สังคายนาวาติกันที่ 2 (The Vatican Council II)
สังคายนา (Council)
สังคายนา แปลว่า การสวดพร้อมกัน การประชุมเพื่อสะสางปัญหาใดปัญหาหนึ่ง
สะสาง แปลว่า ทำสิ่งที่คั่งค้างหมักหมมอยู่ให้จบ หรือให้เสร็จสิ้นไป
สังคายนา จึงหมายถึง การประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งร่วมกัน
สังคายนา (Council) มาจากภาษาลาตินว่า “Concilium” แปลว่า “สภา” หมายถึง การประชุมของสภา ผู้นำระดับสูง คณะที่ปรึกษา (body of advisers) ในสมัยโบราณเป็นการประชุมเพื่อตัดสินคดีความที่มีความสำคัญของบ้านเมือง มีกษัตริย์หรือผู้พิพากษาจะเป็นประธานเพื่อตัดสินร่วมกับคณะลูกขุนหรือสมาชิกที่เข้าประชุมสภา (Consilium)
สมัชชา (Synod)
คำว่า “Synod” มาจากภาษากรีกว่า “Synodos” แปลว่า “การชุมนุมหรือการมาร่วมชุมนุมกัน” (Assembly) เหมือนเถาวัลย์ เกลียวเชือก เป็นคำที่ใช้ในพระศาสนจักรคาทอลิก ทั้งในระดับสังฆมณฑล ระดับแขวง ระดับภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงพระศาสนจักรนิกายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับ 1) ระเบียบการปกครอง (Disciplines) 2) การบริหารงาน (Administrations) และ 3) ตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบัน (Signs of the Time)
ประวัติการทำสังคายนาในชีวิตของพระศาสนจักร
- ศิษย์แห่งเอมมาอูส (ลก 24:13-35) เป็นต้นแบบของการทำสมัชชาจากอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน
- สมัชชาครั้งแรกในพระศาสนจักรจัดขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม เรื่องการเข้าสุหนัตของคนต่างชาติ (เทียบ กจ 15 และ กท 2:1-10)
- สมัชชาสังฆมณฑลครั้งแรกของพระศาสนจักรตะวันตก เกิดขึ้นที่กรุงโรมเมื่อ ค.ศ. 382 โดยพระสันตะปาปาดามาซุสที่ 1 (Damasus I) เรื่องสารบบพระคัมภีร์ (Canon of Scripture) ระหว่างของชาวยิวกับของคริสตชน (ในเวลานั้นยังไม่มีโปรแตสแตนท์)
การสมัชชาจึงถือเป็นเครื่องมือในการเดินทางของพระศาสนจักร เพื่อที่จะทำให้บรรดาศิษย์ก้าวเดินไปบนหนทางเดียวกัน เช่น ที่เมืองนิเชอา (325), กรุงคอนสแตนติโนเปิล (381), เมืองชาลซีดอน (451) นอกจากนั้น ในศตวรรษที่ 4 มีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอที่เมืองอเล็กซานเดรียและอันทิโอก ในเรื่องพิธีกรรม, กฎหมาย, และเรื่องสำคัญเร่งด่วนต่าง ๆ, เมืองเตร็นท์ อิตาลี (1512), วาติกันที่ 1 (1869), และ วาติกันที่ 2 (1962)
สถาบันสมัชชาบิชอบสากล (Synodus Episcoporum)
“สถาบันสมัชชาบิชอบสากล” (Synodus Episcoporum) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการโดยพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 1965 (หลังวาติกันที่ 2) เพื่อการทำสมัชชาทีละเรื่อง ไม่ใช่ทุกเรื่องรวมกันเหมือนสังคายนาวาติกันที่ 2 จัดขึ้นประมาณทุก 3 ปี หลังการสมัชชาจะมีเอกสารออกมาเรียกว่า "สมณลิขิตเตือนใจหลังสมัชชา" (Post-Synodal Apostolic Exhortation)
กระบวนการที่สมัชชาใช้คือ
SEE – JUDGE – ACT (มองดู - ไตร่ตรอง – ตอบโต้)
(Signs of the time – Synod – Degree)
สมัชชาบิชอปสากลครั้งล่าสุดคือ การสมัชชาสมัยสามัญครั้งที่ 16 หัวข้อ “พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันใน 1) ความเป็นหนึ่งเดียวกัน 2) การมีส่วนร่วม และ 3) พันธกิจ” เริ่มต้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2021 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2024 ใช้เวลา 3 ปี สมัยพระสันตะปาปาฟรังซิส
สังคายนาวาติกันที่ 1
สังคายนาเมืองเตร็นท์ (1545-1563) เกิดขึ้นจากปัญหาการแยกตัวของโปรแตสแตนท์ ก่อหน้าสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 (1869-1870) ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองของหลายประเทศในยุโรป เมื่อวันที่ 20 กันยายน 1870 อาณาจักรอิตาลีลุกล้ำรัฐของพระสันตะปาปา (Kingdom of Italy encroaching on the Papal States) และประกาศให้กรุงโรมเป็นเมืองหลวงของอิตาลีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1870 ทำให้การทำสังคายนาวาติกันที่ 1 ต้องยุติลงไว้แค่นั้น
การประกาศที่สำคัญของสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 คือ “ความไม่รู้จักพลาดพลังของพระสันตะปาปา” (Infallibility) จากนั้นเป็นต้นมา คนในนครรัฐวาติกันต้องการจะสืบสานสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ให้สำเร็จสมบูรณ์ ด้วยการเตรียมข้อมูลอย่างดี จัดตรียมเอกสารต่าง ๆ อย่างมีระบบ แต่ยังไม่มีพระสันตะปาปาองค์ใดเรียกสังคายนา
พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 เมื่อได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1958 อายุ 77 ปี มีความประสงค์ที่จะทำสังคายนาให้สำเร็จ เพื่อปรับปรุงพระศาสนจักรให้เป็นปัจจุบันทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้น ท่านสั่งให้มีการทำสังคายนาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ที่สุด ได้มีการเปิดสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1962 (ห่างจากวาติกันที่ 1 92 ปี) โดยพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ปกครองพระศาสนจักร 4 ปีครึ่ง จากนั้นได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1963 พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 อายุ 66 ปี ได้สืบสานการสังคายนาต่อจนจบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1965 ใช้เวลา 3 ปี เรื่องเด่นในสังคายนาวาติกันที่ 2 คือ “คริสตศาสนจักรสัมพันธ์และศาสนสัมพันธ์”
พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เคยทำงานสำนักเลขาธิการนครรัฐวาติกันมาก่อน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลมิลาน เลขาธิการสภาพระสังฆราชอิตาลี ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลสมัยพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ทั้งสองท่านได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2018 โดยพระสันตะปาปาฟรังซิส
ปิตาจารย์สมัชชา (Fathers of the Synod)
ในบรรดาผู้เข้าร่วมการสังคายนาหรือเรียกว่า “ปิตาจารย์สมัชชา” มีจำนวน 4 คน ที่ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา ได้แก่
1. พระคาร์ดินัลโจวันนี บัตติสตา มอนตีนี ต่อมาคือ พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6
2. พระสังฆราชอัลบีโน ลูชีอานี ต่อมาคือ พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 1
3. พระสังฆราชคารอล วอยตีวา ต่อมาคือ พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 และ
4. คุณพ่อโยเซฟ รัทซิงเกอร์ ต่อมาคือ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
คนไทยที่ไปร่วมสังคายนาวาติกันที่ 2
1. พระอัครสังฆราชยวง นิตโย แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
2. พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี แห่งสังฆมณฑลจันทบุรี
3. พระสังฆราชเปโตร หลุยจี คาเร็ตโต แห่งสังฆมณฑลราชบุรี
4. พระสังฆราชแบร์นาร์ด ลูเซียน ลากอสต์ แห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่
5. พระสังฆราชเคลาดิอุส บาเยต์ แห่งสังฆมณฑลอุบลราชธานี
6. พระสังฆราชคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต แห่งสังฆมณฑลอุดรธานี
7. พระสังฆราชอาแลง โซเวอร์ เฟอร์ดินันด์ ฟาน เกเวอร์ แห่งสังฆมณฑลนครราชสีมา
8. พระอัครสังฆราช มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ แห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ภาพรวมสังคายนาวาติกันที่ 2
สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเกิดของสงครามเย็น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว พระศาสนจักรคาทอลิกซึ่งเป็นสถาบันที่มีอายุยาวนานจึงต้องหาทางตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก
พระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ซึ่งได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในปี 1958 มีวิสัยทัศน์ที่จะ "เปิดหน้าต่างของพระศาสนจักร" เพื่อนำพระศาสนจักรคาทอลิกเข้าสู่ยุคใหม่ ท่านเชื่อว่าอาศัยการประชุมสังคายนาครั้งใหม่จะช่วยให้พระศาสนจักรสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้
สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ไม่ได้เป็นการประชุมเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาภายในของพระศาสนจักรเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศาสนาอื่น ๆ และสังคมในภาพรวม เป้าหมายสำคัญของสังคายนาครั้งนี้ประกอบไปด้วย
1) การปฏิรูปพิธีกรรม ปรับเปลี่ยนการปฏิบัติทางศาสนาและพิธีกรรมให้เหมาะสมกับยุคสมัยและสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่มีความเชื่อทั่วไป
2) การส่งเสริมความสัมพันธ์กับศาสนาอื่น ปรับทัศนคติของพระศาสนจักรคาทอลิกที่เคยเป็นฝ่ายปิดกั้น หรือมีท่าทีขัดแย้งกับศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะศาสนายิวและศาสนาอิสลาม
3) การเสริมสร้างบทบาทของประชาชนในพระศาสนจักร เน้นบทบาทของประชาชนในชีวิตพระศาสนจักร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกิจการต่าง ๆ ของพระศาสนจักร
4) การตอบสนองต่อปัญหาสังคม พระศาสนจักรต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของตน เช่น ความยากจน ความอยุติธรรม และปัญหาสันติภาพ
เอกสารหลักสำคัญหลังจากการสังคายนาวาติกันที่ 2
แบ่งออกเป็นเอกสารสำคัญหลัก 7 ฉบับ และ เอกสารสำคัญรอง 9 ฉบับ รวม 16 ฉบับ
เอกสารสำคัญหลัก (Major documents) มี 7 ฉบับ ได้แก่
1. พระธรรมนูญด้านพระสัจธรรมเรื่องพระศาสนจักร (Dogmatic Constitution on the Church - Lumen Gentium) พระศาสนจักรเป็นพระธรรมล้ำลึกหรือศีลศักดิ์สิทธิ์ ประชากรของพระเจ้าทั้งหมด ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ตามลำดับชั้น อำนาจของพระสันตะปาปาและพระสังฆราชมีไว้เพื่อรับใช้ฐานันดรต่าง ๆ พระสังฆราชเป็นเพียงตัวแทนของพระสันตะปาปา และฆราวาสก็มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และโดยตรงในพันธกิจของพระศาสนจักร
2. พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (Pastoral Constitution on the Church in the Modern World - (Gaudium et Spes) พระศาสนจักรจะต้องอ่านเครื่องหมายสำคัญแห่งกาลเวลาและตีความโดยคำนึงถึงพระวรสาร พระศาสนจักรไม่ได้ดำรงอยู่เคียงข้างหรือแยกตัวออกจากโลก พระศาสนจักรเป็นส่วนหนึ่งของโลก และพันธกิจคือการรับใช้ครอบครัวมนุษยชาติทั้งหมด เพื่อทำให้ประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น
3. พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยเรื่องสัมพันธภาพสากล (Decree on Ecumenism - Unitatis Redintegratio) เอกภาพของคริสตชนเป็นเรื่องของการฟื้นฟู ไม่ใช่การกลับคืนสู่กรุงโรม ชุมชนคริสตชนอื่นๆ คือพระศาสนจักรภายในพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า และทั้งสองฝ่ายจะต้องถูกตำหนิหากแยกตัวออกจากกัน
4. สังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Constitution on the Sacred Liturgy - Sacrosanctum Concilium) พระศาสนจักรประกาศพระวรสารไม่เพียงแต่ด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย เนื่องจากประชากรของพระเจ้าทั้งหมดมีส่วนร่วมในการนมัสการนี้ เครื่องหมายต่าง ๆ เหล่านี้จึงต้องเข้าใจได้
5. สังฆธรรมนูญเรื่องการเผยความจริงของพระเจ้า (Dogmatic Constitution on Divine Revelation - Dei Verbum) พระวาจาของพระเจ้าสื่อสารผ่านพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจการสอนของพระศาสนจักร ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันและกำกับดูแลโดยพระจิตเจ้า ความเป็นจริงอันศักดิ์สิทธิ์โดยหลักการแล้วเปิดกว้างเสมอเพื่อการเติบโตในความเข้าใจ
6. แถลงการณ์เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา (Declaration on Religious Freedom - Dignitatis Humanae) ไม่มีใครถูกบังคับให้เป็นคริสตชนหรือรับความเชื่อคาทอลิก โดยในหลักการนี้เป็นการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพในการแสดงออกทางความเชื่อ
7. แถลงการณ์เรื่องความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับศาสนาต่าง ๆ ที่มิใช่คริสตศาสนา (Declaration on the Relationship of the Church to Non-Christian Religions - Nostrae Aetate) พระเจ้าตรัสผ่านศาสนาอื่นด้วย ดังนั้นเราจึงควรมีส่วนร่วมในการเสวนาและความร่วมมืออื่น ๆ กับศาสนาเหล่านั้น ชาวยิวมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระศาสนจักร พวกเขาไม่สามารถถูกตำหนิจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าได้ (ไม่ถูกตำหนิหากไม่เชื่อในพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน)
เอกสารสำคัญรอง (Minor documents) มี 9 ฉบับ ได้แก่
8. พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมทูตของพระศาสนจักร (Decree on the Church’s Missionary Activity - Ad Gentes) พระวรสารจะต้องได้รับการประกาศแก่ผู้ที่ไม่ใช่คริสตชนด้วยและเสมอ แต่ไม่ใช่ในฐานะความเป็นจริงทางวัฒนธรรมที่แปลกประหลาด (ต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย) การประกาศพระวรสารเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในพระศาสนจักร
9. แถลงการณ์เรื่องการแพร่ธรรมของฆราวาส (Decree on the Apostolate of the Laity - Apostolicam Actuositatem) คริสตชนฆราวาสมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกิจในโลกยุคปัจจุบัน
10. พระสมณกฤษฎีกาเรื่องคริสตจักรคาทอลิกตะวันออก (Decree on Eastern Catholic Churches - Orientalium Ecclesiarum) คริสตชนคาทอลิกตะวันออกหรือ "ร่วมกัน” (Uniate) อาจเป็นสะพานเชื่อมไปยังออร์โธดอกซ์ตะวันออก ความสมบูรณ์ของประเพณีตะวันออกในด้านพิธีกรรม จิตวิญญาณ และระเบียบวินัย จะต้องได้รับการฟื้นฟู
11. พระสมณกฤษฎีกาเรื่องการอภิบาลสัตบุรุษของพระสังฆราชในพระศาสนจักร (Decree on the Bishops’ Pastoral Office in the Church - Christus Dominus) พระสังฆราชเป็นผู้อภิบาลของพระศาสนจักรท้องถิ่นของตน และร่วมมือกับพระสังฆราชองค์อื่น ๆ ผ่านสภาสังฆราช และกับพระสันตะปาปาและพระสังฆราชองค์อื่น ๆ ทั้งหมด ผ่านทางคณะพระสังฆราช อำนาจที่มีมีไว้เพื่อรับใช้อยู่เสมอ
12. พระสมณกฤษฎีกาเรื่องการปฏิบัติงานและชีวิตพระสงฆ์ (Decree on the Ministry and Life of Priests - Presbyterorum Ordinis) พระสงฆ์เป็นสมาชิกของหมู่คณะสงฆ์ในความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระสังฆราชของตน และในการทำงานร่วมกับพระสังฆราชเพื่อเสริมสร้างพระวรกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า
13. พระสมณกฤษฎีกาเรื่องการอบรมเพื่อเป็นพระสงฆ์ (Decree on Priestly Formation - Optatam Totius) จะต้องมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างการฝึกอบรมสามเณรกับสถานการณ์อภิบาล
14. พระสมณกฤษฎีกาเรื่องการปรับปรุงและฟื้นฟูชีวิตนักบวช (Decree on the Appropriate Renewal of the Religious Life - Perfectae Caritatis) การฟื้นฟูชีวิตนักบวช ในเรื่องความยากจน ความบริสุทธิ์ และการเชื่อฟัง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระวรสาร จุดประสงค์ดั้งเดิมของหมู่คณะ (Charisma) และสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย
15. แถลงการณ์เรื่องการจัดการศึกษาแบบคริสตชน (Declaration on Christian Education - Gravissimum Educationis) การศึกษาจะต้องมีมนุษยธรรมในวงกว้างและทันสมัย โดยคำนึงถึงวุฒิภาวะส่วนบุคคลและความรับผิดชอบต่อสังคม
16. พระสมณกฤษฎีกาเรื่องสื่อมวลชน (Decree on the Instruments of Social Communication - Inter Mirifica) พระศาสนจักรจะต้องระมัดระวังเรื่องสื่อมวลชน เนื่องจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิด แต่ต้องใช้สื่อตามความเหมาะสมด้วย
ผลของการสังคายนาวาติกันที่ 2 ทำให้พระศาสนจักรได้ปรับเปลี่ยนตนเองหลายประการ ทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารงาน หลักการทำงานอภิบาล การแพร่ธรรมในโลกปัจจุบัน การแปลและการให้ความหมายพระคัมภีร์ การปรับปรุงพิธีกรรมให้มีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลาง สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย บทบาทของคริสตชนฆราวาสในพระศาสนจักร การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคริสตชนนิกายต่าง ๆ และผู้ที่มีความเชื่ออื่น การอบรมพระสงฆ์และนักบวชให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลก การศึกษาคาทอลิก การเปิดโลกทัศน์ของสื่อมวลชน และแม้ว่าจะผ่านมา 60 ปี (1935-2025) แล้วก็ตาม จิตตารมณ์ของสังคายนาวาติกันที่ 2 ก็ยังคงสดใหม่อยู่เสมอในปัจจุบัน