ตอนที่ 2 ศีลศักดิ์สิทธิ์เจ็ดประการของพระศาสนจักร
(จากหนังสือประมวลคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อที่ 250-356)
บทที่ 1 ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มชีวิตคริสตชน ศีลล้างบาป พื้นฐานชีวิตของคริสตชนนั้น เริ่มต้นด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ ล้างบาปมีความหมายว่า “การจุ่ม” ลงไปในน้ำ ผู้ที่รับศีลล้างบาปคือผู้ที่ถูกจุ่มลงไปในการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าและการกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์กลายเป็น “สิ่งสร้างใหม่” ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วก็กลายเป็น “บุตรแห่งความสว่าง” ในพันธสัญญาเดิมเราพบรูปแบบล่วงหน้าของศีลล้างบาปหลายอย่าง รูปแบบเหล่านี้สมบูรณ์ในองค์พระเยซูเจ้าตั้งแต่พระองค์ทรงเริ่มชีวิตสาธารณะหลังจากรับพิธีล้างจากนักบุญยอห์น บนกางเขนจากสีข้างที่ถูกแทง หมายถึงศีลล้างบาปและศีลมหาสนิทและทรงมอบภารกิจนี้แด่อัครสาวก ตั้งแต่วันที่พระจิตเจ้าเสด็จมาพระศาสนจักรก็โปรดศีลล้างบาปแก่ผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า เนื่องจากเขาเกิดมาในบาปกำเนิดจึงจำเป็นต้องโปรดศีลล้างบาปให้แก่ทารกเพื่อรับการปลดปล่อยจากอำนาจปีศาจ และนำเข้าสู่พระอาณาจักรแห่งเสรีภาพ ผู้รับศีลล้างบาปถูกเรียกร้องให้ยืนยันความเชื่อ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็แสดงด้วยตนเอง ถ้าเป็นทารกก็โดยบิดามารดาและพระศาสนจักร ศาสนบริกรจะเป็นผู้ล้างให้ในพระตรีเอกภาพ ศีลล้างบาปมีความจำเป็นสำหรับการเอาตัวรอดไปสวรรค์ พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคนจะได้รอด ดังนั้น ผู้ที่ตายเพราะความเชื่อ แม้ไม่ได้รับศีลล้างบาปก็รอดพ้น ศีลล้างบาปยกบาปส่วนตน บาปกำเนิด รวมทั้งโทษที่มาจากบาปนั้นๆ ด้วย การรับเอาชื่อนักบุญมีความสำคัญเพราะว่าพระเป็นเจ้าทรงรู้จักเราแต่ละคนโดยชื่อ สร้างความมั่นใจว่าท่านจะเสนอวิงวอนเพื่อเราและยึดท่านเป็นแบบอย่าง ศีลกำลัง ในพันธสัญญาเดิม บรรดาประกาศกได้ประกาศว่าพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่กับพระเมสสิยาห์เท่านั้น แต่พระเยซูเจ้าทรงถ่ายทอดไปยังบรรดาอัครสาวกในวันสมโภชพระจิต หลังจากนั้นพวกท่านก็ได้มอบพระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้แก่ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปใหม่ด้วยการปกมือ ที่เรียกศีลนี้ว่าศีลเจิมน้ำมันเพราะเป็นจารีตที่ขาดมิได้ ผลของศีลกำลังคือการรับพระจิตอย่างพิเศษ การรับนี้ประทับตราในวิญญาณไม่สามารถลบล้างได้ และนำไปสู่การเพิ่มพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาป ทำให้วิญญาณเข้มแข็งขึ้นในพระพรต่างๆ ของพระจิตเจ้า ผู้รับศีลล้างบาปแล้วต้องรับศีลกำลังทุกคน ซึ่งรับได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ศาสนบริกรปกติคือพระสังฆราช เพื่อเป็นการแสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้รับศีลกับพระศาสนจักร ศีลมหาสนิท คือการถวายบูชาพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ซึ่งได้ทรงตั้งขึ้นเพื่อให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนคงอยู่ตลอดกาล จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา เป็นการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ ศีลมหาสนิททำให้การเริ่มต้นชีวิตคริสตชนสมบูรณ์ พระองค์ได้ทรงตั้งศีลมหาสนิทขึ้นในคืนที่ทรงถูกทรยศ ในขณะที่ทรงร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ศีลมหาสนิทคือบ่อเกิดและสุดยอดของชีวิตคริสตชนทั้งมวล เป็นการกระทำสูงสุดที่พระเจ้าทรงทำให้เราศักดิ์สิทธิ์ บรรลุความดีงามฝ่ายจิตทั้งครบของพระศาสนจักร ในพันธสัญญาเดิม ศีลมหาสนิทถูกประกาศไว้ล่วงหน้าในงานเลี้ยงปัสกาประจำปีของชาวยิว ด้วยขนมปังไร้เชื้อ เพื่อเป็นการระลึกถึงการออกจากอียิปต์ และการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และพระองค์ได้ทรงตั้งขึ้นในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายพร้อมกับบรรดาอัครสาวก โดยกล่าวว่า “จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเรา” (1คร 11:24) ในพิธีมิสซาบูชาประกอบด้วยสองภาคใหญ่ๆ คือ ภาควจนพิธีกรรมและภาคบูชาขอบพระคุณ พระสงฆ์ที่ได้รับการบวชอย่างถูกต้องเท่านั้น จึงสามารถเป็นประธานในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เครื่องหมายคือ ปังที่ทำจากเมล็ดข้าวและเหล้าองุ่น พระเยซูคริสตเจ้าประทับในศีลมหาสนิทในรูปแบบจำเพาะและไม่อาจเปรียบเทียบได้ เป็นการประทับอยู่ในลักษณะที่แท้จริง การบิปังมิได้เป็นการแบ่งพระคริสตเจ้าออก พระองค์ประทับอยู่ทั้งหมดและครบครันในแต่ละปังตามส่วนของศีล มิสซาเป็นงานเลี้ยงปัสกาเนื่องจากการที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำให้ปัสกาของพระองค์เป็นจริง พระแท่นเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสตเจ้าเอง พระศาสนจักรกำหนดให้ร่วมถวายพิธีบูชามิสซาทุกวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ และให้เตรียมตัวรับศีลอย่างเหมาะสม ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระศาสนจักรเพิ่มพูนขึ้น ศีลมหาสนิทเป็น “มัดจำแห่งสิริรุ่งโรจน์ในอนาคต” เพราะทำให้เราได้รับพระหรรษทานอย่างเต็มเปี่ยม และพระพรทุกประการจากสวรรค์ |