(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
บทความจากวารสารมิตรสงฆ์
CATHOLICISM
ตอนที่ 1
โดย ล.เทียนชัย สมานจิต
พี่น้องมิตรสงฆ์ที่รัก
ปีที่แล้วได้รับหนังสือจากอเมริกาเล่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “CATHOLICISM : JOURNEY TO THE HEARTH OF THE FAITH” เป็นผลงานของ ROBERT BARRON อาจารย์บ้านเณรใหญ่ที่อเมริกาและคณะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พยายามให้คำตอบว่า พระศาสนจักรคาทอลิกเป็นอะไร เชื่ออะไร เป็นธรรมประเพณีที่มีชีวิตชีวาอายุ 2000 กว่าปี เป็นวิถีดำเนินชีวิต เป็นความสัมพันธ์ เป็นพระธรรมล้ำลึก... ผู้เขียนพยายามศึกษาพิจารณาปัญหาต่างๆ และนำพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อมาสู่ชีวิตชนรุ่นใหม่ โดยเริ่มจากการอวตารบังเกิดเป็นมนุษย์ของบุตรพระเจ้า คือ พระเยซูคริสตเจ้า : ชีวิตและคำสอนของพระองค์ อธิบายคำสอน ส่วนประกอบต่างๆ ของพระศาสนจักรคาทอลิก : ศีลศักดิ์สิทธิ์ คารวกิจ การภาวนา แม่พระ บรรดานักบุญ พระหรรษทาน ความรอด นรก สวรรค์ เป็นการเสนอพระศาสนจักรคาทอลิกแก่โลก เป็นความพยายามอธิบายเท่าที่เคยมีมา สิ่งที่นักบุญยอห์นปอลที่ 2 พระสันตะปาปา เรียกว่า “การประกาศพระวรสารกันใหม่” อ่านแล้วน่าสนใจ จึงขอสรุปสิ่งดีๆ ของหนังสือเล่มนี้มาแบ่งปันให้พี่น้องมิตรสงฆ์ทราบเป็นการประดับความรู้ คงจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติภารกิจของพระบิดาอีกด้วย
ท่านบุญราศี พระคาร์ดินัล เฮนรี่ นิวแมนแห่งประเทศอังกฤษ เป็นแองกลิกัน ซึ่งกลับใจมาเป็นคาทอลิก ได้กล่าวไว้ว่า “THE GREAT PRINCIPLE ของ CATHOLICISM คือ THE INCARNATION (การบังเกิดเป็นมนุษย์ของบุตรพระเจ้า) หมายความว่า พระเจ้ามิได้แยกตัวอยู่บนสวรรค์ แต่มาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับโลกมนุษย์ “พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา “ (ยน 1:14) ความเชื่อของคริสตชนคือ พระเจ้ามาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์บังเกิดใหม่เป็นพระเจ้า มนุษย์ถูกลิขิตไว้ให้เป็นพระเจ้า “เป็นสิ่งน่าพิศวงและน่าสะพรึงกลัว”
ในเทศกาลสมโภชพระคริสตสมภพ น่าที่เราจะพิจารณารำพึงไตร่ตรองถึง INCARNATION ซึ่งเป็นหลักยิ่งใหญ่ในพระศาสนจักรคาทอลิกของเรา ศูนย์กลางพระศาสนจักรของเรา คือ พระเจ้ากลายเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา ทรงบังเกิดเป็นพระกุมาร มีผ้าพันกาย นอนอยู่ในรางหญ้า ในถ้ำเลี้ยงสัตว์ที่เบธเลเฮม เมืองเล็กๆ แห่งยูดา เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอียิปต์ เจริญชีวิตเงียบๆ 30 ปี ที่นาซาเร็ธ เป็นลูกช่างไม้ ออกเทศน์สอนเป็นเวลา 3 ปี ทำภารกิจของพระบิดา โดยประกาศว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด (มก 1:15) ทรงรักษาคนโรคเรื้อน คนป่วย คนอัมพาต คนถูกผีสิง ยกบาป ทรงทวีขนมปัง ทรงประณามพวกฟารีซีและคัมภีราจารย์ที่ถือศาสนาแต่เพียงภายนอก ทรงประกาศว่าพระองค์มิได้มาเพื่อทำลาย แต่มาทำให้สมบูรณ์ ทรงเน้นบัญญัติแห่งความรัก ความเมตตา ไม่ใช่เคร่งถือแต่ความยุติธรรม การแก้แค้น เช่น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน บรรผู้ใหญ่ทางศาสนายิว ถือว่าพระเยซูเป็นศัตรูเป็นคู่แข่งแย่งชิงประชาชน จึงหาวิธีใส่ร้าย กำจัดพระองค์และจัดการประหารชีวิต โดยตรึงพระองค์กับไม้กางเขน แต่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ ชนะความตาย ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า บรรดาสาวกของพระองค์ออกไปทั่วโลกตามบัญชาของพระอาจารย์ ประกาศข่าวดีนี้ว่า “พระเยซูคริสตเจ้าทรงรับทรมาน สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ” ซึ่งเป็นสิ่งเหลือเชื่อ ไม่น่าเชื่อ แต่เป็นความจริง เป็นความยินดี และความหวังของเรามนุษย์ทุกคน
มหาบุญลาภ : คำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า ที่จริงศูนย์กลางของความเชื่อคริสตชนอยู่ที่องค์พระเยซูคริสเจ้าเอง มิใช่อยู่ที่คำสอนของพระองค์ คริสตชนแรกๆ เข้าใจ จดจำและเผยแผ่คำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นคำสอนที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ทวนกระแสสังคม แต่เป็นข่าวดี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส จึงให้ชื่อพระสมณสารว่า “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” เปโตรตอบพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ เราจะไปหาใคร พระองค์ทรงมีพระวาจาทรงชีวิต” (ยน 6:68) เพื่อที่จะเข้าใจคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าให้เราเริ่มที่บทเทศน์บนภูเขา ซึ่งเป็นเหมือนบทสรุปคำสอนของพระองค์ก็ว่าได้ พระวรสารโดยนักบุญมัทธิว ใช้คำกรีก “MAKARIOS” แต่ก่อนแปลเป็นภาษาไทยว่า “มหาบุญลาภ” ปัจจุบันใช้คำ “ความสุข” ให้เราพิจารณา “ความสุข” 2 ประการ ที่ให้คำอธิบายน่าสนใจ ประการแรก “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” มีใจยากจนหมายความว่า มีใจขัดสน ต้องพึ่งพระเจ้าตลอดเวลา การมีใจยากจนหมายถึงการสละตัดใจจากวัตถุ สนใจพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นเป้าหมายสุดท้าย การที่บุตรพระเจ้าเลือกเกิดเป็นคนยากจน เพื่อเป็นเพื่อนของคนจน เพื่อให้เราเลือกอยู่เคียงข้างคนจน พระศาสนจักรต้องเป็นของคนจน อยู่เพื่อคนจน อยู่กับคนจน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ไม่อยากเห็นพระศาสนจักรที่ร่ำรวย ประการที่สอง “ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม” เรากระหายสิ่งมากมายซึ่งเป็นเรื่องรอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระประสงค์ของพระเจ้า เช่น ความชอบธรรม นักบุญออกัสติน กล่าวว่า เราหันเหจากพระผู้สร้างไปหาสิ่งสร้าง เรารู้สึกมีความกระหายพระเจ้าในตัวเรา แต่เราพยายามทำให้เราอิ่มด้วยสิ่งสร้างแทนพระเจ้า นักบุญโทมัสอาไควนัส กล่าวว่า สิ่งจอมปลอมแทนพระเจ้ามี 4 อย่าง คือ ทรัพย์สิน ความสนุกสนาน อำนาจ และเกียรติยศ นักบุญออกัสตินเขียนไว้ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ได้ทรงสร้างข้าพเจ้าทั้งหลายมาเพื่อพระองค์ ฉะนั้นดวงใจของข้าพเจ้าทั้งหลายไม่มีความสงบจนกว่าจะได้พักผ่อนในพระองค์”
นักบุญโทมัสอาไควนัส กล่าวว่า หากท่านอยากเห็นแบบอย่างของความสุข(มหาบุญลาภ) 8 ประการ ให้ท่านมองดูพระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน หากท่านอยากมีความสุข ให้ท่านประมาทสิ่งที่พระเยซูเจ้าประมาทบนไม้กางเขน และรักสิ่งที่พระองค์ทรงรักบนไม้กางเขน พระองค์ประมาทการตัดสินใจ 4 อย่าง คือพระองค์สละตัดใจจากทรัพย์สินของโลก พระองค์ถูกเปลี้องเสื้อผ้า พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน ไม่สามารถคว้าสิ่งใด พระองค์สละตัดใจจากความสนุกสนานบนไม้กางเขน พระองค์ผ่านการเข้าตรีทูต ความทุกข์ทรมานของร่างกาย พระองค์ยังได้มีประสบการณ์ ความทุกข์ทรมานทางจิตวิทยาและจิตใจ จนตรัสว่า : “ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” ที่สุดบนไม้กางเขนพระองค์สละตัดใจจากการนับหน้าถือตาจากผู้อื่น
หนทางสู่การไม่ใช้ความรุนแรง รักศัตรู “ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน” (มธ 4:43-44) เพื่อที่จะเข้าใจคำสอนอย่างถอนรากนี้ เราต้องชัดกับสิ่งที่พระเยซูเจ้าหมายถึง เกี่ยวกับความรัก “AGAPE” ความรักไม่ใช่ความรู้สึก แต่เป็นความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ความรักศัตรูเป็นการทดสอบความรักที่แท้จริง เพราะไม่หวังให้ศัตรูตอบรัก เพราะฉะนั้นพระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน จะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนนอกศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ” (มธ 5:46-47) พระเป็นเจ้าทรงรักคนที่รักพระองค์และคนที่เกลียดพระองค์ พระองค์ทรงรักสหายของพระองค์และศัตรูของพระองค์ พระองค์ยังกล่าวว่า “ท่านได้ยินคำกล่าวว่า ตาต่อตา และฟันต่อฟัน แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า อย่าได้ตอบคนชั่ว ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย” (มธ 5:38-39) ท่านมหาตมะคันที กล่าวว่า : “an eye for an eye makes the whole world blind” คำตอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ หนี หรือ ยอม แบบอย่างที่ชัดเจนในสมัยของเราก็คือ คุณแม่เทเรซา นักบุญแหงสลัมกัลกัตตา อุ้มเด็กเล็กๆ คนหนึ่งไปที่ร้านขายขนมปัง ขอขนมปังให้เด็กที่กำลังหิว เจ้าของร้านถ่มน้ำลายรดหน้าคุณแม่เทเรซา แต่คุณแม่เทเรซาไม่หวั่นไหว ตอบอย่างใจเย็นว่า “ขอบคุณสำหรับของขวัญที่ให้ฉัน แต่คุณมีอะไรบ้างสำหรับเด็กคนนี้” –เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1979 นักบุญยอห์นปอลที่ 2 พระสันตะปาปา ถวายบูชามิสซาที่จัตุรัสกลางกรุงวอซอร่วมกับประชาชนหลายแสนคนพร้อมกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ พระองค์เทศน์เรื่องพระเจ้า เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนซึ่งบาดใจคอมมิวนิสต์มาก ประชาชนเริ่มร้องเพลง “เราต้องการพระเจ้าๆๆ” ไม่หยุดเป็นเวลา 15 นาที พระสันตะปาปาหันไปทางรัฐบาล เหมือนจะถามว่า “ได้ยินไหม” นี่เป็นตัวอย่างของการไม่ใช้ความรุนแรง (ข้อสังเกตเพิ่มเติม : นักบุญยอห์นที่ 23 พระสันตะปาปาใช้คำ “ชีวิต” มากกว่าหมด บุญราศีเปาโล ที่ 6 พระสันตะปาปาใช้คำ “พระศาสนจักร” มากกว่าหมด ส่วนนักบุญยอห์นปอลที่ 2 พระสันตะปาปาใช้คำ “พระเจ้า” มากกว่าหมด
ลูกสุรุ่ยสุร่าย เรื่องอุปมานี้น่าจะชื่อว่า "บิดาผู้มีใจเมตตากรุณา" มากกว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ภาพของพระบิดาเจ้าในสวรรค์เป็นผู้มีใจดีเมตตา
ปัญหาของความชั่ว ถ้าพระเจ้ามีอยู่จริง ทำไมเกิดความชั่วมากมาย คอร์รัปชั่น ความทุกข์ทรมานในโลก นักปรัชญาอังกฤษผู้หนึ่งอ้างว่า ถ้ามีพระเจ้าซึ่งรู้ทุกอย่าง ทรงฤทธิ์ทุกอย่าง หวังดีทุกอย่าง คงไม่มีความชั่วร้าย ปัจจุบันหลายคนบอกว่า พระเจ้าดีแสนดี รู้ทุกอย่าง เห็นใจทุกอย่าง แต่ไม่ทรงฤทธิ์ ยับยั้งไม่ได้ สุดท้ายเพื่อตอบปัญหาความชั่ว เลยอ้างว่าความชั่วไม่มี หรือว่าพระเจ้าไม่มี นักบุญออกัสติน นักบุญโทมัส และนักเทววิทยาอื่นๆ ต่างให้คำตอบว่า พระเจ้าอนุญาตให้เกิดความชั่วเพื่อจะประทานสิ่งที่ดีกว่า เรื่องของย็อบก็เป็นคำตอบที่ดี พระเจ้าเป็นความรัก พระบุตรสุดที่รักของพระบิดา มาอวตารเป็นมนุษย์ในองค์พระเยซูเจ้า และพระจิต ความรักที่หายใจเข้าออกระหว่างพระบิดาและพระบุตร เสด็จมาพำนักในพระศาสนจักร พันธกิจของพระศาสนจักร ก็คือ นำพระเจ้าที่เป็นความรักเข้าไปในโลกให้เป็นจริงขึ้นมา
(อ่านต่อฉบับหน้า)
CATHOLICISM ตอนที่ 2 ถัดไป >|