การฟื้นฟูมนุษยชาติต่อการเคารพต่อชีวิตเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยที่มีต่อทุกคน รวมถึงคนยากจนและสิ่งสร้างทั้งหลาย
เช้าวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม A.D.2021 พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงเริ่มพระภารกิจของพระองค์ในการเสด็จเยือนประเทศกรีซอย่างเป็นทางการ ณ กรุงเอเธนส์ ทรงพบปะกับบรรดาผู้นำประเทศ คณะทูต และ ผู้นำชาวยุโรป ด้วยการตรัสถึงการให้ความเคารพต่อชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน
มิติความเป็นมนุษย์และมิติที่เหนือธรรมชาติ (The transcendent and human dimensions)
ประเทศกรีซและกรุงเอเธนส์เป็นแหล่ง และจุดศูนย์กลางของอารยธรรมของโลกมาอย่างยาวนาน เป็นรากฐานของความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาทางด้านปรีชาญาณ ซึ่งได้ถูกพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายทอดปรีชาญาณของพระเจ้า นั่นก็คือ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษากรีก
ประชาธิปไตย,การเมือง,และความดีส่วนรวม (Democracy, politics and the common good)
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ระบบประชาธิปไตยมีต้นกำเนิดอยู่ที่กรุงเอเธนส์ ทำให้เกิดสหภาพยุโรปในปัจจุบัน อันเป็นความฝันของสันติภาพและความเป็นพี่น้องที่ซึ่งเป็นตัวแทนของบุคคลทั้งหลาย ประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องการการมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากทุกคน แต่ในยุโรปและที่อื่น ๆ ในปัจจุบันมีการถอยห่างจากประชาธิปไตยที่นำโดยเผด็จการและประชานิยม
การเมืองควรเป็นศิลปะที่ใช้เพื่อสร้างความดีส่วนรวม การให้ความสำคัญกับบุคคลที่อ่อนแอกว่า การเมืองควรก้าวไปข้างหน้าเพื่อมุ่งไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม จากพรรคพวกไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกคน การแก้ปัญหาที่เร่งด่วน เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวน การแพร่ระบาดของโควิด-19 การตลาดทั่วไป และ การแพร่ระบาดของความยากจนในรูปแบบต่าง ๆ การเมืองควรจะทำส่วนรวมอย่างแท้จริง หรือไม่ใช่เพื่อประเทศชาติของตนเองจนเกินไป
อากาศที่เปลี่ยนแปลงและการรักษาสิ่งแวดล้อม (Climate change and care for creation)
พระสันตะปาปาได้ยกตัวอย่างของกิ่งมะกอกที่นกพิราบคาบมาหลังจากน้ำท่วมโลกแล้ว ปัจจุบันกิ่งมะกอกนั้นถูกไฟไหม้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรียกร้องให้เราปรับเปลี่ยนหนทางการดำเนินชีวิต เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับพระผู้สร้าง (หรือพระเจ้า) พร้อมกับสรรพสัตว์และสิ่งสร้างทั้งหลาย เพื่อที่บรรดาลูกหลานของเราจะได้ไม่ต้องชดใช้หนีที่พ่อแม่ของเขาได้สร้างเอาไว้
ผู้อพยพ (Migrants)
ในพระคัมภีร์ ต้นมะกอกยังเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการแบ่งปันให้กับคนอื่น เช่นในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเตือนว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวต้นมะกอก จะต้องไม่เก็บผลจนหมดต้นจนกระทั่งไม่เหลือไว้ให้คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาคนยากจน
ประเทศกรีซได้ต้อนรับบรรดาผู้อพยพหลายคนในเกาะต่าง ๆ ของประเทศ และนั่นอาจนำมาซึ่งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และทำให้หลายประเทศในยุโรปลังเลที่จะต้อนรับคนเหล่านั้น โดยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ประเทศของตนเองมากกว่าการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ความเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางความทุกข์ยาก (Solidarity amid suffering)
ความทุกข์ยากรวมเราให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อคนอื่นทุกข์เราก็ได้รับผลกระทบจากความทุกข์นั้น เราจึงควรช่วยกันสร้างอนาคตแบบบูรณาการและมีสันติสุข การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เราได้ค้นพบจุดอ่อนของตนเอง และความต้องการของคนอื่น ท่ามกลางความยุ่งยาก ได้ทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวได้เติบโตขึ้น ซึ่งพระศาสนจักรในท้องถิ่นยินดีที่จะกระทำต่อไป โดยเชื่อมั่นว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีประโยชน์เมื่อพายุได้ค่อย ๆ สงบลง