ถ้ำพระกุมารจะที่อยู่ด้านหน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตร ปี A.D.2021 นี้ กำลังดำเนินการจัดทำโดยชนชาติชอปก้า (Chopcca Nation) ที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาแอนดีส (Andes) ประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ ประกอบไปด้วยหุ่นหรือรูปปั้นของชาวพื้นเมือง 30 คน ที่ออกแบบโดยศิลปิน 5 คน
ชนชาติชอปก้า ประกอบไปด้วยชุมชนต่าง ๆ หลายชุมชน ชื่อของพวกเขาหมายถึง “ผู้สืบทอดเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน” (Common Ancestor) ที่มีอารยธรรมเก่าแก่มาก่อนวัฒนธรรมของชาวอินคา (Incas)
โดยพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ตรัสกับนักแสวงบุญจากประเทศเปรู หรือชาวเปรูเวี่ยน (Peruvian) โอกาสการฉลองพระเจ้าแห่งอัศจรรย์ (สเปน= Señor de Los Milagros หรือ อังกฤษ = Lord of Miracle) หลังจากสวดบททูตสวรรค์แจ้งสารในวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม A.D.2021 ที่ผ่านมา โดยมีใจความว่า
1. การเรียกนานาชาติสู่ความรอด (A universal call to Salvation)
ถ้ำพระกุมารจากประเทศเปรูนี้ ทำให้ระลึกถึงโอกาส 200 ปี แห่งการประกาศเอกราชของประเทศเปรู และเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องนานาชาติสู่ความรอดพ้น โดยที่รูปปั้นต่าง ๆ ในถ้ำพระกุมารจะมีขนาดเท่าคนจริง สวมชุดของคนท้องถิ่นชาวชอปก้าแบบดั้งเดิม
พระกุมารเยซูจะมีรูปลักษณ์เหมือนเด็กที่เรียกกันว่า "ฮิลิปุสกา" (Hilipuska) เพราะเขาถูกห่อด้วยผ้าห่มพื้นเมืองของชาวฮวนคาเวลิกา (Huancavelica blanket) ตามแบบฉบับที่มีผ้าคาดเอวที่เรียกว่า "ชุมปี้" (Chumpi) หรือเข็มขัดสาน กษัตริย์ทั้งสามจะบรรทุกอาหารแบบดั้งเดิม เช่น มันฝรั่ง ผักขม และธัญพืชพื้นเมืองอื่น ๆ และพวกเขาจะมาพร้อมกับลามะ (Llamas) ที่มีธงชาติของประเทศเปรูอยู่บนหลังของพวกเขา
การประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดจะประกาศโดยทูตสวรรค์ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดเป่าที่ทำจากเขาสัตว์หลายอันมาต่อกัน (Wajrapuco) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีลมแบบแอนเดียนโบราณดั้งเดิม สัตว์พื้นเมือง เช่น อัลปากา (มีลักษณะคล้ายอูฐ) วิคูนา (มีลักษณะคล้ายอูฐ) และแร้งแอนเดียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของเปรู ก็จะถูกนำมาแสดงด้วย
2. ต้นสนจากเมืองเตร็นตีโน่ (The fir tree from Trentino)
ต้นสนนี้มืชื่อว่า “ต้นสนสีแดง” สูง 28 เมตร จะตั้งข้าง ๆ กับถ้ำพระกุมาร มาจากป่าในเขตอันดาโล่ (Andalo) เมืองเตร็นตีโน่ (Trentino) ทางภาคเหนือของประเทศอิตาลี ซึ่งเลือกสรรด้วยวิธีการอนุรักษ์ธรรมชาติพร้อมกับอุปกรณ์ในการตกแต่ง ตลอดจนหลอดไฟประดับที่เป็นแบบ LED ที่ประหยัดพลังงาน โดยจะมีพิธีเปิดถ้ำพระกุมารและต้นคริสต์มาสในวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม
3. พิธีเปิดถ้ำพระกุมาร (The inauguration)
พิธีเปิดถ้ำพระกุมารจะกระทำโดยอาร์คบิชอปเฟอร์นานโด้ (Archbishop Fernando Vérgez Alzaga) หัวหน้าฝ่ายปกครองนครรัฐวาติกัน (President of the Governorate of Vatican City State)
โดยในวันเดียวกันนั้นเอง พระสันตะปาปาฟรังซิสจะพบปะกับตัวแทนของสังฆมณฑลฮวนคาเวลิกา (Diocese of Huancavelica) ประเทศเปรู, เมืองอันดาโล่ (Andalo), และ เมืองกาลีโอ (Gallio ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของประเทศอิตาลี ที่นำชุดการบังเกิดของพระเยซูเจ้ามาจัดแสดงในหอประชุมเปาโลที่ 6)
หมายเหตุ ภาพที่นำเสนอเป็นรูปถ้ำพระกุมารแบบต่าง ๆ ของชาวเปรู ไม่ใช่รูปปั้นที่จะมาแสดงจริงที่นครรัฐวาติกัน