พิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร มีความเป็นคริสตชนอย่างลึกซึ้ง (Coronation of King Charles III is ‘profoundly Christian’) มีองค์ประกอบต่าง ๆ ของคริสตศาสนาอันหลากหลาย และความสัมพันธ์ของคริสตศาสนานิกายต่าง ๆ ตลอดจนจารีตพิธีกรรมทางศาสนาที่ปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน
พระคาร์ดินัลนิโคลส์ (Cardinal Nichols, Cardinal Archbishop of Westminster) อาร์คบิชอปแห่งเวสต์มินสเตอร์ ได้กล่าวถึงพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรไว้ว่า
คำกล่าวเปิดพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม ที่อารามเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) เป็นสิ่งที่งดงามมากที่สุด นักร้องประสานเสียงคนหนึ่งพูดขึ้นก่อน โดยกล่าวว่า “ฝ่าบาท ในฐานะบุตรแห่งอาณาจักรของพระเจ้า เรายินดีต้อนรับพระองค์ในนามของพระราชาแห่งพระราชา” และพระเจ้าชาร์ลส์ตรัสตอบว่า “ในพระนามของพระองค์ และตามแบบอย่างของพระองค์ ข้าพเจ้าไม่ได้มาเพื่อได้รับการรับใช้แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (In his name, and after his example, I come not to be served but to serve.”)
พิธีที่ตามมา แสดงออกถึงความเป็นคริสตชนอย่างลึกซึ้ง ในทุกความรู้สึกและการกระทำ ผสมผสานประวัติศาสตร์เข้ากับนวัตกรรม การกระทำ ถ้อยคำ ดนตรี การอธิษฐานภาวนาอย่างเงียบ ๆ
ข้าพเจ้า (พระคาร์ดินัลนิโคลส์) ได้รับแจ้งว่าในจดหมายเหตุของพระราชวังแลมเบธ (Lambeth Palace) มีบันทึกเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์และราชินีย้อนกลับไปในศตวรรษที่สิบเอ็ด
มีสี่องค์ประกอบที่สอดคล้องกันสำหรับพิธีราชาภิเษกเหล่านี้ คือ
1) การเจิมของพระมหากษัตริย์
2) การสวมมงกุฎ
3) การมอบดาบแห่งความยุติธรรม และ
4) การรับศีลมหาสนิท (The Holy Communion)
องค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้มีอยู่ในพิธีบรมราชาภิเษกนี้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมประเพณีอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งการมอบลูกโลก คทา และเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ นี่คือพิธีที่แสดงออกถึงความมั่งคั่งของประเพณี ดังนั้น จึงมีความต่อเนื่องและมั่นคง แต่ยังเต็มไปด้วยนวัตกรรม เสริมความดั้งเดิมด้วยองค์ประกอบที่แสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมอังกฤษในปัจจุบัน
ตัวแทนของศาสนาอื่นมีส่วนในบทบาทของการมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เพลงประสานเสียงที่แต่งขึ้นใหม่จะร้องเป็นภาษาต่าง ๆ ของเกาะเหล่านี้ ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพได้รับเชิญพร้อมกับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ มากมาย ผู้นำคริสตชนนิกายต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมอยู่อย่างเต็มรูปแบบ และบางนิกายมีส่วนในบทพูดด้วย
ในตอนท้ายของพิธีการก่อนออกจากวัด กษัตริย์จะได้รับการต้อนรับจากผู้นำศาสนาของศาสนาอื่น ๆ ซึ่งเรียกพระองค์ว่า "เป็นเพื่อนบ้านในความเชื่อ" และจะได้รับการตอบรับเป็นการตอบแทนเช่นเดียวกัน
ดินแดนเหล่านี้ได้ใช้ธรรมประเพณีของคริสตชนคาทอลิกจนกระทั่งศตวรรษที่สิบหก จากนั้นเป็นต้นมาได้ใช้จารีตพิธีกรรมของคริสตชนแองกลีกัน (Church of England) มาตลอด 400 กว่าปีจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ครั้งนี้หลายแง่มุมของเหตุการณ์สะท้อน และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกและแองกลิกัน
ตามที่ทราบกันดีว่าพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ถวายของที่ระลึก คือ พระธาตุไม้กางเขนของแท้ (the Relic of true Cross of Jesus Christ) ของพระเยซูเจ้าแก่กษัตริย์ชาร์ลส์ พระธาตุนี้ถูกสร้างเป็นรูปไม้กางเขนเงินซึ่งจะนำหน้าขบวนแรกในวันราชาภิเษก
พระสันตะปาปาฟรังซิสได้มอบหมายผู้แทนพระองค์ไปร่วมงาน คือ พระคาร์ดินัลปาโรลิน (Cardinal Parolin) เลขาธิการรัฐวาติกัน พร้อมด้วยพระสมณทูตที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ประจำสหราชอาณาจักร คือ อาร์คบิชอปโมรี บวนเดีย (Archbishop Maury Buendia)
ในพิธีกรรมต่าง ๆ ในพิธีราชาภิเษก ได้บ่งบอกถึงการผสมผสานความเป็นคริสตชนคาทอลิกเข้าไปด้วย นั่นก็คือ การขับร้องบทเพลงเร้าวิงวอน (Kyrie, eléison) เชิญเสด็จมาข้าแต่พระจิตเจ้า (Veni Sancte Spiritus) บทขอบพระคุณพระเจ้า (Te Deum) และบทพระสิริรุ่งโรจน์ (Gloria) ที่เรียบเรียงโดยวิลเลี่ยม เบิร์ด (William Byrd) หลังจากที่ได้ประกาศแยกนิกายกับคาทอลิกในศตวรรษที่สิบหก
ในฐานะพระคาร์ดินัลอาร์คบิชอปแห่งเวสต์มินสเตอร์ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ร่วมถวายพระพรแด่กษัตริย์ที่เพิ่งสวมมงกุฎใหม่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เป็นก้าวต่อไปของการรักษาบาดแผลโบราณของเรา
ประวัติศาสตร์ของเราเป็นหนึ่งในการแตกแยก และสิ่งนี้ก็ปรากฏชัดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้เช่นกัน ศูนย์กลางของจารีตพิธีคือ พิธีสาบานตนของกษัตริย์ ก่อนที่พระองค์จะได้รับการเจิมและสวมมงกุฎ เขาทำเช่นนั้นเพื่อตอบคำถามที่ว่า
"คุณจะใช้อำนาจอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาศาสนาโปรเตสแตนต์ที่ปฏิรูปแล้วในสหราชอาณาจักร ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่? คุณจะรักษาและอนุรักษ์การตั้งถิ่นฐานของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ตลอดจนหลักคำสอน พิธีกรรม ระเบียบวินัย และการปกครองของศาสนจักรที่ละเมิดไม่ได้ ตามที่กฎหมายกำหนดในอังกฤษหรือไม่”
จากนั้นกษัตริย์ก็ทรงใช้สิ่งที่เรียกว่า “คำปฏิญญาภาคยานุวัติตามกฎหมาย” (the statutory Accession Declaration Oath) กษัตริย์ชาร์ลส์จะตรัสว่าพระองค์จะทรงปฏิญาณตนในฐานะสมาชิกพระศาสนจักรแห่งอังกฤษที่อุทิศตนและศรัทธาอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ พระองค์กล่าวด้วยว่า หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีหน้าที่อื่น ๆ ที่ต้องทำ ซึ่งไม่ได้แสดงออกอย่างเปิดเผย ณ ที่นี้ แต่ยังจะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงใจอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ในการรักษาการปฏิบัติตามเสรีภาพทางศาสนาในสหราชอาณาจักร และยินดีต้อนรับผู้คนที่นับถือศาสนาและความเชื่ออื่น ๆ อีกด้วย
หนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของพิธีบรมราชาภิเษกนี้ กษัตริย์จะทรงอธิษฐานออกเสียงดัง เพื่อให้ทุกคนได้ยิน คำอธิษฐานนี้จะเกิดขึ้นหลังจากการสาบานทันทีว่า “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นพระพรแก่ลูก ๆ ของพระองค์ทุกคน ในทุกความเชื่อและความเชื่อมั่น เพื่อเราจะได้ร่วมกันค้นพบหนทางแห่งความอ่อนโยน และนำเข้าสู่เส้นทางแห่งสันติสุข โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย อาเมน”
ในช่วงพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ความซับซ้อนของชีวิตชาวอังกฤษในประวัติศาสตร์ ประเพณี การเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ และการเปลี่ยนแปลงจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน แต่นี่เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อ และความหวังของคริสตชนอย่างละเอียดถี่ถ้วนและซื่อสัตย์
การอธิษฐานภาวนาถือเป็นหัวใจสำคัญ ตั้งแต่การสวดอ้อนวอนเงียบ ๆ โดยกษัตริย์ต่อหน้าพระแท่นบูชาสูงที่เปิดอยู่ เพื่อแสดงความปรารถนาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ต้องการให้ชัดเจนว่า ความจงรักภักดีอันดับแรกของพระองค์ คือต่อพระเจ้าอาศัยการอธิษฐานภาวนาร่วมกันของ ประชาชน พระองค์จะอธิษฐานภาวนาออกมา จากนั้นเจิมด้วยน้ำเสก คำอวยพร และการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท
ใครก็ตามที่เฝ้าดูจะไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเชื่อและความหวังของคริสตชนเป็นรากฐานของชีวิตของเรา
ข้าพเจ้า (พระคาร์ดินัลนิโคลส์) ขอกล่าวว่า นอกจากนครรัฐวาติกันแล้ว มีรัฐอื่นเพียงรัฐเดียวในโลก ที่จัดให้มีพิธีทางศาสนาสำหรับการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ นั่นก็คือ สหราชอาณาจักร นี่คือประเพณีที่มีมายาวนานของเรา และมีส่วนช่วยอย่างมั่นคงต่อความรู้สึกของเอกลักษณ์ และความต่อเนื่องของสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนนี้ และต่อทุกสิ่งที่เรานำมาสู่โลกกว้าง
ขอพระเจ้าอวยพรกษัตริย์ชาร์ลส์
May God bless King Charles