ประวัตินักบุญฟิลิปอัครสาวก
นักบุญฟิลิปอัครสาวก เกิดที่หมู่บ้านเบธไซดา แคว้นกาลิลี สามารถพูดภาษากรีกได้ (ยน 12:20) ชื่อของท่านในภาษากรีกแปลว่า “ผู้รักม้า” ท่านเคยเป็นศิษย์ของนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างมาก่อน ท่านเป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คน ที่ถูกกล่าวถึงในพระวรสารสหทรรศน์ (มธ 3:1-4; มก 3:13-19; ลก 6:12-16) ชื่อของท่านถูกเขียนติดกับนักบุญบาร์โธโลมิวทุกครั้ง ทั้งสองอาจจะเป็นเพื่อนสนิทหรือรู้จักกันมาก่อน นักบุญฟิลิปเป็นผู้ที่แนะนำให้นักบุญบาร์โธโลมิว (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ นาธานาเอล) ให้มารู้จักพระเยซูเจ้า (ยน 1:45)
นักบุญฟิลิปในพระวรสาร
ในพระวรสารของนักบุญยอห์น เราได้พบการเรียกของนักบุญฟิลิปโดยตรงจากพระเยซูเจ้า ซึ่งเกิดขึ้น 1 วันหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์ 4 คนแรก คือ นักบุญเปโตร (ซีโมน) และนักบุญอันดรูว์ (พี่น้องกัน) กับนักบุญยากอบและนักบุญยอห์น (พี่น้องกัน)
ตามธรรมประเพณีที่ถูกเขียนโดยนักบุญเคลเมนท์แห่งอเล็กซานเดรีย ประมาณ ปี 200 ศิษย์ที่ทูลขอพระเยซูเจ้ากลับไปฝังศพบิดาที่ปรากฏอยู่ในพระวรสารของนักบุญมัทธิวคือนักบุญฟิลิปอัครสาวก แต่พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงตามเรามา และปล่อยให้คนตายฝังคนตายของตนเถิด” (มธ 8:21-22)
ในอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทวีขนมเลี้ยงคนเป็นครั้งที่ 1 จำนวน 5,000 คน พระเยซูเจ้าทรงตรัสลองใจนักบุญฟิลิปว่า “พวกเราจะซื้อขนมปังที่ไหนให้คนเหล่านี้กิน” นักบุญฟิลิปตอบว่า “ขนมปังสองร้อยเหรียญแจกให้คนละนิดก็ไม่พอ” นักบุญอันดรูว์จึงแก้ปัญหาด้วยการเสนอขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนกับปลาสองตัวจากเด็กคนหนึ่งเอาไปแจกจ่ายให้กับประชาชน (ดู มธ 14:13-21; มก 6:30-44; ลก 9:10-17; ยน 6:1-15)
นักบุญฟิลิปและนักบุญอันดรูว์เป็นผู้นำชาวกรีกให้มาเห็นพระเยซูเจ้าในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (ยน 12:20-22) และในระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ฟิลิปได้ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ผู้ที่เห็นเราก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 12:8-9) ซึ่งข้อความจากพระวรสารตอนนี้ได้ถูกนำมาให้ใช้ในวันฉลองของท่านตั้งแต่ปี 650 รวมถึงบทรับสั้นในพิธีกรรมทำวัตร บทสร้อยก่อนพระวรสาร และบทภาวนาหลังรับศีลมหาสนิทของประธาน
สังฆานุกรฟิลิป
ในหนังสือกิจการอัครสาวก นักบุญฟิลิปเป็นหนึ่งในบรรดาอัครสาวกที่ร่วมชุมนุมอยู่ในห้องชั้นบนเพื่ออธิษฐานภาวนาพร้อมกับพระนางมารีย์และศิษย์คนอื่น ๆ (ดู กจ 1:13-14) และในการเลือกสังฆานุกร 7 คน เพื่อช่วยในการแจกทาน มีสังฆานุกรคนหนึ่งชื่อฟิลิปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นคนละคนกับนักบุญฟิลิปอัครสาวก (ดู กจ 6:5) ฟิลิปที่เป็นสังฆานุกรนี้มีบ้านอยู่ที่เมืองเซซารียา ซึ่งนักบุญเปาโลเคยไปที่บ้านของท่าน ฟิลิปที่เป็นสังฆานุกรนี้แต่งงานและมีบุตรหญิง 4 คน ทั้งสี่คนยังไม่ได้แต่งงานและมีพระพรในการทำนาย (ดู กจ 21:8-9) และเป็นคนที่ล้างบาปให้กับขันทีชาวเอธิโอเปียที่เดินทางมานมัสการพระเจ้าในกรุงเยรูซาเล็ม (ดู กจ 8:26-40)
การแพร่ธรรมและมรณกรรม
นักบุญฟิลิปเดินทางไปประกาศพระวรสาร ณ ดินแดนไซเธีย (Phrygia) เขตยูเรเซียโบราณ บริเวณตอนกลางและทิศตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ ตอนใต้ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ตามประเพณีหนึ่งกล่าวว่าท่านเสียชีวิตตามธรรมชาติ แต่อีกประเพณีหนึ่งกล่าวว่าท่านถูกตรึงกางเขนที่เมืองเฮียราโพลิส (Hierapolis) เขตฟรีเจีย (Phrygia) ปัจจุบันคือเมืองปามุคคาเล (Pammukale) จังหวัดเดนิซลี (Denizli) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศตุรกีในปี 80 ศพของนักบุญฟิลิปถูกฝังไว้ที่เมืองเฮียราโพลิสและกลายเป็นพระวิหารในเวลาต่อมา
พระธาตุและวันฉลอง
ประมาณปี 560 พระธาตุนักบุญฟิลิปถูกย้ายไปยังกรุงคอนแสตนติโนเปิล และเดินทางถึงกรุงโรมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 561 พร้อมกับพระธาตุของนักบุญยากอบองค์เล็ก (เป็นมรณสักขีที่กรุงเยรูซาเล็ม) และถูกประดิษฐานไว้ในวัดอัครสาวกศักดิ์สิทธิ์ (Basilica Santi Apostoli) โดยกำหนดวันฉลองพร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม
ในปี 570 พระสันตะปาปายอห์นที่ 3 ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ ต่อมาเมื่อผู้น่าเคารพพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1955 เป็นวันระลึกถึงนักบุญยอแซฟกรรมกรเพื่อให้สอดคล้องกับวันแรงงานสากล วันฉลองของนักบุญฟิลิปและยากอบจึงถูกเลื่อนมาเป็นวันที่ 3 พฤษภาคมจากนั้นเป็นต้นมา
สัญลักษณ์และองค์อุปถัมภ์
สัญลักษณ์ของนักบุญฟิลิปคือ ขนมปัง 5 ก้อนกับปลา 2 ตัว ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของช่างทำหมวก คนทำขนมปัง และคนครัว
++++++++++0++++++++++