สำนักข่าวนครรัฐวาติกันชื่นชมการทำงานของ ซิสเตอร์กัลยา ตรีโสภา คณะพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในโครงการลดขยะให้เป็นศูนย์ในโรงเรียน และการรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (Sister Kanlaya aiming for a Zero Waste, Zero Human Trafficking world)
หลังจากการฉลองการปฏิญาณตลอดชีวิต 50 ปี และเกษียณการทำงานของซิสเตอร์กัลยา ตรีโสภา ท่านได้ก้าวเข้าสู่รูปแบบการทำงานแพร่ธรรมแบบใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อช่วยเหลือบรรดาเยาวชนหญิงในการอบรมตนเองเพื่อเป็นนักบวชในคริสตศาสนา และอุทิศตนเองเพื่อการดูแลรักษาโลกและต่อต้านการค้ามนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน
ซิสเตอร์คณะพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเพทฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1897 มีหน้าที่หลักในการสอนคำสอน ทำงานอภิบาลและแพร่ธรรมในโรงเรียนให้กับบรรดาครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ในชุมชุนวัดที่เกี่ยวข้อง
พลเมืองเชิงนิเวศ (Eco-Citizens)
หลังจากอ่านพระสมณสาส์น "ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" (Laudato Si') ของพระสันตะปาปาฟรังซิสแล้ว หัวใจของ ซ.กัลยาก็ปรารถนาที่จะสร้าง “ระบบการจัดการแยกขยะ” ตามเอกสารย่อหน้าที่ 211 เรื่องพลเมืองเชิงนิเวศ ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับซิสเตอร์เป็นพิเศษ
ซ.กัลยากล่าวว่า “พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแนะนำให้เราประพฤติตน และคุณธรรมอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน เพื่อดูแลโลกใบนี้ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของระบบนิเวศ การคัดแยกขยะเป็นหนึ่งในกิจกรรมมากมายที่พระสันตะปาปาทรงแนะนำ”
การอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา (Interreligious Symbiosis)
ความรู้ที่เป็นรูปธรรมที่ ซ.กัลยาต้องทำเพื่อสานฝันให้เป็นจริงนั้น ยังได้รับความร่วมมือมาจากพระอาจารย์สุชุต ปัชโชโต และคนอื่น ๆ อีกหลายร้อยคนเพื่อเรียนรู้วิธีแยกขยะ “จนขยะสะอาดและกลายเป็นศูนย์”
การเชื่อมต่อการป้องกันการค้ามนุษย์ (Human trafficking prevention connection)
แล้วการป้องกันการค้ามนุษย์เข้ามาปะปนกันอย่างไร? ซ.กัลยาทำงานในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2005 รู้ดีว่า “ความยากจนและการว่างงานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์” ดังนั้นเธอจึงสร้างงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะ” เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับคนเหล่านั้น
“ฉันมั่นใจว่าฉันมาถูกทางแล้ว เมื่อนึกถึงข้อความของพระสันตะปาปาฟรังซิสที่ส่งถึงทาลิธา คุม (Talitha Kum ซึ่งเป็นองค์กรคาทอลิกที่ทำงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ) ที่ว่า ‘เศรษฐกิจที่ปราศจากการค้ามนุษย์คือเศรษฐกิจแห่งการดูแล’ การดูแลสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการดูแลผู้คนและธรรมชาติ การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อการเติบโตของส่วนรวม (8 กุมภาพันธ์ 2021)
ขั้นตอนการทดลอง (Experimental stage)
ด้วยความรู้ทางเทคนิคและความมั่นใจว่าเธอกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ซ.กัลยาจึงตัดสินใจทำการทดลองโครงการลดขยะให้เป็นศูนย์ โดยใช้ห้องรับประทานอาหารของอารามเป็นจุดเริ่มต้น “ฉันต้องการพิสูจน์ว่า โครงการนี้เป็นไปได้อย่างที่ฉันตั้งใจไว้” ซ.กัลยาจึงเรียกผู้ร่วมงานมาช่วยเหลือ คือ วรรณภา (วิว) สิงห์วรรษา มาทำงานด้วย วิวแสดงให้เราเห็นว่า เธอทำความสะอาดพลาสติกประเภทต่าง ๆ อย่างพิถีพิถันและขายต่อได้อย่างไร จึงเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวของเธอ” ซ.ศรีกัลยากล่าว
ภารกิจเสร็จสมบูรณ์ (Mission accomplished)
“หลังจากผ่านไปเกือบปี ฉันเห็นผลสำเร็จไม่เพียงแต่ในชุมชนของฉันเท่านั้น ฉันได้รับการตอบรับและความร่วมมือในเชิงบวกจากสมาชิกของคณะพระหฤทัยฯ โรงเรียน ชุมชนวัด และองค์กรของพระศาสนจักรมากมาย” ด้านผู้หญิงที่เธอจ้าง (วิว) ซ.กัลยา สังเกตว่านอกจากจะได้ “เงินเพิ่มมาจุนเจือครอบครัวแล้ว ยังได้รับความรู้เรื่องการแยกขยะอีกด้วย….
ยิ่งไปกว่านั้น เธอภูมิใจในตัวเองที่อดทน และขยันหมั่นเพียรที่ช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีรายได้จากการขายและรีไซเคิลขยะมากขึ้น ฉันดีใจที่การคัดแยกขยะทำให้ผู้หญิงธรรมดา ๆ คนหนึ่งได้รับการเสริมกำลังและมีศักดิ์ศรี ในอนาคตฉันหวังว่าจะเชิญเธอมาทำงานร่วมกับฉันในฐานะวิทยากร เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของเธอ เพื่อขยายโครงการนี้ไปยังครอบครัวที่มีรายได้น้อยในชุมชนยากจนอื่น ๆ”
วิธีสร้างรายได้ (How income is generated)
แต่มันไม่หยุดอยู่แค่นั้น ซ.กัลยา อธิบายว่า นอกจากการแยกขยะ การทำความสะอาด และขายของรีไซเคิลแล้ว การสร้างรายได้อีกทางหนึ่งคือ การนำขยะชิ้นเดียวกันมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ “เรายังสามารถรีไซเคิลขยะสะอาดที่ถูกแยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้” เธออธิบาย
เธอบอกเราว่าถุงพลาสติกสามารถกลายเป็นน้ำมันดีเซลได้อย่างไร กระดาษสามารถกลายเป็นกระดาษรีไซเคิล ขวดน้ำสามารถทำเป็นเสื้อผ้าได้ กระป๋องเครื่องดื่มสามารถใช้ทำกระเป๋าถือได้ พลาสติกบางส่วนสามารถใช้ทำอิฐเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ และนักโทษก็มีส่วนร่วมในการสร้างมันด้วย
ขยะกลายเป็นงานศิลปะ (Garbage transformed into art)
ในโรงเรียนพระหฤทัย คลองเตย ที่อยู่ติดกันกับอารามที่ ซ.กัลยา ประจำอยู่ ห้องอาหารของโรงเรียนซึ่งดำเนินการโดยซิสเตอร์ผู้ดูแล ได้ดำเนินโครงการลดขยะให้เป็นศูนย์ตามต้นแบบของ ซ.กัลยา ซึ่งได้พิสูจน์ความจริงของเธอ
ผู้ลี้ภัยจากประเทศใกล้เคียงซึ่งไม่สามารถหางานทำได้อย่างถูกกฎหมาย ได้เปลี่ยน “ขยะ” เป็นแท่นบูชา หมอน ของประดับตกแต่ง แจกัน ผ้าพันคอ เครื่องประดับผม กำไลดอกไม้ และการจัดเตรียมที่สวยงามที่สุด หนึ่งในผู้ลี้ภัยที่ช่วยเหลือในโครงการนี้บอกเราว่า สิ่งที่อาจไม่มีประโยชน์สำหรับคนอื่นนั้น “สำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้”
เธอแสดงให้เราเห็นว่าพวกเขารีไซเคิลกระดาษ และใช้กล่องนมที่ใช้แล้ว มาประดิษฐ์แจกันที่มีภาพประกอบสวยงามได้อย่างไร จากความพยายามนี้ “ฉันสามารถช่วยครอบครัวยากจนให้มีรายได้ และในขณะเดียวกันก็ช่วยฟื้นฟูโลกให้เป็นบ้านที่ดีขึ้นสำหรับมนุษยชาติต่อไป” ซ.กัลยากล่าว
โครงการในอนาคต (Future projects)
ซ.ศรีกัลยา ยังมีโครงการอื่น ๆ อยู่ในใจที่จะต่อยอดจากโครงการสามระดับที่เธอทำสำเร็จแล้ว เธอต้องการเปลี่ยนห้องอาหารของอารามเป็นศูนย์การเรียนรู้การคัดแยกขยะ เพื่อสอนวิธีนำขยะมาสร้างรายได้ “นอกจากคัดแยกขยะขาย ตั้งใจทำผ้าจากขวดพลาสติก เป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้หญิงในชุมชน เพื่อไม่ให้ถูกหลอกให้ออกจากหมู่บ้านไปทำงานที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์”
ท้ายที่สุด ซ.กัลยายอมรับว่า “การสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะไม่ได้ทำให้สังคมลดขยะให้เป็นศูนย์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่เป็นการยืดอายุของขยะและสร้างรายได้ให้กับคนยากจน”