วางอาวุธที่จะทำร้ายพี่น้องของเราลง (Disarm the hand of brother raised against brother)
เมื่อตอนเย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) ที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2022 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเสด็จไปยังสนามกีฬาโคโลเซียม (Colosseum) กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อทรงเป็นประธานในการภาวนามรรคาศักดิ์สิทธิ์ (the Way of the Cross) ร่วมกับบรรดาคริสตชนประมาณ 10,000 คน
โดยมีตัวแทนครอบครัวคริสตชน 14 ครอบครัว เป็นผู้ถือไม้กางเขนในแต่ละจุด เพื่อเป็นเครื่องหมายถึง กางเขนที่ครอบครัวคริสตชนต้องแบกในยุคปัจจุบัน และเพื่อเป็นการเตรียม #งานชุมชุมครอบครัวสากลครั้งที่10 ที่จะจัดให้มีขึ้น ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน ค.ศ. 2022 นี้
พิธีภาวนามรรคาศักดิ์สิทธิ์ที่สนามกีฬาโคโลเซียมแห่งนี้มีมานานหลายร้อยปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรดาคริสตชนสมัยแรกเริ่มที่ถูกฆ่าตาย ณ สนามกีฬาแห่งนี้ โดยนักบุญพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่รื้อฟื้นการภาวนามรรคาศักดิ์สิทธิ์ ณ สนามที่แห่งนี้อีกครั้งอย่างเป็นทางการในสมัยของพระองค์เมื่อปี ค.ศ. 1964 และระหว่างการแพร่ระบาดได้มีการหยุดไป 3 ปี (2019-2021)
ตัวแทนครอบครัวจากฝ่ายตรงข้ามที่กำลังทำสงครามกัน (Two families on opposite sides of a war)
บทภาวนาและบทรำพึงมรรคาศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 14 บท ได้ถูกเขียนขึ้นจากตัวแทน 14 ครอบครัวคาทอลิก ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในความทุกข์ยากของครอบครัวทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาอยู่
จุดเน้นของการรำถึงมรรคาศักดิ์สิทธิ์ในปีนี้อยู่ที่สถานที่ 13 (พระเยซูเจ้าถูกเชิญพระศพลงจากไม้กางเขน) โดยผู้ที่แบกไม้กางเขนเป็นสตรี 2 คน คนหนึ่งชื่อ อัลบีนา เฮลส์ (Albina Hails) จากประเทศรัสเซีย และ ไอรีนา (Irina) จากประเทศยูเครน ทั้งสองคนเป็นนางพยาบาลในกรุงโรมและเป็นเพื่อนกัน โดยระหว่างการเตรียมตัวเพื่อภาวนามรรคาศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสองคนไม่ได้พูดอะไรกันเลย (Instead of the prepared meditation, silence spoke louder than any words.)
เมื่อทั้งสองคนถือไม้กางเขนด้วยกัน สายตาทุกคู่ที่อยู่ในสนามกีฬาโคโลเซียมจับจ้องมาที่เธอทั้งสอง เพื่อต้องการสื่อให้เห็นถึงความเจ็บปวดของบรรดาพี่น้อง เพื่อน ญาติสนิท ที่จะต้องทำสงครามร่วมกัน และเรียกร้องสันติภาพและการคืนดีระหว่างกัน ความเงียบได้บังเกิดทั่วสนามกีฬาโคโลเซียมชั่วขณะหนึ่ง และจากนั้นผู้คนทั้งหมดได้ภาวนาร่วมกันเพื่อวิงวอนขอสันติภาพจากพระเจ้า
แสงสว่างของพระวรสารท่ามกลางความมืดมิดแห่งความทุกข์ทรมาน (Light of Gospel amid darkness of suffering)
พระสันตะปาปาฟรังซิสไม่ได้ทรงกล่าวให้ข้อคิดหรือเทศน์สอนใด ๆ ระหว่างพิธีภาวนามรรคาศักดิ์สิทธิ์ แต่ให้แต่ละครอบครัวได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเขาแทน
สุดท้าย พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงนำอธิษฐานภาวนาว่า ขอให้แสงสว่างแห่งพระวรสารยังคงถูกจุดอยู่ในหัวใจของทุก ๆ ครอบครัว ในท่ามกลางความชื่นชมยินดีและความทุกข์ทรมาน ความยากลำบากและความหวัง และวิงวอนขอการอภัยและสันติสุข อยู่เหนือหัวใจที่ดื้อรั้นของบุคคลที่พยายามทำให้เราห่างเหินจากพระเจ้าว่า
ข้าแต่พระเจ้า โปรดเปลี่ยนแปลงดวงใจที่แข็งกระด้างสู่พระหทัยของพระองค์ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และดำเนินการเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น โปรดสร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาผู้ที่ขัดแย้งกันได้จับมือกัน และสัมผัสได้ถึงการให้อภัยแก่กันและกัน ปลดอาวุธของบรรดาพี่น้องที่กำลังประหัตถ์ประหารกัน ที่ใดที่มีความเกลียดชังขอให้มีความสามัคคี ขอให้เราอย่าได้เป็นศัตรูกับไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าเลย เพื่อที่เราจะได้มีส่วนร่วมในการกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ของพระองค์ อาแมน ...