สังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
(Constitution on the Sacred Liturgy - Sacrosanctum Concilium)
ประกาศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1963
โดยพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6
พระศาสนจักรประกาศพระวรสารไม่เพียงแต่ด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย เนื่องจากประชากรของพระเจ้าทั้งหมดมีส่วนร่วมในการนมัสการนี้ เครื่องหมายต่าง ๆ เหล่านี้จึงต้องมีความหมาย มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง สามารถเข้าใจได้ มีการอธิบายความหมายของพระคัมภีร์ เทววิทยา ชีวิตของพระศาสนจักรในมิติต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมของทุกฐานันดรในพระศาสนจักร
พิธีกรรมก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2
1. เน้นบทบาทของพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีกรรมเป็นหลัก พระสงฆ์ 1 องค์ สามารถประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณได้ 1 ครั้งต่อ 1 วัน (การอวยพรศีลมหาสนิทจึงเป็นพิธีกรรมที่บรรดาสัตบุรุษสามารถร่วมได้ในเวลาอื่น หรือเวลาที่พวกเขาสะดวกในภายหลังหรือนอกพิธีบูชาขอบพระคุณ) พระสงฆ์จะใช้เวลาประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณประมาณ 20 นาที บรรดาสัตบุรุษจึงมีหน้าที่เพียงแค่การฟังสิ่งที่พระสงฆ์กล่าวเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ในวันฉลองพระสงฆ์จะต้องขับร้องบทเพลงภาษาลาตินด้วยตนเอง โดยมีเด็กช่วยมิสซาหรือคณะนักขับร้องช่วยขับร้องเป็นภาษาลาติน ในพระวิหารใหญ่ ๆ เราจึงสังเกตเห็นพระแท่นหรือวัดน้อยจำนวนมากมายล้อมรอบพระแท่นหลัก หรืออยู่ตามผนังของวัด เพื่อให้พระสงฆ์ 1 องค์ ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณของตนเอง ส่วนบรรดาสัตบุรุษก็สามารถเลือกฟังได้ตามใจชอบอยู่ภายนอกหรือบริเวณที่กั้นเอาไว้
2. บรรดาสัตบุรุษไม่มีส่วนร่วมในพิธีกรรม เป็นเพียงแค่ผู้ดู หรือผู้สังเกตการณ์ด้วยความเคารพเท่านั้น มีเพียงแค่เด็กช่วยมิสซาที่เป็นเด็กผู้ชายเท่านั้นที่เป็นผู้ช่วยพระสงฆ์ในพิธีกรรมบางส่วน เมื่อเสียงระฆังเริ่มพิธีดังขึ้น สัตบุรุษแต่ละคนก็จะสวดภาวนาตามรูปแบบที่ตนชอบ ส่วนมากก็จะเป็นการสวดสายประคำ เมื่อกระดิ่งตอนเสกศีลมหาสนิทดัง ก็จะพนมมือ หยุดการสวดภาวนาส่วนตัวเอาไว้ และตั้งใจกับพิธีกรรมที่พระสงฆ์และเด็กช่วยมิสซากำลังกระทำ สัตบุรุษไม่ได้มีส่วนร่วมในการสำนึกผิด บทสารภาพบาป การสวดบทข้าแต่พระบิดา การอ่านพระคัมภีร์ สิ่งที่บรรดาสัตบุรุษสามารถกระทำได้คือ การรับศีลมหาสนิทด้วยความเคารพ ซึ่งเข้าใจถูกต้องว่าเป็นทั้งพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าเป็นพระผู้ไถ่บาป ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์เพียงครั้งเดียวเพื่อไถ่บาปมนุษย์ทั้งมวล การรับพระพรจากพระจิตเจ้าที่ประทานมาให้ บรรดาสัตบุรุษชอบที่จะมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณล่าช้า และเมื่อรับศีลมหาสนิทแล้วก็จะรีบออกไปจากวัดทันที
4. พิธีกรรมมีความสง่างาม น่าเคารพ ชวนศรัทธา ศักดิ์สิทธิ์ มีการขับร้องบทเพลงเกรโกเรียนที่เป็นภาษาลาตินเท่านั้น
5. พระคัมภีร์และบทพิธีกรรมเป็นภาษาลาติน ไม่มีการเทศน์สอนสัตบุรุษเกี่ยวกับเทววิทยา พระคัมภีร์ ความหมายของพิธีกรรม กฎศีลธรรม หรือชีวิตของพระศาสนจักรในด้านต่าง ๆ แม้แต่ในวันอาทิตย์
6. บทอ่านจากหนังสือพระคัมภีร์อาจอ่านเป็นภาษาพื้นเมืองได้ในกรณีที่มีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาพื้นเมือง (ซึ่งมีน้อยมาก) บทอ่านในหนังสือพระคัมภีร์ยังมีไม่มาก จากพันธสัญญาเดิมมี 1% จดหมายในพันธสัญญาใหม่ หนังสือกิจการอัครสาวก และหนังสือวิวรณ์ มีประมาณ 11% และข้อความจากพระวรสารมีประมาณ 22%
7. บทเทศน์เกือบทั้งหมดเน้นเรื่องศีลธรรม การส่งเสริมชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์และดีงาม บทเทศน์สอนเกี่ยวกับเทววิทยาด้านต่าง ๆ ยังมีน้อย เช่น พระตรีเอกภาพ การรับเอากาย การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ พระจิตเจ้า ศีลศักดิ์สิทธิ์ บรรดาสัตบุรุษมีความรู้จากการสอนคำสอนในวัยเด็กเท่านั้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะถูกสอนด้านศีลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมในสมัยนั้น
8. วัดจะต้องถูกสร้างให้พระสงฆ์และบรรดาสัตบุรุษหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเวลาประกอบพิธีกรรม
จากสภานการดังกล่าว พระศาสนจักรจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนมาเป็นอันดับแรก ในการปฏิรูปพิธีกรรมที่ให้ความหมายกับชีวิต เน้นการมีส่วนร่วมของบรรดาสัตบุรุษ ความเข้าใจ การอ่านพระคัมภีร์ เทววิทยาต่าง ๆ กฎศีลธรรมคาทอลิก และชีวิตพระศาสนจักรด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สังคายนาวาติกันจึงออกเอกสารการปรับปรุงด้านพิธีกรรมนี้มาเป็นอันดับแรก โดยให้พระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางของทุกพิธีกรรม และพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มีศีลมหาสนิทเป็นบ่อเกิดและชีวิตของพระศาสนจักร (SC10)
พิธีกรรมหลังสังคายนาวาติกันที่ 2
1. พิธีบูชาขอบพระคุณมีพิธีศีลมหาสนิทที่มีความสำคัญสูงสุด และมีพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น บรรดาสัตบุรุษจึงจะต้องเตรียมตัวอย่างเหมาสม รู้ตัว เต็มใจ มากกว่าการมาร่วมพิธีตามกฎระเบียบ หรือเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์เท่านั้น และจะต้องได้รับประโยชน์ฝ่ายจิตวิญญาณจากการมาร่วมพิธีกรรม (SC11)
2. มีการปรับปรุงแก้ไขพิธีกรรม (แต่งขึ้นมาใหม่) โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ และอนุญาตให้ใช้ภาษาพื้นเมืองที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากสันตะสำนักแล้ว เพื่อความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณของบรรดาสัตบุรุษ
3. มีการประยุกต์ความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น (Inculturation) เช่น การแปลจารีตพิธีกรรมเป็นภาษาท้องถิ่น รวมถึงพระคัมภีร์ บทภาวนา หนังสือคำสอน บทเพลง และสามารถใช้เครื่องดนตรีหรือวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นมาใช้ในพิธีกรรมอย่างความเหมาะสมได้ (SC112, 116, 119 และ 120)
4. พระสงฆ์จะต้องอธิบายความหมายของพิธีกรรมต่าง ๆ ให้กับบรรดาสัตบุรุษได้เข้าใจ รวมถึงการอธิบายพระคัมภีร์ คำสอนของพระศาสนจักร กฎศีลธรรม ธรรมประเพณี และชีวิตของพระศาสนจักร (SC14)
5. สาระสำคัญของพิธีบูชาขอบพระคุณจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง เช่น บทเสกศีลมหาสนิท แต่ในส่วนอื่น ๆ ที่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถกระทำได้หากไม่ขัดแย้งกับคำสอนของพระศาสนจักรสากล เช่น การนั่ง การยืน การคุกเข่า การพนมมือ วิธีการประพรมน้ำเสก การถวายกำยาน การจัดดอกไม้ การใช้วัสดุในท้องถิ่นมาทำเป็นศาสนภัณฑ์ต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของพิธีกรรมจะต้องขออนุญาตจากสันตะสำนักเท่านั้น (SC21-22)
6. เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบรรดาสัตบุรุษ พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในการตอบรับ บทสดุดี บทสวด บทขับร้องสรรเสริญ บทเพลงสรรเสริญ ตลอดจนการกระทำ ท่าทาง และท่าทางของร่างกาย และในเวลาที่เหมาะสมควรนิ่งเงียบด้วยความเคารพ (SC30)
7. พิธีกรรมควรรักษาสาระสำคัญเอาไว้ โดย “มีความเรียบง่ายแต่มีเกียรติ” ควร “สั้นแต่ชัดเจน” และ “ไม่มีการกล่าวซ้ำที่ไม่มีประโยชน์” เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษได้เข้าใจธรรมชาติของคำสอนเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น (SC34 และ 50)
8. ส่งเสริมการอ่านและการอธิบายพระคัมภีร์ให้มีมากขึ้นในพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ วันฉลองสำคัญ ควรมีการเทศน์สอนทุกครั้ง (SC51-52)
9. ภาษาลาติน ในส่วนที่เป็นพิธีบูชาขอบพระคุณ บทสวด บทเพลง พิธีกรรมต่าง ๆ ยังสามารถใช้ภาษาลาตินได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าบรรดาสัตบุรุษสามารถพูด หรือร้องเพลงร่วมกันเป็นภาษาละตินในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา (SC36 และ 54 )
เอกสารสังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Sacrosanctum Concilium) ได้ครบรอบ 61 ปี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2025 ที่ผ่านมา เราคิดว่าพระศาสนจักรได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด หรือจะพัฒนาต่อยอดไปได้อย่างไร ตามจิตตารมณ์ของเอกสารฉบับนี้
1. การมีส่วนร่วมของบรรดาสัตบุรุษในพิธีกรรม การตอบรับ การอ่านบทอ่าน ถือของถวาย เก็บถุงทาน ต้อนรับ ช่วยพิธีกรรมทั้งผู้ชายและผู้หญิง การร้องเพลง
2. ความเข้าใจของบรรดาสัตบุรุษต่อพิธีกรรม พระคัมภีร์ พิธีกรรม เทววิทยา ศีลธรรม คำสอนของพระศาสนจักร
3. การประยุกต์ความเชื่อเข้าสู่พิธีกรรม การแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาไทย บทสวดภาษาไทย คำศัพท์ที่ใช้ คำกลอน บทเพลงภาษาไทย การใช้วัสดุจากท้องถิ่นมาทำศาสนภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ลวดลาย สถาปัตยกรรม การจัดดอกไม้ อิริยาบทในพิธีกรรม การอธิบายเทววิทยาโดยใช้วัฒนธรรมไทย เช่น เทววิทยาข้าว การใช้ธูป
4. ประเด็นอื่น ๆ บทบาทของสตรีในพระศาสนจักร กฎศีลธรรมในวัฒนธรรมไทย ปัญหาเรื่องคำศัพท์ทางศาสนาอื่น ๆ
++++++++++0++++++++++