Homeประมวลคำสอน ภาคที่ 1บทที่ 1.1 สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ

บทที่ 1.1 สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ



ตอนที่ 2 การประกาศความเชื่อของคริสตชน 
(จากหนังสือประมวลคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  ข้อที่ 33-217)

           

บทที่ 1 ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า พระบิดา

บทที่ 1.1 สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ 

สัญลักษณ์แห่งความเชื่อคืออะไร

      คือบทสวด ซึ่งเราเรียกว่า “การประกาศยืนยันความเชื่อ” หรือ “ข้าพเจ้าเชื่อ” ตั้งแต่แรกเริ่มพระศาสน-จักรได้สังเคราะห์ และได้ถ่ายทอดความเชื่อนั้นด้วยภาษาที่ชัดเจนและเป็นที่รู้จักของสัตบุรุษทุกคน

บทสัญลักษณ์แห่งความเชื่อบทใดที่เก่าแก่ที่สุด

      บทสัญลักษณ์ของศีลล้างบาป ทั้งนี้เพราะศีลล้างบาปล้างเรา “ในพระนามของพระบิดาพระบุตรและ พระจิต” (มธ 28:19) ความจริงแห่งความเชื่อประกาศยืนยันออกมาอย่างชัดเจนเวลาประกอบพิธีศีลล้างบาป โดยอ้างถึงทั้งสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพ

บทสัญลักษณ์แห่งความเชื่อบทใดที่สำคัญกว่าหมด

       บทสัญลักษณ์แห่งอัครสาวก เป็นบทสัญลักษณ์เก่าแก่ของศีลล้างบาปของพระศาสนจักรโรมันและบทสัญลักษณ์แห่งนิเช – คอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเป็นผลของสังคายนาสากลทั้งสองของนิเชและคอนสแตนติโน-เปิลยังใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ทั้งในพระศาสนจักรตะวันตกและตะวันออก คือ บท “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า พระบิดาทรงสรรพานุภาพ สร้างฟ้าดิน”

ทำไมการประกาศความเชื่อจึงเริ่มต้นด้วย “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า”

       เพราะการประกาศยืนยันว่า “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า” มีความสำคัญมากที่สุดเป็นท่อธารของความจริงอื่นๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวกับมนุษย์ โลกและเกี่ยวกับชีวิตของทุกคนที่เชื่อถึงพระองค์

ทำไมเราจึงประกาศยืนยันถึงพระป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

      เพราะพระองค์ทรงเผยแสดงแก่ประชากรอิสราเอลว่าทรงเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นพระเยซูเจ้าและพระจิตเจ้าทรงประกาศยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าและองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียว

พระเป็นเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ในพระนามใด

      ทรงเผยแสดงพระองค์แก่โมเสสว่าทรงเป็นพระเป็นเจ้าที่ทรงชีวิต “พระเป็นเจ้าของอับบราฮัมของอิสอัคและของยาโคบ” (อพย 3:6) ในขณะเดียวกันพระเจ้าก็ทรงเผยพระองค์เองแก่โมเสสด้วยพระนามที่เป็นธรรมล้ำลึกว่า “เราเป็นผู้ที่เป็นอยู่ (YHWH)” พระนามที่น่าเกรงขามของพระเจ้าในยุคของพันธสัญญาเดิมนั้นถูกแทนด้วยพระนามว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าในพันธสัญญาใหม่พระเยซูเจ้าทรงเรียกองค์พระผู้เป็นเจ้าที่มองเห็นได้ว่าเป็นพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้

มีพระเจ้าหนึ่งเดียวเท่านั้นทรง “เป็น” หรือ

       สิ่งสร้างทั้งหลายได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็นและทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีจากพระเจ้า พระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงเป็นสัมบูรณภาพแห่งการดำรงอยู่และความสมบูรณ์พร้อมทุกประการ พระองค์ทรงเป็น “พระผู้เป็น” ที่ไม่มีการเริ่มต้นและการสิ้นสุด พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงว่าพระเป็นเจ้ามีอีกพระนามหนึ่งว่า “เราเป็น” (ยน 8:28)

เหตุใดการเผยแสดงพระนามของพระเจ้าจึงมีความสำคัญ

       การเผยแสดงพระนามของพระองค์ พระเจ้าทรงทำให้เรารู้จักความมั่งคั่งในธรรมล้ำลึกที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ของพระองค์ คือ พระองค์ทรงเป็นตั้งแต่กัปกัลย์และตลอดนิรันดร พระองค์ทรงอยู่เหนือธรรมชาติเหตุผลของโลกและอยู่เหนือประวัติศาสตร์ พระองค์ได้ทรงสร้างสวรรค์และแผ่นดิน ทรงเป็นพระเจ้าที่ซื่อสัตย์ ทรงประทับอยู่ใกล้กับประชากรของพระองค์เพื่อทรงช่วยพวกเขาให้รอดพ้น ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด “ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา” ทรงพร้อมเสมอที่จะประทานอภัย ทรงเป็นจิต อยู่เหนือเหตุผล ทรงสรรพานุภาพ นิรันดร พระบุคคล ทรงความสมบูรณ์พร้อม ทรงเป็นความจริงและความรัก

พระเจ้าทรงเป็นความจริงในความหมายใด

       พระเจ้าคือองค์ความจริงและเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ทรงหลอกลวงและไม่ทรงถูกหลอกลวง พระองค์ทรงเป็น “ความสว่างและไม่มีความมืดใดอยู่ในพระองค์เลย” (1ยน 1:5) พระบุตรแต่นิรันดรของพระเจ้า พระปรีชาญาณที่รับสภาพมนุษย์ ทรงถูกส่งมาในโลก “เพื่อเป็นพยานถึงความจริง” (ยน 18:37)

พระเจ้าทรงเผยแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นความรักแบบใด

       ทรงเผยแสดงให้อิสราเอลได้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นพระผู้ที่ทรงรักพวกเขามากยิ่งกว่าบิดามารดารักบุตรของตน หรือสามีรักภรรยาของตน พระเจ้าเองทรง “เป็นความรัก” ทรงประทานพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ด้วยความสมัครพระทัยและพระผู้ทรง “รักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16-17) ในการส่งพระบุตรและพระจิตของพระองค์ลงมา พระเจ้าได้ทรงเผยแสดงว่าพระองค์เองทรงเป็นการแลกเปลี่ยนความรักอยู่ตลอดนิรันดร

ความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง

       ประกอบด้วยการรู้จักความยิ่งใหญ่และความทรงอำนาจของพระองค์ ทำให้เกิดการดำเนินชีวิตอยู่ในการขอบพระคุณและมอบความไว้วางใจในพระองค์เสมอ   ทำให้รู้ถึงเอกภาพและศักดิ์ศรีอันแท้จริงของมนุษย์ทุกคนที่ได้รับการสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ทำให้เกิดการใช้สิ่งสร้างของพระองค์อย่างถูกต้อง

ธรรมล้ำลึกที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อและชีวิตของคริสตชนคืออะไร

       คือ ธรรมล้ำลึกแห่งพระตรีเอกภาพ คริสตชนได้รับการล้างบาปในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระจิต

เราสามารถรู้จักธรรมล้ำลึกแห่งพระตรีเอกภาพด้วยสติปัญญาของมนุษย์เพียงอย่างเดียวได้หรือ

       พระเจ้าได้ทรงทิ้งร่องรอยแห่งการดำรงอยู่ในลักษณะพระตรีเอกภาพของพระองค์ไว้ในกิจการสร้างของพระองค์และในพันธสัญญาเดิม แต่ความลึกซึ้งในการดำรงอยู่ของพระองค์ในฐานะเป็นพระตรีเอกภาพนั้นเป็นธรรมล้ำลึกที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ด้วยเหตุผลของมนุษย์ แม้กระทั่งความเชื่อของชนชาติอิสราเอลก่อนการเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้าและก่อนการเสด็จมาของพระจิตเจ้า ธรรมล้ำลึกนี้ถูกเผยแสดงแก่เราโดยทางพระเยซูคริสตเจ้าและเป็นที่มาของธรรมล้ำลึกประการอื่นๆ

พระเยซูคริสตเจ้าทรงเผยแสดงธรรมล้ำลึกประการใดของพระบิดาแก่เรา

       ทรงเผยแสดงให้เราทราบว่าพระเจ้าทรงเป็น “พระบิดา” มิได้ทรงเป็นบิดาในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้สร้างจักรวาลและมนุษย์เท่านั้น แต่เหนืออื่นใดพระองค์ได้ทรงให้กำเนิดพระบุตรในพระอุระของพระบุตรผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์ “ผู้ทรงเป็นรังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ทรงเป็นภาพลักษณ์อันสมบูรณ์ของพระเจ้า” (ฮบ 1:3)     

พระจิตเจ้าที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเผยแสดงแก่เรานั้นทรงเป็นผู้ใด

       พระจิตเจ้าทรงเป็นพระบุคคลที่สามในพระตรีเอกภาพ ทรงเป็นพระเจ้า เป็นหนึ่งเดียวและเท่าเสมอกับพระบิดาและพระบุตร  พระองค์ “ทรงเนื่องมาจากพระบิดา” (ยน 15:26) พระองค์ผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดโดยปราศจากต้นกำเนิด ทรงเป็นต้นกำเนิดของชีวิตทั้งครบของพระตรีเอกภาพ ทรงเนื่องมาจากพระบุตรด้วย (Filioque)  เพื่อทรงเป็นพระพรนิรันดรที่พระบิดาทรงกระทำกับพระบุตร ทรงถูกส่งจากพระบิดาและพระบุตรผู้ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ พระจิตเจ้าทรงนำพระศาสนจักร “ไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13)

พระศาสนจักรแสดงความเชื่อต่อพระตรีเอกภาพอย่างไร

       ด้วยการประกาศยืนยันความเชื่อในพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียวสามพระบุคคล คือ พระบิดา พระบุตรและ  พระจิต เพราะแต่ละพระบุคคลทรงเหมือนกันในความเต็มเปี่ยมของพระธรรมชาติหนึ่งเดียวกันและแยกออกจากกันไม่ได้ทั้งสามพระบุคคลทรงแตกต่างกันอย่างแท้จริง โดยความสัมพันธ์ที่ทำให้ทั้งสามเกี่ยวเนื่องกันคือพระบิดาทรงบังเกิดพระบุตร พระบุตรทรงถือกำเนิดจากพระบิดา พระจิตเจ้าทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร

พระบุคคลทั้งสามทรงทำงานกันอย่างไร

      พระตรีเอกภาพทรงปฏิบัติงานหนึ่งเดียวและอย่างเดียวกัน แต่ในการทำงานหนึ่งเดียวกันแบบพระแต่ละพระบุคคลประทับอยู่ตามรูปแบบที่เป็นของแต่ละบุคคลในพระตรีเอกภาพ

พระเป็นเจ้าทรงสรรพานุภาพหมายความว่าอะไร

      พระเป็นเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ว่าทรงเป็น “ผู้ทรงพลังผู้ทรงอานุภาพ” (สดด 24:8) พระองค์ผู้ซึ่ง “ไม่มีสิ่งใดที่พระเป็นเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:37) พระอานุภาพของพระองค์เป็นสากล เป็นธรรมล้ำลึกและทรงแสดงออกในการสร้างโลกจากความว่างเปล่า ทรงสร้างมนุษย์ด้วยความรัก เหนืออื่นใดคือ ในการรับสภาพชีวิตมนุษย์ ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตร ในพระพรฐานะบุตรบุญธรรมและในการอภัยบาป ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรจึงภาวนาว่า “พระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพและนิรันดร” (Omnipotens sempiterne Deus…)

การยืนยันว่า “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน” (ปฐก 1:1)นั้นมีความสำคัญอย่างไร

       การสร้างโลกนั้นเป็นพื้นฐานของแผนการช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้าแสดงให้เห็นถึงความรักอันทรงอานุภาพและพระปรีชาญาณของพระเจ้า เป็นก้าวแรกแห่งการเข้าสู่พันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์   เป็นการเริ่มประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่มีจุดสุดยอดอยู่ในพระคริสตเจ้า เป็นคำตอบแรกต่อคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับกำเนิดและจุดสุดท้ายของมนุษย์

ใครเป็นผู้สร้างโลก

       พระบิดา พระบุตรและพระจิต คือหลักสำคัญหนึ่งเดียวและแบ่งแยกมิได้ในการสร้างโลก ถึงแม้ว่าการสร้างโลกเป็นผลงานเฉพาะของพระเป็นเจ้าพระบิดา

โลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร

       เพื่อพระสิริมงคลของพระเจ้า เพื่อแสดงและสื่อถึงความดี ความจริงและความงามของพระองค์จุดหมายสุดท้ายของการสร้างโลกคือให้พระเป็นเจ้าได้ทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกคน” ในองค์พระคริสตเจ้า (1คร 15:28) เพื่อพระสิริมงคลของพระองค์และเพื่อความสุขของเรา

พระเป็นเจ้าทรงสร้างจักรวาลอย่างไร

       ทรงสร้างอย่างอิสระด้วยพระปรีชาญาณและความรัก พระเจ้าได้ทรงสร้างโลกจาก “ความว่างเปล่า” (2มคบ 7:28) โลกที่เป็นระเบียบและดีงามพระองค์ทรงอยู่เลยเหตุผล (อุตรภาพ) แบบไม่สิ้นสุด พระเจ้าทรงรักษาและค้ำจุนสิ่งสร้างของพระองค์ให้คงอยู่ ทรงประทานศักยภาพในการกระทำและนำไปสู่ความสมบูรณ์โดยทางพระบุตรของพระองค์ และโดยทางพระจิตเจ้า

พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าประกอบด้วยอะไร

       ความพร้อมต่างๆ ซึ่งพระเจ้าทรงใช้ในการนำสิ่งสร้างทั้งหลายของพระองค์ไปสู่ความสมบูรณ์พร้อมพระเจ้าทรงเป็นเจ้านายสูงสุดในแผนการของพระองค์อย่างไรก็ตาม เพื่อกระทำให้สำเร็จ พระองค์ยังทรงโปรดให้สิ่งสร้างได้เข้ามาให้ความร่วมมือด้วย ในขณะเดียวกันก็ทรงประทานศักดิ์ศรีให้ปฏิบัติด้วยตนเองและรู้จักที่จะเป็นมูลเหตุให้แก่กันและกัน

มนุษย์จะให้ความร่วมมือกับพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าได้อย่างไร

       พระเจ้าทรงให้ความเคารพต่อเสรีภาพของเรา ทรงเรียกเราให้ร่วมมือกับพระองค์ ประทานความสามารถให้เรากระทำดังนี้ได้ผ่านทางการกระทำต่างๆ การภาวนา และความทุกข์ยากก่อให้เกิดในตัวเขาซึ่ง “ความปรารถนาและความสามารถที่จะทำงานตามพระประสงค์” (ฟป 2:13)

ถ้าพระเป็นเจ้าทรงสรรพานุภาพและมีพระญาณเอื้ออาทรเหตุใดจึงมีความชั่วร้ายเกิดขึ้น

      เราจะตอบคำถามนี้ซึ่งเจ็บปวดและเต็มไปด้วยธรรมล้ำลึกได้เฉพาะในมวลรวมแห่งความเชื่อคริสตชนเท่านั้น พระเจ้ามิได้ทรงเป็นต้นเหตุของความชั่วแต่อย่างใด พระองค์ทรงส่องสว่างแก่ธรรมล้ำลึกของความชั่วร้ายในพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์ ผู้ทรงสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อทรงชนะความชั่วร้ายอันยิ่งใหญ่ด้านศีลธรรม คือบาปของมนุษย์และเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายอื่นๆ

ทำไมพระเจ้าจึงทรงปล่อยให้มีความชั่วร้ายเกิดขึ้น

       ความเชื่อทำให้เรามั่นใจว่าพระเจ้าจะไม่ทรงอนุญาติให้ความชั่วร้ายเกิดขึ้น ถ้าความชั่วร้ายนั้นไม่ก่อให้เกิดความดี  พระเจ้าได้ทรงกระทำให้เกิดอัศจรรย์ในเหตุการณ์ของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ที่จริงแล้วจากความชั่วร้ายอันยิ่งใหญ่ทางด้านศีลธรรมทั้งปวง (การประหารพระบุตรของพระองค์) พระองค์ได้ทรงนำความดีอันยิ่งใหญ่ทุกประการออกมา (พระสิริรุ่งโรจน์แด่พระคริสต-เจ้าและการไถ่กู้ชาวเรา)

           

 แบบฝึกหัดบทที่ 1.1 สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ  

สถิติการเยี่ยมชม

10487182
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
1615
3833
8158
10448190
8158
124638
10487182
Your IP: 18.226.82.90
Server Time: 2024-12-03 03:19:37

แบบฟอร์ม

instagram

พระศาสนจักร


สื่อ YOUTUBE


Laudato si’

บทเรียนคำสอน





บทภาวนา

พิธีกรรมต่างๆ

เอกสารพระศาสนจักร

บทความคำสอน



KAMSONCHAN

 

   องค์กรคาทอลิก              คณะนักบวช  
 

สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
แผนกคริสตศาสนธรรม
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ศูนย์คริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
สังฆมณฑลจันทบุรี
คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา
คามิลเลียนโซเชียลเซนเตอร์ ระยอง

  สังฆมณฑลนครราชสีมา                       
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลนครราชสีมา
สังฆมณฑลอุบลราชธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุบลราชธานี   
สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
สังฆมณฑลนครสวรรค์
สังฆมณฑลเชียงใหม่
  สังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี
สังฆมณฑลอุดรธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุดรธานี

สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย (อุดมสาร)
  ชมรมอธิการิณีเจ้าคณะนักบวชแห่งประเทศไทย
คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ต
คณะภคินีศรีชุมพาบาล       
คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
คณะเซนต์คาเบรียล
คณะซาเลเซียน
คณะซาเลเซียน (ซิสเตอร์)
กางเขนแดงสาร

 



JSN Megazine template designed by JoomlaShine.com