ความปรารถนาคือเข็มทิศที่จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกหนทางในชีวิตของเรา (Desire is the compass to discern our direction)
เมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2022 พระสันตะปาปาทรงพบปะกับบรรดาผู้แสวงบุญ ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน ทรงสอนคำสอนโดยการนำไตร่ตรองถึง “การแยกแยะ” (Discernment) และความจำเป็นของการมี “ความปรารถนา” (Desire)
“การแยกแยะเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสวงหา และการแสวงหานี้คือบางสิ่งที่เราขาดหายไป (เราจึงต้องแสวงหา) แต่เราจะรู้ได้อย่างไร?”
ความปรารถนา (Desire)
อาจารย์ทางด้านชีวิตจิตได้กล่าวถึงความปรารถนานี้ว่า เป็นการคิดถึงความสมบูรณ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด (a nostalgia for fullness that never finds full fulfilment) และเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าในตัวของเรา
คำว่า “ปรารถนา” (Desire) มาจากคำศัพท์ภาษาลาติน 2 คำ คือ de-sidus แปลว่า “การขาดของดวงดาว” (the lack of the star) หมายถึง การขาดดวงดาวที่นำทางชีวิตของเรานั่นเอง (ทำให้คิดถึงโหราจารย์ที่ติดตามดวงดาวจนกระทั่งมาพบพระเยซูเจ้า, มธ2)
การขาดนี้ทำให้เกิดความทุกข์ ความขาดแคลน และในขณะเดียวกันก็เกิดความตึงเครียดในการเข้าถึงความดีที่ขาดหายไป ด้วยเหตุนี้ ความปรารถนา จึงเป็น “เข็มทิศที่จะเข้าใจว่าฉันอยู่ที่ไหนและกำลังจะไปที่ไหน”
ความปรารถนา (Desire) จึงเป็นสิ่งที่อยู่กับเรายาวนานกว่าความต้องการ (Want) ความปรารถนาอย่างแท้จริง ทำให้เรารู้ถึงเป้าหมายที่จริงที่เราต้องการจะไปถึง ความรู้นี้ ทำให้เราไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่
เช่น เมื่อเรากระหายน้ำ หากเราไม่พบอะไรที่จะดื่ม เราจะไม่ยอมแพ้ ความกระหายน้ำของเราจะครอบงำความคิดและการกระทำของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราเต็มใจที่จะเสียสละหรืออดทน เพื่อดับความกระหายของเรา
ความปรารถจะคงอยู่ตลอดไป (Desires last through time)
ความปรารถนาไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ แม้เป็นเวลานาน จะมีแนวโน้มที่จะแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
เช่น เมื่อเด็กคนหนึ่งอยากจะเป็นแพทย์ เขาจะเริ่มต้นเรียนและทำงานหลายปีเพื่อชีวิตของเขา การเลือกนี้ทำให้เขาทุ่มเทและตั้งใจ ไม่ไปเรียนสาขาวิชาอื่น ๆ หลีกเลี่ยงการเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องเรียนอย่างหนัก
ความปรารถนานี้ทำให้ชีวิตของเขามีทิศทางและเป้าหมาย มีพลังสำหรับการต่อสู้ปัญหาและอุปสรรค และที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดคุณค่าที่งดงาม เกิดแรงดึงดูที่จะก้าวเดินไปถึงเป้าหมายได้อย่างง่ายขึ้น ดังนั้น “ความปรารถนาที่จะการเป็นคนดีจึงสำคัญกว่าการทำความดี” (more important than being good is having the desire to become good)
ความปรารถนาและอัศจรรย์ (Desires and miracles)
แม้พระเยซูเจ้าเอง ก่อนที่พระองค์จะทรงทำอัศจรรย์ พระองค์จะถามผู้นั้นก่อนว่า “ #ท่านมีความปรารถนาหรือไม่? (Do you want to be well?) (Jn 5:6)
คำถามนี้เองเป็นหนทางที่จะนำพลังอำนาจของพระองค์เข้าไปสู่จิตใจของผู้นั้น เป็นการเลิกคิดถึงตนเองชั่วขณะหนึ่ง และคิดถึงพระเยซูเจ้าแทน และแสดงออกถึงการยอมรับในพลังอำนาจของพระองค์ในการเยียวยารักษาหรือช่วยให้รอด ซึ่งการสวดภาวนาจะช่วยทำให้เราทราบความต้องการของเราจริง ๆ ว่าเราต้องการอะไรจากพระองค์
ความปรารถนาจะแยกแยะความต้องการในระยะสั้น ออกจากความปรารถนาในระยะยาวของเรา (Desire separates lasting projects from wishful thinking)
ความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ปัญหาอุปสรรคนับพัน จะเป็นหนทางที่จะพาเราไปสู่ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่เราใฝ่ฝันถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของเรา ที่เน้นเสรีภาพในการเลือกอย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็บีบบังคับให้เรามีความปรารถนาเพียงแค่ระยะสั้น ๆ ต้องเลือกทำอะไรหลายอย่างในขณะนั้น ๆ อย่างรวดเร็วและทันที ซึ่งอาจทำให้เราเบี่ยงเบนหรือเสียสมาธิไปจากเป้าหมายระยะยาวในชีวิตของเรา
หลายคนจึงมีความทุกข์ เพราะพวกเขาไม่รู้จริง ๆ ว่าเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคืออะไร? ไม่รู้ว่าความปรารถนาลึก ๆ ในชีวิตคืออะไร? พวกเขาอาจสูญเสียความเป็นอยู่ของตนเองระหว่างความพยายามและความเหมาะสมในรูปแบบต่าง ๆ ชีวิตไม่ก้าวไปข้างหน้า เสียโอกาสอันมีค่าไป มีความรู้แต่เพียงแค่ทฤษฎีเท่านั้น แต่ไม่เคยที่จะถูกนำออกมาใช้เลย
ความปรารถนาที่จะรู้ความปรารถนาของพระเจ้า (The desire to know God’s desire)
เราจะตอบพระเป็นเจ้าอย่างไร? หากพระองค์ทรงตรัสถามเราว่า “คุณต้องการให้เราทำอะไรเพื่อคุณ?” เราควรจะตอบพระองค์ว่า
“โปรดช่วยให้ข้าพเจ้ารู้ความปรารถนาลึก ๆ ของพระองค์ ที่พระองค์ทรงวางไว้ในจิตใจของข้าพเจ้าด้วยเถิดพระเจ้าข้า! และโปรดให้ข้าพเจ้ามีความเข้มแข็งที่จะพยายามทำสิ่งนั้นให้เป็นจริง”
และนี่คือท่อธารแห่งพระหรรษทานอันยิ่งใหญ่ที่จะหลั่งไหลมาสู่เรา คือ การยอมให้พระเจ้าเข้ามาสู่ในชีวิตของเรา ดังเช่นในพระวรสาร อัศจรรย์มากมายเกิดขึ้นหลังจากคำถามนี้
เพราะพระเจ้ามีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่สำหรับเรา นั่นก็คือ “เพื่อให้เราได้มีส่วนร่วมในความสมบูรณ์ของพระองค์ในชีวิตของเรา” ...