#การเดินทางแสวงบุญของวัดทั้งเจ็ดในกรุงโรม (The Seven Churches Pilgrimage)
การแสวงบุญของ 'วัดทั้งเจ็ด' ซึ่งเดิมเป็นแนวคิดของนักบุญฟิลิป เนรี (St. Philip Neri) ในศตวรรษที่ 16 เป็นหนึ่งในประเพณีโรมันที่เก่าแก่ที่สุด โดยจะต้องเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 25 กม. ซึ่งตัดผ่านทั่วทั้งเมือง ไปจนถึงชนบทของโรมัน สุสานใต้ดิน และแวะที่พระมหาวิหารอันงดงามบางแห่งของกรุงโรม
1. #พระมหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน (St Peter's Basilica in the Vatican)
ตามประเพณี หลุมฝังศพซึ่งอัครสาวกเปโตรถูกฝังไว้หลังจากการตรึงกางเขนของท่านอยู่ที่นี่ บนจุดสูงสุดของเนินวาติกัน และ ณ จุดนี้ในศตวรรษที่ 4 จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ตัดสินใจสร้างวิหารแห่งนี้ เพื่ออุทิศให้กับนักบุญเปโตร
ในช่วงยุคกลางตอนปลาย สถานที่สักการะแห่งนี้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญหลักของโลกตะวันตก ในปี 1506 พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ตัดสินใจรื้อโครงสร้างเดิมเพื่อสร้างสักการะที่ใหญ่กว่าเดิม
ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์บางคน มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง และตกแต่งมหาวิหารอันน่าทึ่งแห่งนี้ เช่น บรามันเต (Bramante), ราฟาเอล (Raphael) และ ไมเคิลอันเจโล (Michelangelo) และอื่น ๆ อีกมากมาย ในปี 1629 เบอร์นีนี (Bernini) ได้ตกแต่งภายในพระมหาวิหารทั้งหลังจนเสร็จสิ้น ทำให้เกิดรูปลักษณ์ในปัจจุบัน
2. #พระมหาวิหารแม่พระแห่งกรุงโรม (Basilica of Saint Mary Major)
พระมหาวิหารแม่พระแห่งกรุงโรม เป็นสักการะสถานของพระนางมารีที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในพระศาสนจักรตะวันตก และเป็นพระมหาวิหารแห่งเดียวของพระสันตะปาปาที่ยังคงรักษารูปลักษณ์ภายนอกแบบคริสตศาสนาในยุคแรกเอาไว้
แม้ว่าจะได้รับการตกแต่งและขยายออกไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้รับผิดชอบทุกคนยังคงเคารพรูปแบบและการออกแบบดั้งเดิม ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า
ตามเรื่องราวดั้งเดิมของก่อตั้ง พระนางมารีย์ทรงปรากฏในความฝันต่อขุนนางที่ชื่อยอห์น และพระสันตะปาปาลิเบเรียส (Pope Liberius) ทรงแนะนำให้เขาสร้างวัดเพื่ออุทิศให้กับพระนาม ณ จุดที่เกิดอัศจรรย์หิมะตกลงมาในฤดูร้อน เมื่อเช้าวันที่ 5 สิงหาคม 358 มีผู้พบเห็นหิมะบนเนินเขาเอสควิลีน (Esquiline Hill) ซึ่งเป็นเนินเขาที่สูงที่สุดในกรุงโรม ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่ของวัดที่จะถูกสร้างขึ้นทั้งหมด
ทุกวันนี้ หิมะตกอันน่าอัศจรรย์นั้นยังคงได้รับการระลึกถึง เมื่อกลีบกุหลาบสีขาวร่วงลงมาจากเพดานของพระมหาวิหารในระหว่างพิธีสวดทำวัตรเย็นในวันฉลอง ประเพณีนี้ทำให้พระมหาวิหารแห่งนี้มีความพิเศษ โดยกำหนดให้ที่นี่เป็นอนุสรณ์สถานของพระนางมารีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระมารดาของพระเจ้าทรงปรารถนาและวางแผนให้สร้างขึ้น
พระมหาวิหารเป็นที่ตั้งของสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของพระแม่มารีย์ นั่นคือ ภาพวาดพระนางมารีย์แห่งความรอดพ้นของชาวโรม (Salus Populi Romani) ซึ่งจากธรรมประเพณีถือว่างานศิลปะนี้ เป็นฝีมือของนักบุญลูกาผู้นิพนธ์พระวรสาร และองค์อุปถัมภ์ของจิตรกร
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงกำหนดให้การเดินทางอภิบาลต่างประเทศของพระองค์ อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระรูปนี้ โดยแวะสวดภาวนาก่อนที่พระองค์จะเสด็จออกจากกรุงโรม และอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จกลับมา
พระธาตุเปลศักดิ์สิทธิ์ของพระกุมารเยซูเจ้า (The relic of the holy crib) ถูกวางไว้ใต้พระแท่นบูชาหลักของพระมหาวิหาร ทำให้พระมหาวิหารแห่งนี้ได้ชื่อว่า 'เบธเลเฮมแห่งตะวันตก' ที่นี่ มีการเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณเที่ยงคืนวันคริสต์มาสเป็นครั้งแรก โดยพระสันตปาปาจะมาที่นี่เพื่อสืบสานประเพณีดังกล่าวมานานหลายศตวรรษ
ในบรรดาโบราณวัตถุที่สำคัญอื่น ๆ ที่อยู่ภายในมหาวิหาร ได้แก่ พระธาตุของนักบุญมัทธิวอ้ครสาวก และนักบุญเยโรมผู้แปลพระคัมภีร์จากภาษากรีกมาเป็นภาษาลาติน
พระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 2 ทรงต้อนรับนักบุญซีริล (Saints Cyril) และนักบุญเมโทเดียส (Methodius) ในปี 867 และอนุมัติให้ใช้ข้อความภาษาสลาฟในพิธีกรรมได้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ความจริงที่ว่ามีพระสันตะปาปา 7 องค์ถูกฝังอยู่ในพระมหาวิหารแห่งนี้
3. #พระมหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน (Basilica of Saint John Lateran)
อาร์คบาซิลิกาของพระผู้ไถ่ และของนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างและผู้นิพนธ์พระวรสาร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อนาม พระมหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน ตั้งอยู่ในบริเวณเนินเขาเคเลียน (Caelian Hill)
เดิมที ก่อนการก่อสร้างพระมหาวิหาร ตระกูลลาเทรานีโบราณ (Laterani) เป็นเจ้าของพื้นที่นี้และอาศัยอยู่ใกล้เคียง บันทึกพงศาวดารแห่งทาสิทัส (Tacitus) ในปีคริสตศักราช 65 บันทึกการยึดที่ดินโดยจักรพรรดิเนโร เนื่องจากสมาชิกบางคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในแผนการต่อต้านเขา
ต่อมา ดินแดนดังกล่าวตกไปอยู่ในการครอบครองของเฟาสตา (Fausta) ซึ่งเป็นภรรยาของฟลาวิอุส วาเลริอุส คอนสแตนตินัส (Flavius Valerius Constantinus) ซึ่งหลังจากการสวรรคตของบิดาของเขาในปี 306 ก็ได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิ
จักรพรรดิคอนสแตนติน - โดยพระราชกฤษฎีกาแห่งมิลาน - ประทานเสรีภาพในการนับถือศาสนาให้กับบรรดาคริสตชนในปี 313 เพื่อให้คริสตจักรที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่มีสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเฉลิมฉลอง (พิธีบูชาขอบพระคุณ) พระองค์จึงมอบที่ดินของที่ดินลาเตรันแก่พระสันตะปาปาเมลคิอาเดส (Pope Melchiades) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสินสอดของภรรยาของเขา เพื่อที่พระสันตะปาปาจะได้สร้างวัดขึ้นนั่น
พระมหาวิหารแห่งนี้ได้มีพิธีเปิดและเสกอย่างเป็นทางการในปี 324 โดยพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 1 (Pope Sylvester I) และอุทิศให้กับพระผู้ไถ่ ต่อมา ในศตวรรษที่ 9 พระสันตะปาปาเซอร์จิอุสที่ 3 (Pope Sergius III) ยังได้อุทิศอุทิศให้กับนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้าง และในศตวรรษที่ 12 พระสันตะปาปาลูเซียสที่ 2 (Pope Lucius II) ได้เพิ่มนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารไปอีกชื่อหนึ่ง
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ถึงศตวรรษที่ 14 เมื่อพระสันตะปาปาย้ายที่ประทับไปยังเมืองอาวิญง (Avignon) ประเทศฝรั่งเศส ลาเตรันยังคงความเป็นอาสนวิหารหลักของตำแหน่งสันตะปาปา จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ และเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตของพระศาสนจักรมาอย่างยาวนาน
ในปี 1378 ด้วยการเลือกตั้งเกรกอรีที่ 11 (Gregory XI) พระสันตะปาปาเสด็จกลับมายังกรุงโรม แต่พระสันตะปาปาทรงตัดสินใจย้ายความเป็นอาสนวิหารไปยังวาติกัน เนื่องจากลาเตรันอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก
ในปี 1650 พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 (Innocent X) ทรงรับหน้าที่บูรณะพระมหาวิหารทั้งหมด โดยมอบหมายงานให้กับฟรานเชสโก บอร์โรมินี (Francesco Borromini) ศิลปินชื่อดังในขณะนั้น
4. #พระมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง (Basilica of Saint Paul Outside the Walls)
หลังจากคำสั่งของมิลานในปี 313 ซึ่งให้เสรีภาพแก่คริสตชนในการนับถือศาสนา จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ตัดสินใจบริจาคมหาวิหาร 2 แห่งให้กับวัดที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นบนหลุมศพของนักบุญเปโตรและเปาโล
อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 5 จักรพรรดิทั้งสามผู้ครองราชย์ในสมัยนั้น ได้แก่ ธีโอโดเซียส (Theodosius) วาเลนติเนียนที่ 2 (Valentinian II) และอาร์คาดิอุส (Arcadius) เมื่อเห็นว่าผู้แสวงบุญหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น มากเกินกว่าที่พระมหาวิหารดั้งเดิมจะรับมือได้ จึงต้องสร้างอาคารที่ใหญ่ขึ้น ในการทำเช่นนั้น การวางแนวของพระมหาวิหารก็เปลี่ยนไปโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
เฉพาะในปี 1854 เท่านั้นที่พระสันตปาปาปิอุสที่ 9 (Pius IX) ทรงเปิดพระมหาวิหารหลังปัจจุบันซึ่งมีสายโซ่ ซึ่งตามประเพณีเชื่อว่าได้มัดอัครสาวกเปาโลไว้กับทหารโรมันที่เฝ้าดูเขาในขณะที่ท่านถูกจำคุกเพื่อรอการพิจารณาคดี
5. #พระวิหารนักบุญลอเรนซ์นอกกำแพงเมือง (Basilica of Saint Lawrence outside the Walls)
ในปี 258 จักรพรรดิวาเลเรียนได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ประหารพระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกรทั้งหมด ในบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคือนักบุญลอเรนซ์ สังฆานุกรเชื้อสายสเปน ซึ่งพระวิหารแห่งนี้อุทิศให้และบรรจุพระธาตุของท่านไว้
ตามประเพณีเล่าว่านักบุญลอเรนซ์ถูกสังหารบนตะแกรงเหล็กที่ลุกเป็นไฟ ตรงกับจุดที่จักรพรรดิคอนสแตนตินสร้างพระวิหารไว้ในปัจจุบัน
พระวิหารหลังปัจจุบันเป็นการผสมผสานระหว่างโครงสร้างสองหลังก่อนหน้านี้ โดยหลังหนึ่งสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 6 และอีกหลังหนึ่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 13
พระวิหารแห่งนี้ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาได้รับการสร้างขึ้นใหม่จากซากปรักหักพัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังจำนวนมากสูญหายไปในการบุกโจมตี ในขณะที่ส่วนที่เหลือของพระวิหารโบราณถูกมารวมกันไว้ที่สุสานเวราโน (Verano Cemetery) ในปัจจุบัน
6. #พระวิหารไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ในเยรูซาเล็ม (Basilica of the Holy Cross in Jerusalem)
ในสมัยจักรพรรดิออกุสตุส (Emperor Augustus) บริเวณที่พระวิหารตั้งอยู่ในปัจจุบันเป็นเขตที่อยู่อาศัยบริเวณชานเมือง ต่อมาในศตวรรษที่ 3 ได้มีการสร้างที่ประทับของจักรพรรดิคอนสแตนตินบนเนื้อที่นี้
เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินย้ายเมืองหลวงของจักรวรรดิไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล พื้นที่ดังกล่าวยังคงอยู่ในมือของนักบุญเฮเลน ผู้เป็นมารดาของพระองค์ ซึ่งตัดสินใจเปลี่ยนส่วนหนึ่งของที่พักอาศัยให้เป็นห้องอธิษฐานภาวนาสำหรับเก็บพระธาตุของไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเธอเองได้พบที่เขากัลวารีโอ ระหว่างที่เธอ แสวงบุญไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี 325 รอบ ๆ วัดเดิมมีการสร้างพระวิหารในปัจจุบันขึ้นในภายหลัง
มีการบูรณะและดัดแปลงอาคารต่าง ๆ มากมายตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานของพระคาร์ดินัลเมนโดซา (1478-1495) ซึ่งในระหว่างนั้น มีการพบหีบศพที่มีป้ายไม้ที่เขียนข้อหาของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน (Titulus Crucis) อยู่ในส่วนโค้ง (apsidal arch)
ตั้งแต่แรกเริ่ม พระวิหารได้รับการพิจารณาว่าเป็นศูนย์รวมวัตถุโบราณ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการปกป้องและรักษาโบราณวัตถุอันล้ำค่าแห่งพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า มันถูกเรียกว่า "ในกรุงเยรูซาเล็ม" เพราะมีการนำดินจากเขากัลวารีโอจากกรุงเยรูซาเล็มมาบรรจุไว้ในรากฐานของพระวิหารแห่งนี้
7. #พระวิหารนักบุญเซบาสเตียนนอกกำแพงเมือง (Basilica of Saint Sebastian outside the Walls)
จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงสั่งให้สร้างพระวิหารแห่งนี้ขึ้นในศตวรรษที่ 4 โดยตั้งชื่อให้ว่า พระวิหารแห่งอัครสาวก (Basilica Apostolorum) เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญเปโตรและเปาโลอัครสาวก ซึ่งพระธาตุของท่านทั้งสองได้ถูกเก็บไว้ที่นี่ประมาณ 50 ปีในช่วงการเบียดเบียนของจักรพรรดิวาเลอเรียน ในศตวรรษที่ 3
ต่อมาชื่อของพระก็เปลี่ยนเป็นนักบุญเซบาสเตียน เพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารที่เสียชีวิตในสมัยของจักรพรรดิดิโอคลีเชียน ซากศพของทหารเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้ในสุสานใต้ดินที่อยู่ติดกัน กลายเป็นจุดศูนย์กลางของความศรัทธาต่อนักบุญที่เพิ่มมากขึ้น
การก่อสร้างวัดประจำชุมชน (parish) เกิดขึ้นในปี 1714 โดยพระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ 11 ผู้มอบหมายให้วัดนี้ดูแลโดยนักบวชคณะซิสเตอร์เซียน (Cistercians) ต่อมาในปี 1826 พระสันตะปาปาลีโอที่ 12 ได้ทรงมอบหมายให้นักบวชคณะฟรังซิสกันภราดาน้อยเป็นผู้ดูแลมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1957 นักบุญเซบาสเตียนได้เป็นผู้อุปถัมภ์ของพนักงานจราจรของอิตาลี (Italian Parking Wardens) ตามคำสั่งของพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 จนถึงทุกวันนี้ ในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันฉลองนักบุญเซบาสเตียน เจ้าหน้าที่จราจรของกรุงโรมจะมาร่วมพิธีเฉลิมฉลอง ณ วิหารแห่งนี้