CATHOLICISM ตอนที่ 3

 (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

บทความจากวารสารมิตรสงฆ์

CATHOLICISM 
ตอนที่ 3

โดย ล.เทียนชัย สมานจิต

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

        EKKLESIA : พระศาสนจักร

        พระเป็นเจ้าในพระคัมภีร์เป็นพลังที่ก่อให้เกิดที่ชุมนุมใหญ่ ชุมชนแห่งความรัก แห่งเอกภาพในความแตกต่าง พระเป็นเจ้าทรงเรียกอาบราฮัมให้เป็นบิดาของประชากรอิสราเอล ลักษณะของชาติอิสราเอลมิใช่เพื่อต่อสู้โลก แต่เพื่อโลกโดยเฉพาะ พระเยซูเจ้าเป็นอิสราเอลที่สมบูรณ์ พระองค์เป็นผู้เรียกชุมนุมสูงสุด ดังที่พระองค์ตรัสว่า "เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา" (ยน. 12:32) เพื่อให้เข้าใจดีขึ้น ให้เราไปดูการสนทนาของพระเยซูเจ้ากับบรรดาศิษย์ พระองค์ถามว่า "คนทั้งหลายว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร... ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร" ซีมอน เปโตร ทูลตอบว่า "พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต" พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า : "ซีมอน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุข... ท่านเป็นศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา... " (มธ. 16:16-18) คำพระศาสนจักร กรีกใช้คำ EKKLESIA ซึ่งมาจากคำ EK-KALEIN (แปลว่า เรียกออกมาจาก) เราอาจจะถามว่า : "ใครเรียก? ถูกเรียกมาจากอะไร? และถูกเรียกมาเพื่ออะไร?" เปาโลเขียนไว้ว่า "ท่านถูกเรียกให้มาเป็น APOSTLE (อัครสาวก) ของพระคริสตเยซูตามพระประสงค์ของพระองค์" (1กธ. 1:1) APOSTLE เป็นคำกรีกมาจากคำ APOSTELEIN (แปลว่า ส่งไป) - ประชากรของพระศาสนจักรถูกเรียกมาจากอะไร? ถูกเรียกมาจากโลก รูปแบบของพระศาสนจักรจากพระคัมภีร์ยังหมายถึงสำเภาโนอาห์ (สถานที่ปลอดภัย) เมื่อน้ำลดแล้วโนอาห์ก็ปล่อยสัตว์ทั้งหลายออกหมด... ฉะนั้น ในสมัยกลางสถาปนิกจึงออกแบบอาสนวิหารเหมือนสำเภาเรือใหญ่ เอกสารพระสังคายนาวาติกันที่สองพูดถึงทุกคนรับกระแสเรียกให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ต้องการให้คาทอลิกทุกคน ทุกอาชีพ นำความศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับในพระศาสนจักรเข้าไปในพื้นที่เฉพาะทางต่างๆ ของโลก ประสงค์จะเห็นคริสตชนเป็นเหมือนเชื้อแป้ง สามารถเปลี่ยนแปลงโลก รุกเข้าไปในโลก ไม่ใช่อยู่ในสำเภาต่อไป

        พระศาสนจักรหนึ่งเดียว ทุกวันอาทิตย์ คาทอลิกในโบสถ์ ยืนยันความเชื่อในบูชามิสซาขอบพระคุณว่า : "ข้าพเจ้าเชื่อในพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องจากอัครสาวก ปัจจุบันเรามักได้ยินพูดถึง UNITY IN DIVERSITY และ TOLERANCE พระศาสนจักรในพระสังคายนาวาติกันที่สองยอมรับสิ่งที่จริง ที่ดี ที่งามในศาสนาต่างๆ ที่มิใช่คริสตศาสนา ยืนยันว่ามีรัศมีแห่งแสงสว่าง เสียงสะท้อนของความจริงสมบูรณ์อยู่ในศาสนาต่างๆ เหล่านั้น วัด PANTHEON (พระเจ้าทุกองค์) ในกรุงโรมจักรพรรดิฮาเดรียน สร้างในศตวรรษที่สอง เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทั้งหลาย ได้เปลี่ยนสภาพเป็นสถานที่คารวะกิจของคริสตชน พระเยซูเจ้าภาวนาในการกินเลี้ยงคืนสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์ในโลกนี้ "ข้าพเจ้าภาวนามิใช่สำหรับคนเหล่านี้เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่จะเชื่อในข้าพเจ้าผ่านทางวาจาของเขาด้วย เพื่อให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน" (ยน. 17:20-21) และยังตรัสอีกว่า "เรายังมีแกะอื่นๆ ซึ่งไม่อยู่ในคอกนี้ เราต้องนำหน้าแกะเหล่านี้ด้วย แกะจะฟังเสียงของเรา จะมีแกะเพียงฝูงเดียว และผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว" (ยน. 10:16)

        พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ ที่มีหัวใจร้อนรนด้วยความรัก แต่มิได้หมายความว่าอวัยวะทุกส่วนศักดิ์สิทธิ์ นักบุญออกัสตินต่อต้านลัทธิโดนาตุสที่สอนว่า พระสังฆราช พระสงฆ์ที่ละทิ้งความเชื่อ ได้เสียพระหรรษทานของศีลบรรพชาไปแล้ว เพราะฉะนั้นไม่เหมาะสมที่จะเป็นประธานในพิธีกรรม หรือแจกศีลฯ พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ควรมีศาสนบริกรที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น นักบุญออกัสตินตอบโต้ว่า พระหรรษทานของพระคริสตเจ้าสามารถทำงานแม้โดยทางเครื่องมือที่ไม่เหมาะสม มิฉะนั้นบาปจะชนะหรรษทาน ซึ่งขัดต่อพระมหิทธานุภาพของพระเจ้า ตามคำสอนของนักบุญเปาโล : "เรามีขุมทรัพย์ในภาชนะดินเผา อำนาจทรงพลังมาจากพระเจ้า มิใช่มาจากเรา" (2กธ. :4,7)

        พระศาสนจักรคาทอลิก พระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าเรียกว่า CATHOLIC ซึ่งมาจากคำกรีก "KATA HOLOS" แปลว่าทั้งหมด หมายความว่ามีความครบครันทั้งภายในพระศาสนจักรและในระดับสากล พระศาสนจักรคาทอลิกมีของประทานทุกอย่างที่พระคริสตเจ้าต้องการให้ประชากรของพระองค์มี : พระวาจาของพระเจ้า พิธีกรรม เทววิทยา ตามธรรมเนียมประเพณี ศีลศักดิ์สิทธิ์ ศีลมหาสนิท แม่พระนักบุญ การสืบทอดจากอัครสาวก อำนาจของพระสันตะปาปา ศาสนจักรอื่นๆ ที่มิใช่คาทอลิกปฏิเสธอย่างใดอย่างหนึ่งของคุณสมบัติเหล่านี้ ก็ขาดความครบครัน หรือขาดความเป็นสากล ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าพระศาสนจักรออร์ธอดอกซ์และปรอเตสตันท์ขาดของประทานที่ดีกว่าของพระศาสนจักรคาทอลิก เช่นพระศาสนจักรออร์ธอดอกซ์เน้นฌานนิยมในพิธีกรรม หรือพระศาสนจักรปรอเตสตันท์มีการพัฒนาเน้นพระคัมภีร์เป็นศูนย์กลาง - อีกมิติหนึ่งของความเป็นคาทอลิกคือมุ่งสู่ภายนอก นั่นคือการประกาศพระวรสารแก่ประชาชาติ การรวมมนุษยชาติทั้งหมด เทียบวันเปนเตกอสเต บรรดาอัครสาวกพูดภาษาต่างๆ ในสมัยกลาง นักบุญอันเซสโมเกิดในอิตาลี เป็นอธิการฤๅษีในฝรั่งเศส และจบชีวิตเป็นอัครสังฆราชของแกนเตอร์บุรีในอังกฤษ นักบุญโทมัส อาไควนัส ชาวอิตาเลียน รับการศึกษาในเยอรมันนี เป็นอาจารย์มีชื่อระดับโลกที่กรุงปารีส นักบุญยอห์นปอลที่สอง พระสันตะปาปา ด้วยจิตตารมย์เดียวกัน ตั้งวันเยาวชนโลก ปี ค.ศ.1980 เรียกเยาวชนทั่วโลกเพื่อภาวนา เพื่อเฉลิมฉลอง ธงและเพลงประจำชาติยังรักษาอัตลักษณ์ไว้ แต่พระองค์ต้องการให้แต่ละคนตระหนักว่า ตนเป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่เหนือแต่ละชาติ เป็นอวัยวะของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า เป็นชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์กับนักบุญยอห์นปอลที่สองพระสันตะปาปา ในวันเยาวชนโลกที่กรุงมะนิลาในปี ค.ศ.1995 เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นคาทอลิกของพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า แม้นักบุญยอห์นปอลที่สองพระสันตะปาปา ออกสมณสาสน์ DOMINUS JESUS ซึ่งเสนอคำสอนคาทอลิกตามธรรมประเพณี ว่า พระเยซูคริสตเจ้าเป็นท่อธารแต่ผู้เดียวของความรอด คำตอบที่ดีที่สุดก็คือ ทุกศาสนา ทุกความเชื่อ ก็มีส่วนในความบริบูรณ์แห่งของประทานของพระคริสตเจ้า มีความสัมพันธ์กันโดยปริยาย เช่น คาทอลิก มีส่วนร่วมกับยิวในความเชื่อต่อพระผู้สร้าง ซึ่งทรงเรียกอิสราเอลให้เป็นแสงสว่างของโลก กับมุสลิมคาทอลิกเชื่อในพระผู้อารักขญาณที่มีเมตตาที่ตรัสทางประกาศกต่างๆ พุทธและคาทอลิกยอมรับความเป็นจริงสุดท้ายที่ไม่สามารถบรรยายได้โดยญาณทัศน์ (วิปัสนา) คาทอลิกและฮินดูเชื่อร่วมกันในการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลก

        พระศาสนจักรที่สืบเนื่องจากอัครสาวก หมายความว่าพระศาสนจักรคาทอลิกมีพื้นฐานอยู่บนอัครสาวกทั้ง 12 องค์ ซึ่งมีสิทธิ์พิเศษได้อยู่ร่วมในหมู่คณะของพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิด ศาสนาคริสต์มิใช่ปรัชญา หรือฌานนิยม แต่เป็นความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าชาวนาซาเรธ โรมเป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนาคาทอลิก มิใช่เพราะเป็นเมืองหลวงของจักรภพโรมัน แต่เพราะเป็นสถานที่ฝังศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ 2 ท่าน คือ เปโตร และเปาโล ความไม่ผิดพลั้งของผู้แทนเปโตรในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรมเป็นเครื่องรับประกันในปัจจุบัน หลายคนกล่าวว่า พระคัมภีร์มีอำนาจในตัว แต่พระคาร์ดินัล นิวแมน กล่าวว่า พระคัมภีร์ถูกแปลอธิบายในลักษณะต่างๆ กัน รับรองตนเองไม่ได้ในปัญหาที่ถกเถียงกัน บางคนยืนยันว่าความเห็นพ้องต้องกันของบรรดาปิตาจารย์และนักเทววิทยาก็มีอำนาจพอเพียงแล้ว แต่พระคาร์ดินัลนิวแมนยืนยันว่าเสียงเหล่านี้ไม่สามารถรับรองว่าอะไรผิดอะไรถูก สิ่งที่ต้องการคือพระศาสนจักร เสียงของพระสันตะปาปาที่ไม่ผิดพลั้ง ที่มิใช่มากีดกันความมีชีวิตชีวา ตรงกันข้ามมาเป็นพลังก่อให้เกิดการนำสิ่งที่ถูกกีดกันมาปฏิบัติต่อไป ก่อนการเลือกตั้งพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัล อันเยโล รองกลลี กล่าวกับเพื่อนพระคาร์ดินัลว่า : "เรามิได้มาที่นี่เพื่อเฝ้ารักษาหอพิพิธภัณฑ์ แต่มาเพาะปลูกอุทยานแห่งชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง"

        พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ , ปังแห่งสวรรค์ : พระธรรมล้ำลึกแห่ง CHURCH'S SACRAMENT (ศีลศักดิ์สิทธิ์ : เครื่องหมายและเครื่องมือของพระศาสนจักร) และการถวายคารวกิจ

        บูชามิสซาขอบพระคุณเป็นการชุมนุมของประชาชนทุกฐานะ ทุกเพศ ทุกวัย ดังที่นักบุญเปาโลเขียนไว้ว่า : "ไม่มียิว ไม่มีกรีก ไม่มีทาส ไม่มีไทย ไม่มีชาย ไม่มีหญิง ทุกคนเป็นอวัยวะของพระกายทิพย์" (กล. 3:28) คนรวย คนจน คนมีการศึกษา คนไร้การศึกษา คนใช้ คุณนาย คุกเข่าข้างๆ กัน พระสงฆ์เป็นประธานในนามของพระคริสตเจ้า

        บูชามิสซาขอบพระคุณเป็นการเล่าเรื่อง นักบุญเปาโลสอนว่า "ความเชื่อมาจากการได้ยิน" มีการฟังพระวาจาของพระเจ้าจากพระธรรมเดิม พระธรรมใหม่ จดหมายของนักบุญเปาโล พระวรสารซึ่งสอดคล้องกับบทอ่านแรก จากนั้นพระสงฆ์เทศน์ไม่ใช่ในนามของตนเอง ความเชื่อมั่นส่วนตัวจะเป็นเรื่องการเมือง วัฒนธรรม แม้ในเรื่องศาสนา แต่ในนามของพระคริสตเจ้า ตามด้วยบทภาวนาเพื่อมวลชน เราภาวนาเพื่อกันและกัน เพราะเราเป็นอวัยวะในพระกายทิพย์ เราไม่สามารถพูดว่า "เรื่องของคุณไม่เกี่ยวกับฉัน"

        ภาคถวาย บูชามิสซาขอบพระคุณเป็นการพบปะกับพระคริสตเจ้าที่เชิญเรามากินเลี้ยง ภาคพระวาจาก็เป็นเหมือนพิธีกรรมของชาวยิว ซึ่งประกอบด้วยการอ่านและการอธิบาย TORAH (พระคัมภีร์ 5 เล่มของชาวยิว) ส่วนภาค EUCHARIST (ถวายบูชาขอบพระคุณ) ก็ตรงกับพิธีในพระวิหารซึ่งเป็นการถวายข้าวสาลีและสัตว์เป็นเครื่องบูชา เป็นการกินเลี้ยงและถวายเครื่องบูชา - ในบูชามิสซาขอบพระคุณ มีการถวายปังและเหล้าองุ่น ซึ่งเป็นตัวแทนสิ่งสร้างทั้งมวล หลังจากนั้นพระสงฆ์เชิญชวนเราให้ร่วมใจกับเทวทูตในสวรรค์ บทภาวนาต่อจากนั้นเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพระตรีเอกภาพ สำหรับการสร้างและการไถ่กู้และเดชะพระจิตเจ้า พระองค์ทรงประทานชีวิตและทำให้ทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการระลึกถึง LAST SUPPER ในบทภาวนาเสกศีลมหาสนิท นักบุญโทมัส อาไควนัสรักศีลมหาสนิทมาก ระหว่างถวายบูชามิสซาขอบพระคุณ น้ำตาของเธอจะออกบ่อยๆ เมื่อพบปัญหาอะไร เธอจะไปเฝ้าศีลมหาสนิท ขอพระดลใจ เธอมีอายุสั้น 49 ปีเท่านั้น ได้เขียนเรื่องศีลมหาสนิทในหนังสือ SUMMA THEOLOGIAE แต่ไม่แน่ใจว่าได้เขียนอย่างถูกต้องหรือไม่ เธอได้วางงานเขียนนี้ใต้รูปกางเขนในวัดน้อยของคณะดอมีนีกันที่เมืองเนเปิ้ลและภาวนา มีเสียงจากพระเยซูที่ถูกตรึงกับไม้กางเขนว่า : "BENE SCRIPSISTI DE ME, THOMA" เจ้าเขียนดีเกี่ยวกับเรา เจ้าอยากได้อะไรเป็นรางวัล โทมัสตอบซื่อๆ ว่า "NIL NISI TE" (ไม่ต้องการอะไรนอกจากพระองค์) ถ้าเราอ่านเรื่องเกี่ยวกับ EUCHARISTIA เราจะพบคำเทคนิค TRANSUBSTANTIATIO ที่นักบุญโทมัสใช้ในการอธิบาย การประทับอยู่จริงๆ ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท เธออธิบายว่าเมื่อมีการเสกศีลฯ สารของปังถูกเปลี่ยนเป็นสารของพระกายของพระเยซูเจ้า และสารของเหล้าองุ่นก็เปลี่ยนเป็นสารของพระโลหิตของพระเยซูเจ้า แม้เราจะเห็นรูปปรากฏภายนอกของปังและเหล้าองุ่นซึ่งยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ดุจพระวาจาของพระเจ้าในพระคัมภีร์ "ให้มีแสงสว่าง ให้มีท้องฟ้า ให้มีแผ่นดิน ฯลฯ" แสงสว่าง ท้องฟ้า แผ่นดิน ก็เกิดขึ้นทันที บอกลาซารัสให้ออกมา... บอกเด็กหญิงที่ตายแล้วลุกขึ้น บอกบาปของท่านถูกยกแล้ว... ทุกอย่างก็เป็นไปตามนั้น

        การรับศีลมหาสนิทและการส่งออกไป พระสงฆ์ถวายพระเยซูเจ้าที่ประทับอยู่ใต้รูปปรากฎของปังและเหล้าองุ่น เป็นเครื่องบูชาทรงชีวิตแด่พระบิดา เช่นเดียวกับสงฆ์ชาวยิวเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาแด่พระยาเวห์ในนามของประชาชน ใช้เลือดสัตว์ปะพรมประชาชน ดังนักบุญเปาโลเขียนในจดหมายถึงชาวโกรินธ์ว่า : "ถ้วยที่เราเสกและถวายพรไม่เป็นการมีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสตเจ้าหรือ..." (KOINO-NIA-COMMUNION) เมื่อประชาชนรับศีลฯ และขอบพระคุณเรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับพรและบูชามิสซาจบแล้วถูกส่งออกไป (ITE, MISSA EST=MISSION) เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก พระอัครสังฆราช FULTON SHEEN ในการรำพึงถึงการนมัสการของโหราจารย์ 3 องค์และการถวายหีบสมบัติเป็นของขวัญแด่พระองค์ แต่พระเจ้าทรงเตือนเขาในความฝันมิให้กลับไปหากษัตริย์เฮรอด เขาจึงกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น พณฯ สรุปให้ข้อคิดว่าผู้ที่เข้ามาร่วมพิธีกรรม ได้มีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ผู้เป็นท่อธารและสุดยอดของชีวิตคริสตชนแล้ว ไม่กลับบ้านโดยไม่เปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ไม่ใช่คนเดิม เขาไม่กลับบ้านโดยทางเดิมที่มา

        ประจักษ์พยานจำนวนมากมาย : สหพันธุ์นักบุญ พระศาสนจักรคาทอลิกเรียกผู้ที่แสดงวีรกรรมเป็นมิตรสหายของพระเจ้า ผู้ที่อยู่ในสวรรค์เป็นนักบุญหรือผู้ที่ให้พระเยซูเจ้าเปลี่ยนแปลงภายในจนหมดสิ้น นักบุญมิใช่ SUPERMAN หรือเทวดา แต่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จุดมุ่งหมายของพระศาสนจักรคือผลิตนักบุญ พระคัมภีร์ ธรรมประเพณี พิธีกรรม คำสอนทางการ การอบรมด้านศีลธรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือช่วยให้มุ่งไปสู่จุดหมายแห่งการเป็นมิตรสหายกับพระเจ้า ฉะนั้นการรู้จักและรักนักบุญเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของพระศาสนจักร เราต้องการนักบุญเพื่อจะได้รู้จักพระเจ้า เพราะนักบุญแต่ละองค์สะท้อนบางสิ่งแห่งความครบครันของพระเจ้า พระเจ้าเปรียบเสมือนแสงสว่างขาวจ้า สะท้อนแสงเป็นสีต่างๆ ในสิ่งสร้าง นักบุญเป็นแบบอย่างและเป็นที่พึ่งของเรา ต่อไปนี้ขอยกตัวอย่างชีวิตนักบุญร่วมสมัยบางองค์ เช่น KATHARINE DREXEL, THERESE OF LISIEUX, EDITH STEIN, MOTHER TERESA OF CALCUTTA

        KATHARINE DREXEL เกิดในฟิลาเดลเฟีย วันที่ 26 พ.ย. 1858 ปีเดียวกับที่แม่พระปรากฎที่เมืองลูร์ดส์ บิดาเป็นนายธนาคารที่รวยที่สุดในสหรัฐอเมริกา บิดามารดาเป็นคาทอลิกที่ศรัทธา มีวัดน้อยในบ้าน ทุกคืนกลับมาบ้าน ก่อนรับประทานอาหารจะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงภาวนาในวัดน้อยนี้ สามวันต่อสัปดาห์ตอนบ่ายบ้านจะเปิดรับคนยากจนและคนที่ขัดสน เมื่ออายุ 14 ขวบ DREXEL มีโอกาสพบกับคุณพ่อเจมส์ โอคอนเนอร์ เจ้าอาวาสซึ่งมีอิทธิพลในชีวิตของเธอ ช่วยให้เธอก้าวหน้าในความศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นไม่นานบิดามารดาที่รักของเธอก็ได้จากไป ทิ้งมรดกไว้ให้เธอและน้องสาวคนละประมาณ 4 ล้านดอลลาร์ เธอไม่ทราบจะทำอะไรกับมรดกก้อนนี้ วันหนึ่งมีพระสังฆราชและพระสงฆ์ชาวอินเดียเล่าให้ฟังเกี่ยวกับงาน MISSION คาทอลิกในอินเดีย KATHARINE ประทับใจอยากทำบุญช่วยงาน MISSION นี้ ต่อมามีโอกาสเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้กราบทูลพระองค์ว่า  : "ขอพระองค์ช่วยหาพระสงฆ์หรือซิสเตอร์คณะหนึ่งไปสอนคำสอน เอาใจใส่ประชาชนในอินเดีย" พระสันตะปาปาจ้องมองดูเธอ แล้วตรัสว่า : "ลูกนี่แหละควรเป็นมิสชันนารีคณะนี้" KATHARINE ตื้นตันน้ำตาไหลจากพระดำรัสของพระสันตะปาปา พระเยซูเจ้าเริ่มทำงานในใจของเธอ ต่อมา KATHARINE มิใช่ถวายตัวเป็นซิสเตอร์เท่านั้น แต่เป็นผู้ตั้งคณะ เอาใจใส่คนยากจน และผู้ถูกทอดทิ้งชาวอเมริกัน เธอเข้านวกภาพคณะซิสเตอร์แห่งเมตตาธรรมที่ PITTSBURGH เดือนพฤษภาคม ปี 1889 เพื่อศึกษาและหาประสบการณ์วิถีชีวิตนักบวชเตรียมตั้งคณะ 2 ปีต่อมา เธอได้ทำการปฏิญาณตนครั้งแรกเป็นสมาชิกของคณะซิสเตอร์แห่งศีลมหาสนิทเพื่อชาวอินเดียและคนผิวดำ เธอได้สร้างโรงเรียนสำหรับเด็กอาฟริกันอเมริกัน ตั้งมหาวิทยาลัยเซเวียร์ที่ NEWORLEANS สำหรับเด็กคาทอลิกผิวดำในสหรัฐฯ เธอสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการทั้งหมดนี้ เธอได้จาก 4 ล้านดอลลาร์มรดกที่บิดาทิ้งไว้ให้เธอ เธอเดินทางไปเยี่ยมเยียนซิสเตอร์คณะของเธอในที่ต่างๆ ที่สุดเธอเป็นโรคหัวใจล้มเหลว หมอสั่งให้พักงาน ตลอดเวลา 20 ปี เธอต้องแยกไปอยู่โดดเดี่ยวที่บ้านศูนย์กลางของคณะ ทุกๆ วันเธอใช้เวลานานเป็นชั่วโมงอยู่ต่อหน้าศีลมหาสนิท ภาวนาเพื่อความสำเร็จของคณะ ที่สุดเธอได้สิ้นใจวันที่ 5 มีนาคม 1955 มีอายุ 97 ปี แต่กิจการคณะของเธอยังดำเนินต่อไปจนทุกวันนี้

        THERESE OF LISIEUX เป็นนักบุญพิเศษองค์หนึ่งในพระศาสนจักร เป็นซิสเตอร์คาร์เมไลท์ สิ้นชีวิตเมื่อมีอายุ 24 ปี ภายในไม่กี่ปีชื่อเสียงของเธอกระจายไปทั่วโลก ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญและ เธอได้เขียน "ประวัติของวิญญาณ" ชาวฝรั่งเศสเรียกเธอไม่ใช่ "ดอกไม้น้อยๆ" เหมือนชาวอังกฤษ แต่เรียกเธอว่า "THERESE" องค์น้อย (หรือ THERESE) แห่งพระเยซูกุมาร ให้แตกต่างจาก "THERESE" องค์ใหญ่ (แห่งอาวีลา) หรือมีชื่อในปัจจุบันว่า "THERESE" แห่งพระเยซู เธอสมได้ชื่อว่า เทเรซาผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ เทเรซาเกิดวันที่ 2 มกราคม 1873 ลูกคนสุดท้องของหลุยส์-เซลี มาร์แต็ง บิดาเป็นราชาน้อยของเธอ ส่วนเธอเป็นราชินีน้อยของบิดา เธอรู้สึกมีความต้องการเข้าอารามเป็นนักพรตตั้งแต่เล็กๆ ทัศนียภาพอันจับใจแห่งวัยเด็กของเธอต้องล่มสลายไปเพราะความตายของมารดา เมื่อเธอมีอายุเพียง 4 ขวบ หลังจากโปลีนพี่สาวซึ่งทำหน้าที่แทนมารดาเข้าอารามคาร์แม็ล เทเรซาต้องทนทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ แต่ที่สุดในวันที่ 13 พฤษภาคม 1883 เธอได้รับการรักษาจากแม่พระโดยรูปแม่พระยิ้มให้เธอในโอกาสวันสมโภชพระคริสตสมภพ เทเรซามีความกระหายอย่างร้อนแรงที่จะเป็นนักพรตคาร์เมไลท์ แต่เนื่องจากอายุยังน้อยไม่ถึง 15 ปี ก็ได้พยายามไปถึงกรุงโรมเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา เลโอที่ 13 ขอร้องพระองค์ให้ทรงอนุญาตให้เธอได้เข้าอารามคาร์แม็ลจนสำเร็จ เธอเจริญชีวิตจิตที่เธอเรียกว่า : "หนทางน้อยๆ" แห่งการเป็นเด็กฝ่ายจิตของพระเจ้า ซึ่งไม่ใช่หนทางของเทเรซาองค์ใหญ่ หรือยอห์นแห่งไม้กางเขน ซึ่งมิใช่วิธีที่เหมาะแก่นักกีฬาฝ่ายจิต แต่เป็นหนทางที่คนที่มีความเชื่อซื่อๆ ธรรมดาปฏิบัติได้ เป็นหนทางฝ่ายจิตของเด็กเล็กๆ เธอได้รับประสบการณ์กับความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของบิดา

        เราได้รับความรู้มากมายจาก "ประวัติของวิญญาณ" ที่เธอเขียนเกี่ยวกับตัวเองในบั้นปลายชีวิต เธออยากทำทุกอย่างที่พระศาสนจักรทำในประวัติศาสตร์ เธอเขียนไว้ว่า : ดิฉันอยากเป็นพระสงฆ์ เป็นมรณสักขี เป็นธรรมทูต เป็นผู้ประกาศข่าวดี เป็นนักปราชญ์... แต่จะทำอะไรได้ในอารามเล็กๆ นี้ เธอได้อ่านพบในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโกรินธ์ ฉบับที่หนึ่งที่พูดถึงวิธีที่ดีเลิศที่สุด คือ วิธีแห่งความรัก แล้วเธอได้สรุปว่า : "พระเยซูเจ้าข้า องค์ความรักของดิฉัน ดิฉันพบกระแสเรียกของดิฉันแล้ว ดิฉันจะเป็นความรักในหัวใจของพระศาสนจักร" เธอเขียนไว้ว่า : "ดิฉันเข้าอารามเพื่อภาวนาให้พระสงฆ์ เพื่อช่วยคนบาปให้รอด" เทเรซาสิ้นชีวิตวันที่ 30 กันยายน 1897 เธอบอกว่า : "ดิฉันอยากใช้ชีวิตในสวรรค์โดยทำความดีให้แก่โลก"

        EDITH STEIN เกิดวันที่ 12 ตุลาคม 1891 วันชดเชยบาปของชาวยิวใกล้ๆ ชายแดนประเทศโปแลนด์ เป็นลูกคนที่ 17 ของบิดามารดาชาวยิว บิดาของเธอตาย โดยปัจจุบันขณะที่เธออายุยังน้อย เธอได้ปริญญาเอกปี 1915 ได้รับคำชมจากอาจารย์ว่าเป็นผู้มีพรสวรรค์ เธอถือว่าตัวเองเป็นคนไม่มีศาสนา แต่เธอสังเกตเพื่อนๆ แม้กระทั่งอาจารย์เป็นคริสตชนที่ศรัทธา ทำให้เธอตั้งคำถามว่าทำไมปริญญาเอกของเธอทำให้เธอทิ้งศาสนา เธอประทับใจในสตรีคนหนึ่งที่เข้าไปชมสถาปัตยกรรมของโบสถ์ ดื่มด่ำภาวนาอย่างสุดซึ้ง ซึ่งเธอไม่เคยพบเห็นในโรงสวดของชาวยิว สตรีคนนี้ภาวนาติดต่อส่วนตัวกับบุคคลที่แม้มองไม่เห็น - การกลับใจของ EDITH STEIN ไม่เหมือนการกลับใจของเปาโลที่กระทันหันตื่นเต้นสะเทือนใจ เธอรับศีลล้างบาปวันที่ 1 มกราคม 1922 มีพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางชีวิต เธอได้เข้าอารามคาร์แม็ลที่เมืองโคลอน ปี 1933 ได้รับชื่อใหม่ว่า TERESA BENEDICTA A CRUCE - ในปีเดียวกัน ชาวยิวในประเทศเยอรมันอยู่ในอันตราย ผู้ใหญ่ของเธอจึงย้ายเธอไปอยู่ที่อารามคาร์แม็ลในประเทศฮอลแลนด์ วันที่ 2 สิงหาคม 1922 GESTAPO ตำรวจได้มาหา EDITH และน้องสาว พาขึ้นรถไปยังค่ายกักกันที่ AUSCHWITZ ในประเทศโปแลนด์ และในวันนั้นเองเธอได้ถูกตัดสินประหารชีวิตทันที ถูกเปลื้องเสื้อผ้าและถูกอบด้วยก๊าสพิษ สิ่งที่เราเห็นในการเป็นมรณสักขีของ EDITH คือ ความกล้าหาญไม่ธรรมดา เป็นความกล้าหาญที่สูงส่งที่แปรสภาพเป็นความรัก เธอยินดีถวายชีวิตของเธอด้วยความรักต่อพระคริสตเจ้าและประชากรของพระองค์

        คุณแม่ TERESA แห่ง CULCATTA เกิดวันที่ 26 สิงหาคม 1910 ในเซอร์เบีย มีศาสนนามว่าอักแนส เมื่ออายุ 12 ขวบ รู้สึกว่าได้รับกระแสเป็นนักบวช พระสงฆ์เยซูอิต ชาวโกรเอเซีย ได้ช่วยนำการเข้าเงียบแบบนักบุญอิกญาซีโอเรื่องการทำงานธรรมทูตของเยซูอิตทั่วโลก เช่นในอินเดียและเบงกอล เมื่ออายุ 18 ปี อักแนสได้สมัครเข้าคณะซิสเตอร์โลเรโต แขนงไอริสของสถาบันแม่พระที่ทำงานอย่างแข็งขันในอินเดีย ได้รับชื่อใหม่ว่า ซิสเตอร์ เมรีเทราซาแห่งพระเยซูกุมาร หลังจากใช้เวลาสั้นๆ ในไอร์แลนด์ และเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับชีวิตที่เหลือ เทเรซาก็ลงเรือมุ่งไปยังอินเดีย

        ไปถึงอินเดีย เห็นธรรมชาติที่สวยงาม แต่ก็ต้องสะเทือนใจเพราะความยากจนสุดจะบรรยาย เธอเข้าใจดีว่าการจะทำงานบริการคนยากจนเหล่านี้เรียกร้องให้เธอต้องเปลี่ยนชีวิตของเธอให้เรียบง่ายอย่างถึงรากถึงโคน เธอได้ถูกส่งไปสอนเรียนที่เมืองกัลกัตตา ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อว่ายากจนที่สุด ซึ่งจะกลายเป็นบ้านของเธอสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ เธอสอนเรียนและทำงานกับผู้ถูกทอดทิ้งด้วย จนหมดเรี่ยวหมดแรง ต้องถูกส่งไปพักจากงานของเธอ ระหว่างนั้นเธอได้ยินเสียงพระเยซูเจ้าเรียกเธอให้เป็น "ธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม" เพื่อรับใช้ผู้ยากจนที่สุดของผู้ยากจน เมื่อกลับไปยังกัลกัตตา เธอได้ปรึกษากับคุณพ่อคณะเยซูอิตชาวเบลเยี่ยม หลังจากได้ภาวนาและใช้วิจารณญาณ ทั้งสองได้พากันไปหาพระอัครสังฆราชแห่งกัลกัตตา เสนอความตั้งใจจะตั้งคณะนักบวชเพื่อรับใช้ผู้ยากจนที่สุดของผู้ยากจน แต่ได้รับการปฏิเสธ คุณพ่อวิญญาณได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายพระศาสนจักรเพื่อจะได้พ้นจากพันธะของคณะเก่า เดือนเมษายน 1948 หลังจากถูกทดลองและรอคอยเป็นเวลาหลายปี โรมได้ให้การรับรอง คุณแม่เทเรซาได้กล่าวกับพระอัครสังฆราชว่า : "ดิฉันไปที่สลัมเดี๋ยวนี้ได้หรือยัง?"

        ในเดือนแรกๆ แห่งชีวิตใหม่ของเธอ เทเรซารู้สึกผิดหวัง โดดเดี่ยว หมดกำลังใจ อยากจะกลับไปอยู่กับคณะเดิม แต่เธอได้ยืนหยัดมั่นคงว่าจะต้องเป็นคนยากจนในทุกสิ่ง แต่แล้วประชาชนก็เริ่มเข้ามาร่วมทำพันธกิจของคุณแม่เทเรซา เป็น MISSIONARIES OF CHARITY คุณแม่เทเรซาเริ่มตั้งคณะใหม่ขึ้นโดยเอาจิตตารมณ์ของคณะเยซูอิตและคณะฟรันซิสกันเข้าด้วยกัน คณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมอนุญาตให้มีเสื้อสาหรีผ้าฝ้าย ชุดชั้นในหยาบๆ รองเท้าแตะคู่หนึ่ง ไม้กางเขน สายประคำ กระป๋องล้างหน้า เสื่อบางๆ ใช้ปูนอน  ต้องออกไปขออาหารกินเหมือนคณะดอมีนิกันและฟรันซิสกัน ตารางเวลาของคณะนี้คือ ตื่นนอน 4.40 น. แปรงฟันด้วยขี้เถ้า ใช้สะบู่ก้อนเล็กๆ ถูตัว 5.15-6.45 น. รำพึงภาวนาและร่วมถวายบูชามิสซาขอบพระคุณ รับอาหารเช้า ออกไปทำงานตามถนน 7.45 น. เที่ยงกลับมาภาวนา รับอาหาร พักผ่อน อ่านหนังสือศรัทธาก่อนกลับไปทำงานในสลัม

        มีซิสเตอร์เข้าใหม่คนหนึ่ง เห็นห้องน้ำในอารามไม่สะอาด รู้สึกสะอิดสะเอียนเดินผ่านไป คุณแม่เทเรซาเดินผ่านมาเห็นเข้า ก็ถลกแขนเสื้อ เอาไม้กวาดทำความสะอาดเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม คือ ความวางใจในพระอารักขญาณของพระเจ้า ครั้งหนึ่งคณะซิสเตอร์ไม่มีอาหารรับประทานก็ได้ภาวนา ทันทีมีเสียงเคาะประตู มีหญิงคนหนึ่งนำถุงข้าวมาให้ พอกินสำหรับคณะคืนนั้น งานของคณะฯ ของคุณแม่เทเรซาจำกัดอยู่ในกัลกัตตา แต่ตั้งแต่ปี 1950 และ 1960 งานของคณะฯ แผ่ไปทั่วอินเดียและทั่วโลก นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 ได้เชิญซิสเตอร์คณะนี้ไปทำงานที่โรม ปลายปี 1979 คุณแม่เทเรซาได้รับ NOBEL PEACE PRIZE คุณแม่บอกว่าการทำแท้งเป็นศัตรูที่ยิ่งใหญ่ของสันติภาพในสมัยของเรา เธอกล่าวว่าให้เราต่อต้าน ABORTION BY ADOPTION การทำแท้งด้วยการอุปการะ

        เกี่ยวกับชีวิตของคุณแม่เทเรซา ถ้าไม่กล่าวถึงการต่อสู้ภายในที่น่ากลัว ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมกับความทุกข์ทรมานของพระคริสตเจ้า ก็จะไม่สมบูรณ์ แม้เธอจะไม่มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้าเป็นพิเศษในต้นๆ ชีวิตนักบวช แต่เธอมีประสบการณ์ตรงกันข้าม คือ เธอมีความรู้สึกว่าไม่มีพระเจ้า มีแต่ความมืดมน พระเจ้าไม่ต้องการเธอ พระเจ้าไม่เป็นพระเจ้า พระเจ้าไม่มีอยู่จริง การงานไม่ได้นำความยินดีมาให้ ไม่มีอะไรดึงดูด ขาดความร้อนรน เธอเข้าใจดีว่าความทุกข์ทรมานของเธอเป็นการมีส่วนร่วมกับพระทรมานของพระเยซูเจ้า ผู้รู้สึกว่าถูกพระบิดาทอดทิ้ง คุณแม่เทเรซาได้เข้าถึงการร่วมทุกข์กับผู้ที่เธอปรารถนาจะรับใช้คือผู้ยากจนที่สุดของผู้ยากจน

        คุณแม่เทเรซาได้สิ้นใจที่กัลกัตตา วันที่ 5 กันยายน 1997 มีอายุ 87 ปี ร่างของเธอบรรจุไว้ในโลงแก้ว สวมเสื้อนักบวชคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม ไม่สวมรองเท้า แสดงให้เห็นเท้าตะปุ่มตะป่ำที่เป็นพยานได้อย่างดีถึงความยากลำบากในการรับใช้พี่น้องที่ต่ำต้อยที่สุดของพระเยซูเจ้าตลอดเวลาหลายปี

        บทสรุป ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเปรียบเสมือนแสงสว่างสีขาว : บริสุทธิ์, เรียบๆ, สมบูรณ์ แต่เมื่อส่องแสงผ่านปรีซึมของชีวิตมนุษย์แต่ละคน ก็กลายเป็นสีต่างๆ สตรีทั้ง 4 องค์ที่กล่าวถึงนี้ไม่แตกต่างกัน เพราะแต่ละองค์แสดงมิติเฉพาะแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า พระศาสนจักรต้องการไขแสดงความเข้มข้นอันไม่มีขอบเขตของพระเจ้า อาศัยลักษณะต่างๆ ของบรรดานักบุญ

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

|< ก่อนหน้า CATHOLICISM ตอนที่ 2 

CATHOLICISM ตอนที่ 4 ถัดไป >|

สถิติการเยี่ยมชม

10485714
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
147
3833
6690
10448190
6690
124638
10485714
Your IP: 3.144.249.63
Server Time: 2024-12-03 00:30:24

แบบฟอร์ม

instagram

พระศาสนจักร


สื่อ YOUTUBE


Laudato si’

บทเรียนคำสอน





บทภาวนา

พิธีกรรมต่างๆ

เอกสารพระศาสนจักร

บทความคำสอน



KAMSONCHAN

 

   องค์กรคาทอลิก              คณะนักบวช  
 

สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
แผนกคริสตศาสนธรรม
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ศูนย์คริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
สังฆมณฑลจันทบุรี
คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา
คามิลเลียนโซเชียลเซนเตอร์ ระยอง

  สังฆมณฑลนครราชสีมา                       
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลนครราชสีมา
สังฆมณฑลอุบลราชธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุบลราชธานี   
สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
สังฆมณฑลนครสวรรค์
สังฆมณฑลเชียงใหม่
  สังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี
สังฆมณฑลอุดรธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุดรธานี

สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย (อุดมสาร)
  ชมรมอธิการิณีเจ้าคณะนักบวชแห่งประเทศไทย
คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ต
คณะภคินีศรีชุมพาบาล       
คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
คณะเซนต์คาเบรียล
คณะซาเลเซียน
คณะซาเลเซียน (ซิสเตอร์)
กางเขนแดงสาร

 



JSN Megazine template designed by JoomlaShine.com