ตอนที่ 2 พระบัญญัติ 10 ประการ
(จากหนังสือประมวลคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อที่ 434-533)
บทที่ 2 “จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ตอนที่ 3) พระบัญญัติประการที่เก้า “อย่าปลงใจในความอุลามก” พระบัญญัติประการนี้เรียกร้องให้เอาชนะตัณหาเนื้อหนังทั้งในความคิดและความปรารถนา นักบุญยอห์นได้แยกความโลภหรือความใคร่ออกเป็นสามประเภท ได้แก่ ตัณหาเนื้อหนัง ตัณหาทางสายตา และความหยิ่งภูมิใจในชีวิต “ตัณหา” ในความหมายตามตัวอักษร หมายถึงรูปแบบความต้องการที่รุนแรงของสิ่งซึ่งขัดแย้งกับเหตุผล ถึงแม้ตัวมันเองไม่มีบาปแต่ก็ทำให้มนุษย์เอนเอียงที่จะทำบาป เป็นเหตุของการไม่เชื่อฟังที่เป็นบาปต้น ความบริสุทธิ์เรียกร้องความถ่อมตนสงบเสงี่ยม การรบสู้ต่อต้านตัณหาทางเนื้อหนังนั้นเกี่ยวกับการชำระใจให้บริสุทธิ์และฝึกปฏิบัติให้รู้จักประมาณตน เรียกร้องการภาวนาเพราะจิตใจที่บริสุทธิ์ทำให้เราแลเห็นพระเจ้า เห็นทุกอย่างตามสายพระเนตรของพระองค์ พระบัญญัติประการที่สิบ “อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา” เรียกร้องให้มีท่าทีเคารพต่อทรัพย์สมบัติของผู้อื่น และห้ามโลภ ความปรารถนาที่ไม่เหมาะสมในทรัพย์สินของผู้อื่น และความอิจฉาคือการเสียใจที่เกิดขึ้นเพราะเห็นทรัพย์สมบัติของผู้อื่นและปรารถนาจะเอามาเป็นเจ้าของ พระบัญญัติประการนี้ทำให้ข้อก่อนหน้านี้สมบูรณ์ขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับความใคร่ฝ่ายเนื้อหนัง ผู้ได้รับศีลล้างบาปต้องต่อสู้กับความอิจฉาริษยาด้วยความหวังดีกับผู้อื่น ความสุภาพถ่อมตนและการมอบตนไว้กับพระญาณสอดส่องของพระเจ้า การมีจิตใจที่อิสระไม่ยึดติดกับความร่ำรวยเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าสู่พระอาณาจักร “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” และความปรารถนาสูงสุดของมนุษย์คือการได้เห็นพระเจ้า เสียงเรียกร้องของการเป็นอยู่ทั้งครบของเราคือ “ข้าพเจ้าต้องการเห็นพระเจ้า” “ผู้ที่แลเห็นพระเจ้าก็ได้บรรลุถึงทรัพย์สมบัติทั้งปวง ซึ่งเขาพอจะเข้าใจได้” (น. เกรโกรี แห่งนิซา) |
แบบฝึกหัด บทที่ 2 “จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ตอนที่ 3)