เราทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน (We all brothers and sisters in the one Father)
เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงพบปะกับตัวแทนพระศาสนจักรต่าง ๆ ในประเทศอีรัก โอกาสครบรอบ 1 ปี แห่งการเยือนประเทศอีรักอย่างเป็นทางการของพระสันตะปาปาฟรังซิสในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021
ส่งเสริมการเป็นประจักษ์พยานถึงพระวรสาร (Courageous witnesses of the Gospel)
ประเทศอีรักเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมและศาสนาที่สำคัญของโลก และยังเป็นดินแดนแห่งการอพยพตั้งแต่ในโลกยุคพระคัมภีร์ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ที่บรรดาคริสตชนได้เป็นประจักษ์พยานถึงพระวรสารท่ามกลางการเบียดเบียนศาสนาในประเทศอีรัก
“ข้าพเจ้าคุกเข่าลงต่อหน้าความทุกข์ทรมานและการเป็นมรณสักขีของบรรดาผู้ที่ได้พยายามรักษาความเชื่อเอาไว้ แม้ว่าจะต้องจ่ายไปด้วยชีวิตของพวกเขาเอง ดังเช่นพระโลหิตของพระเยซูเจ้าที่ได้ถูกหลั่งออกมาด้วยความรัก นำการคืนดีและทำให้พระศาสนจักรเติบโต ขอให้เลือดของบรรดามรณสักขีที่มากมายเหล่านี้ในยุคของเรา แม้ว่าจะแตกต่างกันในเรื่องของธรรมประเพณี แต่ได้รวมเราเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังเช่นเมล็ดพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางคริสตชนนิกายต่าง ๆ และเป็นเครื่องหมายของฤดูใบไม้ผลิแห่งความเชื่อ”
ความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง (Fraternal relations)
พระศาสนจักรต่าง ๆ ในประเทศอีรักได้แสดงออกถึงความเป็นพี่น้องกันด้วยงานอภิบาลที่ทำร่วมกันอย่างหลากหลาย การศึกษาอบรมให้ความรู้ และการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากจนที่สุด ขอให้พวกคุณได้กระทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไป ผ่านทางการกระทำที่แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรม การเสวนาอย่างสม่ำเสมอ และความรักฉันพี่น้อง เพื่อมุ่งไปสู่ความสมบูรณ์ในความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่แตกแยกและไม่ลงรอยกัน คริสตชนจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในความหลากหลาย
องค์ประกอบที่สำคัญของสังคมอีรัก (An essential component of Iraqi society)
คริสตชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมอีรัก ปราศจากคริสตชนก็ไม่สามารถที่จะเป็นอีรักได้ต่อไป เพราะคริสตชนและผู้ที่มีความเชื่ออื่น ๆ ได้มีส่วนร่วมกันสร้างเอกลักษณ์ของประเทศอีรักในการอยู่ร่วมกัน ความอดทน และการยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองมานับตั้งแต่ศตวรรษแรก ๆ ดังนั้น คริสตชนจึงไม่ควรถูกโยนออกไปนอกประเทศอีรักเหมือนกับก้อนหินก้อนหนึ่ง เพราะคริสตชนรู้สึกว่าอีรักเป็นบ้านของพวกเขา และเป็นพลเมืองอีรักอย่างเต็มรูปแบบ
ความสำคัญของการเสวนา (The importance of dialogue)
คริสตชนในอีรักมีกระแสเรียกพิเศษในการช่วยให้ศาสนาต่าง ๆ มีจิตตารมณ์แห่งการรับใช้ฉันเพื่อนพี่น้องและเสาวนาร่วมกันด้วยความจริงใจ การเสวนาเป็นยาแก้พิษที่ดีที่สุดของแนวความคิดการนับถือศาสนาแบบสุดโต่ง หรือแบบเคร่งครัดตามตัวอักษรจนเกินไป การถือระเบียบวินัยแบบไม่ยืดหยุ่น เป็นอันตรายต่อบรรดาศาสนิกชนของศาสนาต่าง ๆ และเป็นภัยร้ายแรงต่อสันติภาพ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถขจัดให้หมดไปจากสังคมด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นก็คือ ความยากจนทางด้านวัตถุ การให้การศึกษาที่เพียงพอ การส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงาม การสร้างความยุติธรรมทางสังคม และการช่วยเหลือผู้ที่เปราะบางในสังคม
อย่าได้ท้อแท้ใจ (Don't get discouraged!)
ขอให้เราได้สวมใส่จิตวิญญาณแห่งการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระเยซูเจ้า ให้เราได้วิงวอนขอพระจิตเจ้า รูปแบบแท้จริงแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันที่สามารถปรับให้เข้ากันได้ในทุกรูปแบบ เพื่อที่จะทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวของพวกเราเข้มแข็งขึ้น การกระทำเช่นนี้ จะได้ตอบสนองความปรารถนาอย่างสุดหัวใจของพระเยซูเจ้าที่ต้องการเห็นบรรดาศิษย์ของพระองค์ #เป็นหนึ่งเดียวกัน (One)
ซาบซึ้งใจที่พระสันตะปาปาเสด็จเยือนอีรัก (Gratitude for the Pope's visit to Iraq)
อาร์คบิชอปนิโคเดมุส ดาวน์ แห่งโมซูล (Archbishop Nicodemus Daoud of Mosul) แห่งพระศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ซีเรีย ได้กล่าวว่า การเสด็จเยือนอีกรักของพระองค์ได้เกิดผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อในประเทศอีรัก เป็นพิเศษต่อเพื่อนพี่น้องชาวมุสลิมต่อบรรดาคริสตชน
บิชอปอาร์บิส ยูคันนา แห่งคิร์คุกและไดอาน่า (Bishop Abris Youkhanna of Kirkuk and Diana) แห่งพระศาสนจักรซีเรียตะวันออก ได้กล่าวว่า การเสด็จเยือนของพระสันตะปาปาได้ให้ #แรงกระตุ้นและแสงสว่าง (new impulse and light) ของความสัมพันธ์ระหว่างคริสตชนนิกายต่าง ๆ ในอีรัก
พระสันตะปาปาฟรังซิสได้กล่าวปิดท้ายว่า “การเสวนายังทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษยชาติถูกย้ำเตือนอยู่เสมอว่า #เราทุกคนต่างก็เป็นบุตรของพระเจ้า (we are all children of God) ดังนั้น เราทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน” ...