สรุปย่อสมณโองการปีศักดิ์สิทธิ์ 2025
“ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง” (Spes non confundit[1], โรม 5:5)[2]
โดย พระสันตะปาปาฟรังซิส พระสังฆราชแห่งกรุงโรม
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2024 โอกาสสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์
โดย บารทิเมอัส
1. กรุงโรมก่อนการมาถึงของนักบุญเปาโล
ประมาณ ค.ศ. 57-58 นักบุญเปาโลได้เขียนจดหมายถึงกลุ่มคริสตชนในกรุงโรม กรุงโรมเป็นเมืองใหญ่และศูนย์กลางของโลกในขณะนั้น มีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของทวีปยุโรปมานานกว่า 1,800 ปี คาดว่าอาจจะมีชาวยิวประมาณ 100,000 คนอาศัยอยู่ที่นั่น คริสตชนในชาวโรมจึงประกอบไปด้วยคริสตชนชาวยิวและชนชาติอื่น ๆ ปัญหาที่ตามมาคือ “พวกเขาพูดจาโอ้อวดและดูถูกกันและกัน” และปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคำสอนเรื่องการเข้าสุหนัตและการถือตามพระบัญญัติของศาสนายิว และความเชื่อในคริสต์ศาสนาเรื่องพระหรรษทานของพระเจ้า ที่ช่วยเหลือเราให้มีพละกำลังต่อสู้กับความชั่วร้ายและกระทำความดี
แม้ว่านักบุญเปาโลจะไม่ได้เป็นคนก่อตั้งพระศาสนจักรที่กรุงโรม และอาจไม่รู้รายละเอียดของพระศาสนจักรที่นั่นมากนัก แต่ท่านรู้สึกถูกเร่งเร้าให้ไปประกาศพระวรสารแห่งความหวังของพระเยซูเจ้าที่นั่น โดยเขียนจดหมายไปล่วงหน้าจากเมืองโครินธ์ ระหว่างการเดินทางครั้งที่ 3 และมอบหมายให้ศาสนบริกรหญิงชื่อ “เฟบี” (โรม 16:1) เป็นคนถือจดหมายไปล่วงหน้า
สถานการณ์ของพระศาสนจักรในกรุงโรมเวลานั้น คริสตชนชาวยิวยังเห็นความสำคัญของการเข้าสุหนัตและการถือตามพระบัญญัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งนักบุญเปาโลไม่ได้คัดค้านในเรื่องนี้ (ดู รม 7:12) แต่ท่านเสริมว่า “การมีธรรมบัญญัติทำให้เรารู้ว่าอะไรถูกหรือผิด บาปหรือไม่บาป การประพฤติผิดพระบัญญัตินั้นเป็นบาป เราควรที่จะตระหนักถึงบาป และความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า โดยอาศัยพระหรรษทานของพระองค์” (ดู รม 3:30; 7:7-13) ดังนั้น จึงเกิดการต่อสู้ภายในที่ตามมา คือ “การเลือกกระทำความดีหรือความชั่ว” (ดู รม 7:14-20) ดังข้อความที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจสิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำ สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากทำข้าพเจ้ากลับไม่ทำ สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำข้าพเจ้ากลับทำ” (โรม 7:15) ฉะนั้นเพราะความรักต่อพระคริสตเจ้า ข้าพเจ้าจึงพอใจความอ่อนแอต่าง ๆ เมื่อถูกสบประมาท เมื่อมีความคับแค้น เมื่อถูกข่มเหงและอับจน เพราะข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็ย่อมเข้มแข็งเมื่อนั้น (2 คร 12:10)
2. ความหวังนี้ไม่ทำให้ผิดหวัง (โรม 5:5)
พระสัญญาที่พระเจ้าประทานให้กับอับราฮัมว่า เขาจะได้ครอบครองโลกเป็นมรดกนั้น “ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมบัญญัติ” แต่เกิดขึ้นโดย “ความชอบธรรมอันเนื่องมาจากความเชื่อ” (โรม 4:13) ดังนั้น คริสตชนที่สมบูรณ์จะต้องประพฤติตามพระบัญญัติและมีความเชื่อในพระเจ้าด้วย
แม้อับราฮัมจะไม่มีหวังในพระสัญญาของพระเจ้าเพราะท่านและภรรยาอายุมากแล้ว แต่เขาก็มีความหวังและมีความเชื่อว่า เขาจะเป็นบิดาของประชาชาติจำนวนมาก แม้ร่างกายของอับราฮัมเหมือนตายไปแล้ว และนางซาราห์ก็นับว่าตายไปแล้วเช่นกัน “แต่ความเชื่อของเขาก็ไม่หวั่นไหว” เขาไม่สงสัยและได้รับพละกำลังจากความเชื่อของเขา และเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า “สิ่งใดที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ พระองค์ย่อมมีอำนาจที่จะทำสิ่งนั้นให้เป็นจริงตามสัญญาได้” นี่คือความเชื่อที่เป็นความชอบธรรมของอับราอัม และของเราทุกคนด้วย (โรม 4:13-23)
ดังนั้น เมื่อเราเป็นผู้ชอบธรรมด้วยความเชื่อ เราย่อมมีสันติกับพระเจ้า อาศัยพระเยซูเจ้าทำให้เราได้รับและดำรงอยู่ในพระหรรษทานนี้ เราจึงมีความหวังว่า “เราจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า แม้ในความทุกข์” เพราะเรารู้ว่า “ความทุกข์ก่อให้เกิดความพากเพียร ความพากเพียรก่อให้เกิดคุณธรรม คุณธรรมก่อให้เกิดความหวัง และ “ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง” เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เรา ได้หลั่งความรักของพระเจ้าลงใจจิตใจของเรา และพระเยซูเจ้าก็ได้สิ้นพระชนม์เพื่อเรา อาศัยพระโลหิตของพระองค์ เราจึงได้รับความรอดพ้นจากการถูกพระเจ้าลงโทษอาศัยการคืนดีกับพระเจ้าในพระเยซูคริสตเจ้า (ดู โรม 5:1-10)
ความทุกข์ ก่อให้เกิด ความพากเพียร
ความพากเพียร ก่อให้เกิด คุณธรรม
คุณธรรม ก่อให้เกิด ความหวัง
ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะอาศัยความรักของพระจิตเจ้า และการไถ่บาปของพระเยซูเจ้า ทำให้เราได้คืนดีกับพระเจ้า (ดู โรม 5:3-10)
3. บทอภัยบาปของพระสงฆ์ (Absolution)
เปรียบเทียบบทอภัยบาปของพระสงฆ์กับจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม (ดู โรม 5:1-10)
“พระเจ้า พระบิดาผู้ทรงพระเมตตา ได้ทำให้โลกคืนดีกับพระองค์ อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระบุตร และทรงส่งพระจิตมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ ขอพระองค์ประทานพระเมตตาและสันติสุขแก่ท่าน อาศัยศาสนบริการของพระศาสนจักร ข้าพเจ้าจึงอภัยบาปทั้งสิ้นของท่าน เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร + และพระจิต อาแมน”
บทแสดงความทุกข์
ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทุกข์เสียใจที่ได้ทำบาป เพราะบาปเรียกร้องการลงโทษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บาปทำเคืองพระทัยพระองค์ ผู้ทรงความดีและทรงสมควรได้รับความรักจากมนุษย์ทั้งมวล เดชะพระหรรษทานช่วย ข้าพเจ้าตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทำบาปอีกเลย จะหลีกหนีโอกาสบาป และจะพยายามใช้โทษบาป โปรดทรงพระกรุณาอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด อาแมน
(บทสวดนี้เกี่ยวข้องกับศีลอภัยบาป มีสาระสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ ข้าแต่พระเจ้า
1. ข้าพเจ้า “เป็นทุกข์เสียใจ” ที่ได้ทำบาป เพราะบาปเรียกร้องการลงโทษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บาปทำเคืองพระทัยพระองค์ ผู้ทรงความดีและทรงสมควรได้รับความรักจากมนุษย์ทั้งมวล เดชะพระหรรษทานช่วย
2. ข้าพเจ้า “ตั้งใจแน่วแน่” ว่าจะไม่ทำบาปอีกเลย จะหลีกหนีโอกาสบาป
3. และจะพยายาม “ใช้โทษบาป”
4. โปรดทรงพระกรุณา “อภัยบาป” แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด อาแมน)
4. แนวคิดเรื่องความหวังของนักบุญเปาโล
ขอให้ปีศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นช่วงเวลาแห่งการพบองค์พระเยซูเจ้าเป็นการส่วนตัวอย่างแท้จริงสำหรับทุกคน พระองค์ผู้ทรงเป็น “ประตู” แห่งความรอดพ้นของเรา (ดู ยน 10:7, 9) พระศาสนจักร มีพันธกิจที่จะต้องประกาศในทุกแห่งหน และแก่ทุกคนเสมอว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์ “ความหวังของเรา” (1 ทธ 1:1) (SNC[3] 1)
ความหวังดำรงอยู่ในหัวใจของเราแต่ละคน เป็นความปรารถนาและความคาดหวังถึงสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้น แม้เราไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร กระนั้นก็ตาม บางครั้งความไม่แน่นอนในเรื่องอนาคต อาจก่อให้เกิดความรู้สึกขัดแย้ง เปลี่ยนจากความเชื่อมั่นวางใจกลายเป็นความวิตกกังวล ความลังเลใจ และความสงสัย บ่อยครั้งเราพบคนที่ท้อแท้สิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย และไม่มั่นใจในอนาคต ราวกับว่าไม่มีสิ่งใดที่จะนำความสุขมาให้พวกเขาได้ ขอให้ปีศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นโอกาสให้เราแต่ละคนฟื้นฟูความหวังขึ้นใหม่ ขอพระวาจาของพระเจ้าช่วยเราให้พบเหตุผลสำหรับความหวังนั้น และขอให้เรานำสารของอัครสาวกเปาโลนี้มาเป็นแนวทาง (SNC 1)
5. ความหวังอันเกิดมาจากศีลล้างบาป (SNC 3)
ชีวิตแห่งความเชื่อของคริสตชน
1) เริ่มต้นในศีลล้างบาป
2) มี “พระหรรษทาน” ที่ทำให้ความเชื่อของเราก้าวหน้า
3) มี “ความหวัง” ที่ทำให้ความเชื่อของเรามีชีวิตชีวาและได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่เสมอ
4) มีพระพรของ “พระจิตเจ้า” ที่ทำให้ความเชื่อของเรามั่นคง
เมื่อเราได้รับ “ศีลล้างบาป” พระเยซูเจ้าได้ทรงสัญญาจะประทาน “ชีวิตนิรันดร” ให้กับเรา คือ บาปได้รับการอภัยและได้เข้าไปอยู่ในสวรรค์ร่วมกับพระองค์[4] แต่เรายังต้องเดินทางหรือต้อง “จาริก” อยู่ในโลกใบนี้ ซึ่งมีอันตรายและ “การประจญ” มากมาย พระองค์จึงได้ประทานพระหรรษทานช่วยเหลือเรา เพื่อให้เราได้มีพละกำลังและเอาชนะการประจญต่าง ๆ จนกว่าจะเดินทางไปถึงเมืองสวรรค์ได้อย่างปลอดภัย
“พระจิตเจ้า” ทรงประทับอยู่ในพระศาสนจักรที่กำลังจาริกอยู่เสมอมา ทรงส่องสว่างบรรดาผู้ที่มีความเชื่อทุกคนด้วย “แสงแห่งความหวัง” พระองค์ทรงรักษาแสงสว่างนั้นให้คงอยู่เหมือนกับตะเกียงที่ลุกโชนอยู่เสมอ ความหวังของคริสตชนไม่หลอกลวงหรือทำให้ผิดหวัง เพราะมีพื้นฐานอยู่บนความมั่นใจว่า ไม่มีสิ่งใดและไม่มีใครสามารถพรากเราไปจากความรักของพระเจ้าได้ (ดู โรม 8:39) (SNC 3)
6. บทแสดงความหวัง (เดิมเรียกว่า “บทแสดงความไว้ใจ”)
“ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าหวังอย่างแน่วแน่ว่า เดชะพระบารมีของพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์จะประทานพระหรรษทานแก่ข้าพเจ้าในโลกนี้ และสันติสุขนิรันดรในโลกหน้า ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงรักษาพระสัญญาที่ทรงให้ไว้เสมอ อาแมน”
ความหวังของคริสตชนมาจากความเชื่อในพระเยซูเจ้า ถูกแสดงออกมาในศีลล้างบาป โดยมีความหวัง 3 ประการ คือ 1) พระองค์จะประทานพระหรรษทานให้กับเราอย่างเพียงพอในโลกนี้เพื่อที่จะทำให้เราได้มี 2) สันติสุขในโลกนี้ และ 3) สันติสุขนิรันดรในโลกหน้า ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงรักษาพระสัญญาที่ทรงให้ไว้เสมอ
ความพากเพียรอดทนในโลกยุคปัจจุบัน (SNC 4)
การประกาศพระวรสารอาจมีปัญหา อุปสรรค ความยากลำบาก ความทุกข์ และการเบียดเบียนข่มเหง (ดู 2 คร 6:3-10) ซึ่งเราได้รับการเสริมพลังที่มาจากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าและการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ และนั่นเองเป็นวิธีเรียนรู้ที่จะฝึกฝน “คุณธรรมแห่งความหวัง”
ในโลกยุคปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว ทันที ทำให้เราไม่มีเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น แม้แต่ในครอบครัว ทำให้ความชื่นชมยินดีแห่งการได้อยู่ร่วมกันลดลง ความเร่งรีบนี้นำไปสู่การขาดความอดทน ความวิตกกังวล ความรุนแรง ความทุกข์ และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น
แต่ทุกสิ่งสร้างต้องการ “ความพากเพียรอดทน” เวลา ฤดูกาล วงจรชีวิต เพื่อการเติบโต ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ย่อมต้องการความพากเพียรและการปลอบใจ ซึ่งเราสามารถได้รับมาจากพระเจ้า (ดู โรม 15:5) เป็นพระพรประการหนึ่งของพระจิตเจ้า เป็น “บุตรสาวของความหวัง” และขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความหวัง
7. หนทางแห่งความหวัง (SNC 5-6)
ความหวังและความอดทนต่างส่งผลต่อกันและกัน ทำให้เราเห็นชัดว่า “ชีวิตคริสตชนคือการเดินทาง” ซึ่งต้องการความหวังเป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางของเราเสมอ การออกเดินทางเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความหมายของชีวิต การเดินเท้าช่วยให้ค้นพบคุณค่าของความเงียบ ความพยายาม และความเรียบง่ายของชีวิต การจาริกไปยังวัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นเสมือนโอเอซีสของจิตวิญญาณ เป็น “บ่อน้ำแห่งความหวัง” ที่เราสามารถดื่มได้ การได้เห็นศิลปะอันงดงาม ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะรักษาคุณค่าของประสบการณ์แห่งความเชื่อและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง ที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้น ๆ เหนือสิ่งอื่นใด คือ “การได้รับศีลอภัยบาป” (SNC 5)
8. กำหนดการปีศักดิ์สิทธิ์ (SNC 6)
พิธี “เปิด” ประตูศักดิ์สิทธิ์
- พระมหาวิหารนักบุญเปโตร จะเปิดในวันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2024
- พระมหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน จะเปิดในวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2024
- พระมหาวิหารแม่พระแห่งกรุงโรม จะเปิดในวันพุธที่ 1 มกราคม 2025
- พระมหาวิหารนักบุญเปาโล จะเปิดในวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2025
- อาสนวิหารทั่วโลก จะมีพิธีบูชาขอบพระคุณเปิดปีศักดิ์สิทธิ์อย่างสง่าตามพิธีกรรมที่ได้จัดเตรียมให้ไว้ (สำหรับพระศาสนจักรในประเทศไทย วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2024 โอกาสวันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์)
- ปีศักดิ์สิทธิ์จะสิ้นสุดในวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2025 (วันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ปิดปีศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรในประเทศไทย)
พิธี “ปิด” ประตูศักดิ์สิทธิ์
- พระมหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน จะปิดในวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2025
- พระมหาวิหารแม่พระแห่งกรุงโรม จะปิดในวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2025
- พระมหาวิหารนักบุญเปาโล จะปิดในวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2025
- พระมหาวิหารนักบุญเปโตร จะปิดในวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2025 โอกาสสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์
9. เครื่องหมายแห่งความหวัง (SNC 7-15)
พระศาสนจักรควรอธิบายให้กับคนทุกรุ่นในภาษาของพวกเขา ให้เข้าใจถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตปัจจุบันและอนาคต และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความดีที่มีอยู่ในโลกของเรา เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในการประจญล่อลวงหรือถูกครอบงำด้วยความชั่วร้ายและความรุนแรง เครื่องหมายแห่งกาลเวลานั้นรวมถึง ความปรารถนาของจิตใจมนุษย์ที่ต้องการ “การประทับอยู่ของพระผู้ช่วยให้รอด” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งความหวัง (SNC 7)
เครื่องหมายแรกแห่งความหวัง คือ ความปรารถนาความสงบสุขในโลกของเรา จาก “สงคราม” ความรุนแรงอันน่ากลัว การทูตจะต้องไม่อ่อนล้าในความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาทุกโอกาสเพื่อมุ่งไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน ด้วยความกล้าหาญและสร้างสรรค์ (SNC 8)
การมองอนาคตด้วยความหวัง คือ การมีวิสัยทัศน์ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่พร้อมจะแบ่งปัน ผู้คนในหลายประเทศไม่กล้าที่จะให้กำเนิดชีวิตใหม่ มีอัตราการเกิดลดลงอย่างน่าตกใจ อันเป็นผลมาจากจังหวะชีวิตที่เร่งรีบมากในปัจจุบัน ความกลัวเรื่องอนาคต การขาดความมั่นคงในการทำงาน และสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสม การแสวงหาผลกำไรมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้น ชุมชุมคริสตชนจึงควรส่งเสริมให้แต่ละครอบครัว “มีบุตรเพิ่มขึ้น” เพื่ออนาคตจะได้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของทารกและเด็ก ๆ (SNC 9)
การเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับ “นักโทษที่ขาดอิสรภาพ” การขาดความรัก ความเคารพต่อความเป็นบุคคล การยกเลิกโทษประหารชีวิต การอภัยโทษ และการเตรียมตัวพวกเขาให้กลับคืนสู่สังคม (SNC 10)
เครื่องหมายแห่งความหวังนี้ จะต้องนำไปมอบให้กับ “ผู้ป่วย” ด้วย ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล ความทุกข์ของพวกเขาจะบรรเทาลงด้วยความใกล้ชิดและความรักของผู้ที่มาเยี่ยม การขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่มักอยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย ความใส่ใจต่อผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ผู้พิการที่ถูกจำกัดด้านอิสระและเสรีภาพส่วนบุคคล (SNC 11)
เครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับ “คนหนุ่มสาว” ที่มักรู้สึกผิดหวังในความฝันและแรงบันดาลใจของพวกเขา พวกเขามีพลังที่กระตือรือร้นในการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ การเรียกร้องความยุติธรรมในการทำงาน การต่อสู้เพื่อผู้ยากจน หนุ่มสาวบางคนต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนและสิ้นหวัง ขาดการจ้างงาน การหันไปพึ่งยาเสพติดที่เป็นความสุขชั่วคราว ภาวะซึมเศร้า และการทำร้ายตนเอง (SNC 12)
เครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับ “ผู้อพยพย้ายถิ่น” ขอให้มีการต้อนรับพวกเขา ความเคารพในศักดิ์ศรี การดูแลด้านความปลอดภัย การเข้าถึงการจ้างงาน การศึกษา และการปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่ทางสังคม (SNC 13)
เครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับ “ผู้สูงอายุ” ที่บ่อยครั้งรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้ง การเสริมสร้างพันธสัญญาระหว่างคนหลายรุ่น การส่งต่อความเชื่อและปรีชาญาณของปู่ย่าตายายสู่คนรุ่นใหม่ ความรักและความกตัญญูจากลูกหลาน (SNC 14)
เครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับ “ผู้ยากจน” ที่ขาดแคลนสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ความยากจนในรูปแบบใหม่ การถูกกีดกันและความเมินเฉยจากสังคม การตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมทางสังคม (SNC 15)
10. เสียงเรียกร้องแห่งความหวัง (SNC 16-17)
รากฐานของปีศักดิ์สิทธิ์ในพระคัมภีร์ (ลนต 25) เตือนเราว่า ทรัพย์สมบัติของโลกไม่ได้มีไว้เพื่อคนบางกลุ่ม แต่มีไว้สำหรับทุกคน คนรวยต้องมีใจกว้างและไม่เบือนสายตาไปจากผู้ยากจน เราเสียเงินไปกับการผลิตอาวุธและการทำสงครามอย่างมากมาย ในขณะที่เพื่อนพี่น้องอีกหลายคนต้องหิวโหย เราควรเอาเงินเหล่านั้นมา “ตั้งกองทุนเพื่อยุติความหิวโหยระดับโลก” พัฒนาประเทศที่ยากจน ผู้ร่ำรวยหรือประเทศที่ร่ำรวยอาจช่วยปลดหนี้ให้กับผู้ที่ยากจนกว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่สมดุล ทิ้งความเสียหายด้านระบบนิเวศไว้ให้กับประเทศที่ยากจน ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ที่ว่า แผ่นดินโลกเป็นของพระเจ้า และเราทุกคนเป็นผู้อาศัย เราเป็น “คนต่างแดนและผู้เช่า” (ดู ลนต 25:23) (SNC 16)
ในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ยังเปิดโอกาสให้มีการประชุมร่วมกันแบบสมัชชา ตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักร เพื่อตอบสนองความเร่งด่วนในการประกาศพระวรสาร ซึ่งผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปจะได้ใช้พระพรพิเศษในพันธกิจของตนด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน (SNC 17)
11. หยั่งรากลึกในความหวัง (SNC 18-25)
ความหวังพร้อมด้วยความเชื่อและความรัก เป็นคุณธรรมทางด้านเทววิทยา เป็นหัวใจหลักของชีวิตคริสตชน (ดู 1 คร 13:13; 1 ธส 1:3) สามสิ่งนี้จะต้องอยู่ในจิตใจของเรา เพื่อให้เราชื่นชมยินดีในความเชื่อ กระตือรือร้นในความรัก เพื่อที่เราจะสามารถมอบรอยยิ้ม มิตรภาพ อัธยาศัยไมตรี การรับฟังอย่างจริงใจ และการรับใช้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องนี้ เราจึงควรมีเวลาที่จะพิจารณาว่าอะไรคือ “เหตุผลแห่งความหวังของเรา” (ดู 1 ปต 3:15)[5] (SNC 18)
ความหวังอันสูงสุดของคริสตชนอยู่ที่ความเชื่อที่เรายืนยันถึง “ชีวิตนิรันดร” ชีวิตนิรันดรคือความสุขของเรา “เมื่อขาดการค้ำจุนจากสวรรค์ และขาดความหวังในชีวิตนิรันดร ศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็ขาดหายไป ดังที่เราเห็นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ปัญหาชีวิต ความตาย ความรู้สึกผิดและความทุกข์ทรมานยังไม่พบทางออก ดังนั้น ผู้คนจึงมักตกอยู่ในความสิ้นหวัง (GS 21) เราจึงควรดำเนินชีวิตโดยมีความหวังในการเสด็จกลับมาของพระองค์ และมีความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ในพระองค์ตลอดไป (SNC 19)
การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เป็นหัวใจของความเชื่อและเป็นรากฐานของความหวังของเรา พระเยซูเจ้าทรงมีประสบการณ์เรื่องความตาย แต่ความรักของพระบิดาทรงยกพระองค์ขึ้นด้วยอำนาจของพระจิตเจ้า และทรงทำให้ความเป็นมนุษย์ของพระองค์เป็นผลแรกแห่งความรอดนิรันดรของเรา ดังนั้น ในการเผชิญหน้ากับความตายซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดจบของทุกสิ่ง แต่ในศีลล้างบาปเราได้รับของขวัญแห่งชีวิตใหม่ที่ทำลายกำแพงแห่งความตายลง เปิดเส้นทางใหม่สู่นิรันดรภาพ ดังเช่นลักษณะของอ่างล้างบาปในสมัยโบราณที่มี 8 เหลี่ยม หมายถึง รุ่งอรุณวันที่แปดที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพเอาชนะความตาย เพราะในสมัยโบราณวันที่เจ็ดหมายถึงวันสับบาโต โดยบรรดามรณสักขีได้เป็นประจักษ์พยานให้กับเราในเรื่องเหล่านี้ (SNC 20)
หลังจากความตายเราจะได้รับชีวิตนิรันดร เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ได้เพ่งพิศรำพึง และมีส่วนร่วมในความรักอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์ตลอดไป “โดยปราศจากความทุกข์ ความเจ็บปวด ไม่ต้องทำงานหนัก แต่มีชีวิตชีวา” (น.ออกัสติน) และนี่คือ “ความสุขนิรันดร” อันเป็นกระแสเรียกของมนุษย์ และเป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับทุกคน (SNC 21)
การพิพากษาของพระเจ้า ทั้งในช่วงสุดท้ายของชีวิตของเราแต่ละคน และในตอนท้ายของประวัติศาสตร์ ซึ่งเราต้องเตรียมตัวอย่างมีสติและถ่อมตน ความหวังในพระเจ้าทำให้เราเผชิญหน้ากับการพิพากษาเหล่านี้โดยปราศจากความกลัวอันไร้เหตุผล เพราะพระองค์ทรงเป็นความรัก (ดู 1 ยน 4:8-16) และจะทรงพิพากษาตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ คือ “เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ...” (ดู มธ 25:31-46) (SNC 22)
การพิพากษาจึงเกี่ยวข้องกับความรอดที่เราหวังไว้ แต่พระเยซูเจ้าผู้ที่เรามีความหวังในพระองค์ ผู้ทรงมีชัยชนะเหนือบาปและความตาย จะนำเราไปพบกับพระเจ้าตลอดไป ดังนั้น การอธิษฐานภาวนาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และพร้อมกับนักบุญทั้งหลาย (SNC 22)
“พระคุณการุณย์” เป็นหนทางหนึ่งในการค้นพบธรรมชาติแห่ง “พระเมตตา” อันไร้ขอบเขตของพระเจ้า เป็นการแสดงออกถึงความบริบูรณ์ของการให้อภัยของพระเจ้า อาศัยความเชื่อใน “ศีลอภัยบาป” เรายอมให้พระเจ้าทรงลบล้างบาปของเรา รักษาใจของเรา เลี้ยงดูเรา และโอบกอดเรา ไม่มีวิธีการใดที่เราจะรู้จักพระเจ้าได้ดียิ่งไปกว่าการยอมให้ตนเองคืนดีกับพระเจ้า (ดู 2 คร 5:20) และลิ้มรสการให้อภัยของพระองค์ แม้บาปได้รับการอภัย แต่โทษของบาปเรายังคงต้องชดใช้ในโลกนี้และในไฟชำระ สิ่งเหล่านี้จะถูกลบล้างด้วยพระคุณการุณย์ อาศัยพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ประสบการณ์แห่งการได้รับการอภัยบาปนี้ จะเป็นการเปิดใจและความคิดของเราไปสู่การให้อภัยผู้อื่น (SNC 23)
การให้อภัยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสิ่งที่อยู่ในอดีตได้ แต่ช่วยสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตและใช้ชีวิตที่แตกต่างได้ ทำให้เรามองดูอดีตด้วยความสงบแม้ยังคงมีคราบของน้ำตา และมองไปยังอนาคตที่สดใสขึ้น ขอให้บรรดาบิชอปได้นำความหวังนี้ไปยังทุกแห่งที่ความหวังถูกทดสอบอย่างหนัก เช่น เรือนจำ โรงพยาบาล สถานที่ซึ่งศักดิ์ศรีของผู้คนถูกละเมิด (การค้ามนุษย์) และผู้ยากจนในรูปแบบต่าง ๆ (SNC 23)
“พระแม่มารีย์เป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความหวังสูงสุดในพระเจ้า” ความหวังนั้นไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีแบบไร้เดียงสา แต่เป็นของขวัญแห่งพระหรรษทาน ท่ามกลางความเป็นจริงของชีวิต เมื่อพระแม่ต้องรับฟังคำทำนายของผู้เฒ่าสิเมโอนในพระวิหาร (ดู ลก 2:34-35) และแทบเชิงไม้กางเขน (ดู ยน 19:25) แม้จะเต็มไปด้วยความเศร้าโศก แต่พระแม่ก็ไม่ละทิ้งความหวังและความไว้วางใจในพระเจ้า กลับถวายให้กับพระเจ้าด้วยความรัก พระนางมารีย์จึงกลายเป็นมารดาของเราและเป็น “มารดาแห่งความหวัง”[6] ดังพระนามของพระแม่ที่ว่า “ดาวประจำรุ่ง” (Stella maris) เป็นความหวังอันแน่นอนท่ามกลางพายุในชีวิตนี้ พระมารดาของพระเจ้าเสด็จมาช่วยเหลือ ค้ำจุน และกระตุ้นให้เราพากเพียรด้วยความหวังและความไว้วางใจ (SNC 24)
ในการเดินทางของเราในปีศักดิ์สิทธิ์ ให้เรากลับมาที่พระวาจาของพระเจ้าในพระคัมภีร์ ที่ว่า “เพื่อให้เราซึ่งหนีทุกข์ภัย มีกำลังใจอย่างแรงกล้าที่จะยึดมั่นในความหวังเบื้องหน้า พระสัญญาและคำปฏิญาณจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะพระเจ้าจะทรงมุสาไม่ได้ เรามีความหวังนี้เป็นดังสมอเรือที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับชีวิต ความหวังดังกล่าวผ่านม่านเข้าไปถึงห้องภายในพระวิหารที่พระเยซูเจ้าเสด็จล่วงหน้าเข้าไปก่อนแล้วเพื่อเรา ในฐานะที่ทรงเป็นมหาสมณะนิรันดร ตามแบบอย่างเมลคีเซเดค (ฮบ 6:18-20) (SCN 25)
ในปีศักดิ์สิทธิ์นี้จะเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ที่เปี่ยมด้วยความหวังอันไม่จืดจาง เป็นความหวังที่เรามีต่อพระเจ้า ขอให้ความหวังนี้ช่วยให้เราฟื้นฟูความไว้วางใจ ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างประเทศ และในพันธกิจของเรา เพื่อส่งเสริมศักดิ์ศรีของทุกคน และเคารพต่อสิ่งสร้าง เป็นเชื้อแป้งแห่งความหวังสำหรับโลกของเรา มนุษย์ทุกคนจะดำรงอยู่ในความยุติธรรม ความปรองดอง และความหวังที่มีความสุข เมื่อคิดถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่จะเป็นจริง ขอให้พลังแห่งความหวังเติมเต็มวันเวลาของเรา เช่นเดียวกับที่เรารอคอยการเสด็จมาของพระเยซูคริสตเจ้าด้วยความมั่นใจ พระองค์ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญและพระสิริรุ่งโรจน์ บัดนี้ และตลอดนิรันดร (SNC 25)
พระสันตะปาปาฟรังซิส
[1] Confundit (ลาติน) = confuses (อังกฤษ) = confonde (อิตาลี)
[2] จัดแปลโดย เซอร์มารี หลุยส์ พรฤกษ์งาม, คณะกรรมการแปลและบัญญัติศัพท์, แผนกพิธีกรรมในสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย, สิงหาคม 2024, จัดพิมพ์โดยบาทหลวงอนุชา ไชยเดช สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
[3] SNC = “Spes non confundit” ชื่อสมณโองการปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 “ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง” (โรม 5:5) โดย พระสันตะปาปาฟรังซิส พระสังฆราชแห่งกรุงโรม โอกาสสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ ณ พระมหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2024 ในปีที่ 12 แห่งพระสมณสมัย
[4] “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43)
[5] 13ใครจะทำร้ายท่านได้ถ้าท่านมุ่งมั่นในความดี 14ถ้าท่านจะต้องทนทุกข์ทั้ง ๆ ที่ทำความดีแล้ว ก็จงเป็นสุขเถิด อย่ากลัวเขา อย่าวุ่นวายใจเลย 15แต่จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า คือพระคริสตเจ้าในจิตใจของท่าน จงพร้อมเสมอที่จะให้คำอธิบายแก่ทุกคนที่ต้องการรู้เหตุผลแห่งความหวังของท่าน 16จงอธิบายด้วยความอ่อนโยนและด้วยความเคารพอย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อเมื่อท่านถูกใส่ร้าย ผู้ที่กล่าวร้ายความประพฤติดีของท่านตามคำสอนของพระคริสตเจ้า ก็จะต้องประสบความอับอาย หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า การทนทุกข์เพราะทำความดีนั้น 17ย่อมดีกว่าการทนทุกข์เพราะทำความชั่ว (1 ปต 3:13-17) เปรียบเทียบกับคำสอนของนักบุญเปาโลที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจสิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำ สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากทำข้าพเจ้ากลับไม่ทำ สิ่งทีข้าพเจ้าไม่อยากทำข้าพเจ้ากลับทำ” (โรม 7:15)
[6] วันทาพระราชินี พระแม่ผู้ทรงเมตตากรุณา ทรงเป็นชีวิต ความอ่อนโยน และความหวังของลูกทุกคน...