไม่เคยเป็นเครื่องมือสำหรับผู้อื่น

 

4.9 การการุณยฆาตและการช่วยฆ่าตัวตาย (Euthanasia and Assisted Suicide)

            ปัจจุบันมีความสับสนเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น กฎหมายที่อนุญาตให้การการุณยฆาตหรือการช่วยฆ่าตัวตายบางครั้งเรียกว่า “การกระทำอย่างมีศักดิ์ศรี” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะความทุกข์ทรมานไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียศักดิ์ศรีซึ่งเป็นของตนเองโดยภายในและไม่อาจแยกออกมาได้ ในทางกลับกัน ความทุกข์ทรมานสามารถกลายเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความผูกพันของการเป็นเจ้าของร่วมกัน และสร้างความตระหนักรู้มากขึ้นถึงคุณค่าอันล้ำค่าของแต่ละคนต่อครอบครัวมนุษยชาติทั้งหมด

            ศักดิ์ศรีของผู้ที่ป่วยหนักหรือป่วยหนักระยะสุดท้าย เรียกร้องให้มีความพยายามที่เหมาะสมและจำเป็นทั้งหมด เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของพวกเขา ผ่านการดูแลแบบประคับประคองที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรักษาที่ก้าวร้าวหรือขั้นตอนทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยต้องการการดูแล การบรรเทาความเจ็บปวด ความต้องการด้านอารมณ์และจิตวิญญาณ การตัดสินใจที่จะจบชีวิตของตนเองหรือของบุคคลอื่นที่ต้องทนทุกข์ทรมาน แม้จะอยู่ในสภาพเศร้าโศก ชีวิตมนุษย์ยังคงมีศักดิ์ศรีที่ต้องรักษาไว้เสมอ ไม่มีวันสูญหาย และเรียกร้องให้เคารพอย่างไม่มีเงื่อนไข แท้จริงแล้ว ไม่มีสถานการณ์ใดที่ชีวิตมนุษย์จะยุติจากการมีศักดิ์ศรีและเป็นผลให้ต้องถึงจุดจบ “ชีวิตแต่ละชีวิตมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่ากันสำหรับทุกคน การเคารพชีวิตของผู้อื่นก็เหมือนกันเป็นการเคารพต่อชีวิตของตนเอง”

            ดังนั้น การช่วยผู้ฆ่าตัวตายให้ปลิดชีวิตตนเองจึงเป็นความผิดต่อศักดิ์ศรีของบุคคลที่ขอมัน แม้ว่าใครจะทำตามความปรารถนาของบุคคลนั้นก็ตาม “เราต้องติดตามผู้คนไปสู่ความตาย แต่ต้องไม่กระตุ้นให้เกิดความตาย หรืออำนวยความสะดวกในการฆ่าตัวตายทุกรูปแบบ โปรดจำไว้ว่าสิทธิในการดูแลและการรักษาสำหรับทุกคนจะต้องถูกจัดวางไว้เป็นอันดับแรกเสมอ เพื่อที่ผู้ที่อ่อนแอที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยจะไม่ถูกปฏิเสธ ชีวิตคือสิทธิ ไม่ใช่ความตาย ซึ่งต้องได้รับการต้อนรับไม่ใช่การจัดการ และหลักจริยธรรมนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ใช่ผู้ที่เป็นคริสตชนเท่านั้น” (เป็นหลักสากล) ศักดิ์ศรีของแต่ละคน ไม่ว่าอ่อนแอหรือแบกรับภาระจากความทุกข์ยากเพียงใดก็บ่งบอกถึงศักดิ์ศรีของเราทุกคน

 

4.10 ความเหลื่อมล้ำของคนพิการ (The Marginalization of People with Disabilities)

            การให้ความสนใจต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนคือการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสมากที่สุด อิทธิพลของ “วัฒนธรรมแบบทิ้งขว้าง” ทำให้เรามองผู้พิการว่ามีศักดิ์ศรีน้อยกว่า กลายเป็นบุคคลชายขอบของสังคม ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกปฏิเสธ เราจึงควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการได้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับผู้อื่น

 

4.11 ทฤษฎีเพศสภาพ (Gender Theory)

 

            พระศาสนจักรขอยืนยันว่าทุกคน โดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศ ได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีของแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม หลีกเลี่ยงอย่างระมัดระวังในความก้าวร้าวและความรุนแรงทุกรูปแบบ (AL 250 และ CCC 2358)[12]

 

4.12 การเปลี่ยนแปลงเพศ (Sex Change)

                ศักดิ์ศรีของร่างกายไม่อาจถือว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของบุคคล ร่างกายของมนุษย์มีศักดิ์ศรีของภาพลักษณ์ของพระเจ้า (CCC 364) ชีวิตเป็นบุคคลที่ประกอบขึ้นด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ ร่างกายถูกสร้างขึ้นมาเป็นเพศชายและเพศหญิง เพื่อทำตามหน้าที่ตามระบบระเบียบของธรรมชาติ เราต้องยอมรับและเคารพในร่างกายของเราตามที่ได้ถูกสร้างมา การแทรกแซงหรือการเปลี่ยนแปลงทางเพศใด ๆ ก็ตาม ย่อมมีความเสี่ยงและคุกคามศักดิ์ศรีอันเป็นเอกลักษณ์ที่บุคคลนั้นได้รับตั้งแต่การปฏิสนธิ ซึ่งไม่รวมถึงผู้ที่มีความผิดปกติของอวัยวะเพศซึ่งปรากฏชัดตั้งแต่แรกเกิดหรือเกิดขึ้นในภายหลัง อาจเลือกที่จะรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อแก้ไขความผิดปกติเหล่านี้ ในกระบวนการภายหลังนี้ทางการแพทย์ไม่ถือเป็นการแปลงเพศตามความหมายที่ตั้งใจกล่าวถึงในที่นี้

 

4.13 ความรุนแรงทางดิจิทัล (Digital Violence)

            ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้มีมากขึ้น ตรงกันข้าม อาจทำลายหรือลดทอนศักดิ์ศรีนั้นลง อาศัยการแสวงหาประโยชน์ การกีดกัน และความรุนแรง เช่น ข้อมูลที่เป็นเท็จที่ใส่ร้ายบุคคลอื่น พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงกล่าวว่า “มันไม่ดีต่อสุขภาพเลยที่จะสับสนระหว่างการสื่อสารแบบเสมือนจริงในโลกดิจิทัล แท้จริงแล้วสภาพแวดล้อมดิจิทัลเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงความเหงา ความโดดเดี่ยว การบงการ การแสวงหาผลประโยชน์ และความรุนแรง ในกรณีของเว็บมืด สื่อดิจิทัลอาจทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อการเสพติด การแยกตัว การสูญเสียการติดต่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเป็นจริงที่เป็นรูปธรรม ขัดขวางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่แท้จริง การกลั่นแกล้งทางดิจิทัล การเผยแพร่สื่อลามก และการพนัน”

            การสื่อสารแบบดิจิทัลต้องการนำทุกสิ่งออกมาสู่ที่สาธารณะ ชีวิตของผู้คนถูกรวบรวบ เปิดโปง และถูกผูกมัด บ่อยครั้งไม่ระบุตัวตน สูญเสียการเคารพผู้อื่น และแม้ว่าเราจะปฏิเสธ ไม่รับรู้ หรือเหินห่างจากผู้อื่น เราก็สามารถมองดูทุกรายละเอียดในชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร้ยางอาย แนวโน้มดังกล่าวแสดงถึงด้านมืดของความก้าวหน้าทางดิจิทัล (FT 42) เราจึงควรใช้โลกดิจิทัลเพื่อรับใช้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ สันติภาพ สร้างความดีเพื่อส่วนรวม ความใกล้ชิด ส่งเสริมครอบครัวมนุษยชาติ และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

เผยแพร่วันที่ 2 เมษายน 2024

โอกาสครบรอบ 19 ปี มรณกรรมของนักบุญพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2

โดย พระคาร์ดินัลวิคเตอร์ มานูเอล เฟอร์นันเดซ

(Card. Víctor Manuel Fernández) สมณมนตรีแห่งสมณสภาเพื่อข้อความเชื่อ

ภายใต้การอนุญาตของพระสันตะปาปาฟรังซิสเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2024

 

https://press.vatican.va/content/salastampa/en/bollettino/pubblico/2024/04/08/240408c.html



[1] การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 2 ของบิชอปละตินอเมริกาและแคริบเบียนในเมืองปวยบลา (Plubla) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 1979

[2] สมณลิขิตของพระสันตะปาปาฟรังซิสเกี่ยวกับภราดรภาพและความสัมพันธ์ในสังคมชื่อ “เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน” (Fratelli tutti) ออกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2020, ข้อ 8

[3] Ibid, no. 277

[4] Ibid, no. 213

[5] Thomas Aquinas, Summa Theologiae, I, q. 29, a. 3, resp.: «persona significat id, quod est perfectissimum in tota natura, scilicet subsistens in rationali natura».

[6] Cf. Giovanni Pico della Mirandola and his well-known text, Orartio de Hominis Dignitate (1486).

[7] Second Vatican Ecumenical Council, Declaration Dignitatis Humanae (7 December 1965), no. 1: AAS 58 (1966), 929.

[8] Second Vatican Ecumenical Council, Pastoral Constitution Gaudium et Spes (7 December 1965), no. 19: AAS 58 (1966), 1038.

[9] พระสมณสาส์น "ขอสรรเสริญองค์พระเจ้า" (Laudato Sì) ของพระสันตะปาปาฟรังซิสเรื่องความใส่ใจต่อบ้านส่วนรวม ออกเผยแพร่เมื่อ 24 พฤษภาคม 2015, ข้อ 69

[10] Pontifical Council for Justice and Peace, Compendium of the Social Doctrine of the Church, no. 137.

[11] Ibid

[12] สมณลิขิตเตือนใจหลังสมัชชาบิชอปสากลเกี่ยวกับความรักในครอบครัวชื่อ “ความปีติยินดีแห่งความรัก” (Amoris Laetitia) โดยพระสันตะปาปาฟรังซิส เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2016 ข้อ 250

สถิติการเยี่ยมชม

10486174
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
607
3833
7150
10448190
7150
124638
10486174
Your IP: 18.117.71.213
Server Time: 2024-12-03 00:55:49

แบบฟอร์ม

instagram

พระศาสนจักร


สื่อ YOUTUBE


Laudato si’

บทเรียนคำสอน





บทภาวนา

พิธีกรรมต่างๆ

เอกสารพระศาสนจักร

บทความคำสอน



KAMSONCHAN

 

   องค์กรคาทอลิก              คณะนักบวช  
 

สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
แผนกคริสตศาสนธรรม
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ศูนย์คริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
สังฆมณฑลจันทบุรี
คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา
คามิลเลียนโซเชียลเซนเตอร์ ระยอง

  สังฆมณฑลนครราชสีมา                       
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลนครราชสีมา
สังฆมณฑลอุบลราชธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุบลราชธานี   
สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
สังฆมณฑลนครสวรรค์
สังฆมณฑลเชียงใหม่
  สังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี
สังฆมณฑลอุดรธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุดรธานี

สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย (อุดมสาร)
  ชมรมอธิการิณีเจ้าคณะนักบวชแห่งประเทศไทย
คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ต
คณะภคินีศรีชุมพาบาล       
คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
คณะเซนต์คาเบรียล
คณะซาเลเซียน
คณะซาเลเซียน (ซิสเตอร์)
กางเขนแดงสาร

 



JSN Megazine template designed by JoomlaShine.com