สำนักข่าววาติกันชื่นชมซิสเตอร์คนไทยที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์ พลังแห่งความรักช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น (The power of love makes us strong)
ซิสเตอร์กราเซีย พัทธยาพร สังขรัตน์ คณะภคินีผู้รับใช้คนป่วยแห่งนักบุญคามิลโล (ซิสเตอร์คามิลเลียน) ได้แบ่งปันให้กับสำนักข่าววาติกันถึงประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ โดยเฉพาะภารกิจของซิสเตอร์กับคริสตชนกลุ่มชาติพันธุ์บนภูเขา
ปัจจุบันได้มีผู้อพยพลี้ภัยชาวเมียนมาร์จำนวนมากกว่า 90,000 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ด้วยกันในบริเวณพื้นที่ของจังหวัดตาก คือ บ้านแม่ลา, บ้านอุ้มเปี้ยม, และ บ้านนุโป โดยได้รับความช่วยเหลือจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) และรัฐบาลไทย
ในค่ายผู้ลี้ภัยี่ซิสเตอร์พัทธยาพรเป็นผู้ดูแล มีเด็ก ๆ จำนวนมาก, คนหนุ่มสาว, ผู้สูงอายุ, และผู้เจ็บป่วย ซิสเตอร์ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานโคเออร์ (Catholic Office for Emergency Relief and Refugees หรือ COERR), องค์การนอกภาครัฐ (Non-Governmental Organization หรือ NGO) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานคาริตัสประเทศไทย (Caritas Thailand), และหน่วยงานคาทอลิกอื่น ๆ ซึ่งให้บริการทุกคนทั้งที่เป็นคริสตชนและไม่ได้เป็นคริสตชนก็ตาม
ซ.พัทธยาพร เล่าให้ฟังว่า “การทำงานในพื้นที่ภูเขาเหล่านี้ค่อนข้างท้าทาย “ฉันรู้สึกตัวเล็กมาก” แต่ฉันรู้สึกมีความสุขมาก ที่พระเจ้าอนุญาตให้ฉันร่วมเดินทางไปกับบุคคลเหล่านี้ ฉันรักพวกเขาและพวกเขาก็รู้สึกถึงความรักของพระเจ้าผ่านการรับใช้ที่เรามอบให้”
“การทำงานร่วมกันและการสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญมาก เรากำลังพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ในนามของเรา แต่ในนามของพระเยซูเจ้า โดยยื่นมือออกไปหาทุกคนในฐานะพี่น้องสากล นี่คือสิ่งที่ทำให้เราแข็งแกร่ง เป็นพลังแห่งความรัก ฉันรู้สึกว่ายิ่งเราให้ เรายิ่งได้รับ เพราะพระเจ้าคือวิถีทางของเรา ทรงเป็นแรงจูงใจ ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เรากำลังทำ”
“ฉันค้นพบว่า ในทุก ๆ วันฉันเป็นเพียงแค่เครื่องมือเล็ก ๆ ของพระเจ้า สำหรับทุกคนที่ฉันพบ เราสามารถรับฟังและแบ่งปันให้กับพวกเขา เราสามารถช่วยหาวิธีปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้หลายวิธี ฉันรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ร่วมกันได้ แม้ว่าจำนวนคริสตชนคาทอลิกในประเทศไทยจะมีจำนวนน้อย แต่เรารู้สึกว่าพระเจ้าทรงเสริมกำลังให้กับเรา พระศาสนจักรทำให้เราเข้มแข็งด้วยการทำงานที่เป็นเครือข่ายร่วมกัน”
“การเป็นซิสเตอร์หรือนักบวชหญิงไม่ใช่เรื่องยาก นั่นหมายถึงการตอบรับความรักของพระเจ้า และพระเจ้าจะทำทุกอย่าง ฉันแค่ต้องเปิดใจและตอบรับต่อการเรียกของพระองค์ ไม่ว่าพระองค์จะส่งฉันไปที่ไหนก็ตาม นี่คือพระคุณของพระเจ้า มากไปกว่านั้น ชีวิตของฉันได้รับการเติมเต็มด้วยการตอบรับการเรียกของพระองค์”
“การรักและรับใช้คนป่วย คือดาวนำทาง ผ่านทางบุญราศีมารีอา โดเมนิกา บรุน บาร์บันตินี ผู้ก่อตั้งคณะ และนักบุญคามิลโล จากประสบการณ์ที่ฉันค้นพบเองว่า คนเราเจ็บป่วยได้หลายมิติ ไม่ใช่แค่ทางร่างกายเท่านั้น การเป็นผู้รับใช้คนป่วยเพื่อรักษาบาดแผลของพวกเขา หมายความว่า ฉันควรเอาใจใส่ต่อการทรงเรียกของพระเจ้าในหลาย ๆ ด้าน”
“ตอนนี้เราอยู่ที่ประเทศไทยไทย อยู่ชายแดนพม่า เราได้ยินเสียงระเบิด ทุกครั้งที่ฉันได้ยินพวกเขา ฉันแค่อธิษฐาน และเราจัดระเบียบตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า พระเจ้าได้ส่งความรักไปสู่พวกเขา ฉันยอมรับว่า การที่พระเจ้าได้ทรงเรียกฉันให้มาอยู่ที่นี่ ทำให้ฉันมีความมั่นใจในการทำงาน และไวต่อความต้องการของพวกเขามากยิ่งขึ้น”
“สมัยที่ฉันอยู่ที่ประเทศอิตาลี เมื่อได้ยินข่าวสงครามกลางเมืองในเมียนมาร์ ใจฉันร้องไห้ เพราะจากประสบการณ์การทำงานในค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้ฉันทราบว่าความทุกข์ยากของพวกเขาเป็นอย่างไร เมื่อฉันกลับมาอยู่เมืองไทย ฉันได้รับโอกาสให้กลับมาปลอบโยนและให้กำลังใจพวกเขาอีกครั้ง ฉันรู้สึกว่าพระเจ้าทรงรักเราจริง ๆ โดยให้โอกาสพวกเราได้แบ่งปัน และค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่คริสตชน เราต้องเป็นสะพานเชื่อมในความพยายามนี้ เนื่องจากเราอาศัยอยู่ร่วมกับคริสตชน มุสลิม และชาวพุทธ”
“นอกจากการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่หลบหนีจากสงครามกลางเมืองในเมียนมาร์แล้ว ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง คือ หลายคนที่ชายแดนไทยเป็นคนไทย เกิดที่นั่นแต่ทำบัตรประชาชนไม่ได้ เนื่องจากต้องเดินทางไกลเพื่อยื่นเอกสารที่จำเป็น การไม่มีบัตรประจำตัวนี้หมายความว่า คนเหล่านี้ไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ที่เสนอให้กับคนไทยได้ พวกเราจึงต้องช่วยเหลือพวกเขาในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งเรื่องการขาดแคลนอาหาร ความจำกัดในการช่วยเหลือของภาครัฐ ดังนั้นเราจึงพยายามเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ในการจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้คนเหล่านี้ที่มีความทุกข์ยาก”
“ฉันรู้สึกมีความสุขมากที่พระเจ้าประทานปรีชาญาณให้กับพวกเรา ฉันไม่ได้ทำอะไรคนเดียว ผู้คนยังมีความสุขที่เราร่วมมือกัน ฉันอยากจะแบ่งปันความสุขของฉัน ในการหาวิธีที่ดีที่สุดในการปรับปรุงคุณภาพการรับใช้ของเรา และรักพระเจ้าของเรามากยิ่งขึ้น”